วันเสาร์, สิงหาคม 29, 2558

ใน 1 วันที่บ้านนาย ต้องทำทุกอย่าง อ่านประสบการณ์ตรง "นายทหารบริการ" นักวิชาการเจาะลึกระบบบริหารมนุษย์ในค่ายทหาร




อ่านประสบการณ์ตรง "นายทหารบริการ" นักวิชาการเจาะลึกระบบบริหารมนุษย์ในค่ายทหาร 

ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เหตุการณ์พลทหารนายหนึ่งร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อขอความเป็นธรรมโดยอ้างว่าถูกทรมานร่างกายจนต้องออกมาขอร้องความเป็นธรรมแม้นายทหารที่ถูกพาดพิงจะทำหนังสือชี้แจงที่มีเนื้อหาสวนทางกับการกล่าวอ้างของพลทหารรายนี้แต่เหตุการณ์นี้ทำให้คนในสังคมสนใจระเบียบการปฏิบัติหน้าที่ของพลทหารที่เข้ารับการฝึกในค่ายทหาร

พลเรือเอกไกรสรจันทร์สุวานิชย์ผู้บัญชาการทหารเรือเปิดเผยว่าไม่มีระเบียบหรือกฎเกณฑ์ใดๆเขียนไว้ขณะนี้กำลังรอรายงานการสอบสวนจากกรมยุทธศึกษาทหารเรือและยังไม่ได้สั่งการใดๆโดยจะให้ฝ่ายปฏิบัติงานทำรายงานส่งขึ้นมาเองเพราะ มองว่าอยากให้คิดได้เองว่าปัญหาเหล่านี้จะต้องแก้ไข (อ่านข่าวเพิ่มเติม) (อ่านข่าว"นายทหาร"คู่กรณีแจงปม"ล่ามโซ่")

ด้านพล.อ.อุดมเดชสีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงคำเรียก "นายทหารรับใช้" ว่าหน่วยปรับเป็น "นายทหารบริการ" แล้ว (อ่านข่าวเพิ่มเติม)

มติชนออนไลน์มีโอกาสสัมภาษณ์อดีตทหารเกณฑ์ และความเห็นจากนักวิชาการซึ่งอาจสะท้อนภาพการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในกองทัพได้ในอีกหนึ่งแง่มุม

ประสบการณ์ตรงจาก "อดีตทหารเกณฑ์"

เอ (นามสมมติ) อดีตทหารเกณฑ์ในพื้นที่นอกเมืองหลวงเล่าว่า ช่วง 3 เดือนแรกจะเป็นการฝึก แต่ไม่ใช่ฝึกยุทธวิธีการรบ ฝึกการใช้อาวุธ ความรู้ที่มาของการประกอบยุทโธปกรณ์ต่างๆ ในส่วนนี้เทียบเปอร์เซ็นต์ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือคือบอกให้ทำตามคำสั่ง สั่งอย่างไรก็ทำอย่างนั้น สั่งขวาหันก็ขวาหัน ซ้ายหันก็ซ้ายหัน ถ้าใครเชื่องอยู่แล้วก็จะอยู่ได้ง่าย ไม่ลำบาก แต่ถ้าใครหัวแข็ง ดื้อ หรือพยายามหาเหตุผล ก็จะอยู่ยาก

หลังผ่าน 3 เดือนแรก ได้มาประจำการอยู่ที่กองร้อย และพบปัญหาเรื่องการขอตัวไปอยู่บ้านนาย ซึ่งไม่มีใครอาสาไปอยู่ เพราะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับนายคนนี้ ไม่มีใครกล้าอาสาไป ... สุดท้ายเราเลยเสียสละไปอยู่บ้านนาย แต่มันก็ผสมด้วยความอยากรู้ด้วย

"พอไปอยู่บ้านนาย แค่วันแรกก็เข้าใจเลยว่าทำไมเขาถึงอยากหนีออกมากันนัก...อย่างแรก ถ้านายยังไม่นอน เราก็นอนไม่ได้ เราต้องรอให้นายหลับหมดก่อน เราถึงจะนอนได้ ส่วนการตื่นนอน หากนายตื่น แล้วเรายังนอนอยู่ก็จะซวย แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือ มีนาย 2 คนแล้วนอนไม่พร้อมกัน คือนายอีกคนนอนดึกตื่นสาย ส่วนนายอีกคนนอนเร็วตื่นเช้า บางวันต้องนอนหลังเที่ยงคืน แล้วต้องตื่นก่อนตี 4" เอ กล่าว

ใน 1 วันที่บ้านนาย ต้องทำทุกอย่าง

เอ เล่าต่อว่า มีระเบียบปฏิบัติประจำวัน คือเป็นสิ่งที่ต้องทำตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน ซึ่งกิจกรรมมีทั้งกวาดใบไม้ เช็ดถูบ้าน ล้างกรงหมา เก็บคราบบุหรี่ ล้างรถ ล้างจาน ทำอาหารเช้า รอเจ้านายออกไปปฏิบัติงาน เราต้องตื่นตัวและพร้อมตลอด ต้องมองซ้ายมองขวา ถ้าเกิดนายเรียกแล้วไม่ได้ยินก็จะซวย หลังจากนั้นช่วงสายก็ทำงานช่างทั้งขนปูน ผสมปูน วางเสาเข็ม จะมีทหารช่างคอยควบคุมอีกที

พอเสร็จช่วงเที่ยงก็ได้พัก แต่ต้องระแวง เพราะแม้นายจะออกไปทำงาน แต่ที่บ้านคุณนายก็อยู่ เราก็ต้องฟังคุณนาย สั่งอะไรเราต้องทำ คือว่างไม่ได้ มักเรียกไปทำอะไรสักอย่าง เพราะฉะนั้นเราเลยต้องรีบกิน รีบทำทุกสิ่งอย่าง หากช้าก็จะโดนด่าแล้วทำโทษตามระเบียบ

"ส่วนตัวอยู่บ้านนายมาเดือนสองเดือน ยอมรับว่าเคยคิดหนี แต่มาคิดดูดีๆก็ไม่ได้หนี แต่ไปขอตรงๆ... แต่ทีนี้เขาส่งไปบ้านอีกหลังที่จังหวัดหนึ่ง ซึ่งอยู่บ้านหลังใหม่นี้ก็เหนื่อย แต่สบายใจกว่า เพราะไม่ต้องมาระแวง ไม่ต้องสะดุ้งตื่นตอนตี2 ตี3" เอ กล่าว



โทษทัณฑ์ขึ้นอยู่กับเขา เจ้าของชีวิตเรา

เอ เล่าอีกว่า ถ้าพูดถึงการทำโทษจะแล้วแต่นาย แต่เหมือนกับว่าเขาเป็นเจ้าของชีวิตเรา บางคนใจดี ก็ดีไป แต่บางคนอยากจะทำโทษแค่ไหน เท่าไหร่ก็ทำได้ เพราะมันไม่มีองค์กรไหนคอยคุ้มกัน คอยดูแลปกป้อง แต่ถ้ามีองค์กรคอยช่วยเหลือน่าจะดีกว่านี้

"บางครั้งเขาบอกให้เราลงบ่ออุจจาระ เราก็ต้องลง และต้องอย่าหาเหตุผล อย่าถาม อย่าสงสัย อย่าคิดต่าง นิดเดียวก็ไม่ได้ ไม่งั้นจะถูกทำโทษ ถึงมันจะดูไม่ถูกต้อง แต่เขาก็ทำได้ จะโทษหนัก โทษเบาอยู่ที่ดุลยพินิจของเขา อย่างที่บอก เขาเป็นเจ้าของชีวิตเรา

"ครั้งหนึ่ง มีเพื่อนถูกทำโทษ โดนขังในบ่ออุจจาระ พอเปิดขึ้นมาเหมือนกับว่าอาการหนัก ทุกคนต้องรีบมาปฐมพยาบาล เพราะว่ามันไม่มีอากาศหายใจเลย บ่ออุจจาระแบบนั้นมนุษย์มันอยู่ไม่ได้อยู่แล้ว" เอ เล่าประสบการณ์

"ส่วนที่เปลี่ยนมาเป็นคำว่า ทหารบริการ ผมว่าถ้าจะเปลี่ยนจริงๆ ควรจะเปลี่ยนเป็น ทหารบริการประชาชน ไม่ใช่ ทหารบริการทหาร คือทหารควรจะไปช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนและลำบาก จะดีกว่ามาคอยรับใช้นายทหารด้วยกันแบบที่เป็นอยู่แบบนี้ไหม?" เอ กล่าวทิ้งท้าย

อยากได้ทหารมีคุณภาพ ลองดูระบบ "เกณฑ์แบบสมัครใจ"

ดร. วิโรจน์ ณ ระนอง นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือทีดีอาร์ไอ แสดงความคิดเห็นเรื่องทหารเกณฑ์ว่า การเกณฑ์ทหารเป็นความคิดเรื่องบทบาทของรัฐ สิทธิของรัฐ และหน้าที่ของพลเมือง กล่าวคือ การเกณฑ์ทหารหมายความว่า รัฐมีสิทธิหรืออำนาจเหนือชีวิตซึ่งจุดใหญ่อยู่ตรงนี้ แต่ในหลายประเทศที่มีการเกณฑ์ทหารในลักษณะที่เป็นหน้าที่ คือทุกคนจะต้องเข้าสู่กระบวนการเกณฑ์ทหาร การยกเว้นมีเพียงจะต้องเป็นกรณีพิเศษที่ระบุไว้




 
ดร. วิโรจน์ กล่าวต่อว่า บางประเทศที่มีระบบเกณฑ์ทหารก็เปลี่ยนไปเป็น "ระบบสมัครใจ" ซึ่งถือเป็นโมเดลที่น่าสนใจและหลายคนในประเทศไทยพูดถึงมาก เพราะการให้ประโยชน์ที่มากพอ คนก็พร้อมที่จะมาเป็นทหารโดยสมัครใจ อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกามีการให้ทุนการศึกษาเพื่อแลกกับการมาเป็นทหาร และหากเข้ามาในกระบวนการสมัครใจลักษณะนี้ จะมีการทำสัญญาว่า พอจบออกไปแล้ว จะต้องเป็นทหารกี่ปี ซึ่งหลังจากหมดสัญญาก็ให้เลือกว่าจะเป็นทหารต่อหรือไม่ ซึ่งระบบแบบนี้จะทำให้ได้ทหารที่มีคุณภาพ

"แนวความคิดเรื่องเกณฑ์ทหารเป็นเรื่องของการที่รัฐเป็นเจ้าของชีวิตเราซึ่งในสมัยนี้ความเชื่อเรื่องนี้มันมีแนวโน้มที่เปลี่ยนไปมากคือมันเปลี่ยนไปในแนวทางที่ว่ารัฐไม่ควรมาบังคับพลเมืองมากกว่าที่จำเป็นซึ่งพลเมืองควรจะมีสิทธิของตัวเองมากขึ้นสมมติถ้ารัฐมาบังคับคุณว่าหากคุณจะขับรถคุณจะต้องมีใบขับขี่ซึ่งส่วนนี้มันอาจจะเป็นสิ่งจำเป็นและเข้าใจได้แต่การเกณฑ์ทหารมันอาจดูไม่จำเป็น เพราะอย่างน้อยประเทศที่ไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม การเกณฑ์ทหารก็น่าจะมีคนเห็นด้วยน้อย และน่าจะไปสนใจที่ระบบสมัครใจมากขึ้น" ดร. วิโรจน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ดร. วิโรจน์ ระบุว่า หากสามารถปรับการเกณฑ์ทหารไปสู่ระบบความสมัครใจสมัครใจ ก็อาจส่งผลต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย เพราะในระบบสมัครใจ อำนาจของผู้บังคับบัญชาที่สั่งแบบไม่มีเหตุผลจะน้อยลง เพราะหากนายทหารมีปัญหาเขาก็สามารถลาออกได้ ซึ่งหากมีการลาออกมาก ก็อาจเป็นปัญหากับเจ้านาย เพราะฉะนั้นการใช้อำนาจก็น่าจะอยู่บนฐานของเหตุผลมากขึ้น

เปลี่ยนชื่อ ไม่เปลี่ยนระบบจะไร้ผล

ดร. วิโรจน์ ระบุว่า การปรับชื่อจาก "ทหารรับใช้" มาเป็น "ทหารบริการ" แต่ไม่ได้เปลี่ยนระบบอาจไม่ส่งผล แต่ประเด็นคือต้นทุนในการเกณฑ์ทหาร ส่วนหนึ่งทำให้กองทัพมีต้นทุนต่ำ ดังนั้น ด้วยต้นทุนที่น้อยมาก การการเกณฑ์ทหารจึงทำให้สามารถเอาคนเหล่านั้นไปใช้อย่างไรก็ได้ และที่สำคัญไม่ค่อยมีคนสนใจเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นเมื่อต้นทุนในการเกณฑ์ต่ำ ก็สามารถเกณฑ์ได้เยอะ จำนวนพลทหารที่เยอะมีแนวโน้มทำให้จำนวนพลทหารที่สามารถนำเข้าไปปฏิบัติงานตามคำสั่งนายทหารต่างๆก็เพิ่มขึ้นไปด้วย