วันศุกร์, ตุลาคม 23, 2558

UN โปรดทราบ.... รัฐบาลไทย ลุแก่อำนาจ ทำเหมือนบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแปร (เพราะกรูเป็นเผด็จการ) 'หมอหยอง’ ถูกบังคับให้สาบสูญถึง 6 วัน ขัดอนุสัญญาระหว่างประเทศ ‘ศูนย์ทนายสิทธิ’ ว่า




ความเห็นต่อการบังคับให้บุคคลสูญหายและคุมขังผู้ต้องหาใน มทบ.11 : กรณีนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์และพวกรวม 3 คน

ที่มา เวป Thai Lawyers for Human Rights
October 22, 2015

ในช่วงเย็นของวันที่ 16 ตุลาคม 2558 สื่อหลายสำนักได้เผยแพร่ข่าวว่า เจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ จากบ้านพัก เนื่องจากกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยในวันเดียวกันนั้นนั้น พล.ต.ต.อัคราเดช พิมลศรี ผู้บังคับการปราบปราม ออกมาปฎิเสธว่า กองปราบไม่ได้จับกุมนายสุริยัน และไม่มีกำหนดการจะแถลงข่าวตามที่มีข่าวลือแต่อย่างใด ทว่าหลังจากนั้นก็ไม่พบว่า นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณะอีกเลย จนกระทั่งวันที่ 21 ตุลาคมนี้ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารนำตัวนายสุริยันต์และพวก รวม 3 คน มาที่ศาลทหารกรุงเทพ

กรณีดังกล่าวถือว่านายสุริยันตกเป็นบุคคลที่ถูกบังคับให้สาบสูญในระหว่างเวลา 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2558 จนวันที่ 21 ตุลาคม 2558 ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญ โดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED) กล่าวคือ นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ ถูกควบคุมตัวโดยที่เจ้าหน้าที่รัฐปฏิเสธว่ามีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ รวมถึงไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว ทำให้ช่วงระยะเวลานับแต่ถูกควบคุมตัวจนถึงก่อนนำตัวมายื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลทหาร นายสุริยันต์ สุจริตพลวงศ์ ต้องตกอยู่ภายนอกความคุ้มครองของกฎหมาย โดยไม่อาจทราบชะตากรรม ทั้งนี้รัฐไทยไม่สามารถหยิบยกพฤติการณ์พิเศษอันใด ไม่ว่าจะเป็นการขาดเสถียรภาพทางการเมือง ภาวะสงคราม หรือแม้แต่สภาวะฉุกเฉินใด มาเป็นเหตุผลสำหรับการกระทำให้บุคคลหายสาบสูญโดยถูกบังคับได้ เนื่องจากอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับเป็นสิทธิเด็ดขาดที่รัฐไม่อาจละเมิดไม่ว่ากรณีใดๆ และประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องไม่ละเมิดอนุสัญญาดังกล่าว ภายหลังได้ลงนามเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 แม้ยังไม่ได้ให้สัตยาบันก็ตาม

การควบคุมตัวบุคคลโดยฝ่ายความมั่นคงที่ใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งให้อำนาจเรียกบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าได้กระทำความผิดตามฐานความ ผิดบางข้อหามาสอบถามข้อมูลและควบคุมตัวบุคคลไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน ในสถานที่อื่นซึ่งไม่ใช่สถานที่คุมขังทางการได้ จึงเป็นปัญหาอย่างยิ่งต่อหลักประกันสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญาและกระบวนการยุติธรรม ดังที่ปรากฏข่าวว่านายสุริยันและพวกให้การรับสารภาพและซัดทอดผู้อื่นว่ากระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาในระหว่างอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง อันนำมาสู่การดำเนินคดีอาญาและออกหมายจับบุคคลทั้งสามต่อมา เป็นกรณีที่บุคคลซึ่งยังไม่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาและยังไม่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาถูกสอบสวนโดยไม่ปรากฏว่ามีทนายความระหว่างกระบวนการแสวงหาพยานหลักฐานนั้น โดยหลักที่ผู้ต้องหานั้นยังมีสิทธิที่จะพบทนายความ บุคคลที่ต้องสงสัยและยังไม่ตกเป็นผู้ต้องหาย่อมต้องได้รับการประกันสิทธิด้วยเช่นกัน อนึ่ง คำรับสารภาพและคำซัดทอดต่างๆที่เกิดขึ้นหรือได้มาระหว่างการควบคุมตัวในสถานที่ลับ ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ และไร้หลักประกันสิทธิและการตรวจสอบจากกลไกใดๆ จึงอาจได้มาโดยวิธีการที่มิชอบและไม่ควรนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีอาญา

นอกจากนี้การนำตัวนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ และบุคคลอื่นๆ ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไปคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวแขวงนครไชยศรีซึ่งตั้งอยู่ภายในมณฑลทหารบกที่ 11 และตั้งขึ้นมาเพื่อคุมขังผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง อันเป็นการแยกผู้ต้องหาไปคุมขังไว้ในสถานที่เฉพาะ แยกต่างหากจากการคุมขังพลเรือนในเรือนจำทั่วไป โดยเจ้าหน้าที่ทหารอาจทำให้ผู้ถูกคุมขังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการพบญาติหรือทนายความ ทั้งกลไกการตรวจสอบในเรือนจำดังกล่าวอาจจะไม่สามารถทำได้โดยง่าย ดังเช่นการปฏิเสธไม่ให้ทนายความเข้าพบนายอาเด็ม คาราดัก ผู้ต้องหาในคดีระเบิดราชประสงค์เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2558

การคุมขังพลเรือนในพื้นที่ของทหารจึงขาดความโปร่งใส ขาดหลักประกันสิทธิผู้ถูกคุมขังและอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนประการอื่นได้ อันเข้าข่ายเป็นการควบคุมโดยมิชอบด้วยกฎหมายและละเมิดพันธกรณีกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะข้อ 9 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งห้ามการควบคุมตัวบุคคลโดยอำเภอใจไร้หลักประกันสิทธิ ข้อ 10 เรื่องการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังด้วยความมีมนุษยธรรมและเคารพศักดิ์ศรีความ เป็นมนุษย์ และข้อ 14 เรื่องหลักสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญาที่ได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายว่ามีความผิด

ด้วยเหตุนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอยืนยันให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการควบคุมตัวบุคคลในสถานที่ลับ รวมถึงยุติการควบคุมตัวบุคคลในเรือนจำชั่วคราวแขวงนครไชยศรี ซึ่งตั้งอยู่ในค่ายทหารและควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ทหาร เพราะหากกระบวนการยุติธรรมอันเป็นองค์กรตรวจสอบการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขาดความน่าเชื่อถือ และประชาชนขาดหลักประกันซึ่งสิทธิเสรีภาพเสียแล้ว ประเทศก็ไม่อาจกลับสู่ความสงบได้

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน