วันพุธ, กรกฎาคม 29, 2558

เรามาถึงจุดนี้ได้ไง...การทำให้ความเห็นอกเห็นใจกลายเป็นความผิด!




เห็นอกเห็นใจ โดย วิจักขณ์ พานิช

ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

คอลัมน์ ธรรมนัว โดย วิจักขณ์ พานิช/มติชนรายวัน 26 ก.ค.2558

ห้าปีที่แล้ว ชายคนหนึ่งถูกจ้างให้เข็นรถเงาะซุกซ่อนระเบิดมาจอดไว้บริเวณหน้าที่ทำการพรรคการเมืองแห่งหนึ่ง ขณะเข็นรถเงาะมาหลบฝน จึงเกิดระเบิดขึ้น ทำให้ชายคนนั้นได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกไฟคลอก และดวงตามองไม่เห็นทั้งสองข้าง เขาถูกดำเนินคดีและติดคุกอยู่ห้าปี ปัจจุบันพ้นโทษออกมาแล้วและพยายามหาทางรักษาดวงตา

หลายเดือนก่อน หญิงคนหนึ่งถูกจับกุมตัว โดยเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าเธอเกี่ยวพันกับคดีระเบิดศาลอาญาและห้างสยามพารากอน "แหวน" คือพยาบาลอาสา พยานปากสำคัญในคดีหกศพวัดปทุมฯ หลังถูกจับกุม เธอถูกนำตัวไปฝากขังที่ทัณฑสถานหญิง กรุงเทพฯ และถูกตั้งข้อหาอีกหลายข้อหา ญาติพยายามยื่นขอประกันตัวเธอเป็นรอบที่ 5 แต่ถูกศาลทหารปฏิเสธ

ชายอีกคนหนึ่งถูกจับข้อหาปาระเบิดศาลอาญา ระเบิดถูกแท่งปูนกั้นที่จอดรถเสียหายเล็กน้อย แต่เหตุการณ์ดังกล่าวถูกขยายผลจนทำให้มีผู้ถูกจับกุมและดำเนินคดีเพิ่มอีกเกือบ 20 ราย บางคนถูกจับเพราะถูกเชื่อมโยงความสัมพันธ์จากหลักฐานการโอนเงิน บางคนถูกจับเพียงเพราะอยู่ในกลุ่มไลน์อัพเดตข่าวสาร บางคนถูกจับเพราะเป็นภรรยาผู้ต้องหา บางคนถูกจับเพราะมีนามบัตรของคนใหญ่คนโตคนหนึ่ง สรุปคือ คนเหล่านี้ถูกกวาดเข้าไปอยู่ในคุกพร้อมๆ กัน ด้วยทักษะการเชื่อมโยงอันลึกล้ำของเจ้าหน้าที่ทหาร

เมื่ออยู่ในคุก หลายคนไม่มีเงินสำหรับใช้จ่าย หลายคนไม่มีญาติมาเยี่ยม หรือหากมีญาติ ด้วยข้อหา "คดีอาวุธ" ก็ไม่มีใครกล้าแสดงตัวเป็นญาติ ส่วนกรณีชายคนแรก แม้จะพ้นโทษแล้ว แต่การจะกลับมาใช้ชีวิตปกติก็เป็นเรื่องยาก...

ผมได้รับรู้เรื่องราวของคนเหล่านี้จากเพื่อนนักข่าวสายสิทธิมนุษยชน รู้สึกเห็นใจพวกเขา อยากเป็นปากเป็นเสียง และให้ความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่พอจะทำได้ แต่อีกใจ...ก็ลังเลและไม่ค่อยแน่ใจว่าการเห็นอกเห็นใจพวกเขาเป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่?

หลังรัฐประหาร การให้ความช่วยเหลือนักโทษการเมืองเป็นที่ถูกจับตาอย่างยิ่งจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะคดีที่ถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับความมั่นคง อย่างคดีเผา-ปาระเบิดสถานที่ราชการ คดีอาวุธ หรือคดีหมิ่น พ่วง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอิทธิพลของสุภาษิตไทยอย่าง "คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล" หรืออย่างไร ที่ทำให้การเข้าไปสัมพันธ์ รับรู้เรื่องราว หรือให้ความช่วยเหลือในทางมนุษยธรรมเล็กๆ น้อยๆ ต่อกลุ่มคนที่ถูกตีตราว่าเป็น "คนชั่วแห่งชาติ" เหล่านี้ ถูกเหมารวมว่าเป็นการร่วมมือ รู้เห็นเป็นใจ กระทั่งถูกตัดสินว่าเป็นความผิดตามไปด้วย

ในโลกอันมืดมิดของนักโทษการเมือง มีคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่คอยติดตามเรื่องราวของพวกเขาอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่แค่ติดตามเท่านั้นนะครับ แต่ยังรวมถึงการอัพเดตข้อมูล ไปศาล หาช่องทางไปเยี่ยมที่คุก รับฟังความทุกข์ ให้คำปรึกษาทางใจ และคอยเป็นตัวเชื่อมประสานกับญาติผู้ต้องขังที่อยู่ข้างนอก จำนวนนักโทษการเมืองที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องทำงานหนักขึ้นตามไปด้วย นอกจากงานจะหนักแล้ว ยังเสี่ยงต่อการถูกเชื่อมโยงว่าเป็น "ขบวนการ" เดียวกันอีกต่างหาก

เมื่อการเคารพสิทธิเสรีภาพของพลเมืองไม่ใช่คุณค่าที่ระบอบเผด็จการยึดถือ วันๆ เจ้าหน้าที่รัฐจึงคิดแต่การเชื่อมโยงคนคิดต่างเข้าด้วยกันเป็นเครือข่าย ขยายผลการจับกุมออกไปเรื่อยๆ ไม่ต่างกับการสร้างผังที่เคยทำก่อนหน้า ทั้งหมดก็เพื่อยืนยันความเชื่อแบบทหารที่ว่า "มีการจัดตั้งเป็นขบวนการ" "มีท่อน้ำเลี้ยง" หรือ "มีคนอยู่เบื้องหลัง"

การได้รับรู้เรื่องราวชีวิต ชะตากรรม และความไม่เป็นธรรมที่นักโทษการเมืองได้รับทำให้ผมรู้สึกสะเทือนใจอย่างบอกไม่ถูก แม้จะไม่สามารถออกไปเรียกร้องความยุติธรรมอะไรแทนพวกเขา แต่หากมีอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่พอจะทำได้ ก็คิดว่าอยากจะทำ ผมไม่รู้ว่าชายเข็นรถเงาะคนนั้นจะรู้เห็นกับการวางระเบิดที่ทำการพรรคการเมืองในครั้งนั้นแค่ไหนอย่างไร ไม่ได้สนใจว่าตกลงแล้วเจ้าหน้าที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงผู้บงการได้หรือไม่ ผมแค่รู้สึกเห็นใจชายคนนี้ และหวังว่าหลังจากพ้นโทษออกมาแล้ว เขาจะมีเงินไปรักษาดวงตาให้หายดี

ผมรู้สึกเห็นใจ "แหวน" เช่นเดียวกับอีกเกือบยี่สิบชีวิตที่ถูกกวาดเข้าไปในคุกภายใต้สถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่ปกติ ผมรู้สึกเห็นใจพวกเขาที่ไม่มีสิทธิในการต่อสู้คดีพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองอย่างเป็นธรรม รู้สึกเห็นใจหลายคนที่ไม่มีญาติ ไม่มีคนให้ความช่วยเหลือ หรือกระทั่งไม่มีใครกล้าไปเยี่ยม

บางทีก็นึกสงสัยว่าทำไมระบอบเผด็จการจึงต้องพยายามออกกฎเกณฑ์เพื่อกีดกันไม่ให้คนข้างนอกเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับนักโทษการเมือง? ทำไมต้องทำให้พลเมืองหวาดกลัวที่จะแสดงความคิดเห็นต่าง? ทำไมระบอบเผด็จการต้องส่งเสริมการมองนักโทษการเมืองราวกับไม่ใช่มนุษย์? ทำไม? ทำไม? และทำไม? ร้อยแปดคำถามและความโกรธยามที่พบเห็นความไม่เป็นธรรมอยู่ตรงหน้า ไม่อาจแปรเปลี่ยนเป็นการเคลื่อนไหวใดๆ ได้มากนัก เพราะกลัวว่าทำแล้วตัวเองและคนรอบข้างจะเดือดร้อน เรื่องการรณรงค์ต่อเนื่องนั้นลืมไปได้เลย อยากไปเยี่ยมก็ไปไม่ได้เพราะมีกฎสิบคนกำกับอยู่ เงินช่วยเหลือให้กับมือก็ทำไม่ได้ คนตัวเล็กๆ อย่างเราจะเป็นปากเป็นเสียงให้แก่พวกเขาได้อย่างไร จะเขียนถึงพวกเขาแบบไหนไม่ให้ถูกเซ็นเซอร์ ฯลฯ เป็นข่าวครึกโครมได้เพียงไม่นาน เรื่องราวของพวกเขาก็ค่อยๆ ถูกทำให้เงียบหายไป ไม่มีใครติดตาม ไม่เป็นข่าว ไม่มีใครพูดถึง มีแต่การออกกฎเพิ่มเพื่อปิดกั้นความสัมพันธ์กับโลกภายนอกทุกวิถีทาง ทำให้คนกลัวที่จะเข้าไปยุ่ง ทำให้คนกลัวที่จะเห็นอกเห็นใจ

และที่เลวร้ายสุด คือการทำให้ความเห็นอกเห็นใจกลายเป็นความผิด

หากใครมีแก่ใจช่วยเหลือคนพวกนี้ เช่น เขียนถึงนักโทษการเมือง ไปเยี่ยมนักโทษการเมือง หรือให้เงินช่วยเหลือนักโทษการเมือง อาจถูกโยงเข้าผังขบวนการไปด้วย ดังนั้น ทางที่ดี อย่าไปยุ่งกับคนพวกนี้จะดีกว่า ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นไว้ ห้ามเห็นอกเห็นใจ ไม่งั้นเดี๋ยวจะเดือดร้อน

ความเห็นอกเห็นใจ บางทีมันก็มีลำดับชั้นของมันอีกด้วยนะครับ เช่น คนนี้ "คลีน" กว่าคนนั้น เห็นอกเห็นใจได้ แต่คนนั้นไม่คลีน ก็ไม่ต้องไปเห็นอกเห็นใจ (มัน) ทั้งๆ ที่ทั้งหมดมันมีที่มาเดียวกัน คือ มูลเหตุจูงใจทางการเมืองในสถานการณ์ที่อำนาจรัฐไม่มีความชอบธรรม และเมื่อกระบวนการค้นหาความจริงไม่ใช่สิ่งที่เผด็จการทหารยอมให้มีได้อยู่แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจ หากหลายคนที่ไม่น่าจะมีอะไร ก็สามารถถูกโยงให้มีอะไรได้ แปะป้ายให้ไม่คลีนเสีย โดยใช้หลักฐานที่ไม่เป็นหลักฐาน อย่างนามบัตร หรือกลุ่มไลน์ เป็นข้ออ้างในการโยง

ทว่า เอาจริงๆ พวก "ไม่คลีน" อย่างคดีปาระเบิด คดีอาวุธ คดีเผา ควรได้รับความเห็นอกเห็นใจหรือไม่?

ถ้าไม่ ก็แสดงว่า กระบวนการทำให้ความเห็นอกเห็นใจกลายเป็นเรื่องผิด มันได้ผลจริงๆ ด้วย

จะว่าไป แค่ปิดตาไว้ข้างนึง เราก็สามารถใช้ชีวิตดีๆ ภายใต้ระบอบเผด็จการอย่างไม่เดือดร้อนแล้วครับ ตรงกันข้ามกับการเดินเข้าไปในโลกของความเห็นอกเห็นใจ ที่ดูเหมือนจะมีทางทอดยาวให้ถลำลึกไปไม่มีที่สิ้นสุด ความตายของคนเสื้อแดงในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 อาจเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของใครหลายคน เช่นเดียวกับการติดคุกอีกหลายต่อหลายกรณีที่ถูกจับกุมและคุมขังอยู่ในเรือนจำตอนนี้

หลังจากต่อสู้กับความกล้าๆ กลัวๆ ของตัวเองอยู่พักใหญ่ ผมตัดสินใจควักเงินจำนวนหนึ่งยื่นให้เพื่อน ฝากเป็นความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ ให้แก่พวกเขา ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นการยืนยันจุดยืนแห่งมโนธรรมสำนึกของตนเองด้วยว่า

"การเห็นอกเห็นใจ ไม่ใช่ ความผิด"

หากจะมีแรงขับเคลื่อนให้จิตวิญญาณประชาธิปไตยพัฒนาไปในทิศทางที่สร้างสรรค์ สิ่งนั้นก็คือพลังแห่งความรักและความเห็นอกเห็นใจ ไม่ใช่ความเกลียดชังและความกลัว