วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 21, 2558

ก็มีแสงหิ่งห้อยน้อยๆ ปรากฏขึ้น : รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

จากบทความ 'บทเรียน ๒๒ พ.ค. ๕๗ (๓) : ขบวนเสื้อแดง' โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุขฉบับวันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558


                ขบวนคนเสื้อแดงนับเป็นการเคลื่อนไหวของมวลชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ที่มีลักษณะกว้างขวางและมีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ พวกเขาก่อตัวขึ้นภายใต้การประจวบเหมาะของเงื่อนไขเศรษฐกิจการเมืองไทยในยุคโลกาภิวัฒน์

                นับแต่ปี 2535 เศรษฐกิจไทยได้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญ การเข้าร่วมความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) การเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก การเคลื่อนย้ายเงินทุนขนานใหญ่จากเอเชียตะวันออกมายังประเทศไทย ทำให้ภาคเศรษฐกิจต่างประเทศของไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด การนำเข้าและส่งออกขยายตัวและมีความหลากหลาย การไหลเข้ามาของเงินทุนระหว่างประเทศจำนวนมหาศาล เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง เศรษฐกิจหัวเมืองและชนบทเติบโตไปสู่พาณิชย์อุตสาหกรรม สัดส่วนของเกษตรกรรมลดลงทั้งในรายได้ประชาชาติและในสินค้าส่งออก การปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศเปิดช่องทางการสื่อสารและการรับรู้ที่ไม่ถูกจำกัดโดยอำนาจรัฐ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปการจิตสำนึกของประชาชนอย่างกว้างขวาง

                ผลคือการก่อตัวของชนชั้นทางเศรษฐกิจกลุ่มใหม่ ยกระดับจากเกษตรกรและผู้ค้ารายย่อยในหัวเมืองชนบท ไปเป็นเกษตรกรเชิงพาณิชย์และผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก-กลางในภาคพาณิชย์อุตสาหกรรมกระจายอยู่ทั่วชนบทและหัวเมือง บางคนเรียกประชากรเหล่านี้ว่า ชนชั้นกลางใหม่ แม้ว่าโดยปริบทแล้วพวกเขาก็ยังคงเป็น คนชั้นล่าง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มทุนจารีต กลุ่มทุนเก่า และชนชั้นกลางดั้งเดิมในเมืองที่เป็นวิชาชีพและมีการศึกษาสูงกว่า

เหตุการณ์นองเลือดพฤษภาคม 2535 ได้ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ระยะการเมืองระบบรัฐสภา ซึ่งแม้จะยังอยู่ภายใต้โครงครอบของอำนาจจารีตนิยม แต่ก็เป็นการเมืองแบบเลือกตั้งที่มีเสถียรภาพและมีความต่อเนื่อง วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ทำให้พวกจารีตนิยมจำยอมให้มี ปฏิรูปการเมือง รัฐธรรมนูญ 2540 และพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มีเสียงเด็ดขาดในสภา กลุ่มทุนใหม่ที่มีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและพรรคไทยรักไทยเป็นตัวแทนจึงได้ฉวยใช้กลไกรัฐสภาเป็นเครื่องมือ เข้าสู่อำนาจบริหารด้วยการเลือกตั้ง ดำเนินนโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจในขอบเขตจำกัดและกระจายทรัพยากรบางส่วนไปสู่ชนบท เกิดเป็นพันธมิตรทางชนชั้นขึ้นระหว่างกลุ่มทุนใหม่กับ ชนชั้นกลางใหม่ ในหัวเมืองและชนบท

กลุ่มปกครองไทยมองเห็นว่า พันธมิตรทางชนชั้นนี้อาจเป็น ภัยอันตราย ต่ออำนาจของพวกเขาในระยะยาว พวกเขาจึงก่อรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ขจัดพ.ต.ท.ทักษิณ ยุบพรรคไทยรักไทย แต่รัฐประหารก็ปลุกให้ คนชั้นกลางใหม่ เหล่านี้ตื่นขึ้น แปรเปลี่ยนจากคะแนนเสียงพรรคการเมืองไปเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองขนาดใหญ่ที่เรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งก็คือ ขบวนคนเสื้อแดงในปัจจุบัน

ขบวนคนเสื้อแดงได้เติบโตและมีความหลากหลายขึ้น นอกจาก คนชั้นกลางใหม่ จากหัวเมืองชนบทแล้ว ยังได้รวมเอาปัญญาชน กลุ่มวิชาชีพ คนชั้นกลางในเมืองบางส่วนที่ต้องการประชาธิปไตยไว้ด้วย โดยมีท่าทีต่อพ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทยแตกต่างกัน มีทั้งสนับสนุนอย่างไม่มีเงื่อนไข หรือร่วมมือในขอบเขตจำกัด
Red-shirts last stand at Aksa
 ขบวนคนเสื้อแดงพัฒนาถึงจุดสูงสุดในช่วงปี 2553-54 เมื่อถูกปราบปรามอย่างนองเลือด แต่กลับสามารถฟื้นคืนมาได้อย่างรวดเร็วในขอบเขตใหญ่โตเข้มแข็งยิ่งกว่าเดิมจนสามารถผลักดันให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง 2554 ได้สำเร็จ

แต่แล้ว แนวทางของพ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทยที่มุ่งแสวงหานิรโทษกรรมเหมาเข่งโดยไม่คำนึงถึงผลเสียใดๆ ทั้งสิ้น ก็ได้เปิดช่องให้พวกจารีตนิยมก่อรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ยิ่งกว่านั้น การผลักดันนิรโทษกรรมเหมาเข่งยังได้ก่อให้เกิดความระส่ำระสาย สับสน และแตกแยกอย่างถึงรากภายในขบวนคนเสื้อแดง

กลุ่มคนเสื้อแดงที่สนับสนุนพ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทยอย่างเหนียวแน่น มีท่าทีต่อนิรโทษกรรมเหมาเข่งในระดับต่างๆ กัน มีทั้งกลุ่มที่ร่วมผลักดันอย่างเอาการเอางาน กลุ่มที่สงสัยไม่แน่ใจแต่ก็ยังสนับสนุน ไปจนถึงกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่คัดค้านและยังสนับสนุนพรรคเพื่อไทยต่อไป กลุ่มคนเสื้อแดงส่วนนี้มักจะเป็นกลุ่มมวลชนในหัวเมืองและชนบทที่เป็นฐานคะแนนเสียงอันเข้มแข็งของพ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทยอยู่ก่อนแล้ว

แม้ว่าคนเสื้อแดงส่วนนี้จะยังคงต้องการประชาธิปไตย คัดค้านเผด็จการ แต่ความล้มเหลวของนิรโทษกรรมเหมาเข่ง รัฐประหาร 2557 แนวทางที่พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทยให้ความร่วมมือ กับคณะรัฐประหารเป็นอย่างดี แล้วยังเรียกร้องให้คนเสื้อแดง สนับสนุนคณะรัฐประหาร อีกด้วย ได้สร้างความสับสนงุนงงและความคับข้องใจในหมู่มวลชนเหล่านี้ เกิดความท้อถอย เฉื่อยชา เพ้อฝันต่อรัฐธรรมนูญใหม่ รอคอยแต่การเลือกตั้งและการกลับมาของตระกูลชินวัตร

ในต้นปี 2558 แนวทางฉวยโอกาสที่ตระกูลชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ให้ความร่วมมือ กับคณะรัฐประหารก็ล้มเหลวลงในที่สุด เมื่อกลุ่มปกครองจารีตนิยม กลุ่มอำมาตย์ และกลุ่มทหาร สามารถสมานสามัคคีกันได้โดยพื้นฐาน แล้วหันมา จัดการ กับตระกูลชินวัตรอย่างเป็นขั้นตอน ด้วยคดีอาญาทางการเมืองหลายคดีต่อนางสาวยิ่งลักษณ์และบุคคลอื่นๆ ในตระกูลชินวัตร สถานะทางการเมืองและการต่อรองของตระกูลชินวัตรได้เสื่อมทรามลงอย่างมาก ทำให้คนเสื้อแดงกลุ่มเพื่อไทยนี้ยิ่งคับแค้น ท้อแท้ พ่ายแพ้ และเกิดเป็นวิกฤตทางความคิดที่ไม่เห็นอนาคต

คนเสื้อแดงกลุ่มที่สนับสนุนตระกูลชินวัตรอย่างเหนียวแน่นจะยังคงเป็นฐานคะแนนเสียงในการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยต่อไป แต่ถ้าตระกูลชินวัตรและพรรคเพื่อไทยถูกลดทอนหรือแยกสลายจนไม่ใช่พลังที่สำคัญอีกต่อไป คนเสื้อแดงกลุ่มนี้ก็จะต้องเลือกระหว่างสองเส้นทางคือ หนึ่ง สลายตัวไป ดังเช่นขบวนการมวลชนจำนวนมากที่ล้มเหลวและพ่ายแพ้ในอดีต หรือสอง ปรับขบวนและความคิด เดินหน้าสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไปโดยปราศจากตระกูลชินวัตรและพรรคเพื่อไทย

กลุ่มคนเสื้อแดงอีกส่วนหนึ่งที่ชูธงคัดค้านนิรโทษกรรมเหมาเข่งมาแต่ต้น มีขนาดมวลชนน้อยกว่า ส่วนใหญ่เป็นปัญญาชนคนชั้นกลางในเมืองและหัวเมือง แนวทางที่โลเลฉวยโอกาสของพรรคเพื่อไทยและรัฐประหาร 2557 ได้ทำให้คนเสื้อแดงกลุ่มนี้ปฏิเสธพรรคเพื่อไทยและแยกทางกับคนเสื้อแดงกลุ่มแรกอย่างชัดเจน กระทั่งจำนวนหนึ่งถึงกับยกเลิกสัญลักษณ์ เสื้อแดง หันไปใช้สมญานามอื่นแทน เช่น เสรีชน เสรีนิยม เป็นต้น แม้พวกเขาจะมีการรวมกลุ่มจัดตั้งกันในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังกระจัดกระจาย ไม่เข้มแข็ง และยังขาดการนำทางการเมือง ภาระหน้าที่ข้างหน้าของพวกเขาหากจะยังคงมุ่งไปบรรลุประชาธิปไตยก็คือ การรวมตั้งจัดตั้งที่เป็นเครือข่ายทั้งกว้างและลึก พัฒนายกระดับการนำทางการเมือง ประกอบขึ้นเป็นขบวนเสรีประชาธิปไตยใหม่ให้จงได้

ความหวังในการฟื้นขบวนประชาธิปไตยที่มีลักษณะมวลชนก็คือ การรวมกันอีกครั้งหนึ่งของคนเสื้อแดงกลุ่มแรกส่วนหนึ่งที่สลัดพ้นจากอิทธิพลของตระกูลชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ประสานเข้ากับกลุ่มคนเสื้อแดง (หรืออดีตเสื้อแดง) ที่เป็นเสรีประชาธิปไตย ประกอบขึ้นเป็นขบวนเสรีประชาธิปไตยใหม่ ที่มิใช่สู้เพื่อนักการเมืองกลุ่มตระกูลใดหรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่เพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมขึ้นในประเทศไทยในที่สุด
นักศึกษาแปรอักษร ฟุตบอลประเพณี ๒๕๕๘
 ถ้าความพยายามนี้ไม่ประสบความสำเร็จ อนาคตของประชาธิปไตยก็จะมืดมนและดับลงอีกครั้ง

แต่ในสถานการณ์อันมืดมิดนี้ ก็มีแสงหิ่งห้อยน้อยๆ ปรากฏขึ้น ซึ่งอาจลุกโชนขึ้นเป็นคบเพลิงที่ส่องทางให้กับมวลชนประชาธิปไตยฟื้นตัวขึ้นและเดินไปข้างหน้าได้อีกครั้ง ซึ่งก็คือ การปรากฏขึ้นของขบวนนิสิตนักศึกษาปัญญาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ