วันศุกร์, พฤศจิกายน 28, 2557

"ธงชัย วินิจจะกูล" ให้สัมภาษณ์นิตยสารฟอรีน โพลิซี่ ย้ำปชต.เป็นทางออกเดียวของสังคมไทย


มติชนออนไลน์
วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เวลา 22:45:00 น.

จัสติน เดรนแนน ผู้สื่อข่าวของนิตยสารฟอรีน โพลิซี่ (เอฟพี) ได้สัมภาษณ์ ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการไทย ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐ อดีตนักศึกษาที่ทำกิจกรรมด้านประชาธิปไตย ซึ่งเคยถูกจำคุกหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ถึงสถานการณ์การเมืองล่าสุดของประเทศไทย

มติชนออนไลน์แปลเนื้อหา บางส่วน มานำเสนอ ดังนี้

เอฟพี-จอห์น ซิฟตัน จากฮิวแมนไรทส์วอทช์บอกว่าการรัฐประหารก่อนหน้านี้ในปี 1991 และ 2006 จะมีลักษณะของการจัดระบบระเบียบขึ้นมาใหม่ภายในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ในการรัฐประหารครั้งล่าสุดนี้จะเหมือนกับการรัฐประหารในช่วงสงครามเย็น ที่ผลสืบเนื่องของมันจะมีอายุยืนยาวไปอีกนาน คุณเห็นอย่างไรในประเด็นนี้

ธงชัย-ผมขอพูดอย่างนี้ละกัน ผมไม่รู้ว่าคณะรัฐประหารชุดนี้จะอยู่ในอำนาจนานแค่ไหน แต่แม้ว่าคณะทหารจะถอนตัวออกไป ก็ใช่ว่าประเทศไทยจะกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งเหมือนกับช่วงก่อนปี 2006 ผมคิดว่าผลของรัฐประหารจะยังคงอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาอีกนาน ผู้คนพูดถึงว่าเรามีการรัฐประหารกี่ครั้ง มีรัฐธรรมนูญกันมากี่ฉบับแล้ว สำหรับผมมีการรัฐประหารเพียงสามครั้งที่มีนัยยะสำคัญมากกว่าการรัฐประหารครั้งอื่นๆ การรัฐประหารส่วนใหญ่เป็นการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างชนชั้นนำ ดังนั้น ไม่ว่ารัฐประหารเหล่านั้นจะมีอายุยืนยาวหรือไม่ ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก

การรัฐประหารครั้งล่าสุดเป็นหนึ่งในสามรัฐประหารที่สำคัญ ที่การต่อสู้ระหว่างชนชั้นนำเป็นแค่ปัญหาระดับเปลือกนอก การรัฐประหารในปี 1957, 1976 และครั้งนี้ เกิดขึ้นจากปัญหาความขัดแย้งเชิงโครงสร้างในระดับที่ลึกกว่านั้น มันเป็นผลสะท้อนจากความขัดแย้งทางชนชั้น การกำเนิดกลุ่มคนเมืองยุคใหม่ที่มาจากชนบทในอดีต การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองแบบนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งกับระบบการเมืองแบบเก่า คนเมืองยุคใหม่ได้รับอำนาจทางการเมืองผ่านระบบเลือกตั้ง ซึ่งแย้งกับระบบการเมืองแบบเครือข่ายที่ครอบงำชนชั้นนำอยู่ โดยที่ชนชั้นนำเหล่านั้นก็ไม่เคยเชื่อถือระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง

เอฟพี-แล้วความขัดแย้งเชิงโครงสร้างเช่นนี้มีบทบาทเช่นไรในการรัฐประหารทั้งสามครั้งที่คุณกล่าวถึง

ธงชัย-เมื่อครั้งปี 1957 สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยไม่ใช่รัฐขนาดเล็กที่ปกครองโดยคนกลุ่มเล็กๆ อีกต่อไป พรรคการเมืองหลายพรรคมีความเป็นเสรีนิยมมากเกินไป ซึ่งนั้นไม่เป็นที่พึงพอใจของกองทัพ มันเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็นเช่นกัน อเมริกาเข้ามาแทรกแซงการเมืองไทยอย่างหนักในช่วงปลายทศวรรษที่ 50 การรัฐประหารในปี 57 เป็นการพลิกกลับทางประวัติศาสตร์ทำให้ประเทศไทยมีความเป็นอนุรักษ์นิยมมากขึ้น ในช่วงการต่อต้านคอมมิวนิสต์

ในทศวรรษ 70 สถานการณ์เปลี่ยนไป จากการเติบโตขึ้นอย่างมากของสังคมเมืองและการเพิ่มขึ้นของจำนวนชนชั้นกลาง มีการต่อต้านอำนาจรัฐของนักศึกษา, ปัญญาชน และกลุ่มอื่นๆในบรรดาชนชั้นกลาง การรัฐประหารปี 76 จึงมีขึ้นเพื่อโต้กลับคนกลุ่มนี้ ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ 70 ประชาธิปไตยยังคงจำกัดแต่เฉพาะในกรุงเทพฯ ประชาชนไม่ได้รับผลประโยชน์จากประชาธิปไตยเหมือนกันทั้งประเทศ

แต่ตอนนี้ประชาธิปไตยได้แพร่ขยายไปทั่วประเทศ มันไปถึงภาคเหนือไปถึงชนบท ที่เมื่อครั้งทศวรรษที่ 70 ผู้คนในพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้สนใจเลยว่าการเมืองจะเป็นอย่างไร ตอนนี้พวกเขามีส่วนร่วมและได้ใช้สิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้ง และพวกเขาต้องการรับผลประโยชน์จากระบอบประชาธิปไตย แต่ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ไม่ยินยอม คนเหล่านี้กลายเป็นพวกอนุรักษ์นิยมมากขึ้น เพื่อรักษาอำนาจของตัวเองไว้

เอฟพี-คุณช่วยลองเปรียบเทียบบรรยากาศหลังการรัฐประหารครั้งล่าสุด กับการรัฐประหารที่คุณเจอตอนเป็นผู้นำนักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 1976 ให้หน่อยครับ

ธงชัย-ในปี 1976 มันร้ายแรงกว่ามาก แต่ก็ยากที่จะเปรียบเทียบ ผมคิดว่าในช่วงทศวรรษที่ 80 และ 90 ประเทศไทยได้เดินทางมาไกลมาก ผมไม่เคยเชื่อว่าการรัฐประหารจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก ผมเชื่อว่าคนที่เรียกร้องรัฐประหารและคนที่เกลียดทักษิณเข้าไส้ ตอนนี้พวกเขาก็คงไม่มีความสุขสักเท่าไหร่กับการครองอำนาจของฝ่ายรัฐประหาร เพราะว่าแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่กองทัพเอามาใช้มันล้าหลังเอามากๆ ยกตัวอย่างเช่น การให้เด็กจำหลักค่านิยม 12 ประการ และให้พวกเขาท่องมันทุกวันตอนเช้า

คณะรัฐประหารยังพยายามฉุดรั้งการกระจายอำนาจซึ่งได้พยายามทำกันมาตั้งแต่ยุค 70 เพื่อยกเลิกการดำรงตำแหน่งตลอดชีพของพวกผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน เพื่อให้ระบบการเมืองตั้งแต่ระดับล่างสอดคล้องกับหลักการกระจายอำนาจ พรรคการเมือง นักวิชาการ เอ็นจีโอ จำนวนมากต่อสู้เรื่องนี้มากว่า 30 ปี จนกระทั่งการปฏิรูปได้รับการบรรจุในรัฐธรรมนูญปี 1997 แต่หนึ่งในคำสั่งของคณะรัฐประหารคือให้ระงับการกระจายอำนาจทั้งระบบไปจนถึงระดับหมู่บ้าน ทำให้ระบบการเมืองที่ประชาชนต่อสู้มาด้วยการค่อยๆ ก้าวเดินทีละก้าว ต้องถอยกลับไปอยู่ในโครงสร้างที่ถูกออกแบบมาตั้งแต่ปี 1893 นี่แสดงให้ว่าพวกเขามีแนวคิดที่อนุรักษ์เพียงใด

เอฟพี-คุณคิดว่านโยบายยึดอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเช่นนี้มีขึ้นเพื่อที่จะควบคุมภาคเหนือและอีสานซึ่งเป็นฐานสนับสนุนของครอบครัวชินวัตรมากน้อยเพียงใดครับ

ธงชัย-ผมคิดว่านั่นเป็นเหตุผลหลัก พวกเขาต้องการระบบที่จะสามารถควบคุมคนภาคเหนือและภาคอีสานเอาไว้ให้ได้

เอฟพี-คุณคิดว่าความขัดแย้งนี้จะนำไปสู่อะไรในอนาคตเบื้องหน้า

ธงชัย-ผมคิดว่าความขัดแย้งจะยังดำเนินต่อไปแน่ๆ ผมคงตอบไม่ได้ว่ามันจะเป็นไปในรูปแบบใด ประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งถูกทำลายคุณค่าของมันไปมาก ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผมเชื่อว่าประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งแบบที่เราเคยเห็นก่อนปี 2006 คงไม่กลับมาอีกเป็นเวลาอีกนาน ผมเชื่อว่ามันจะเป็นไปในรูปแบบ "ประชาธิปไตยที่มีการชี้นำ" เพื่อใช้ความเป็นผู้นำเข้าครอบงำ, และการเลือกตั้งจะถูกควบคุมอย่างมาก ผ่านกระบวนการ อาทิ วุฒิสภาอาจจะมาจากการแต่งตั้งทั้งหมดหรือครึ่งหนึ่งอาจมาจากการแต่งตั้ง นอกจากนี้ ในสภาล่างอาจมีสมาชิกบางส่วนที่ถูกแต่งตั้งเข้ามาหรืออาจมีการลดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลง หรืออาจจะใช้ระบบที่ลดทอนคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจากภาคเหนือและอีสาน มันยังไม่ใช่ข้อเสนออย่างเป็นทางการ แต่มีการเสนอกันว่าให้แต่ละจังหวัดมีผู้แทนในสภาล่างเพียงจังหวัดละหนึ่งคน ด้วยวิธีการแบบนี้ ภาคอีสานซึ่งมีประชากรจำนวนมาก ก็จะมีตัวแทนของตนเองในสภาน้อยลง

เอฟพี-คุณรู้สึกถึงความมีนัยยะสำคัญของการรัฐประหารครั้งนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่

ธงชัย-ผมได้เตือนตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วว่าการรัฐประหารอาจเกิดขึ้นได้ แล้วมันก็เกิดจริงๆ มันจะเป็นครั้งที่รุนแรงและไม่เหมือนกับการรัฐประหารครั้งอื่นๆ นั่นเป็นเพราะความล้มเหลวของการรัฐประหารเมื่อปี 2006 ในสายตาของพวกอนุรักษ์นิยม (ซึ่งสามารถขับไล่ทักษิณได้แต่ไม่อาจทำลายอิทธิพลของเขาได้)

แต่ความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง ที่ปัจจุบันประชาชนมีการศึกษาและเข้าใจระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งมากขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยไม่สามารถจะย้อนกลับไปใช้ระบอบแบบโบราณได้อีก พวกอนุรักษ์นิยมยังคิดว่าประเทศไทยเป็นเพียงแค่ส่วนขยายของหมู่บ้านเล็กๆ พวกเขาคิดว่าคุณพ่อคนดีผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ จะมีคุณธรรมความสามารถมากพอที่จะชี้นำประชาชนว่าอะไรคือสิ่งที่ดี แต่มันเป็นไปไม่ได้ ประเทศไทยได้พัฒนาไปมาก เราต้องการประชาธิปไตยในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพื่อที่ประชาชนจะสามารถร่วมต่อรองผลประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายมีแตกต่างกันไปได้ ผมเชื่อว่าประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของตะวันตกหรือตะวันออก เมื่อไหร่ก็ตามที่สังคมมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นถึงจุดหนึ่ง ที่ความแตกต่างในทางผลประโยชน์ของประชาชนแต่ละกลุ่มไม่อาจประสานกันได้อีกต่อไป ประชาธิปไตยก็ถือเป็นทางออกเพียงประการเดียวสำหรับสังคมที่ซับซ้อนเช่นนั้น
...

Link บทความอังกฤษ 

Interview: Thai Democracy Is Gone and Won't Return Anytime Soon

http://blog.foreignpolicy.com/posts/2014/11/24/interview_thai_democracy_is_gone_and_won_t_return_anytime_soon_coup
...

ขณะที่ Voice of America ตีข่าวว่า ไทยจะเลื่อนการเลือกตั้งไปปี 2559 ไม่มีการเลือกตั้งในปีหน้า 2558 ตามสัญญา คสช.

No Election in Thailand Seen Until 2016