วันศุกร์, มิถุนายน 26, 2558

“ธรรมาธรรมะสงคราม”


ภาพจากไทยรัฐ


มุกหอม วงษ์เทศ: ธรรมบังหน้า ธรรมบังตา

Tue, 2015-06-23 23:31
มุกหอม วงษ์เทศ
ประชาไท

ถึงการทวงบุญคุณจะไม่เอิกเกริก กระทั่งเงียบเชียบเหมือนปิดทองหลังพระ ทว่าแม้แต่คนตาบอดก็มองเห็นว่าระบอบ คสช. และรัฐบาลเผด็จการทหารที่กำลังนำพาชาติไทยไปสู่ยุคทองของความเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในทุกด้านจนทั่วโลกแซ่ซ้อง คืออานิสงส์ผลบุญของการมีชัยชนะโดยธรรม (Dhammic Victory) ของ “การปฏิวัตินกหวีด” สมดังพุทธสุภาษิต “ทำดี ได้ดี” (ชาวนกหวีดไม่ทำชั่ว) แม้ว่าการชุมนุมประท้วงทางการเมืองอื่นๆ รวมทั้งเสื้อแดงต่างก็มักจะใช้พิธีกรรมพุทธๆ พราหมณ์ๆ ผีๆ แนวไสยศาสตร์มากบ้างน้อยบ้างเป็นองค์ประกอบในการต่อสู้ ไม่ว่าจะเพื่อความเป็นสิริมงคลตามประเพณี ปลุกปลอบขวัญและกำลังใจ สร้างความสามัคคีในหมู่คณะ เสกสรรปั้นแต่งภาพลักษณ์ ระบายความคับแค้น เรียกร้องความสนใจจากสื่อและสังคม หรือรวมๆ ก็คือใช้ “religious/superstitious elements” เป็นกลยุทธ์หวังผลเชิงจิตวิทยาและเชิงปฏิบัติ แต่อาจจะไม่มีขบวนการมวลชนใดที่มีลักษณะ “ธรรมาธรรมะสงคราม” เท่ากับม็อบนกหวีดและฝ่ายสนับสนุน

“ผมจะฝากบอกไปเลยว่า "ไอ้ทักษิณ กูไม่เจรจากับมึง” ที่พูดกูพูดมึงนี่กูพูดแทน ประชาชนนะ ประชาชนเขาเข้าสิงให้พูดอย่างนี้ กูเป็นร่างทรง ประชาชนเขาให้กูบอกมึงว่า "ประชาชนเขาไม่ต้องการเจรจากับโจรปล้นแผ่นดิน””

สุเทพ เทือกสุบรรณ, 13 พฤษภาคม 2557, เวทีราชดำเนินนอก


“ร่างทรง” “บวงสรวง” “สักการะ” “ทำบุญ” “สวดอิติปิโส” “ตั้งสัตยาธิษฐาน” “บำเพ็ญเพียร” ฯลฯ -- คือชื่อเรียกบุคลากร ปฏิบัติการ และกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่ม กปปส. อันเป็นขบวนการปฏิวัติย้อนกลับหรือขบวนการปฏิกิริยาที่มีลักษณะธรรมะธรรมโม เคร่งศีลธรรม หมกมุ่นในพิธีกรรม และเชื่อมั่นในคุณงามความดีของตนเอง คุณลักษณะเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้ม็อบนกหวีดโดดเด่นแตกต่างจากกลุ่มประท้วงรัฐบาลหรือขบวนการปฏิวัติส่วนใหญ่ทั่วโลก เพื่อไม่ให้ความเฉพาะตัวที่มีออร่า “คัลท์ๆ” นี้สูญสลายหายไปอย่างน่าเสียดาย เราจึงควรร่วมรำลึกถึงบางแง่มุมที่น่าสนใจของวีรกรรมการต่อสู้ที่ปิดฉากอย่างสะเทือนใจ จะยังขาดก็แต่อนุสาวรีย์แกนนำและประติมากรรมนกหวีดยักษ์ที่น่าจะประดิษฐานอยู่ตรงไหนสักแห่ง ณ ใจกลางกรุงเทพมหานคร

ดังที่ทราบกันดีว่าขบวนการนกหวีดเป็นการชุมนุมประท้วงที่โด่งดังและสร้างแรงบันดาลใจไปทั่วโลก แต่การบันทึกประวัติศาสตร์ระดับนานาชาติกลับทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร เรื่องดีๆ จำนวนมากไม่ถูกรายงานให้ครบถ้วนราวกับนักข่าวต่างชาติเหล่านั้นมีอคติเข้าข้างพวกเสื้อแดงกันหมด การนำเสนอข่าวและบรรยายถึงกลุ่ม PDRC โดยสำนักข่าวต่างประเทศในช่วงเวลาดังกล่าวไม่ควรจำกัดอยู่แค่ “Anti-Government”, “Anti-Thaksin”, “Anti-Democracy”, “Yellow-Shirts”, “(Ultra)Royalists”, “Conservative” แต่ควรครอบคลุมเรื่องราวและคำศัพท์เฉพาะทางที่จะทำให้ชาวโลกเข้าใจกลุ่มชน PDRC ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ฉะนั้นการรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มกปปส. ทันทีที่ยิ่งลักษณ์ถูกปลดจากตำแหน่งนายกฯรักษาการควรต้องระบุด้วยว่า สุเทพ เทือกสุบรรณเรียกปฏิบัติการอันประกอบไปด้วยการตะลุยเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล บุกสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ปิดถนนโทลเวย์ดอนเมือง และพร่ำเรียกร้องตรงๆ บ้าง อ้อมๆ บ้างให้ผู้มีอำนาจทางการทหารออกมาเผด็จศึกให้เด็ดขาดว่าการบำเพ็ญเพียร - “Perseverance”

ผู้นำมวลชนนกหวีดประกาศว่าตนเองคือร่างทรง - “Spirit Medium” อดีตคนทรงเจ้าท่านนี้สอนแนวทางการต่อสู้แบบอหิงสา - “Ahimsa / Non-Violence” ให้ผู้ชุมนุมฟังว่า หากปะทะกับกองกำลังฝ่ายรัฐ ให้มวลชนนั่งลงสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ - “Buddhist Prayer” กิจกรรมที่กลุ่มผู้ประท้วงประพฤติปฏิบัติเป็นระยะๆ นอกจากนั่งวิปัสสนา เจริญสติภาวนา กำหนดลมหายใจ - “Mindfulness Meditation” แล้ว คือการเดินทางไปบวงสรวงสักการะ - “Worship” อนุสาวรีย์บูรพกษัตริย์ต่างๆ, ทำบุญ - “Merit-Making” ในวันพระและวันสำคัญทางศาสนา, ทำพิธีตั้งสัตยธิษฐาน - “Oath/Vow” และพิธีถวายพระพรชัยมงคล - “Felicitation” ในวันฉัตรมงคล (Coronation Day), ทำพิธีขจัดเสนียดจัญไร - “Ward Off Evil Spirits” ในวันวิสาขบูชา (Visakha Puja Day), นิมนต์พระสงฆ์มาสวดในพิธีทำบุญประเทศไทย - “Merit-Making Ceremony to Bless the Nation” สลับกับการเดินธรรมยาตรา - “Dhamma Yatra ” รณรงค์ให้ประชาชนออกมาร่วมชุมนุมและรับเงินบริจาคในฐานะที่ท่านผู้นำม็อบเปรียบเสมือนเนื้อนาบุญ - “Field of Merit” ตลอดช่วงเวลาแห่งการชุมนุมข่าวคราวเกี่ยวกับกิจกรรมมากมายที่แสดงถึงความยึดมั่นในขนบประเพณี-พุทธศาสนา-การเป็นผู้ใจบุญสุนทาน-จงรักภักดีของม็อบนกหวีดจะคู่ขนานไปกับข่าวการ์ดกปปส.ตั้งตนเป็นกองโจร หรือข่าวการเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุมไปปิดล้อม กดดัน ข่มขู่ ขัดขวาง ทำร้ายร่างกาย หรือรีดไถเงินที่โน่นที่นี่เสมอ ความคลาดเคลื่อนไม่ลงรอยระหว่างการพูดและการกระทำเช่นนี้สันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่าไม่ใช่ความบังเอิญ

ถ้าคุ้ยเขี่ยเอาชิ้นส่วนน่าเกลียดออกไปให้พ้นสายตาและเอาคีมคีบเฉพาะศัพท์ศาสนาเหล่านี้มาแผ่ดูในจานให้ถนัดถนี่แล้วก็ดูราวกับว่าเลขาธิการกปปส.อย่าง “กำนันสุเทพ” หรือแกนนำภิกษุอย่าง “พุทธะอิสระ” จะคือผู้นำการปฏิวัติพระศรีอาริย์หรือกบฏผีบุญนกหวีด อันเป็นขบวนการลุกฮือขึ้นต่อต้านโค่นล้มอำนาจรัฐแนวใหม่ของเหล่าผู้เคียดแค้นไม่พอใจกับสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าคือยุคสมัยที่ประเทศชาติกำลังตกอยู่ในสภาวะ “มารครองเมือง” ในช่วงกลียุคนี้ พญามารทำกรรมชั่วจนประเทศล่มจม หมู่มารขึ้นสู่อำนาจซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากเสียงข้างมากผ่านการเลือกตั้งแล้วใช้อำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติอย่างฉ้อฉล ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองที่ก่อให้เกิดการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจการเมืองและการตื่นตัวทางสิทธิเสรีภาพ-ประชาธิปไตยในวงกว้าง พวกเขาจึงมุ่งหวังจะพลิกคว่ำการเปลี่ยนแปลงที่เลวร้ายนี้ให้กลับคืนสู่สภาพสังคมอันดีกว่าในอดีตผสมกับภาพสังคมยูโทเปียในอนาคตอันใกล้ สังคมในอุดมคติดังกล่าวคือสภาวะที่บางอย่างถูกกำจัดอย่างสิ้นซากและบางอย่างอยู่ยงเป็นอมตะ ในขณะที่เครือข่ายชนชั้นปกครองผู้ครองอำนาจนำทางอุดมการณ์เคืองแค้นกับการเสียผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ อารมณ์ก้นบึ้งของชาวนกหวีดส่วนใหญ่คือความเกลียดและความกลัว จะอย่างไรก็ตามแต่ การชุมนุมประท้วงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยจบสิ้นไปแล้ว ยุคมารครองเมืองด้วยหีบเลือกตั้งก็ดูเหมือนจะสิ้นสุดไปแล้วเช่นกัน ส่วน ณ ปัจจุบันนี้ใครจะมองเห็นเป็น “ถึงยุคพระศรีอาริย์ จะครองเมืองด้วยคนดี” หรือ “ถึงยุคทมิฬมาร จะครองเมืองด้วยควันปืน” ก็ขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพทางจักษุของแต่ละคน

ศาสนาและพิธีกรรมกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์และความชอบธรรมให้กับม็อบนกหวีด อย่างน้อยก็ในความคิดของฝ่ายแกนนำม็อบ ท่ามกลางภาวะขัดแย้งในตัวเองสลับไปมาระหว่างการยืนกรานว่าพวกตนต้องการประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่ปราศจากการโกงกินกับการโจมตีการเลือกตั้งและประชาธิปไตยแบบตะวันตกว่าเป็นระบบที่บกพร่องและไม่เหมาะกับสังคมไทยซึ่งเต็มไปด้วยคนไร้การศึกษาและไร้ศีลธรรม การหันเข้าหา “ทางธรรม” (dhammic turn!) เช่นนี้ แม้โดยท่วงทำนองคำพูดคำจาและปฏิบัติการจริงจะน่าตะลึงพรึงเพริดอยู่ไม่น้อย แต่ก็เป็นแนวทางที่ไม่ได้เหนือความคาดหมายนัก การใช้พิธีกรรมและภาษาธรรมไม่ได้เกิดขึ้นแต่แรกเริ่มแต่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นในระยะหลัง โครงการ “ธรรมบังหน้า” สร้างตำนานเรื่องเล่า ภาพลักษณ์และอัตลักษณ์ของกลุ่ม (รวมทั้งเป็นแทคติคหล่อเลี้ยงม็อบไม่ให้เฉา) ที่เน้นย้ำกล่อมประสาทพวกตนเองเรื่องความเป็นคนดีมีศีลธรรมผู้รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม เนื่องจากความดีอันมีแหล่งอ้างอิงกับพุทธศาสนาและศีลธรรมตามจารีตบ้านเมืองย่อมบริสุทธิ์ผุดผ่องและสูงส่งกว่าอุดมการณ์โลกีย์อันดูจะมีแต่ความอัปรีย์ที่เรียกว่าประชาธิปไตย ความเป็นพุทธและศีลธรรมแบบพุทธมีคุณค่าและความชอบธรรมมากกว่าความเป็นประชาธิปไตยเสมอ ในความคิดของอนุรักษนิยมไทยกระแสหลัก หากเลือกได้โดยไม่ต้องพะวงกับอะไรอื่น เผด็จการทรงคุณธรรมคือระบอบในฝัน

ในภาพรวม การใช้ชาติ-ศาสนา-ราชานิยมอย่างครบครันเป็นเครื่องมือ เครื่องราง และเครื่องทุ่นแรงทางการเมืองอย่างไม่กระมิดกระเมี้ยน ไม่บันยะบันยัง และไม่นำพาต่อจรรยาบรรณ ข้อเท็จจริงและความเป็นเหตุเป็นผลเชิงประจักษ์นี้เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าขบวนการนกหวีดพระศรีอาริย์เป็นขบวนการเคลื่อนไหวมวลชนที่มหัศจรรย์พันลึกและเหนือจริงที่สุดขบวนการหนึ่งในโลกศตวรรษที่ 21

การออกบวชของ “หลวงลุงกำนัน” หลังการรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ไม่ถึงสองเดือนเป็นฉากอวสานของผู้นำลัทธินกหวีดที่งดงามสมบูรณ์แบบตามครรลองไทย โคตรไทย เวรี่ไทย สาเหตุการบวชอย่างเป็นทางการ (แปลว่าสัตย์จริง ไม่ปด) นั้นคือเป็นการบวชเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมทางการเมืองของ กปปส. และเป็นความต้องการหยุดกิจกรรมทางการเมืองเพื่อศึกษาพระธรรมให้แตกฉาน ฉายา “ปภากโร” อันหมายถึงผู้กระทำซึ่งแสงสว่าง แสดงถึงการมุ่งมั่นที่จะอุทิศตนเป็นแสงสว่างทางธรรมที่เจิดจรัสยิ่งขึ้นอีกให้กับมวลมหาประชาชน กปปส. หากไม่รีบสึกเสียก่อนก็คงจะได้บรรลุธรรมขั้นใดขั้นหนึ่งในไม่ช้า ถ้าท่านจะดูเป็น “พระมาเฟีย” ในบางอิริยาบถก็ไม่พึงจ้องจับผิดเพราะภาพถ่ายที่โพสท์ท่าสงบเยือกเย็นแสดงธาตุแท้จริงๆ มากกว่า

นับแต่โบราณกาลจวบจนทุกวันนี้ พุทธศาสนาไทยเป็นแหล่งให้ความชอบธรรมกับระบอบอำนาจกดปราบทุกชนิดของชนชั้นปกครองตั้งแต่ศักดินา สมบูรณาญาสิทธิ์ จนถึงเผด็จการทหารเพื่อแลกกับการอุปถัมภ์ การคุ้มครอง การรักษาสถานะสูงส่งศักดิ์สิทธิ์ และลาภสักการะสมณศักดิ์ การที่อำนาจจารีตประเพณีอ้างตนเป็นผู้ทรงสิทธิอำนาจทางศีลธรรมที่เหนือกว่าอำนาจประชาชนได้ก็ด้วยผลประโยชน์ต่างตอบแทนกับสังฆะ ในระดับบุคคล ไม่นับการหากินกับผ้าเหลืองทั่วไป การเข้าสู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์คือแหล่งฟอกตัว สร้างภาพ ล้างบาป หนีภัย หลอกศัตรู และซ่องสุมวางแผนชั้นเยี่ยม

แน่นอนว่าเหล่าปูชนียบุคคลในขบวนการนกหวีดไม่ใช่กลุ่มเดียวที่เสพติดการใช้ “ภาษาธรรมะ” ไม่หยุดหย่อนเพื่อสร้างภาพความเป็นคนดี-คิดดี-ทำดีของพวกตนโดยไม่มีวี่แววของอาการคลื่นไส้ตัวเอง การจงใจที่ไม่ใช่แค่ความเคยชินในการใช้ศัพท์แสงเกี่ยวกับความเชื่อทางพุทธศาสนาในการแสดงความเห็นทางการเมืองและโจมตีเรื่องต่างๆ ดูจะเป็นลักษณะพิเศษของบุคคลสาธารณะไทย โลกทัศน์แบบพุทธมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อวิธีคิดและวิธีแสดงออกของคนไทยทุกระดับชั้นตั้งแต่ชาวบ้านร้านตลาดไปจนถึงปัญญาชนที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผู้โปรโมทพุทธศาสนาเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว ตัวอย่างคำที่น่าสนใจได้แก่ “สัมภเวสี” (“สัตว์ผู้ยังแสวงหาที่เกิด”) และ “อเวไนยสัตว์” (“สัตว์โลกผู้ไม่อาจแนะนำสั่งสอนได้”)


“... ยิ่งลักษณ์ขณะนี้ก็มีชะตากรรมกลายเป็นสัมภเวสีไม่ต่างกับพี่ชายตนเองแต่อย่างใด คล้ายกับเป็นผีที่ได้แต่เร่ร่อนไปตามที่ต่างๆ หลังจากที่ “ตาย” ไปแล้วทางการเมือง ขณะที่จะกลับมา “เกิด” ทางการเมืองโดยอาศัยการเลือกตั้งอีกก็ทำไม่ได้ นี่จึงเป็นผลของกรรมที่ได้ทำมากับประเทศชาติ...อย่ามาหลอกหลอนอีกเลย ถึงเวลาไปลงนรกรับผลกรรมได้แล้ว”

(“เมื่อสัมภเวสีต้องนรก”, ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย, 7 พฤษภาคม 2557, ผู้จัดการออนไลน์, http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9570000050621)

“อัมมาร สยามวาลา” ชี้รัฐบาลทำเศรษฐกิจข้าวพัง คาดเดินหน้าต่ออีก 2-3 ปี ประชาจะไม่นิยม วิพากษ์ “รัฐโง่” แยกคุณภาพข้าวไม่เป็น แนะฟื้นระบบค้าข้าวแบบเดิม เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว เหน็บรัฐเป็น “อเวไนยสัตว์” สอนไม่ได้

“ผมไม่อยากบอก ไม่อยากเสนอแนะรัฐบาลมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะรัฐบาลเป็นพวกอเวไนยสัตว์ เป็นศัพท์ทางพุทธศาสนา หมายถึงคนที่สอนไม่ได้ ลองไปเปิดดูความหมายกันเอง” ดร.อัมมารกล่าว


(http://thaipublica.org/2013/07/pointed-out-the-government-stupid/ 4 กรกฎาคม 2013)


ศัพท์ทางพุทธศาสนาจำนวนมากล้วนเป็นศัพท์ที่วางอยู่บนคอนเซ็ปท์เกี่ยวกับการแบ่งแยกจัดระดับชั้นสูงต่ำดีชั่วโง่ฉลาด คำสอนบางอย่างดูจะส่งเสริมการปลดปล่อยและความเสมอภาคอยู่บ้างโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับที่สุดแห่งการกดขี่อย่างวัฒนธรรมศาสนาพราหมณ์ แต่โลกทัศน์แบบพุทธเป็นโลกทัศน์ที่เน้น Hierarchy อย่างถึงแก่น บางครั้งหลักธรรมในเชิงความเท่าเทียมหลักหนึ่งเมื่อพิจารณาองค์ประกอบแวดล้อมก็อาจจะพบว่าหาได้เป็นเช่นนั้นไม่หรือมีขอบข่ายความหมายจำกัด อีกทั้งยังอาจถูกหลักธรรมอื่นหรือเรื่องเล่าต่างๆ ในพระไตรปิฎกที่แสดงถึงความไม่เท่าเทียมทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติขัดแย้งหักล้างหรือก่อให้เกิดความเคลือบแคลงเกี่ยวกับความคงเส้นคงวาได้ บ่อยครั้งสำนวนพุทธที่ได้ยินบ่อยที่สุดอย่างสรรพสัตว์ล้วนเท่าเทียมกันก็กลับจะทำให้กระหวัดถึงประโยคโด่งดังในนวนิยาย Animal Farm ของ George Orwell เสียมากกว่าว่า “All animals are equal, but some animals are more equal than others.”

ไม่น่าแปลกใจที่ชาวพุทธเคร่งๆ มักมีจริตจัดระดับชั้น-สูงต่ำมากน้อยหนักเบา-ความเป็น “มนุษย์” อยู่เป็นนิตย์ (บรรลุธรรมชั้นไหน, มีศีลเสมอกันไหม, ทำแบบนี้ได้บุญมากกว่าแบบโน้น, ฆ่าคนเลวไม่เป็นบาปหนักเท่าฆ่าอริยบุคคล เป็นต้น) ด้วยเหตุนี้ศัพท์พุทธๆ ทั้งหลายจึงเอื้อต่อการกลายเป็นบริภาษศัพท์ที่มีรสชาติจัดจ้าน เป็นภาษาผรุสวาทที่มีวรรณศิลป์ เป็นคำด่าแบบมีชาติตระกูล เป็นคำเหยียดหยามที่ไพเราะ อย่างไรก็ตามภาษาธรรมที่สอดแทรกหรือแม้แต่ใช้เป็นธีมหลักอันที่จริงไม่ได้ทำให้ข้อคิดเห็นหรือข้อโต้แย้งมีเหตุผลหรือมีความชอบธรรมขึ้น ส่วนใหญ่แล้วหน้าที่ของภาษาธรรมเหล่านี้คือการเทศนาสั่งสอน บิดปัญหาลากประเด็นให้เป็นเรื่องทางศีลธรรมศาสนา และสร้างกรอบการตัดสินพิพากษาแบบพุทธ

นอกจาก “hierarchy” “tradition” และ “authority” แล้ว “morality” คือคีย์เวิร์ดที่สำคัญที่สุดของความเป็นคอนเซอร์เวทีฟ “ศีลธรรมเหนือสิ่งอื่นใด” คือธงชัยของฝ่ายอนุรักษนิยมทางวัฒนธรรม ในกลุ่มที่ทำทีว่าเข้มงวดเอาจริงเอาจังที่สุด พวกเขาคือ “moralist” หรือนักศีลธรรม กล่าวให้ชัดกว่านั้นคือนักศีลธรรมจารีตประเพณีที่ยึดความเชื่อและโครงสร้างสังคมจารีตประเพณี, ไม่ใช่เสรีภาพของปัจเจกชน ความเป็นเหตุเป็นผล หรือความเป็นสากล, เป็นฐานทางศีลธรรมในการตัดสินดีชั่ว ที่สำคัญที่สุด เนื่องจาก “appearance” หรือสิ่งที่ปรากฏแก่ภายนอกคือตัวตัดสินทุกอย่างในสังคมช่วงชั้นอย่างไทย (อันทำให้ข้อเท็จจริง ความจริง ความจริงใจ ความสัตย์ซื่อ ความเห็นต่าง ฯลฯ ที่ขัดกับแบบแผนบรรทัดฐานของ “appearance” เป็นสิ่งที่ต้องซุกซ่อนและถูกกดทับไม่ให้ “appear”) ศีลธรรมไทยจึงคือการ “แสดง” ให้เห็นประจักษ์ถึงการมีศีลธรรมถูกต้องตามขนบธรรมเนียมอันดีอันได้แก่ ความจงรักภักดี ความกตัญญูรู้คุณ ความสามัคคี เป็นต้น แน่นอนว่านักศีลธรรมจารีตประเพณีย่อมรู้สึกว่าในสังคมนั้นคนดี(อย่างพวกเขา)มีน้อยกว่าคนชั่ว(อย่างพวกมัน) ระบอบการปกครองที่ดีที่สุดจึงคือระบอบที่กลุ่มคนดีจำนวนน้อยมีอำนาจควบคุมกลุ่มคนไม่ดีจำนวนมาก ระบอบที่เปิดโอกาสให้คนชั่วๆ ดีๆ ขึ้นมามีสิทธิอำนาจทางการเมืองอย่างประชาธิปไตยจึงไม่มีวันจะชนะใจนักศีลธรรมไทยได้ ทั้งนี้ยังไม่ต้องไปไกลถึงว่าความเป็นประชาธิปไตยสามารถบ่อนเซาะและรื้อทำลาย “ขนบประเพณี” “สถาบันอำนาจ” และ “ลำดับชั้นสูงต่ำ” ได้อย่างน่าพรั่นพรึงเพียงใด

ทว่ามาตรฐานกำหนดดี-ชั่วของฝ่ายอนุรักษนิยมไทยมักแอบ “พริ้ว-ลื่น” หรือมิฉะนั้นก็เลือกปฏิบัติอย่างโจ่งแจ้งเสมอ เพราะหัวใจของจารีตประเพณีคือความมีหลายมาตรฐานตามช่วงชั้น ใช่ว่าสังคมไทยจะเถื่อนจนไม่รู้ว่า “ความซื่อสัตย์” หรือ “การไม่เบียดเบียนทำร้ายคนอื่น” คือ “คุณธรรม” เพียงแต่ประการแรก คุณธรรมเหล่านี้ถูกใช้ตัดสินประเมินค่าคนแต่ละคนในแต่ละสถานการณ์ไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ทางอำนาจ สถานภาพทางสังคม และความโน้มเอียงทางอุดมการณ์ และประการที่สองศีลธรรมสากลต้องอยู่ภายใต้ศีลธรรมจารีตประเพณีเสมอทุกกรณี การปรักปรำใส่ร้ายศัตรูด้วยความรักชาติ การรุกไล่เอาเปรียบชุมชนเพื่อทำนุบำรุงพุทธศาสนา และการฆ่าเพื่อปกป้องสถาบันฯ จึงถือเป็นการประกอบคุณงามความดีที่น่ายกย่อง หรือหากจะใช้สำนวนพระไทยที่ตะขิดตะขวงใจเกินกว่าจะบอกว่าไม่บาปเสียเลยก็คือ “ได้บุญมากกว่าบาป” อย่าประหลาดใจที่ในสังคมไทยการละเมิดศีลธรรมสากลจะไม่ถูกเห็นเป็นสิ่งที่ผิด (ถึงเห็นตำตาก็มีข้อแก้ต่างต่างๆ นานา) และไม่ต้องมีการรับผิดรับโทษหากข้อหนึ่งบุคคลนั้นมีสถานภาพสูงทางจารีตประเพณี และข้อสองหากการกระทำนั้นมีความชอบธรรมทางจารีตประเพณี ศีลธรรมสากลจะถูกงัดมาใช้เพื่อแสดงความเป็นอารยะแบบสมัยใหม่ก็ต่อเมื่อบุคคลหรือการกระทำนั้นไม่มีสถานะและความชอบธรรมทางจารีตประเพณีรองรับ

การที่ศีลธรรมจารีตประเพณีของไทยมีรากฐานอยู่บนโครงสร้างลำดับชั้นลดหลั่น การมีหลายมาตรฐาน การค้ำจุนรักษาสถานะที่เป็นอยู่เดิม (status quo) และการอวดแสดงความมีศีลธรรมตามขนบนิยม (บางครั้งก็สลับกับตามสากลนิยม) โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีจริงๆ เช่นนี้เองที่ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการหล่อหลอมลักษณะมือถือสากปากถือศีลทั้งในระดับรัฐและระดับบุคคลให้เป็นบุคลิกภาพประจำชาติได้อย่างน่าทึ่ง ความปราศจาก integrity อย่างแทบจะสิ้นเชิงนี้แผ่ซ่านไปทั่วทุกอณูของชีวิตทางสังคมไทยตั้งแต่เรื่องเล็กที่สุดจนถึงเรื่องใหญ่ที่สุด คงไม่มีคำใดเหมาะกับระบบศีลธรรมเช่นนี้มากไปกว่าศีลธรรมกลับกลอก

ความมีมาตรฐานเดียวแบบ “modern” ที่เสมอภาคและเป็นสากลจึงเป็นภัยคุกคามโลกแห่ง “tradition” ตราบใดที่จารีตประเพณีเป็นใหญ่ ระบบและปฏิบัติการทางกฎหมาย บรรทัดฐานทางศีลธรรม และแม้แต่ “ธรรม” ก็ย่อมมีหลายมาตรฐาน ความเป็นธรรมในสังคมไทยจึงไม่สามารถแทนด้วยสัญลักษณ์ตาชั่งที่มีแขนเท่ากันได้ เทพีแห่งความยุติธรรมของไทยจะต้องไม่คาดผ้าปิดตา แต่คอย “ลืมตา” (บวก “เงี่ยหู”) เสมอ ถึงจะไร้ผ้าปิดตาแต่เทพียังคงถือดาบ และดาบนั้นจะจ้วงแทงใส่ใครก็ตามที่พยายามปิดตาของเธอ

พุทธศาสนามอบความหวังสูงสุดให้กับสำนึกเรื่องความยุติธรรมของคนไทยด้วยเช่นกัน คนชั่วยังไงก็ต้องรับผลกรรมชั่ว ถึงจะหลุดรอดกงเล็บปีศาจกฎหมายไทยไปได้ยังไงตายไปก็ต้องไปเกิดเป็นเปรต ตกนรกหมกไหม้ ไม่ว่าเรื่องอะไรพุทธศาสนาก็ให้คำตอบสมบูรณ์ไว้แล้ว วัฒนธรรมไทยดูจะมีมรดกทางภูมิปัญญาที่น่าภาคภูมิใจและใช้ต่อกรกับคนอื่นได้อยู่เพียงอย่างเดียว ดังนั้นจึงต้องกอดรัดรักษาไว้ให้แน่นที่สุดเพื่อความมั่นคงทางอัตลักษณ์ สำหรับฝ่ายอนุรักษนิยมไทย พุทธศาสนาคือฐานที่มั่นสูงสุดทางจิตวิญญาณ ปัญญา และศีลธรรมที่ถูกใช้เป็นขั้วตรงข้ามกับประชาธิปไตยและค่านิยมทางภูมิปัญญาแบบตะวันตกแทบทั้งหมดอย่างกราดเกรี้ยวแข็งกร้าวขึ้นเรื่อยๆ นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ แต่สืบกลับไปได้ถึงการใช้พุทธศาสนาในฐานะความเป็นไทยที่สูงส่งต่อต้านความเป็นตะวันตกของชนชั้นนำไทยที่ฝังรากลึกอย่างน้อยมาตั้งแต่คำกล่าวก่อนตายของรัชกาลที่สามที่เตือนว่า จงเอาอย่างฝรั่งเฉพาะวิทยาการบางอย่างได้ แต่อย่านับถือเลื่อมใสฝรั่งเป็นอันขาด

ในความรู้สึกนึกคิดของผู้พิทักษ์เถรวาทและพุทธศาสนิกชนทั่วไปโดยมาก พุทธศาสนาไม่ได้เป็นศาสนาสากลเท่ากับเป็น “ศาสนาของคนไทย” (ละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า ในบรรดาศาสนาต่างๆ พุทธศาสนาประเสริฐที่สุด ในบรรดาพุทธต่างๆ พุทธเถรวาทของไทยประเสริฐที่สุด) ศีลธรรมแบบพุทธที่มีมิติของความเป็นสากลจะถูกเพิกเฉย ปล่อยวาง ไม่ยึดติด หรืออย่างมากก็รับทราบพอเป็นพิธี ส่วนศีลธรรมแบบพุทธที่ส่งเสริมรับใช้จารีตประเพณีจะถูกประโคมโหมกระหน่ำพร่ำสอนอย่างกระเหี้ยนกระหือรือ ทั้งหมดนี้คือการบอกโดยนัยของจิตใต้สำนึกว่า พุทธศาสนาไม่ใช่สิ่งที่จะถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับประชาธิปไตยและค่านิยมสากลอย่างเสรีภาพ ความเสมอภาค สิทธิมนุษยชน ฯลฯ ตรงกันข้าม พุทธศาสนาของไทยคือสัจธรรม “ศักดิ์สิทธิ์” (และเป็นวิทยาศาสตร์ด้วย!) ที่จะต้องอยู่ “สูง” กว่าและ “เหนือ” กว่าประชาธิปไตยรวมทั้งคุณค่าความเป็นสมัยใหม่แบบฝรั่งทั้งมวลซึ่งจัดเป็น “มิจฉาทิฏฐิ-ความเห็นผิด” เพื่อสำแดงแผลงฤทธิ์คอยควบคุม กีดกัน สั่งสอน ชี้ถูกชี้ผิด ประณาม ลงทัณฑ์ กระทั่งตะเพิดไล่หรือขจัดออกไป เมื่อคุณค่าทางโลกย์เหล่านั้นสั่นคลอนสถานภาพ ความศักดิ์สิทธิ์ ผลประโยชน์ และความมั่นคงของสารพัดสรรพสิ่งที่พึ่งพิงและยึดโยงกับความเป็นพุทธอนุรักษนิยมจัดชาตินิยมจัดแบบไทยๆ