วันจันทร์, พฤษภาคม 25, 2558

ภัควดี วีระภาสพงษ์: ปฏิรูปกองทัพ




ถ้าข้าพเจ้าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย ข้าพเจ้าจะปฏิรูปกองทัพ ข้าพเจ้าต้องการปฏิรูปกองทัพเพียงสองประการ ประการแรกคือความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับ ประชาชน ประการที่สองคือความโปร่งใสและความมีเกียรติของกองทัพ

วันที่ 23 พฤษภาคม 2558
ที่มา สำนักข่าวประชาธรรม

วันนี้ 23 พ.ค. 2558 สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับกลุ่มพลเมืองเสมอกัน จัดงาน "75 ปีที่ผ่านและวันข้างหน้าของ นิธิ เอียวศรีวงศ์" โดยกิจกรรมมีการสลับขึ้นบรรยายสาธารณะของนักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคมในหัวข้อต่างๆ ภายใต้คำถามเดียวกันนั่นคือ "ถ้าเป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ในอนาคตจะทำอย่างไร" เพื่อเป็นการแสดงมุทิตาจิตต่อศ. ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ เนื่องในวาระครบรอบ 75 ปี ซึ่งแม้จะการเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดงานด้วยเหตุแห่งเผด็จการทหารที่คาดฝัน แต่กิจกรรมทั้งหมดก็ลุล่วงไปด้วยดี ประชาธรรม มีสาระสำคัญของบางห้วงบางตอนมานำเสนอ

ในส่วนของภัควดี วีระภาสพงษ์ ซึ่งเป็นคนพูดในลำดับสุดท้าย ในหัวข้อ ปฏิรูปกองทัพ ได้ปรากฏกายสร้างเซอร์ไพรส์ให้กับผู้ร่วมงาน โดยการ "พูด" สั้นๆ ผ่านการแสดงและเชิญชวนทุกท่านดาว์นโหลดเนื้อหาที่ผ่านเพจพลเมืองเสมอกัน https://dl.dropboxusercontent.com/u/3992683/MilitaryReform.pdf ซึ่งข้อเขียนนำเสนอ 2 ประการสำคัญ ประกอบด้วย หนึ่งความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับ ประชาชน สอง ความโปร่งใสและความมีเกียรติของกองทัพ



อ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ ตามนี้

ถ้าข้าพเจ้าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย ข้าพเจ้าจะปฏิรูปกองทัพ

ข้าพเจ้าต้องการปฏิรูปกองทัพเพียงสองประการ ประการแรกคือความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับประชาชน ประการที่สองคือความโปร่งใสและความมีเกียรติของกองทัพ

ในประการแรก กล่าวคือความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับประชาชน ความขัดแย้ง หวาดระแวง หมางเมิน ที่กองทัพและประชาชนต่างมีต่อกันและกันนั้น เกิดมาจากความห่างเหินและไม่ยึดโยง กัน ในหลาย ๆ แง่ ทหารนั้นก็เหมือนนักบวช ฝึกฝนอบรมอยู่ในโลกของตนเองจนขาดความเข้าใจต่อโลกภายนอก ยิ่งกองทัพมีอำนาจ ก็ยิ่งไม่ฟังเสียงประชาชน ยิ่งกองทัพจมปลักอยู่กับความคิดยุคสงครามเย็น กองทัพก็ตามไม่ทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

การปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับกองทัพให้ดีขึ้น ทหารต้องออกมาคลุกคลีกับประชาชนให้มากขึ้น นักศึกษาทหารควรออกมาเรียนในมหาวิทยาลัยทั่วไปรวมกับพลเรือน พวกเขาควรได้เรียนรู้แนวคิดทางสังคมศาสตร์ ได้รับรู้แนวคิดที่แตกต่างหลากหลาย ได้เข้าใจว่าคนเราสามารถคิดไม่เหมือนกัน แต่ก็อยู่ร่วมกันได้ ทหารจะได้ไม่ตกใจจนขวัญหนีเมื่อพบว่าพลเรือนมีความคิดแตกต่างจากตน ทหารควรเข้าใจว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่คู่สังคม มันไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องไม่พึงประสงค์ และบางครั้งความขัดแย้งก็เป็นแรงผลักให้สังคมก้าวหน้า ตราบที่การแก้ไขความขัดแย้งไม่ใช้วิธีการรุนแรงและไม่กดปราบมันไว้

หากนักศึกษาทหารได้ออกมาเรียนรู้โลกกว้าง พวกเขาจะเข้าใจว่าความรักชาติรักสถาบันมีหลายแบบ การวิจารณ์ผู้อยู่ในอำนาจและชนชั้นนำไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความเกลียดชังหรือการล้มล้างใด ๆ อีกทั้งผู้วิจารณ์ก็มีความรักในแบบของเขา ทหารไม่พึงตั้งตัวเป็นผู้ผูกขาดความรักที่มีต่อชาติและสถาบัน ไม่พึงตั้งตัวเป็นผู้ผูกขาดการนิยามและวิธีแสดงออกของความรัก แล้วผลักคนอื่น ที่รักต่างจากตนให้กลายเป็นศัตรู

กองทัพยุคใหม่ควรก้าวพ้นจากแนวคิดแบบสงครามเย็น กองทัพควรเลิกใช้แนวคิดแบบยุค สงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ เลิกหวาดระแวงประชาชน อย่ามองประชาชนเป็นศัตรู อย่ามองประชาชนเป็นเพียงผู้อยู่ใต้อาณัติที่กองทัพต้องคอยชี้ซ้ายชี้ขวา กองทัพควรเข้าใจแนวคิดของ “รัฐ ประชาชาติ” รัฐที่คนทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของ ไม่ว่าคนคนนั้นจะยากดีมีจนแค่ไหน ทุกคนต้องได้เป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน มีสิทธิ์มีเสียงมีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมตัวเองร่วมกัน กองทัพไม่ควรกีดกันประชาชนจากความเป็นเจ้าของประเทศ ไม่ควรหวงประเทศจากประชาชนของตัวเอง และควรเข้าใจด้วยว่าประเทศชาติใดๆ ก็มิอาจดำรงอยู่ได้หากประชาชนถูกพรากจากศักดิ์ศรีของความเป็นเจ้าของประเทศ

กองทัพควรเข้าใจด้วยว่าโลกเรานั้นอนุวัตรตามโลกาภิวัตน์มาหลายสิบปีแล้ว สังคม การเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของประเทศไทยผูกร้อยแน่นแฟ้นกับประเทศเพื่อนบ้านและโลกภายนอก การปิดประเทศอยู่เพียงลำพังอย่างพอเพียงเป็นแค่ความเพ้อฝันที่ไม่มีทางเป็นจริง การมองชนชาติอื่นเป็นศัตรูกลับจะยิ่งสร้างภาวะอ่อนแอให้ประเทศไทย เราจำเป็นต้องพึ่งพิงแรงงานข้ามชาติ เราจำเป็นต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีจากโลกตะวันตก เราจำเป็นต้องค้าขายและพึ่งพิงสินค้าจากประเทศอื่น เราจำเป็นต้องเชิดหน้าชูตาได้อย่างมีเกียรติบนเวทีโลก “ความเป็นไทย” ที่อุปโลกน์ขึ้นมาและไม่อนุวัตรตามโลกาภิวัตน์จะไม่ช่วยให้ประเทศของเราอยู่รอด แต่กลับจะเป็นเครื่องถ่วงให้ประเทศของเราล้าหลังและอาจถึงขั้นจมดิ่งอยู่ในปลักตม

กองทัพต้องเลิกผูกความสำคัญของการดำรงอยู่ของกองทัพไว้กับการมีศัตรู กองทัพควรมีความมั่นใจในตัวเอง ประชาชนยังต้องการกองทัพเสมอแม้เมื่อไม่มีศัตรูภายในหรือภายนอกบ้านก็ตาม ประชาชนยังคงต้องหลักประกันความปลอดภัยและความมั่นคงตามชายแดน ความช่วยเหลือยามภัยพิบัติต่อให้โลกนี้ไม่มีสนามรบอีกแล้ว กองทัพก็ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดเสียมิได้ของประเทศอยู่ดี ไม่มีความจำเป็นต้องกุสร้างศัตรูปลอม ๆ ขึ้นมาหลอกหลอนตัวเองและประชาชน เพียงเพื่อสร้างความมั่นคงให้ตัวเอง

กองทัพต้องยอมรับว่า การสั่งสมความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์และพิชัย สงครามย่อมแลกกับการมีความรู้ความเชี่ยวชาญน้อยกว่าพลเรือนในด้านอื่น ๆ เช่น ด้านการบริหารประเทศ การบริหารเศรษฐกิจ ฯลฯ ดังเห็นได้จากตัวอย่างที่มีมากมายว่า รัฐบาลทหารไม่ว่าในประเทศไหน ๆ ก็ไม่สามารถบริหารประเทศชาติให้รุ่งเรืองยั่งยืนได้ แม้กระทั่งองค์กรเล็ก ๆ เช่น รัฐวิสาหกิจ ก็ไม่ปรากฏว่าการมีทหารไปนั่งเป็นกรรมการจะทำให้รัฐวิสาหกิจไหนมีกำไรหรือมีประสิทธิภาพ การยอมรับความจริงพื้นฐานของชีวิตข้อนี้จะช่วยให้กองทัพสามารถโฟกัสไปที่สิ่งที่ตัวเองควรทำได้ดีที่สุด มิใช่พยายามเข้าไปก้าวก่ายในสิ่งที่ตัวเองแทบไม่มีความรู้ความชำนาญเลย

หากยอมรับความจริงพื้นฐานข้อนี้ได้แล้ว ก็จะทำให้กองทัพยอมรับการยึดโยงกับประชาชนในแง่ที่สำคัญที่สุด นั่นคือ กองทัพควรอยู่ใต้อำนาจของกระทรวงกลาโหมที่มีพลเรือนเป็นรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย การอยู่ใต้อำนาจพลเรือนไม่ใช่การเสื่อมเกียรติ แต่เป็นการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ประชาชนจะไว้วางใจทหารที่ถืออาวุธได้อย่างไรหากไม่มั่นใจว่าทหารจะยึดโยงกับประชาชนเสมอ? กองทัพไม่ควรหวาดระแวงหรือดูหมิ่นว่าพลเรือนไม่รู้เรื่องการ ทหาร การอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนเป็นเพียงแค่การยอมรับอำนาจชี้นำของประชาชนเกี่ยวกับทิศทางของประเทศในภาพกว้างเท่านั้น ถึงอย่างไรกองทัพก็ยังเป็นผู้รู้ดีที่สุดเกี่ยวกับการสงคราม และการจัดกำลังพลพลเรือนย่อมเคารพกองทัพในแง่นี้ กองทัพก็ควรเคารพประชาชนในแง่ของการบริหารประเทศเช่นกัน

เมื่อแบ่งงานกันทำแล้ว กองทัพจึงไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองและเศรษฐกิจ ประเด็นนี้ควรบัญญัติไว้เป็นกฎหมาย เพื่อสกัดกั้นความทะเยอทะยานส่วนตัวของนายทหารบางคน โครงสร้างการวางกองกำลังของกองทัพจึงควรอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางภูมิศาสตร์และยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศอย่างเคร่งครัด กองทัพควรประจำการตามแนวชายแดน อาวุธของ ทหารควรหันปากกระบอกระวังภัยให้ประชาชน มิใช่หันปากกระบอกมาคุมเชิงประชาชนไว้ กองทัพต้องปฏิบัติตามและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการยกร่าง การ รัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญถือเป็นกบฏอย่างไม่มีเงื่อนไข

การควบคุมด้านความมั่นคงภายในประเทศ เช่น การปราบจลาจล ฯลฯ ควรเป็นหน้าที่ของตำรวจ (ซึ่งควรถูกปฏิรูปเช่นกัน) ต้องมีการตรากฎหมายห้ามมิให้ทหารนำอาวุธสงครามเข้ามาในเมือง เพื่อป้องกันการรัฐประหารและสงครามกลางเมือง กองทัพไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานด้านข่าวกรอง กองทัพถืออาวุธไว้ในมืออยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องหวาดระแวงใครอีก งานข่าวกรองควรอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากประชาชน ความมั่นคงของชาติควรเป็นสิ่งที่สมาชิกทุกคนในชุมนุมชนรับผิดชอบร่วมกันและตัดสินใจร่วมกันว่าอะไรคือความมั่นคง กองทัพไม่มีสิทธิ์ผูกขาดการกำหนดนิยามความมั่นคงไว้เพียงฝ่ายเดียว

เรื่องสำคัญประการที่สองก็คือ กองทัพต้องมีความโปร่งใสและมีเกียรติ ความโปร่งใสอันดับแรกสุดก็คือการจัดทำงบประมาณ รัฐบาลพลเรือนควรมีส่วนร่วมและรับรู้ รวมถึงท้วงติงการจัดทำงบประมาณของกองทัพได้ การจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพต้องมีการดำเนินการอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้และมีผู้รับผิดรับชอบ กองทัพไม่ควรเป็นแดนสนธยาของการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ กองทัพต้องไม่ครอบครองธุรกิจหรือมีผลประโยชน์ในธุรกิจใด ๆ การปล่อยให้กองทัพครอบครองคลื่นสัญญาณวิทยุโทรทัศน์มากมายเช่นทุกวันนี้คือช่องทางแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

สถาบันกองทัพไม่ใช่ทางผ่านเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวของใคร กองทัพควรมีแต่ทหารอาชีพ ไม่ใช่บันไดไปสู่การนั่งเป็นกรรมการหน่วยงานรัฐหรือเอกชน ทหารต้องทำหน้าที่ของทหาร เท่านั้น หากต้องการเข้าสู่วงการการเมืองหรือธุรกิจก็ต้องลาออกและละทิ้งยศตำแหน่ง เฉกเช่นเดียวกับนักบวชที่ต้องลาสิกขาเมื่อต้องการใช้ชีวิตทางโลกย์

การไต่เต้าในเส้นทางอาชีพของทหารควรตัดสินกันที่ความรู้ความสามารถ ไม่ใช่ที่นามสกุล รุ่น เพื่อนพ้อง เส้นสาย ประทวนหรือสัญญาบัตร รัฐสภาหรือหน่วยงานอิสระควรเข้ามามีบทบาทในการแต่งตั้งโยกย้ายทหาร มิใช่มองว่าเป็นการล้วงลูก แต่เป็นการดึงคนนอกเข้ามาวัดผลการทำงาน มิใช่ปล่อยให้คนในกองทัพตัดสินกันเองด้วยอคติหรือฉันทาคติ นี่คือการลดการใช้เส้นสายพวกพ้อง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กองทัพ ทุก ๆ ปีมีเยาวชนไทยหัวกะทิเก่ง ๆ จำนวนมากก้าวเข้าสู่กองทัพ อย่าให้กองทัพกลายเป็นหลุมดำที่นำคนเก่ง ๆ เหล่านี้ไปฝังไว้ในระบบที่เทอะทะไร้ ประสิทธิภาพ

กองทัพต้องมีความสามัคคี ในเมื่อเรียกร้องให้ประชาชนสามัคคีกัน แต่เหตุใดกองทัพจึงแบ่งเป็น ก๊กเป็นเหล่า เป็นบูรพาพยัคฆ์ เป็นวงศ์เทวัญ เป็นรุ่นเท่านั้นเท่านี้ เป็นคนสนิทของบิ๊กคนนั้นคนนี้ ทหารทุกคนต้องเป็นทหารของชาติของประชาชน ไม่ใช่แบ่งแยกแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันเช่นในปัจจุบัน ประชาชนจะฝากความหวังไว้กับกองทัพที่ไม่มีความสามัคคีกันได้อย่างไร

ทหารทุกคนต้องมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีของทหารและมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เครื่องแบบทหาร จะมีเกียรติได้อย่างไรหากพลทหารกลายเป็นคนรับใช้ตามบ้านของผู้บังคับบัญชา ทหารควรมีเงินเดือนเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมต่อการทำงานเสี่ยงชีวิตเพื่อประชาชน ชีวิตความเป็นอยู่ของทหารทุกคน ควรมีความสุขสบายตามอัตภาพและไม่เหลื่อมล้ำอย่างน่าเกลียดระหว่างทหารชั้นผู้ใหญ่กับทหาร ชั้นผู้น้อย

การเพิ่มเงินเดือนให้ทหารอย่างเหมาะสมย่อมทำได้หากลดจำนวนทหารลง ในโลกยุคปัจจุบัน เราสามารถยกเลิกการเกณฑ์ทหารได้แล้ว หากอาชีพทหารเป็นอาชีพที่มีเกียรติและได้รับค่าตอบแทนมากเพียงพอ เชื่อว่าจะมีประชาชนพร้อมใจกันสมัครเป็นทหารจำนวนมาก การใช้งบประมาณของกองทัพก็จะคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ เมื่องบประมาณของกองทัพไม่บานปลายมาก เกินไป ประเทศก็จะมีงบประมาณมาใช้พัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อตัวทหารเองในฐานะที่เป็นประชาชนของประเทศเช่นกัน

ประเทศไทยผ่านความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับกองทัพมาหลายครั้ง ในช่วงชีวิตเดียวของข้าพเจ้าได้ประสบพบเห็นการสังหารหมู่ประชาชนครั้งใหญ่หลายครั้ง ไม่นับครั้งย่อยๆอีกนับไม่ ถ้วน นับตั้งแต่การสังหารหมู่ประชาชนครั้งที่ 1 ใน พ.ศ. 2516 การสังหารหมู่ประชาชนครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2519 การสังหารหมู่ประชาชนครั้งที่ 3 ใน พ.ศ. 2535 การสังหารหมู่ประชาชนครั้งที่ 4 ใน พ.ศ. 2547 การสังหารหมู่ประชาชนครั้งที่ 5 ใน พ.ศ. 2553 ห้าครั้งก็มากเกินไปแล้วสำหรับชีวิตเดียว ข้าพเจ้าหวังว่าจะไม่ต้องเห็นครั้งที่ 6 ครั้งที่ 7 ครั้งที่ 8....อีก ประชาชนไทยอยากได้กองทัพที่สามารถพึ่งพิงได้ในยามทุกข์เข็ญ มิใช่กองทัพที่สร้างความทุกข์เข็ญให้แก่ประชาชน กองทัพที่สง่าภาคภูมิด้วยความเชื่อมั่นในตัวเอง มิใช่กองทัพที่กระทำการลับ ๆ ล่อๆเพราะหวาดกลัวเพื่อนร่วมชาติ กองทัพที่รักษาสัตย์เพื่อชาติมิใช่กองทัพที่ตระบัดสัตย์เพื่ออำนาจของคนไม่กี่คน.