วันเสาร์, มกราคม 24, 2558

อัยการสูงสุดสั่งฟ้องอาญา 'ยิ่งลักษณ์' อาจถูกโทษคุก 10 ปี


MCOT : อัยการสูงสุดสั่งฟ้องอาญา "ยิ่งลักษณ์" คดีจำนำข้าว 23/1/2558
...

อสส.สั่งฟันอาญา “ปู” คดีทุจริตโครงการจำนำข้าว


อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง “ปู” คดีทุจริตจำนำข้าว เผยอัตราโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ชี้พยานหลักฐานสมบูรณ์ คาดยื่นศาลฎีกาฯ นักการเมืองได้ภายใน 1 เดือน

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์

ที่สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 23 ม.ค. นายสุรสักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวนและหนึ่งในคณะทำงานร่วมของฝ่ายอัยการ และนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้แถลงผลสั่งคดีโครงการรับจำนำข้าวว่า ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนการไต่สวนกรณีกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการในโครงการรับจำนำข้าว เพื่อให้อัยการสูงสุดพิจารณาฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) มาตรา 123/1 ต่อมาอัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีดังกล่าวที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ส่งมานั้นยังไม่สมบูรณ์พอที่จะยื่นฟ้องคดี ต่อศาลได้ อัยการสูงสุดจึงแจ้งข้อไม่สมบูรณ์ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ และต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.และอัยการสูงสุดได้ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อเป็นผู้แทนไปดำเนินการพิจารณาพยานหลักฐาน ที่ไม่สมบูรณ์ และรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ เพื่อส่งให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีต่อไปนั้น

ต่อมาเมื่อมีการตั้งคณะทำงานทั้งสองฝ่ายแล้ว คณะทำงานฝ่ายผู้แทนอัยการสูงสุด และคณะทำงานฝ่ายผู้แทนคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีการนัดประชุมพิจารณาพยานหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์ และไปดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ตามข้อไม่สมบูรณ์ที่พิจารณาตกลงกันได้ โดยได้มีการขอเอกสารหลักฐานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สอบปากคำพยานบุคคลที่จำเป็นแก่คดีเพิ่มเติมเพื่อให้สิ้นกระแสความ รวมทั้งอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายต่อไป

เมื่อคณะทำงานทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานตามข้อไม่สมบูรณ์ ที่ตกลงกันได้ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ต่อมาวันที่ 20 มกราคม 2558 คณะทำงานได้นัดประชุมเพื่อพิจารณาผลการรวบรวมพยานหลักฐานร่วมกัน และมีความเห็นว่าการดำเนินการของคณะทำงานร่วม ได้ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานตามข้อไม่สมบูรณ์ดังที่พิจารณาตกลงกันได้เสร็จสิ้นแล้ว จึงมีมติให้ส่งพยานหลักฐานทั้งหมดเสนออัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อไปตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542

อัยการสูงสุดได้พิจารณาพยานหลักฐานที่คณะทำงานส่งมาดังกล่าวข้างต้น ประกอบพยานหลักฐานที่มีอยู่ทั้งหมดในสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้วเห็นว่า คดีมีความสมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีอาญาฟ้องผู้ถูกกล่าวหาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ จึงให้ดำเนินคดีอาญาฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตามข้อกล่าวหา

ผู้สื่อข่าวถามว่า ภายหลังอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องแล้ว ขั้นตอนจากนี้จะเป็นอย่างไร นายสุรศักดิ์กล่าวว่า ทางอัยการสูงสุดก็จะตั้งคณะทำงานร่างฟ้องขึ้นมาตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่มีกว่า 4,000 หน้า ให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนจะนำไปยื่นฟ้องต่อศาล โดยคาดว่าจะเวลาประมาณ 1 เดือน ในกรณีนี้ทางอัยการสูงสุดได้ประสานไปยัง ป.ป.ช.ให้ดำเนินการนำตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์มาฟ้องคดีแต่หากไม่ได้ตัวผู้ต้องหามาฟ้อง ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2553 ข้อ 8 ที่ระบุว่า หากนำตัวจำเลยมาศาลในวันฟ้อง ให้ผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา เป็นผู้พิจารณาในการขังหรือปล่อยตัวจำเลยชั่วคราว แต่หากไม่ได้นำตัวมาศาล ให้โจทก์ระบุที่อยู่จริงของจำเลยมาในฟ้องด้วย

เมื่อถามต่อว่า ก่อนหน้านี้นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ ประธานคณะทำงานร่วมฝ่ายอัยการ เคยออกมาให้ข่าวว่า สำนวนยังไม่ได้ข้อสรุปนั้นแสดงว่ามีความขัดแย้งกันในคณะทำงานร่วมหรือไม่ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า การพิจารณาสำนวนคดีต้องพิจารณาร่วมกันของคณะทำงานทั้งฝ่ายอัยการ และป.ป.ช.และการรวบรวมหลักฐานก็ถือว่าคณะทำงานร่วมได้เห็นชอบแล้ว ซึ่งทางคณะทำงานได้รายงานผลให้อัยการสูงสุดรับทราบหมดแล้ว โดยทางคณะทำงานได้ตรวจสอบพิจารณาพยานหลักฐานขั้นสุดท้ายในสำนวนคดี ก่อนจะส่งความเห็นไปให้อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งคดี โดยอัยการสูงสุดได้เซ็นคำสั่งฟ้องในช่วงเช้าของวันนี้

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มายื่นขอความเป็นธรรมเพิ่มเติมได้พิจารณาหรือไม่ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไว้แล้ว อัยการสูงสุดได้พิจารณาในส่วนนี้แล้ว ส่วนที่มายื่นในช่วงเช้าวันนี้ ทางอัยการสูงสุดไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาแล้ว เนื่องจากได้ยื่นภายหลังที่อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งแล้ว ซึ่งอัยการสูงสุดให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ส่วนเรื่องการค้านประกัน ทางคณะทำงานจะพิจารณาต่อไป และหากมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ แล้วขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลจะให้ประกันหรือไม่

เมื่อถามถึงอัตราโทษในความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 157 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ตามกฎหมายแล้วความผิดตาม ป.อาญา ม.157 ระหว่างโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 10 ปี แต่กฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าว ศาลจะพิจารณาควบคู่กันไปว่าเข้าข่ายประกอบความผิดในมาตราใด ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล

เมื่อถามอีกว่า การสั่งฟ้องคดีครั้งนี้ สอดคล้องเกี่ยวข้องกับกรณีที่ สนช.จะมีการลงมติยื่นถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์หรือไม่ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน โดยอัยการสูงสุดพิจารณาไปตามพยานหลักฐานในสำนวนคดี ซึ่งทางอัยการสูงสุดเห็นว่าพยานหลักฐานครบถ้วนสมบูรณ์แล้วจึงได้มีคำสั่งดังกล่าว ทั้งนี้ทางอัยการได้พิจารณาสำนวนคดีอย่างรอบคอบ รวดเร็ว และเป็นธรรม

เมื่อถามว่า การที่อัยการเลื่อนเวลาแถลงผลสั่งฟ้องคดีเร็วขึ้น เป็นการเทน้ำหนักให้กับ สนช.ในการลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์หรือไม่ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้อง เนื่องจากอัยการสูงสุดและตนมีภารกิจจะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ต่อ จึงได้มีการลงนามคำสั่งและแถลงข่าวในช่วงเช้าของวันนี้

เมื่อถามว่า หากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้ต้องหาเดินทางไปต่างประเทศ ทางอัยการจะมีแนวทางป้องกันไม่ให้ผู้ต้องหาหลบหนีอย่างไร นายสุรศักดิ์กล่าวว่า เป็นเรื่องในอนาคต เพราะขณะนี้คดียังไม่เข้าสู้ชั้นศาลฎีกาฯ แต่ตามแนวทางแล้ว อัยการจะเป็นคนกลางในการทำเรื่องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อติดตามตัวผู้ต้องหา

เมื่อถามว่า สำนวนคดีของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ พร้อมพวกจะนำมารวมกับสำนวนคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์หรือไม่ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า สำนวนคดีของนายบุญทรง ทาง ป.ป.ช.ยังไม่ได้ส่งมาให้กับทางอัยการ ซึ่ง ป.ป.ช.อยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการ แต่หากข้อเท็จจริงของทั้งสองสำนวนมีประเด็นเกี่ยวพันกันก็อาจจะรวมเป็นสำนวนคดีเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากอัยการสูงสุดได้ยื่นคำฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ แล้วตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกาจะเรียกประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมดภายใน 14 วัน เพื่อเลือกผู้พิพากษา 9 คน เป็นองค์คณะรับผิดชอบคดีพร้อมนัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องคดีไว้พิจารณาพิพากษาหรือไม่ ซึ่งศาลจะพิจารณาจากรายละเอียดการบรรยายฟ้องว่าคดีอยู่ในอำนาจพิพากษาของศาลฎีกาฯ หรือไม่และเมื่อศาลมีคำสั่งรับฟ้องก็จะเลือกผู้พิพากษาในองค์คณะ 1 คน เป็นเจ้าของสำนวนคดีนี้ จากนั้นก็จะมีหมายเรียกจำเลยมาศาลในนัดพิจารณาคดีครั้งแรกภายใน 45 วันนับจากวันที่รับฟ้อง เพื่อสอบคำให้การจำเลย ซึ่งในวันดังกล่าวจำเลยจะต้องเดินทางมาศาลด้วยตนเองและเมื่อตกเป็นจำเลยแล้ว ก็จะต้องยื่นคำร้องเพื่อขอปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ขณะที่ศาลจะพิจารณาให้ประกันหรือไม่และกำหนดเงื่อนไข เช่นการห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลหรือไม่ ถือเป็นดุลพินิจของศาล

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 08.45 น. ก่อนอัยการจะแถลงข่าว นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดเพิ่มเติมอีก ผ่านนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทรยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นายนรวิชญ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนได้ติดตามข่าวทราบว่าอัยการสูงสุดสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมข้อไม่สมบูรณ์ ประเด็นของคดีนี้ซึ่งคณะทำงานร่วมฯ ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ แต่กลับเร่งสั่งคดี และยังสอดคล้องกับที่ สนช.จะลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ในวันนี้ด้วย ตนอยากให้กระบวนการยุติธรรมเดินไปอย่างปกติ ในเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรีแต่ไม่ได้รับความเป็นธรรมแล้วจะหาความเป็นธรรมได้จากที่ไหน

เมื่อถามว่า ในการลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ครั้งนี้มีความมั่นใจแค่ไหน นายนรวิชญ์กล่าวว่า ไม่ได้กังวลในเรื่องเนื้อหาที่ได้แถลงปิดคดีไปแล้ว