วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 28, 2558

คนชั้นกลางอ่วมปฏิรูปภาษีที่ดิน



ที่ทา FB bangkokcitismart

คนชั้นกลางอ่วมปฏิรูปภาษีที่ดิน

การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปภาษีทั้งระบบของรัฐบาล ที่ดำเนินการมาตั้งแต่สมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าบริหารประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

สาระสำคัญ คือ ต้องการเก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า และส่วนใหญ่อยู่ในมือของมหาเศรษฐีเมืองไทย เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ รวมทั้งกระจายที่ดินไปสู่คนที่มีรายได้น้อยกว่า เพื่อใช้ในการทำมาหากินหรือให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น

อีกเป้าหมายก็เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ซึ่งจะเป็นผู้เก็บภาษีที่ดินตามกฎหมายใหม่ จะทำให้ อปท. เก็บรายได้ได้มากขึ้น 5-6 เท่า หรือปีละ 2-3 แสนล้านบาท ทำให้รัฐฯ ไม่ต้องจ่ายเงินอุดหนุนปีละ 2.5 แสนล้านบาท ให้กับ อปท.

แต่สาระสำคัญของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเวลานี้ยังไม่ลงตัว มีการรื้อเพื่อให้ลดผลกระทบกับผู้เสียภาษี จากเดิมกำหนดเพดานภาษีไว้ 3 อัตรา

ล่าสุดมีการปรับรายละเอียดภาษีที่ดินอีกครั้ง โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ 1.ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม 2.ที่ดินเพื่ออยู่อาศัย 3.ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ และ 4.ที่ดินรกร้างว่างเปล่า โดยเพดานภาษีจะลดลงมาอยู่ที่ 3-4 เท่าของอัตราที่จะเรียกเก็บจริง จากที่ปัจจุบันเพดานภาษีที่กำหนดไว้สูงถึง 8-9 เท่าของอัตราที่เก็บจริง เช่น จะเก็บภาษีที่ดินสำหรับอยู่อาศัยที่ 0.1% ก็ควรกำหนดเพดานภาษีไว้ที่ 0.3-0.4% ของราคาประเมินก็เพียงพอแล้ว

ประเด็นสำคัญ คือ จะทำอย่างไรไม่ให้ผู้เสียภาษีมีภาระสูงจนแบกรับไม่ไหว ในส่วนภาษีที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมก็จะมีการยกเว้นให้กับผู้ถือครองที่ดิน 15-20 ไร่ โดยจะมีการตีเป็นมูลค่าออกมาว่าควรเป็นเท่าไรที่จะได้รับการยกเว้นภาษี

สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จากเดิมที่จะยกเว้นสำหรับที่อยู่อาศัยมูลค่า 2 ล้านบาทแรก ต้องมีการปรับลด เพราะส่งผลกระทบกับการเก็บภาษีในต่างจังหวัดที่ราคาที่ดินและบ้านราคาถูก ทำให้ อปท.ไม่สามารถเก็บภาษีได้เลย โดยกรอบคิดของ ก.คลัง ขณะนี้จะให้บ้าน 70-100 ตร.วา เสียภาษีประมาณ 2,000-3,000 บาท/ปี ขณะที่ดินเพื่อการพาณิชย์ยังคงยึดหลักการเดิม

ปัญหาสุดท้ายคือที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่ในทางการปฏิบัติจัดเก็บได้ยาก เพราะคนรวยก็จะจ้างคนไปปลูกต้นไม้ต้นหญ้าให้เป็นที่ดินเพื่อการเกษตร ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษีและเสียภาษีต่ำ

ภาระจะตกอยู่กับผู้ที่มีบ้านอยู่อาศัย โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ทางเศรษฐกิจที่ราคาที่ดินและบ้านราคาสูง คนที่อยู่คอนโดฯ เกิน 1-2 ล้านบาท ก็ต้องเสียภาษีแล้ว ส่วนคนที่มีบ้านพื้นที่ 70-100 ตร.วา ก็ต้องเสียภาษีที่ดินอย่างเลี่ยงไม่ได้

ต่างจากที่ดินเพื่อการพาณิชย์ หากมีที่ดินที่ยังไม่ได้ทำโครงการ ซึ่งต้องเสียภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า ก็มีการวิ่งเต้นให้เสียภาษีอัตราที่ดินเพื่อการพาณิชย์ ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่าก็มีช่องเลี่ยงช่องใหญ่

ปัญหาดังกล่าวทำให้คนชั้นกลางที่เริ่มสร้างเนื้อสร้างตัว และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปัจจุบันและอนาคต มีปัญหารายได้ไม่เพิ่ม สวนทางกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น ใช้จ่ายได้น้อย แล้วยังต้องเจอภาระจากการปฏิรูปภาษีที่ดินเพิ่มอีก จึงยากที่ภาวะเศรษฐกิจจะมีสัญญาณที่ดีขึ้นในเร็วๆ นี้

หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

ติดตามอัพเดทข่าวสารในวงการอสังหาฯ ทั้งหมดได้ที่
http://www.bkkcitismart.com/news?tcc=fb1