วันพุธ, เมษายน 22, 2558

18 ปีแห่งความหลัง! “บวรศักดิ์ VS บวรศักดิ์” ปมร่าง รธน. "การเมืองเข้มแข็ง-อ่อนแอ" ธาตุแท้ ปธ.ร่าง รธน.คสช.



ที่มา เวป ที่นี่และที่นั่นวันนี้
April 21, 2015

เริ่มแล้ว การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ชองคณะรัฐประหาร คสช. เพื่อพิจารณา “ร่างรัฐธรรมนูญ” ของ คสช. ที่ยกร่างโดย “คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งมี “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เนติบริกรคนสำคัญเป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

โดยเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 20 เมษายน 2558 “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ประเดิมรายงานต่อที่ประชุม สปช.ถึงกระบวนการยกร่างฯและเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ ของ คสช.ว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช้รูปแบบการเลือกตั้งทุกรูปแบบที่เคยลอกเลียนมาจากฝรั่งทั้งแบบเขตเดียวคนเดียว และระบบบัญชีรายชื่อ แล้วหันมาใช้รูปแบบไทยแท้ๆ ที่คณะกรรมาธิการยกร่างบัญญัติขึ้น

โดยเน้นย้ำว่า “ที่ผ่านมาการเลือกตั้งทุกรูปแบบของไทยเอาแบบมาจากฝรั่งทั้งสิ้น ทั้งแบบเขตเดียวคนเดียว ระบบบัญชีรายชื่อ ที่นำมาใช้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้รัฐบาล สร้างภาวะผู้นำให้นายกรัฐมนตรี”

นายบวรศักดิ์ ระบุว่า “ที่ผ่านมาพรรคการเมืองได้เสียงข้างมากเกินจริง การเขียนร่างรัฐธรรมนูญจึงใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมสะท้อนความนิยมที่แท้จริงของพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และให้พรรคขนาดกลาง หรือพรรคขนาดเล็กมีโอกาสร่วมเป็นรัฐบาลผสม”

พร้อมกับยอมรับว่า “ระบบนี้จะทำให้ได้รัฐบาลผสมนำไปสู่ความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล แต่ กมธ.ยกร่างฯมีมาตรการคุ้มกันมาลดความเสี่ยงด้วยการกำหนดมาตรการต่างๆ”

ซึ่งคำพูดชี้แจงต่อที่ประชุม สปช.ดังกล่าว ของ “ประธานคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ” นั้นเปิดเผยเป้าหมายอย่างชัดเจนว่าแท้ที่จริง คืออะไร ?

แนวทางการปฏิรูปการเมืองของ คสช.ผ่านการ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ครั้งนี้คือการ “บอนไซการเมืองเข้มแข็ง” และสถาปนา “การเมืองที่อ่อนแอ” ขึ้นมาอีกครั้งในสังคมไทยหรือไม่ ?

แต่น่าแปลกใจเป็นอย่างยิ่งว่า “คำพูด” ของ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ในฐานะ “ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คสช.”เมื่อ 20 เมษายน 2558 ดังกล่าวนั้น “แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว” เมื่อไปย้อนดูคำพูดของ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” สมัยที่เป็น “สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 2540” และเป็น “เลขานุการกรรมาธิการแปรญัตติยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540” ที่ได้ยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างสิ้นเชิง

โดยพบว่า “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ในสมัยเป็น ส.ส.ร.40 ที่ “ยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540″ นั้น กลับเป็นผู้หนึ่งที่พล่ามพูดถึง “การเมืองเข้มแข็ง-รัฐบาลที่มีเสียรภาพ” ที่เป็นคนละเรื่องกับ “กติกาบังคับการเมืองอ่อนแอนและการปูทางให้รัฐบาลผสม” อย่างสิ้นเชิง

ซึ่งเมื่อ วันที่ 22 มิถุนายน 2540 หนังสือพิมพ์สยามโพสต์ ได้เผยแพร่บทความ ในหัวข้อเรื่องว่า“บวรศักดิ์ อุวรรณโณ แจงเหตุร่างรัฐธรรมนูญ สสร.อำนาจอธิปไตยเป็นชองปวงชนไม่ได้” โดยในตอนหนึ่งของระบุว่า “…ดีกว่าเก่าแน่นอน เหตุผล 3 ข้อก็คือ 1.ขยายสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น 2.พยายามทำให้การเมืองสุจริตขึ้น 3.พยายามทำให้การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และนี่คือวัตถุประสงค์หลักของการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้..”

นอกจากนี้ในเนื้อหาข่าวเดียวกัน เมื่อมีคำถามว่า “วิเคราะห์จุดเด่นและจุดด้อยของร่างรัฐธรรมนูญ สสร.อย่างไร ?” นายบวรศักดิ์ ตอบว่า “จุดเด่น ผมพูดไปแล้วข้างต้น 3 ข้อ จุดด้อยก็คือว่า สสร.บางส่วนอาจจะไม่เข้าใจหรือไม่แน่ใจในสิ่งที่ทำว่าจะได้ผลหรือเปล่า ก็เลยพยายามทำให้จางลง เพราะฉะนั้นกลไกที่จะใส่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ไปถอดออก ลดออก ทอนลง โดยเฉพาะองค์กรตรวจสอบหรือกระบวนการตรวจสอบทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกที่จะทำให้รัฐบาลเข้มแข็งก็จะมีการถามกันตลอดเวลาว่า จะไม่เป็นเผด็จการไปหรือไม่ จะทำให้รัฐบาลอยู่นานไปหรือเปล่า อย่างนี้เป็นต้น ก็อยากถามว่าเราต้องการแก้ปัญหาเสถียรภาพไม่ใช่หรือ ทำไมเราไม่ให้อำนาจเขาเต็มที่ โดยให้มีความรับผิดชอบ และถูกตรวจสอบอย่างเต็มที่ ถ้าเขามีอำนาจเต็มร้อย แต่เขาทำผิด เราก็ต้องรับผิดทั้งร้อย จะไม่ดีกว่าการให้อำนาจเขาแค่ 50 แต่เขาไม่ทำอะไรเลย แล้วการตรวจสอบก็ยังไม่มีประสิทธิภาพอีกด้วย จะเอาหรือแบบนี้เพราะฉะนั้น จุดอ่อนก็คือว่ามาตรการหลายอย่างขาดความเข้าใจ คือกลัวๆ กล้าๆ เหมือนคุณให้ยาคนแต่กลัวว่ายาจะแรงไปก็ให้น้อย แต่การให้น้อยก็คือการเลี้ยงไข้ใช่ไหม ยาถูกขนานแต่ให้น้อยไป ก็คือการเลี้ยงไข้”

ทั้งหมดทั้งมวลคือ คำพูดของ “บวรศักดิ์” คนเดียวกัน แม้มันจะดู “แตกต่างกันมาก” ก็ตาม !