วันศุกร์, มกราคม 30, 2558

สถานภาพ “สงครามเย็นยุคใหม่” ในทศวรรษ 2010s ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้/กลุ่มประเทศอาเซียน ระหว่างฝ่ายโลกเสรีประชาธิปไตยที่มีสหรัฐเป็นผู้นำ กับฝ่ายโลก Authoritarianism led by Military



ผมอยากเสนอบทสรุปเบื้องต้นว่า นี้คือสถานภาพ “สงครามเย็นยุคใหม่” ในทศวรรษ 2010s ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้/กลุ่มประเทศอาเซียน ระหว่างฝ่ายโลกเสรีประชาธิปไตยที่มีสหรัฐเป็นผู้นำ และมีแพ็คสนับสนุนเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส (อียู) แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ กับฝ่ายโลก Authoritarianism led by Military ที่มีไทยเป็นผู้นำ

แดเนียล รัสเซล (Daniel Russel) เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐด้านภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (Assistant Secretary of State for East Asian and Pacific Affairs) นับเป็นผู้แทนสหรัฐที่มีตำแหน่งสูงในรัฐบาลโอบามาคนแรก ที่เดินทางเข้าไทย เพื่อ “รับฟัง” (hear) จากหลายฝ่ายถึงสถานการณ์การเมืองของไทย และแลกเปลี่ยนมุมมอง (exchanged perspectives) กับตัวแทนของฝ่ายรัฐบาลทหาร

ถ้ารัสเซลไม่มาไทย รัฐบาลโอบามาที่วอชิงตันดีซี สามารถ “รับฟัง” จากฝ่ายต่างๆ ถึงสถานการณ์การเมืองไทยอย่างลึกซึ้งได้หรือไม่?

คำตอบของคำถามนี้สำหรับนักรัฐศาสตร์และผู้อยู่ในวงการคือ “ได้” เพราะสถานทูตของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ มีการติดตามข่าวสารทั้งระดับกว้างและระดับลึกของประเทศต่างๆ อย่างใกล้ชิด นักการทูตระดับต่างๆ ได้เดินทางไปพบปะหรือเชิญหลายคนไปกินข้าวเพื่อสนทนาปราศรัย เพื่อ “รับฟัง” ข่าว และประเมินสถานการณ์กลับไปยังรัฐบาลของตนเอง

ตัวอย่างเช่น บันทึกรายงานสถานการณ์ของสถานทูตสหรัฐในไทยที่ตีพิมพ์เปิดเผยสถานการณ์การเมืองไทยในยุครัฐบาลทหารสฤษดิ์-ถนอม หลายเล่มใหญ่ เราสามารถเข้าถึงทางออนไลน์และโหลดหรือพริ้นต์มาอ่านได้อย่างสบายๆ

ซึ่งตอนที่ผมทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องยุคทหารจอมพลถนอม ก็ได้เอกสารสหรัฐเหล่านี้ที่ช่วยให้เห็นสถานการณ์การเมืองไทยในยุครัฐเผด็จการทหารในช่วงเกือบยี่สิบปีนั้นได้อย่างยอดเยี่ยม ขณะที่ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยที่ถูกเซ็นเซอร์และเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อไม่ให้ถูกปิด ไม่อาจให้ข่าวการเมืองอย่างลึกซึ้งได้มากนัก ภาพจากหนังสือพิมพ์ไทยจึงดูเหมือนว่า เหตุการณ์การเมืองในยุครัฐบาลทหารสฤษดิ์-ถนอม สงบนั้น รายงานสถานทูตสหรัฐชี้ให้เห็นภาพของลาวาภูเขาไฟที่กำลังจะระเบิด ... สังคมไทยเป้นเสมือนภูเขาไฟที่รอวันระเบิด เป็นต้นครับ

หรือกรณี Wikileek ที่สามารถนำเอาเอกสารรายงานของสถานทูตสหรัฐแบบสดๆ ร้อนๆ มาเปิดเผยในโลกออนไลน์ได้

สรุป แดเนียล รัสเซล ไม่ต้องมาไทยก็ได้ หากอยาก “รับฟัง” ข่าวสารข้อมูล

แต่คำถามที่ต้องถามทางวิชาการคือ รัสเซลมาไทยเพื่ออะไรกันแน่? นี้คือการปรากฏตัวครั้งแรกของผู้แทนสหรัฐในรอบ 8 เดือนกว่าที่ไทยอยู่ในอำนาจรัฐบาลทหารและกฎอัยการศึก

และเป็นการวางจังหวะก้าวล่วงหน้าได้ดีเหลือเกินมามาไทยหลังปรากฏการณ์พิพากษาความผิดในนโยบายเรื่องข้าวของอดีตนายกฯหญิงลักษณ์โดยสภาแต่งตั้งนิติบัญญัติแห่งชาติและฟ้องศาลโดยอัยการเพียง 2 วันเท่านั้น (ศ. 23 มกรา)... การมาวันนี้ของรัสเซลเป็นเหตุบังเอิญหรือ?

ใน 1 วัน 26 Jan. 2015 รัสเซลทำอะไรบ้าง?

เช้า “รับฟัง” คณะของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ที่สถานทูตสหรัฐ และน่าจะตามด้วยพบกับคณะผู้นำภาคประชาสังคม เช่น อ.จอห์น อึ๊งภากรณ์ อ.สุนัย ผาสุก อ.โคทม อารียา ตามมาด้วย “รับฟัง” คณะของอดีตนายกฯอภิสิทธิ์ ที่พรรคประชาธิปัตย์? และถัดมา “แลกเปลี่ยน” กับ นายทหาร รมต.กต.ไทย


บ่าย 13.30-16.00 รัสเซลปาฐกฯที่จุฬา ของสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ รัฐศาสตร์ ที่มี รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักวิชาการรัฐศาสตร์ไทยที่โลกรับฟัง เป็น ผอ. พร้อมถามตอบกับนักศึกษาปริญญาตรี ปาฐกถาเสร็จ สถานทูตสหรัฐก็ออกฉบับแปลภาษาไทยออนไลน์ให้อ่านกันทันที


เย็นให้รายการตอบโจทย์ของคุณณัฐฐา ช่อง TPBS สัมภาษณ์อย่างยาว ไม่ว่าช่อง TPBS จะออกสัมภาษณ์รัสเซลทั้งหมดหรือไม่ หรือไม่ออกอากาศในไทยเลยก็ตาม แต่สถานทูตสหรัฐในไทยก็ออกคำสัมภาษณ์ทุกถ้อยคำภาษาอังกฤษออนไลน์ให้อ่านกันทันที

สรุป 1 วัน รัสเซลทำ 6 อย่าง (ที่เปิดเผย)

และในวันเดียวกันนี้ เมื่อกรุงวอชิงตันดีซีเช้า โฆษก กต. สหรัฐ ก็พบปะตอบคำถามนักข่าวเกี่ยวกับประเทศต่างๆ หนึ่งในคำถามนั้นคือเรื่องของไทย ซึ่งได้สรุปสิ่งที่รัสเซลมาพูดและสื่อถึงรัฐบาลทหารไทย คือ

“ในการพบกับรัฐมนตรีต่างประเทศ ธนศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ รัสเซล ได้เน้นความสำคัญของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ แต่กล่าวชัดเจนด้วยว่า การยกเลิกกฎอัยการศึก, การฟื้นฟูเสรีภาพพื้นฐาน, รวมถึงเสรีภาพในการรวมตัวและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น, ความโปร่งใสและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมนั้นสำคัญ ยิ่งต่อการฟื้นฟูประชาธิปไตยที่มั่นคงในประเทศไทย เขาเน้นย้ำว่าความสัมพันธ์ของเรากับประเทศไทยไม่อาจคืนสู่ปกติได้จนกว่า ประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยอีกครั้ง เขาสรุปจุดนี้อย่างชัดเจนในการพบปะทั้งหมด”

ถอดรหัสการสื่อของสหรัฐต่อรัฐบาลทหารไทย คือ

1. การยกเลิกกฎอัยการศึก

2. การฟื้นฟูเสรีภาพพื้นฐาน, รวมถึงเสรีภาพในการรวมตัวและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น,

3. ความโปร่งใสและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมนั้นสำคัญ ยิ่งต่อการฟื้นฟูประชาธิปไตยที่มั่นคงในประเทศไทย

4. ความสัมพันธ์ของเรา(สหรัฐ)กับประเทศไทยไม่อาจคืนสู่ปกติได้จนกว่า ประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยอีกครั้ง

คำถามที่ยังต้องถาม

1. สหรัฐ ส่งรัสเซล มาพูดเฉยๆ จริงๆ หรือ? หรือว่านับแต่นี้ไป สหรัฐและผู้สนับสนุนมีมาตรการปฏิบัติ 2-3-4… ตามมา หลังจากที่รัฐบาลทหารจากยึดอำนาจของไทยเล่นบทยืดเยื้อมาถึง 8 เดือน ...

คำตอบนี้ ผมคิดว่า ถ้าใช้หลักวิชาการบวกกับหลักประสบการณ์การสอนเรื่องยาวๆ อาจารย์ก็จะวิเคราะห์ได้ไม่ยากว่า... มีแน่ๆ ... แต่จะอย่างไร? อันนี้ต้องคอยดู ... แต่ไม่นานหรอกครับ (ผมคิดถึง โงดิ่นเดียม ปี 2506 ก่อนสฤษดิ์ตายเล็กน้อย ที่ถูกทหารเวียดนามใต้อีกฝ่ายยึดอำนาจในทำเนียบประธานาธิบดีที่ไซ่ง่อน)

2. ทำไมสหรัฐ จึงต้องการให้ไทยกลับเข้าสู่ประชาธิปไตย?

คำตอบเบื้องต้นคือ หากทหารไทยทำเช่นนี้ได้ คืออยู่ในอำนาจเผด็จการ โดยมีกลุ่มที่ได้ประโยชน์อยู่ข้างหลัง ทหารไทยก็คือผู้นำที่จะทำให้ทหารในหลายประเทศอาเซียน “คิดกลับ” เข้าสู่โลกเผด็จการทหารอีกครั้งเช่นกัน โดยเฉพาะใน พม่า ที่ถือว่าเป็นหลักหมายแห่งความสำเร็จทางนโยบายต่างประเทศของสหรัฐยุคโอบามา 1 หรืออาจเป็นในกรณีของอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอีกหลายประเทศ ยกเว้น มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน แต่ที่เหนืออื่นใด ตอนนี้ โลกทั้งใบมีกระแสการเมืองเดียวที่สำคัญในโลกใบนี้ คือ กระแสประชาธิปไตย เท่านั้น

3. กรณีนี้ ชนชั้นนำในฝ่ายอำนาจเผด็จการทหารทั้งในรัฐบาล สนช. สปช. นสพ. ในวัด และที่อยู่เบื้องหลังอื่นๆ จะก่อรูปเป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐอย่างสุดขั้วแล้วไปหา “จีนแดงปักกิ่ง” แทนได้หรือไม่?

คำตอบเบื้องต้นคือ ไม่อย่างแน่นอน เพราะชนชั้นนำไทยในทุกสาขาอาชีพ เติบใหญ่ ได้ดิบได้ดี และมีผลประโยชน์หลากรูปแบบของตนและเครือข่ายในปัจจุบัน มาจากความสัมพันธ์กับสหรัฐแทบทั้งนั้น และจริงๆ แล้วก็คิดอยากเป็นคนอเมริกันชนด้วยซ้ำไป ส่วนจีน/เจ๊ก “จีนแดงปักกิ่ง” นั้น ชนชั้นนำไทย (แม้จะเป็นจีน/เจ๊ก) ก็ทั้งเกลียดทั้งกลัวมาตลอดหน้าประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีกระบวนการบังคับจีน/เจ๊กให้เป็นไทยแท้ๆ ตลอดเวลา ยิ่งเป็นสินค้าจีน/เจ๊ก ยิ่งรู้สึกเสมอถึงความไม่มีคุณภาพอยู่ในห้วงจิตใจตลอดมา

กล่าวโดยสรุป นี้คือปรากฏการณ์แดเนียล รัสเซล 1 วัน Mon. 26 Jan. ในไทย

นี้คือสถานภาพ “สงครามเย็นยุคใหม่” ในทศวรรษ 2010s ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้/กลุ่มประเทศอาเซียน ระหว่างฝ่ายโลกเสรีประชาธิปไตยที่มีสหรัฐเป็นผู้นำ กับฝ่ายโลก Authoritarianism led by Military ที่มีไทยเป็นผู้นำ

ภาพ 1 วันในไทยของแดเนียล รัสเซล

ข้าพเจ้ามองภาพนี้... อย่างสงบ ใจข้าพเจ้าขอพลังแห่งสิทธิ/เสมอภาค/เสรีภาพ/ภราดรภาพจงมีอยู่ในประชาชนของเรา

บันทึกไว้ Thu.ศ. 29 Jan.มกรา 2015/2558

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์











ตอบโจทย์ กับ แดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ

https://www.youtube.com/watch?v=Yr2CmcyKnhU

Published on Apr 16, 2014
รายการที่นี่ไทยพีบีเอส ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
ออกอากาศทุกวัน จันทร์ - ศุกร์ เวลา 21.15 น.