วันศุกร์, สิงหาคม 21, 2558

อ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี : สรุปสาระสำคัญจากเวทีเสวนากับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เวทีรัฐศาสตร์เสวนา ‘ข้อเสนอเพื่อปฏิรูปคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองไทย’


ที่มา


Siripan Nogsuan Sawasdee

เวทีรัฐศาสตร์เสวนา ‘ข้อเสนอเพื่อปฏิรูปคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองไทย’ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2558 จัดขึ้นเนื่องในโอกาสสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบรอบ 67 ปี

ขอสรุปสาระสำคัญจากเวทีเสวนากับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไว้ที่นี่สำหรับผู้สนใจนะคะ

หลายท่านอาจพอจำได้ว่า เราได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน หลังจากนั้น เราทราบว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯ กำลังแก้ไขตามข้อเสนอของ “ฝ่ายต่างๆ” แต่หน้าตาเป็นอย่างไรนั้น ถูกปิดเป็นความลับมาโดยตลอด จนกระทั่งอาทิตย์ที่ผ่านมามีการปล่อยประเด็นร้อนออกมาทดสอบกระแส คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฎิรูปและการปรองดองแห่งชาติ แต่เนื้อหาอื่น ๆ ยังคงไม่เปิดเผย

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 3 ท่าน คือ อ.จรัส สุวรรณมาลา อ.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ และ อ.เจษฎ์ โทณะวนิก ได้นำเสนอหน้าตารัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข และตอบทุกคำถามจาก อ.ประภาส ปื่นตบแต่ง อ.นฤมล ทับจุมพล และผู้เข้าร่วมเสวนา สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญสรุปได้ดังนี้

1. คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฎิรูปและการปรองดองแห่งชาติ 23 คน ตามที่ระบุในมาตรา 260 ประกอบด้วยผู้นำกองทัพ/ตำรวจ + นิติบัญญัติ+ บริหาร+ศาล+ เทคโนเครต มุ่งหวังให้เกิดความเชื่อมั่นว่าการปฏิรูปการเมืองที่วางแผนระยะยาวไว้ 20 ปี จะไม่สะดุดหกล้ม ไม่ว่ารัฐบาลใดจะขึ้นมา และ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกรงกันว่าจะเกิดในอนาคต **ในสถานการณ์ไม่ปกติ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ ฯ เมื่อปรึกษากับประธานศาลรัฐธรรมนูญและประธานปกครองสูงสุดสามารถใช้อำนาจทั้งในทางนิติบัญญัติ และบริหาร สั่งระงับ ยับยั้งการกระทำใด ๆ

2. คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฎิรูปและการปรองดองแห่งชาติรับผิดชอบการปฏิรูป 12 ด้าน และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยจะมี “พ.ร.ป.” ว่าด้วยการปฏิรูปเป็นกฎหมายรองรับ บทบาทของคณะกรรมการยุทธศาสตร์จะอยู่เหนือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ **นโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อสภาจะต้องบูรณาการกับยุทธศาสตร์นี้

3. ส.ส. 450 (ไม่เกิน 470) คน ประกอบด้วย 300 คน จากระบบเขต และ 150 คนจากบัญชีรายชื่อ ระบบเลือกตั้งแบบผสมสัดส่วน (MMP) ทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำ และจะยังไม่ใช้ระบบบัญชีรายชื่อแบบเปิด (open list)

4. ส.ว. 200 คน ประกอบด้วย 77 คน จากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน อีก 123 คน จากการสรรหา แบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ 1) 10 คนจากข้าราชการ กองทัพ ตำรวจ 2) 15 คนจากองค์กรวิชาชีพ 3) 30 คน จากนิติบุคคลกลุ่มต่าง ๆ 4) 68 คนจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่าง ๆ และปราชญ์ชาวบ้าน แต่ละกลุ่มจะมีองค์กรสรรหาเฉพาะ รายละเอียดต้องรอ พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะสรรหาอย่างไร **แต่ในบทเฉพาะกาล 4 ปีแรก กำหนดให้ คณะรัฐมนตรีเป็นผู้สรรหา ส.ว. เสนอกฎหมายไม่ได้ ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ แต่หากจะถอดถอนผู้ที่มาจากการเลือกตั้งต้องใช้อำนาจร่วมกันของทั้งสองสภา

**สภาคุณธรรม และสภาคัดกรองผู้สมัครในแต่ละจังหวัดตามร่างแรก ไม่มีแล้ว

5.อง์กรอิสระยังมีอำนาจหน้าที่มากมายเหมือนเดิม คณะกรรมการสิทธิฯ กับ ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ยังคงอยู่ทั้งคู่ ไม่ได้รวมกัน

6. หลังการเลือกตั้ง หากผ่านความเห็นชอบจากการทำประชามติ จะมีการจัดตั้งรัฐบาลปรองดองเพื่อการปฎิรูป (Forced Grand Coalition) ที่ตอนจัดตั้งรัฐบาลต้องได้คะแนนเสียง 4/5 จากสภา

7. มีความพยายามผลักดันให้ปฎิรูปตำรวจแต่ไม่สำเร็จ ส่วนทหารและระบบราชการ ไม่มีใครเสนอให้ปฏิรูป

8. จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อไหร่ ไม่ได้กำหนดไว้ ขึ้นอยู่กับ คสช.

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของการออกแบบสถาบันการเมือง แต่เป็นการออกแบบระบบการเมืองที่ใหญ่กว่า (Grand Design) เป็นภาพสะท้อนของ 1) ความกลัว…กลัวความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองโดยเฉพาะ 5 ปีข้างหน้า (คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีอายุ 5 ปี ต่ออายุได้อีก 5 ปี+ ส.ว. สรรหาจาก ครม ในช่วง 4 ปีแรก) และ 2) ความไม่ไว้วางใจประชาชนในการเลือกตัวแทน และไม่ไว้ใจนักการเมืองทุกค่าย นักการเมืองถูกมองว่าเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาและความขัดแย้ง

คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฎิรูปและการปรองดองแห่งชาติ จึงถูกออกแบบมาให้ชนชั้นนำแก้ไขปัญหาเป็นการภายในกันเอง ไม่ต้องรัฐประหารก็ล้มรัฐบาลได้ (นึกภาพ กองกำลังรักษาความปลอดภัยเข้าล้อมสำนักงานใหญ่พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ในกรุงเนปีดอ ปลด ฉ่วย มาน ออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรครัฐบาล และประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา)

คำถามหลักต่อการมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ คือ ทำไมจึงคิดว่า กลไกและวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย จะไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งและวิกฤติใด ๆ ที่จะเกิดขึ้น ถึงกับต้องสร้างองค์กรเหนือการตรวจสอบมากำกับอีกที

ในประเด็นการทำประชามติเพื่อขอความเห็นชอบจัดตั้งรัฐบาลปรองดองนั้น มีคำถามว่า ถ้าผลประชามติโดยเสียงส่วนใหญ่บอกว่าเห็นชอบให้จัดรัฐบาลปรองดอง แต่หากพรรคการเมืองซึ่งได้รับคะแนนสูงสุด 2 พรรคแรกไม่ยอมจะเกิดอะไรขึ้น เสียงของประชาชนส่วนไหนมีความชอบธรรมมากกว่ากัน จะเป็นการนำประชามติไปบังคับเจตนารมณ์ของคนที่เลือกตั้ง ที่อยากเลือกรัฐบาลของตนเองหรือไม่?

และหากตั้งรัฐบาลปรองดองใครจะเป็นนายก ใครจะเลือกทีม ครม. เท่ากับเราต้องได้นายกคนนอกหรือไม่ (ใช้คะแนนเสียง 3ใน 5) และจะมั่นใจอย่างไรว่าจะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งเพียงเพราะไม่มีฝ่ายค้าน แล้วใครจะตรวจสอบ

หาก สปช โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขที่หน้าตาเปลี่ยนไปจากร่างเดิมมาก ในวันที่ 6 กันยายน ตามกำหนดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ประชาชนจะได้สิทธิทำประชามติ แต่เป็นประชามติที่มีเพียงถนน 2 สายเป็นตัวเลือก
ถนนสายที่ 1. ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาลตั้งกรรมการยกร่างชุดใหม่ รัฐบาลอยู่ต่อนานแค่ไหนไม่ทราบ
ถนนสายที่ 2. ได้รับสัญญาว่าจะมีการเลือกตั้งประมาณปลายปี 59 หรือ ต้นปี 60 แต่รัฐบาลและสภาที่มาจากการเลือกตั้งอาจไม่มีอำนาจในการบริหารประเทศตามที่ประชาชนตั้งใจเลือกมา

การเขียนรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ย้อนไปไกลเกินกว่ารัฐธรรมนูญยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ย้อนไปไกลเกินกว่าจินตนาการของใครหลายคน

เครดิตภาพประกอบ: ถ่ายโดย แชมป์ Kittithaj Sumalnop ขอบคุณมากค่ะ

ooo

เวทีเสวนาเดียวกัน รายงานจาก ประชาไท



เปิดวงถกเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ปรองดองบน 'ประชาธิปไตยเสี้ยวใบ' ?

ทีมา ประชาไท
Thu, 2015-08-20

กมธ.ยกร่างรับ รธน. ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่จำเป็นช่วง'เปลี่ยนผ่าน' ประภาส ปิ่นตบแต่ง ท้ากล้าเขียนหรือไม่ รธน. สร้างรัฐบาลซ้อนรัฐบาล ให้ประชาชนลงประชามติ

19 ส.ค. 2558 เวลา 13.30 น. ที่ห้อง 107 ตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดวงเสวนาหัวข้อ "ข้อเสนอเพื่อปฏิรูป คณะกรรมการปฏิรูปการเมืองไทย" ซึ่งจัดโดยภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวิทยากรประกอบด้วย 3 คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จรัส สุวรรณมาลา, เจษฎ์ โทณะวนิก และบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ และ 2 อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ประภาส ปิ่นตบแต่ง และสิริพรรณ นกสวน สวัสดี ดำเนินรายการโดย นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ทั้งนี้ภายในงานได้การแจกเอกสารซึ่งเป็นร่างรัฐธรรมนูญในหมวด 2 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมและความปรองดอง ส่วนที่ 1 คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ




ภาพรวมคร่าวๆ ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ



จรัส เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง การปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ได้ส่งให้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมยื่นข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อปรับปรุงแก้ไข ก่อนจะส่งให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า หลักการสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญยังคงอยู่ เช่น หลักพลเมืองเป็นใหญ่ หลักการป้องกันการคอร์รัปชั่น และนโยบายประชานิยม หลักการการเมืองใสสะอาด หลักการสร้างความปรองดอง

“โจทย์ที่ให้มา เราก็พยายามแก้ทุกเรื่อง แต่ถามว่าเวลาให้กินยา เราผลิตยาสำหรับแก้ความเจ็บป่วย ยาบางชนิดขมมาก ยาบางชนิดกลิ่นแทบไม่ลง”

“รัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างอยู่นี้ เราน่าจะได้ปรับปรุงอีกเล็กน้อยเท่านั้นในวันพรุ่งนี้ จากนั้นก็ต้องเข้าโรงพิมพ์เพื่อที่จะจัดทำเป็นเล่มเสนอไปยัง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งก็จะเข้าวันเสาร์นี้ (22 ส.ค.) สักวันที่ 6 กันยายน สปช. ก็จะลงมติเห็นชอบไม่เห็นชอบ การแก้ไขอีกก็อยู่ในช่วงคืนนี้ พรุ่งนี้ โอกาสที่จะแก้ไขในเรื่องใหญ่โตทำอีกไม่ได้แล้ว” จรัส กล่าว

ด้าน บัณฑูร เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง ภาพรวมร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นต่างๆ โดยระบุว่า เรื่องสิทธิและเสรีภาพ โดยมีการแบ่งเป็นสิทธิมนุษยชน และสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทย ยังคงอยู่ ซึ่งเปลี่ยนจากสิทธิพลเมือง ขณะเดียวกันเรื่องพลเมือง ยังคงอยู่เพื่อเจตนารมณ์ของการสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง ความเป็นพลเมือง

องค์กรภาคพลเมืองยังคงมีอยู่ เช่นสมัชชาพลเมือง องค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมการอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ในส่วนที่หายไปคือ สภาตรวจสอบภาคพลเมือง เนื่องจากมีกลไกตรวจสอบที่สามารถทำหน้าที่ได้อยู่แล้ว ด้านกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กับผู้ตรวจการแผ่นดิน แยกออกจากกันเหมือนเดิม

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ร่างมาทำไม



บัณฑูร เปิดเผยว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดอง เป็นส่วนหนึ่งของกลไกการขับเคลื่อนการปฏิรูปและการปรองดองในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งจัดอยู่ในองค์ประกอบของสภาดำเนินการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ 23 คน ซึ่งจะทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ในช่วง 5 ปีแรกหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2.คณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ และ3.คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดอง

บัณฑูร กล่าวต่อว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มาจากคำขอของคณะรัฐมนตรี และสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยให้เหตุผลสองประการคือ ต้องการให้มีกลไกที่มารับผิดชอบดำเนินการให้การปฏิรูปและการปรองดองสามารถเดินต่อไปได้เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล ประการที่สองเพื่อเป็นกลไกสำหรับรับมือสถานการณ์ที่คาดคิด สภาวะความขัดแย้งรุนแรง การเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นในสังคมไทยในระยะอันใกล้ ซึ่งจำเป็นต้องมีกลไกที่ช่วยดูแลสถานการณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างเหมาะสม

ขณะที่ประเด็นเรื่องรัฐบาลปรองดองเพื่อการปฏิรูปนั้น บัณฑูร กล่าวว่า เป็นการเตรียมรับมือช่วงเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย โดยเงือนไขคือกำหนดให้มีเสียงสนับสนุน 4 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ จึงจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพื่อทำให้เกิดการร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลปรองดองเพื่อการปฏิรูป

“ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ถามจะมีคำถามประชามตินี้ สปช. เสนอไปยังรัฐบาลให้ออกประชามติคู่กับการทำประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ทุกท่านในที่อายุเกิน 18 กันหมดแล้ว ท่านช่วยไปตัดสินว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ถ้าเห็นด้วยก็เอาผลประชามตินั้น เพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญเป็นบทเฉพาะกาล ฉะนั้นรัฐบาลปรองดองเพื่อการปฏิรูปเกิดขึ้นหลังเลือกตั้งนะครับ แต่สื่อเข้าใจผิดไปว่ารัฐบาลปรองดองเพื่อการปฏิรูปจะเกิดขึ้นก่อนเลือกตั้ง แต่จะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้งถ้าประชาชนออกเสียงประชามติเห็นด้วยกับเรื่องนี้” บัณฑูร กล่าว

ประชาธิปไตยเสี้ยวใบ รัฐบาลซ้อนรัฐบาล คำถามและข้อวิพากษ์จากสองอาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาฯ



สิริพรรณ เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามต่อคณะกรรมมาธิการยกร่างว่า เหตุใดกระบวนร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขต้องปิดลับ ทั้งที่ทราบดีว่าประชาชนต้องการรับรู้อย่างมากในสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ปกติ การเปิดเผยและรับฟังความเห็นอาจจะเป็นกระบวนการที่ดีกว่า

ต่อกรณีรัฐบาลปรองดองเพื่อการปฏิรูป สิริพรรณ ตั้งคำถามว่า การจะเกิดรัฐบาลปรองดองขึ้นได้ ต้องผ่านการเห็นชอบของประชาชน เราตีความตรงนี้ว่าถ้าประชาชนไม่เห็นชอบเรื่องนี้ก็จะไม่เกิดขึ้นใช่หรือไม่ ซึ่งใช่ หากเราทำประชามติในช่วงเวลาตามโรดแมป หากคนเห็นชอบเรื่องรัฐบาลปรองดอง 16 ล้านคน แต่หลังเลือกตั้งมีพรรคใหญ่สองพรรค พรรคA ได้ คะแนนเสียง 10 ล้านเสียง ส่วนพรรคB ได้ 8 ล้านคะแนน สองพรรคใหญ่รวมกัน 18 ล้าน ซึ่งตอนนี้จุดยืนของสองพรรคใหญ่คือ ไม่ต้องการรัฐบาลปรองดอง คำถามคือจะมีการนำเอาเสียงประชามติมาบังคับสองพรรคใหญ่ให้ร่วมเป็นรัฐบาลได้อย่างไร และหากสมมติว่าทั้งสองพรรคยินยอม ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคA หัวหน้าพรรคB ประกอบกับเงื่อนไข 4 ใน 5 ถึงที่สุดจะนำไปสู่การที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ได้นายกรัฐมนตรีที่เป็นคนนอกหรือไม่

ต่อกรณีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่สูงมาก ในสภาวะการณ์ที่ไม่ปกติ คือสามารถใช้อำนาจนิติบัญญัติ และบริหาร และการใช้อำนาจถือว่าสิ้นสุด นอกจากนั้นยังสามารถให้ความเห็นชอบต่อรัฐบาลในแง่นโยบาย และงบประมาณ ได้ด้วย สิริพรรณ ตั้งข้อสังเกตุว่า นี่คือการสร้างรัฐบาลซ้อนรัฐบาล

“สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นคือ เรากำลังจะมีรัฐบาลสองรัฐบาล แล้วรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะมีความสำคัญอยู่ในระดับไหน”

“ก่อนหน้านี้เรามองว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจจะเป็นรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบ ในยุคเปลี่ยนผ่าน แต่ในมุมของดิฉันเองอันนี้มันจะไปไกลกว่าครึ่งใบ เพราะครึ่งใบอย่างน้อย ส.ส. ยังมาจากการเลือกตั้ง และใช้อำนาจได้เต็มที่ แต่ถ้าในมุมนี้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะใช้อำนาจได้น้อยมาก ภายใต้รัฐบาลพี่เลี้ยง ก็คือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ” สิริพรรณ กล่าว



“ผมรู้สึกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ร่างกันเหมือนเล่นไฮโล คือลูกเต๋าอยู่ข้างใน เนื้อหาก็ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร แล้วก็ร่างกันอยู่ในบ่อนมีนักเลงคุมบ่อน ขอนู่นขอนี่ แล้วเรื่องคณะกรรมการยุทธศาตร์ฯ ไม่รู้ว่านักเลงคุมบ่อนสั่งมาหรือเปล่า” ประภาส กล่าว

ประภาส เริ่มต้นด้วยการวิพากษากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ว่ากำลังจะทำให้เกิดระบอบประชาธิปไตยเสี้ยวใบ พร้อมขยายความต่อว่า ภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่ประชาธิปไตย โดยเกิดจากแนวคิดที่ไม่ไว้วางใจประชาชน จึงมีการเกิดขึ้นขององค์กรที่ไม่ได้ยึดโยงกับอำนาจของประชาชน แต่มีอำนาจมาก ซึ่งหากเทียบกันรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยครึ่งใบปี 2521 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีความซับซ้อนกว่า และมีการอธิบายเพื่อสร้างความชอบธรรม ในขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2521 เป็นการแสดงอำนาจดิบ ซึ่งเป็นเพิ่มบทบาทอำนาจของกองทัพเข้ามาในการเมืองโดยตรง

ประภาสตั้งข้อสังเกตุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการอ้างความชอบธรรมจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความขัดแย้ง จึงจำเป็นต้องมีการตั้งองค์กรพิเศษเข้ามาจัดการ แต่เหตุใดความขัดแย้งทางการเมืองจึงไม่สามารถจัดการได้ด้วยกระบวนที่เป็นประชาธิปไตย ทั้งที่ควรจะสามารถจัดการได้ ประภาสชี้ว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะ ไม่ได้มีการยึดกติกาในระบอบประชาธิปไตย และเห็นว่าการจัดการกับคนเลว สามารถทำได้โดยวิธีการที่เลวกว่า ซึ่งจำเป็นต้องเรียกหากลไกพิเศษอยู่เสมอ

ต่อกรณีการเกิดขึ้นของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ประภาสเห็นว่า เป็นความพยายามสร้างให้มีรัฐบาลซ้อนรัฐบาล ซึ่งเป็นการสร้างการเมืองของชนชั้นนำ เพิ่มอำนาจให้กลุ่ม”คนดี” ผู้ทรงคุณวุฒิ และลดอำนาจประชาชนลง

“ในเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ อาจจะพูดได้ว่า เราต้องการรัฐบาลซ้อนรัฐบาล ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มีอำนาจเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เรากล้าเขียนแบบนี้ให้ประชาชนลงประชามติหรือเปล่า”

“การมีรัฐบาลซ้อนรัฐบาล แล้วมีอำนาจมาก และไม่ได้มีความยึดโยงกับผู้คน การตรวจสอบคณะกรรมการชุดนี้ ทำได้อย่างไร นอกจากจะบอกว่าเป็นคนดี เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้ที่เห็นแก่ชาติบ้าน ผมว่าอันนี้มันล่องลอย” ประภาส กล่าว

กมธ.ยกร่างตอบคำถามบางประการ

ต่อคำถามของสิริวรรณ ว่าทำไมกระบวนการแก้ไขร่างแรกรัฐธรรมนูญถึงต้องปิดลับ จรัสได้ให้คำตอบว่า เป็นเพราะกลัวสังคมจะเกิดความสับสน เพราะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงร่างรัฐธรรมนูญกันทุกวัน คณะกรรมาธิการยกร่างกันใหม่ ไม่ได้ยึดตามรัฐธรรมนูญ 40 หรือ รัฐธรรมนูญ 50 โครงสร้างยังไม่นิ่ง อีกเหตุผลหนึ่งคือ เนื่องจากในการประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างมีการถกเถียงกันเยอะ เกรงว่าจะทำให้สื่อเอาไปตีความผิดประเด็น

"เกรงว่าหากมีการเปิดเผย อาจทำให้เข้าใจผิด นี่เป็นเหตุผลหนึ่ง เหตุผลอื่นๆ ก็มีบ้าง แต่ไม่ขอพูดแล้วกัน" จรัส กล่าว

บัณฑูร กล่าวเสริมถึงที่มาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ว่าในการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีการถกเถียงการในเรื่องการเอากรอบประชาธิปไตยเป็นที่ตั้ง กับการมองเห็นสภาพความเป็นจริง ในทุกมาตรามีการถกเถียงกันอย่างมาก แล้วแทบไม่มีมาตราไหนเลยที่ได้คะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ หลายมาตรามีคำตอบว่า หากไม่มีการทำประชามติ คณะกรรมาธิการจะไม่เขียนแบบนี้เด็ดขาด

“เราไม่ได้ทำหน้าที่ตัดสินแทนคนทั้งประเทศ เราเพียง 36 ท่าน ผมว่าเราเป็นชุดแรกๆ ว่ารัฐบาลต้องทำประชามติ ฉะนั้นหลายเรื่องเป็นการเสนอให้สังคมร่วมกันตัดสินว่า เห็นด้วยหรือไม่ กับการมีเรื่องราวเหล่านี้ อย่างคณะกรรมการยุทธศาสตร์ หากไม่มีการตัดสินผ่านเสียงประชาชนเราไม่เขียนเด็ดขาด” บัญฑูร กล่าว





ด้าน เจษฏ์ ซึ่งมาในช่วงท้ายของงาน เนื่องจากติดประชุม ได้ตอบคำถาม ที่มีผู้ตั้งคำถามว่า ท้ายที่สุดแล้วการทำประชามติจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญที่มีกระบวนการที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ โดยชี้แจงว่า ไม่อยากให้คิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นผลไม้พิษหรือไม่ อย่าเอากระบวนการมาปนกับเนื้อหา หากจะดูที่กระบวนการเป็นหลักไม่จำเป็นต้องมาผ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะดูโดยกระบวนการอย่างไรก็เป็นปัญหา หากคิดถึงกระบวนการเป็น ก็ต้องไปเอารัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้ แต่หากคิดถึงเนื้อหา ก็ต้องดูว่ารับได้หรือไม่ได้

"ไม่อยากให้คิดว่าเป็นผลไม้พิษหรือไม่ อย่าเอากระบวนการไปปนเนื้อหา ถ้าคิดว่าจะเอากระบวนการเป็นหลัก ต้องไปหยิบรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้ แต่ถ้ามาดูเนื้อหา ดีไม่ดี ก็ไปตัดสินผ่านการทำประชามติ ส่วนจะรับได้หรือไม่ได้เป็นเรื่องของประชาชน พวกผมไม่บอกว่าให้รับแล้วไปแก้ทีหลัง ถ้ารับได้ก็รับ รับไม่ได้ก็ไม่ต้องรับ"

ขณะเดียวกัน เจษฏ์ ได้ชี้แจ้ง ต่อความกังวลเรื่องการสืบทอดอำนาจต่อของ คสช. ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตุกันว่า จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ โดยชี้แจงว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งมีจำนวนทั้งหมดไม่เกินยี่สิบสอง มีทั้งมาจากสามส่วน โดยส่วนแรกเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ซึ่งประกอบด้วย ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการกองทัพไทย ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ส่วนที่สอง เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี และประธานศาลฎีกา ในส่วนที่สามเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 11 คน ตามมติรัฐสภา

“จากที่มาทั้งสามประเภท ประเภทที่ท่านอาจจะคิดได้ว่าอาจจะมีคนของ คสช. ไปอยู่ ก็อาจเป็นประเภทที่สาม ประเภทที่สองอาจจะพอมีอยู่ แต่ว่าประเภทที่หนึงมันปรับไปตามตำแหน่งว่าใครเป็น หากท่านคิดว่า คสช. จะถึงกับส่งของตัวเองไปเป็นนายกรัฐมนตรีในตอนนั้น ท่านรองไปนึกภาพเหตุการณ์ว่า บรรดาพวกเราที่อยู่ ณ ที่นี่ก็มีจำนวนหนึ่งที่ได้เคยผ่านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ท่านที่อยู่ใน คสช. ทุกท่าน เข้าใจว่าอายุโดยรวมเฉลยแล้วมากกว่าเรา ถ้าเราได้ผ่านมาแล้ว ท่าก็จะต้องเห็นภาพนี้เหมือนกัน ฉะนั้นท่านจะต้องว่ามันสมมาพาควรหรือเปล่า”

“การใช้อำนาจพิเศษมันก็ขึ้นอยู่กับบ้านเมืองโดยรวมด้วย อำนาจพิเศษไม่มีเกิดขึ้นมาได้ ถ้าไม่มีสถานะการณ์ที่บ้านเมืองไม่สงบ หรือสถานการณ์เกิดขึ้น แต่คณะรัฐมนตรี รัฐสภา หรือกลไกอื่นๆ ของบ้านเมืองยังสามารถจัดการได้อยู่ ถ้ายังสามารถจัดการได้อยู่ ก็จะไม่มีการขึ้นนกมาตรานี้อยู่แล้ว” เจษฎ์ กล่าว

ท้ายสุด จรัส ได้กล่าวถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทำให้บ้านเมืองเข้าทีเข้าทางก่อนในช่วง 5 ปีแรก และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่จะใช้บริหารในช่วงเปลี่ยนผ่าน และช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นอีกซ้ำๆ หากคนไทยจะรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ต้องวางอยู่ฐานความเข้าใจว่า บ้านเมืองยังไม่ปกติ ก็จำเป็นต้องมีหลักการในลักษณะพิเศษ

“ผมคิดเหมือนหลายคนที่ว่า รัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยตามแบบที่เราเรียนกันในคณะรัฐศาสตร์... ที่เขียนๆ มานี่หลายส่วนมันเฉพาะเจาะจงว่าใช้กับสถานการณ์ช่วงนี้เท่านั้นเอง ในส่วนบทเฉพาะกาลก็มีไว้เพื่อดูแลในช่วงต่อจากนี้เพียง 3-4 ปี ให้เข้าที่เข้าทาง” จรัส กล่าว