วันจันทร์, สิงหาคม 24, 2558

จอมเดช ตรีเมฆ: ถ้าผมเป็นผู้ก่อการร้าย...




โดย ปกรณ์ พึ่งเนตร วันเสาร์ ที่ 22 สิงหาคม 2558

นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญบางคนแสดงท่าที "ไม่เชื่อ" ข้อสันนิษฐานของตำรวจที่ว่า เหตุบึ้มราชประสงค์มีผู้ร่วมขบวนการหลายคน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเคยพูดว่าอาจมีถึง 10 คน

เพราะจากทฤษฎีก่อการร้ายสมัยใหม่ อธิบายว่าการก่อการร้ายในยุคปัจจุบันนั้น คนเพียงคนเดียวก็สามารถทำได้

ปรากฏการณ์ของ "กลุ่มรัฐอิสลาม" หรือ ไอเอส ทำให้โลกได้เห็น "นักรบอาสา" มาจากคนที่มีงานทำ มีเงินใช้ แต่มีอุดมการณ์สอดคล้องกัน และเดินทางมาจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อไปร่วมรบด้วยกัน เมื่อผ่านช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็กลับไปใช้ชีวิตปกติเหมือนเก่า

ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ นักวิชาการด้านอาชญวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต คือหนึ่งในนักวิชาการที่เชื่อทฤษฎีนี้

เขาบอกว่า ส่วนตัวยังให้น้ำหนักว่า เหตุระเบิดที่ราชประสงค์เป็นการกระทำของผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ ซึ่งไม่จำเป็นต้องสังกัดองค์กรใด เพราะทฤษฎีก่อการร้ายยุคใหม่ คนคนหนึ่งที่มีความคิดต่อต้านรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง แม้ไม่ใช่รัฐบาลในประเทศของตนเอง ก็สามารถสร้างสถานการณ์รุนแรงขึ้นได้ด้วยตัวเองเพียงคนเดียว และนี่อาจเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมหลังเกิดเหตุจึงไม่มีการประกาศแสดงความรับผิดชอบจากองค์กรก่อการร้ายใด ก็เพราะไม่ใช่การกระทำขององค์กร

"ผมคิดว่าถ้าไม่ได้ทำคนเดียว ก็น่าจะมีคนร่วมน้อยคนที่สุด เพราะยิ่งมีคนร่วมมาก ความลับยิ่งรั่วไหล คนยิ่งเยอะยิ่งปฏิบัติการยาก แต่นี่ข่าวของคนร้ายไม่รั่วเลย จึงน่าเชื่อว่าทำกันน้อยคนหรือคนเดียว" เขาสรุป

ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ยังสมมติว่าถ้าตัวเองเป็นผู้ก่อการร้าย และคิดจะก่อเหตุรุนแรงในประเทศไทย ก็จะคิดและทำคนเดียว

"ถ้าเป็นผม ผมก็จะทำคนเดียว ตั้งแต่เตรียมอุปกรณ์ และเอาระเบิดไปวาง ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก สิ่งที่ต้องคิดหนักหน่อยคือจะหนีอย่างไร หากเทียบกับชายเสื้อเหลือง ชุดที่ใส่มาอาจจะเป็นการปลอมตัว ทั้งแว่นตา อาร์มแบนด์ และอาจจะใส่วิกผม"

"เขาเลือกใส่เสื้อสีฉูดฉาดให้เป็นจุดเด่นหรือไม่ พอนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปถึงสวนลุมฯ ก็ไปเปลี่ยนเสื้อ เพราะอย่าลืมว่าเขาถือถุงอีกใบ อาจเป็นเสื้อที่ใช้สำหรับเปลี่ยนก็เป็นได้ เมื่อเปลี่ยนชุดแล้วก็หาทางออกนอกประเทศ ซึ่งไม่จำเป็นต้องนั่งเครื่องบิน แต่สามารถนั่งรถไปตามชายแดนด้านต่างๆ เพราะเดินทางออกง่ายกว่า การตรวจตราหละหลวมกว่าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ"

เขายังย้อนเหตุการณ์ระเบิดวันแห่งความรักเมื่อปี 2555 หรือ "วาเลนไทน์บอมบ์" ของกลุ่มผู้ต้องหาชาวอิหร่าน ในซอยสุขุมวิท 71 หลังปฏิบัติการผิดพลาด ระเบิดที่เตรียมไว้เกิดระเบิดขึ้นที่บ้านพัก ผู้ต้องหาแต่ละคนก็แยกย้ายกันหลบหนี คนที่ทางการไทยจับตัวได้ คือคนที่ปาระเบิดพลาดโดนตัวเองขาขาด ส่วนคนอื่นๆ มุ่งหน้าไปสนามบิน และบินออกนอกประเทศทันที สะท้อนว่ากลุ่มคนร้ายเตรียมการมาเป็นอย่างดี สามารถหลบหนีได้อย่างรวดเร็ว

"แต่การไปสนามบินก็กลายเป็นจุดอ่อน เพราะสมัยนี้ออกทางสนามบินทำให้ติดตามจับกุมได้ง่าย ต้องมีการถ่ายรูป สแกนนิ้วมือ ถึงจะหลุดไปได้ แต่เมื่อข่าวแพร่ออกไปก็จะรู้ว่าใครเป็นผู้ต้องสงสัย ก็สามารถส่งภาพปัจจุบันและเที่ยวบินไปยังประเทศปลายทางเพื่อรอจับกุมได้ กรณีผู้ต้องหาชาวอิหร่านก็ถูกจับได้ที่มาเลเซีย 1 คน ผมเชื่อว่าเรื่องนี้กลายเป็นบทเรียนของกลุ่มก่อการร้าย ฉะนั้นถ้ากรณีราชประสงค์คนร้ายคิดจะหนีให้ง่าย ก็น่าจะออกทางชายแดนด้านใดด้านหนึ่งของประเทศ ไม่ต้องไปสนามบิน"

ร.ต.อ.ดร.จอมเดช กล่าวต่อว่า รูปแบบของการก่อการร้ายยุคใหม่เปลี่ยนแปลงหรือมีวิวัฒนาการจากสื่อสังคมออนไลน์ หรือ "โซเชียลมีเดีย" พลังของโซเชียลมีเดียสามารถกระตุ้นอารมณ์ได้ง่าย ทำให้บางคนที่มีแนวคิดโน้มเอียงในทางใดทางหนึ่ง สามารถตัดสินใจก่อเหตุรุนแรงได้ด้วยตัวเองคนเดียว หากไม่พอใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือนโยบายใดนโยบายหนึ่งของรัฐบาลชาติใดชาติหนึ่งอย่างมาก ก็สามารถบินไปก่อเหตุแล้วบินกลับได้ โดยคนเหล่านี้ไม่ได้สังกัดองค์กรใด

คนประเภทนี้มีเงิน มีความรู้ ไม่เหมือนผู้ก่อการร้ายในอดีตที่ต้องอิงกับองค์กร แต่ปัจจุบันเป็นแค่ "มีความสอดคล้องทางอุดมการณ์" เท่านั้น

อีกด้านหนึ่งที่เป็นอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย คือการทำให้คนที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ออกมารวมตัวกันได้โดยไม่ต้องมีผู้นำ บทเรียนจาก "อาหรับสปริง" คือตัวอย่างที่ดี ที่สำคัญโมเดลที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่ง หากประสบความสำเร็จ ก็จะถูกลอกเลียนไปทำในอีกประเทศหนึ่งจากอิทธิพลของโซเชียลมีเดียเช่นกัน

"ลองไปพลิกดูประมวลกฎหมายอาญาของเรา มาตราที่เกี่ยวกับการก่อการร้าย ไม่ได้บอกว่าผู้ก่อการร้ายต้องมีหลายคน แสดงว่าคนคนเดียวก็เป็นผู้ก่อการร้ายได้ และปัจจุบันวิธีการประกอบระเบิดก็มีให้ดูตามสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ถ้าศึกษาดีๆ ก็สามารถผลิตระเบิดได้ด้วยตัวเอง"

"กรณีระเบิดที่ราชประสงค์ สมมติว่ามีมูลเหตุจากเรื่องการส่งอุยกูร์ไปให้จีน คนที่วางระเบิดอาจไม่ใช่ชาวอุยกูร์ก็ได้ แต่อาจจะเป็นชาวต่างชาติที่มีแนวคิดสนับสนุนการต่อสู้ของชาวอุยกูร์ เมื่อได้เสพข่าว ได้ฟังข้อมูลจากเพื่อนว่าอุยกูร์ถูกกลั่นแกล้ง ถูกไทยสงกลับไปให้จีน ก็อาจตัดสินใจก่อเหตุรุนแรงขึ้นในไทย ซึ่งสามารถทำได้ด้วยตัวเอง และไม่เกี่ยวกับองค์กรก่อการร้ายใดๆ เลย"

เขายังสนับสนุนการรายงานข่าวของสื่อต่างประเทศที่วิจารณ์การทำงานของตำรวจไทย โดยบอกว่า ตำรวจออกหมายจับเร็วเกินไปหรือไม่ อาจเป็นเพราะถูกกดดันจากสังคมและสื่อมวลชน ขณะที่การปิดพื้นที่เกิดเหตุก็ใช้เวลาน้อยมาก ทำไมต้องรีบทำความสะอาด ทำไมต้องรีบฟื้นฟูสถานที่ ด้านหนึ่งอาจเป็นเรื่องดีในแง่ของภาพลักษณ์และการท่องเที่ยว แต่อีกด้านหนึ่งก็กระทบต่อการจัดเก็บพยานหลักฐาน

สำหรับสาเหตุที่ตำรวจยังไม่สามารถจับคนร้ายได้ ทั้งๆ ที่ระยะเวลาผ่านมาร่วม 1 สัปดาห์แล้วนั้น ร.ต.อ.ดร.จอมเดช บอกว่า สาเหตุประการหนึ่งคือเทคโนโลยีกล้องโทรทัศน์วงจรปิดของบ้านเรายังไม่ครอบคลุมเหมือนประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ลอนดอน ประเทศอังกฤษ หรือนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีกล้องเป็นล้านตัว

อย่างในลอนดอน คนคนหนึ่งเดินทางออกจากบ้านไปทำงาน จะถูกถ่ายภาพจากกล้องไม่ต่ำกว่า 300 ครั้ง ขณะที่ในกรุงเทพมหานครมีกล้องเพียง 50,000 ตัว ซึ่งน้อยมาก การติดตามร่องรอยของคนร้ายจึงมักขาดช่วง เพราะบางช่วงก็ไม่มีกล้อง จึงอยากให้รัฐบาลไทยหันมาลงทุนเทคโนโลยีพวกนี้เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต