วันพุธ, พฤษภาคม 20, 2558

มาตรฐานของสื่อระหว่างการสะท้อนข้อเท็จจริงกับการรักษาภาพพจน์ของชาติ ควรมีเป็นอย่างไร ถึงเหมาะสม?




ฐปณีย์ เอียดศรีไชย-เควิน คาร์เตอร์

ที่มา เพจ
I-Mong Pattara Khumphitak


ผู้เป็นทั้งน้องและเพื่อนร่วมอาชีพ คือ ภาสกร จำลองราช ถามว่า มาตรฐานของสื่อระหว่างการสะท้อนข้อเท็จจริงกับการรักษาภาพพจน์ของชาติ ควรมีเป็นอย่างไรครับ ถึงเหมาะสม?

กรณีที่เราไปเจอคนทุกข์ยาก อย่างกรณีโรฮิงยาอยู่บนเรือ เราควรทำอย่างไร ?

ในข้อแรก สื่ออื่นเป็นยังไม่ทราบแต่ข้อบังคับทางจริยธรรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ซึ่งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ตราขึ้นเมื่อ 2541 นั้น ไม่มีเรื่องการรักษาภาพพจน์ของชาติหรือคำว่าผลประโยชน์ของชาติ แต่มีคำว่า ประโยชน์ของสาธารณะอยู่ในหลายข้อ เช่น เรื่องการเสนอข่าวพึงตระหนักถึงความสำคัญของข่าวต่อสาธารณชนและไม่เสนอข่าวในทำนองชวนเชื่อในเรื่องไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ/ในการแสดงความคิดเห็น หนังสือพิมพ์พึงกระทำโดยบริสุทธิ์ใจและไม่มีพันธกรณีอื่นใด นอกจากมุ่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่เพื่อสาธารณชน ฯลฯ เป็นต้น

ฉะนั้นคำว่า ประโยชน์ของสาธารณะ ในบางกรณีก็เป็นประโยชน์ของสังคมทั่วไป บางกรณีเป็นผลประโยชน์ของชาติ บางกรณีก็อาจจะใหญ่กว่าชาติก็ได้

ตีความเอาว่า น้องคงถามหมายถึงการเสนอความจริงกับผลประโยชน์ของประเทศต้องชั่งเอาอันไหน ตอบตามตัวบทก็คือ ไม่มีการตราไว้ว่าชั่งระหว่างสองอันนี้แล้วต้องเลือกแบบไหน ตอบแบบไม่เล่นลิ้นคือ ตัวเราเองนั่นล่ะจะตอบได้ เพราะมีนักข่าวทำคดีวอเตอร์เกต หรือหลายๆเรื่องในเมืองไทยก็มีคำถามอยู่ว่า ระหว่างสองอย่างนี้ เราจะเลือกสิ่งใด

หลายเรื่องที่สื่อรู้แล้วแต่เห็นว่า ผลประโยชน์ชาติจะเสียหายก็ยังจะไม่พูด บางเรื่องต้องรอเวลาค่อยพูดก็ไม่เสียหาย เช่น การเจรจาอะไรบางอย่างในขณะนี้ก็เป็นประโยชน์ของชาติแต่เรารู้แล้วเราก็ยังไม่เปิดเผยเป็นต้น

บางกรณีทำไปแล้วอาจจะกระทบกระเทือนถึงความปลอดภัยของคนบางคนหรือคนจำนวนมากก็ได้เช่น เรื่องโรคระบาด ฯลฯ

ไม่ใช่แค่นักข่าว แต่กระบวนการทำงานจริงจะมีการตัดสินใจร่วมกันในกองบรรณาธิการว่า เราควรจะเปิดหรือไม่ เมื่อไหร่ อย่างไรด้วยครับ

การหารือกันต้องมีเหตุผลที่ชัดเจน เพื่อนักข่าวจะได้สบายใจและกองบรรณาธิการก็จะได้สบายใจ

เพราะถ้าเราไม่ทำประโยชน์เพื่อสาธารณะ การทำหน้าที่ของเราก็คงไม่มีประโยชน์อันใด

ส่วนกรณีที่เราไปเจอคนทุกข์ยาก อย่างกรณีโรฮิงยาอยู่บนเรือ เราควรทำอย่างไร ?

ถ้าจะตอบเรื่องนี้ต้องเล่าเรื่อง “เควิน คาร์เตอร์”




“เควิน คาร์เตอร์” เป็นช่างภาพข่าว เขาไปถ่ายรูปความอดอยากในแอฟริกา รูปแร้งที่นั่งจ้องกำลังรอเด็กคนหนึ่งสิ้นลม ทำให้เขาได้รับรางวัลสุดยอดของวงการคือ รางวัลพูลิชเซอร์

สิ่งที่เขาในช่วงเวลานั้นคือ ถ่ายภาพแล้วก็ไล่แร้งตัวนั้นไป




กรณีนี้เป็นที่ถกเถียงกันมากกว่า เควิน คาร์เตอร์ ทำถูกไหม อาจารย์ทางด้านวารสารศาสตร์บางคนบอกว่า เควิน คาร์เตอร์ ทำถูกแล้ว นักข่าว ช่างภาพ ไม่มีหน้าที่จะไปช่วยอะไรใครเพราะเราไม่ใช่เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ ต้องทำหน้าที่ของเราและที่จริงเรากำลังช่วยเขาด้วยการทำหน้าที่ของเราต่างหาก

ใครจะว่ายังไงก็ตาม เรื่องนี้รบกวนจิตใจ เควิน คาร์เตอร์ มาตลอด เขารู้สึกผิดที่ไม่ได้ช่วยเด็กคนนั้น สุดท้าย 27 ก.ค. 2537 เขาตัดสินใจฆ่าตัวตาย

ภาสกร ถามคำถามที่ชัดมากคือ เจอคนทุกข์ยาก อย่างกรณีโรฮิงยาอยู่บนเรือ เราควรทำอย่างไร ?

ถ้าเป็นผมสิ่งแรกที่ผมจะทำคือ ดูความปลอดภัยของทีม ดูท่าทางของเขา เพราะเขาอาจจะปล้นเรือเราก็เป็นได้ แต่ถ้าไม่มีลักษณะอย่างนั้น ถัดมามีอาหาร มีน้ำ มีอะไรที่จะช่วยเขาได้ก่อนก็ต้องให้เขาก่อน แล้วค่อยทำข่าว ถ่ายภาพทีหลัง ซึ่งผมเชื่อว่า จะทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้นด้วยเพราะมีความไว้วางใจระหว่างกันเกิดขึ้นแล้ว

ใครจะว่าอย่างไรก็ตาม ผมให้กำลังใจ น้องแยม ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นะครับ ไม่ใช่ให้กำลังใจเพราะเป็นน้องนุ่งที่รู้จักมักคุ้นกันดี แต่ผมว่า แยมได้พยายามทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว มีใครบ้าง รวมทั้งสื่อตะวันตกที่แหกปากปาวๆเรื่องสิทธิมนุษยชนขึ้นเรือไปดูโรฮิงยา ไปพูดคุย ไปดูความทุกข์ยากของพวกเขาจริงๆ

แน่นอนว่า คนข่าวอย่างพวกเราเจอเรื่องเศร้า เราก็ย่อมสะเทือนใจ ตอน พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ต้องลี้ภัยไปอยู่เมืองนอก นักข่าวทำเนียบหลายคนยังหลั่งน้ำตาเพราะผูกพันกันมาเลย

มันเป็นเรื่องธรรมดาครับ เราเป็นคนที่มีหัวใจเหมือนมนุษย์ทั่วไป

ผมดีใจที่แย้มยังหวั่นไหวกับทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ ถ้าไปเห็นด้วยตาแล้วแยมไม่หวั่นไหวสิ มันถึงจะแปลกและผมคงกังขากับความเป็นมนุษย์ของเธอ นี่มิใช่เพราะเห็นกับตา สัมผัสกับมือหรือ เธอถึงรำพึงว่า เรือลำนั้นจะลอยไปสู่หนใด

อย่างไรก็ตามถ้าเราจะตั้งคำถามว่า นักข่าวได้ทำข่าวรอบด้านไหม ด้านผลประโยชน์ของชาติได้ทำหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ตั้งคำถามแบบนี้ขึ้นมาก็ถูกแต่ควรจะเป็นคำถามในเชิงระบบ แยมอาจจะทำก็ได้หรือกองบรรณาธิการอาจจะส่งคนอื่นไปทำก็ได้ อยู่ที่กองบรรณาธิการนั้นจะเลี้ยงสมดุล เสนอในคราวเดียวกันได้ยิ่งดี แต่ถ้าจำเป็นทำไม่ทันค่อยๆเสนอเติมภาพให้ครบก็ได้แต่จะตั้งคำถามนี้กับแยมคนเดียว ให้เธอแบกปัญหาของประเทศและโลกนี้ไว้คนเดียว ผมว่าก็ไม่เป็นธรรมนัก เธออาจจะอยากทำแต่ไม่ทันได้ทำแต่พากันมาด่าว่าเธอก่อนก็ได้

อะไรๆก็เป็นไปได้หมด ในขณะที่ข้อเท็จจริงออกมายังไม่หมด ผมเลือกที่จะเชื่อว่า น้องคนนี้พิสูจน์ตัวมามาก ทำงานมามาก เธอทำมาขนาดนี้และยังทำอยู่สม่ำเสมอ เธอพิสูจน์ตัวด้วยงานที่เห็นชัดแทบทุกวัน แสดงออกมาให้สังคมตัดสินวิพากษ์วิจารณ์ทุกวันเท่านี้ยังไม่พอที่จะวางใจเธอหรือ ผมไม่สงสัยในเรื่องทัศนคติของเธอหรือกังขาในเรื่องว่า เธอจะรักประเทศหรือไม่ คิดถึงผลประโยชน์ของชาติหรือไม่เลยครับ

ผมว่า เราควรจะถามแบบเดียวกันนี้กับใครอีกหลายฝ่าย อีกหลายประเทศจะดีกว่าไหม รวมทั้งถามตัวเราเองเช่น ทำไมสื่อตะวันตกไม่เคยรายงานเรื่องคนแอฟริกาพยายามลอยเรือหนีมาที่อิตาลี หรือทำไมอเมริกาไม่เคยรับผู้ลี้ภัยโรฮิงญา ฯลฯ

ผมว่า แยมทำในสิ่งที่เธอควรทำและได้ตัดสินใจแล้ว ใครว่าไม่ถูกก็ไม่เป็นไรวิจารณ์กันได้ สังคมกำกับสื่อโดยวิพากษ์วิจารณ์สื่อมวลชนยิ่งเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้สื่อเข้มแข็ง สังคมเข้มแข็งได้แต่น่าจะให้ความเป็นธรรมด้วย อย่าถึงกับเอาเป็นเอาตายเลย

แยมทำประโยชน์เพื่อสังคมไทยมามากและจะทำได้มากกว่านี้อีก ผมเชื่ออย่างนั้นจริงๆ

ผมดีใจที่น้องทำไปอย่างที่ใจอยากจะทำเพราะผมไม่อยากให้เธอมาเสียใจแล้วทำอะไรแบบที่ เควิน คาร์เตอร์ ทำในภายหลัง ถ้าเป็นอย่างนั้นเราต่างหากที่จะต้องเสียใจ