วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 26, 2558

อุทยานราชภักดิ์"ยังไม่จบ เมื่อหลักฐานค้านคำพูดผบ.ทบ.!!




เมื่อหลักฐานค้านคำพูดผบ.ทบ.!!

"อุทยานราชภักดิ์"ยังไม่จบ สตง.พบสำนักงานปลัดบัญชีกองทัพบก เบิก”งบกลาง” 63 ล้าน ค้านคำพูดผบ.ทบ."ไม่ได้ใช้เงินแผ่นดิน"


ThaiPublica

...


ฝ่าวิกฤติคอร์รัปชัน





ที่มา เวป Thai Publica
26 พฤศจิกายน 2015

หลังจากที่พล.อ. ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 พล.อ.ธีรชัย ระบุว่า “โครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ไม่ใช่โครงการที่มีงบประมาณรองรับ เป็นเงินบริจาคทั้งสิ้น ถ้าเงินไม่พอ ก็ต้องหาวิธีการดำเนินการต่อให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วง”


ปรากฏว่าล่าสุด นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในเบื้องต้น พบว่า เงินที่ใช้ในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ มีส่วนหนึ่งมาจากงบกลางจำนวน 63.57 ล้านบาท โดยผู้ที่รับผิดชอบในการสั่งจ่ายเงินในส่วนนี้ คือ แผนกสั่งจ่ายงบประมาณ สำนักงานปลัดบัญชีกองทัพบก สั่งจ่ายให้กรมยุทธโยธาทหารบก เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ล่าสุดมีการเบิกจ่ายเงินจากงบกลางไปแล้ว 80% ของวงเงินที่ได้รับจัดสรร 63.57 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นเงินที่รับบริจาคมาจากประชาชนทั่วไป ซึ่งตนได้กำชับเจ้าหน้าที่สตง.ให้ขยายผลการตรวจสอบต่อไปว่าการจัดซื้อจัดจ้างและการเบิกจ่ายเงินเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์นั้น ชอบด้วยกฎหมาย และ เป็นไปตามระเบียบของทางราชการหรือไม่

อนึ่ง ในรายงานโครงการศึกษาวิจัย “การปฏิรูประบบงบประมาณของไทยเพื่อต่อต้านการทุจริต” ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ให้นิยามของคำว่า “งบกลาง” คือ “รายจ่ายที่ตั้งไว้ เพื่อจัดสรรให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นๆของรัฐนำไปใช้ได้นอกเหนือจากงบประมาณที่ได้รับปกติ รวมทั้งรายจ่ายที่ตั้งไว้เป็นค่าใช้จ่ายเฉพาะเรื่องที่มีการกำหนดไว้เป็นรายจ่ายงบกลาง” ซึ่งสามารถจำแนกได้ 3 ประเภท ดังนี้

1. ค่าใช้จ่ายตามสิทธิของบุคคลภาครัฐตามกฎหมายที่ทุกหน่วยงานใช้จ่ายในรายการเดียวกัน เช่น เบี้ยหวัด เบี้ยบำนาญ เงินช่วยเหลือข้าราชการ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ

2.ค่าใช้จ่ายเฉพาะกรณีที่ยังไม่สามารถกำหนดเป้าหมาย หรือ วงเงินค่าใช้จ่ายที่แน่นอนได้ เช่น ค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริ เป็นต้น

3.ค่าใช้จ่ายตามนโยบายและโครงการพิเศษของรัฐ เช่น เงินราชการลับ ค่าใช้จ่ายเฉพาะเรื่องตามนโยบายและความเหมาะสมที่เกิดขึ้นในแต่ละปีงบประมาณ

แหล่งข่าวจากสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ก่อนที่สำนักงบประมาณจะพิจารณาคำขออนุมัติใช้งบกลาง เนื่องจากส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ไม่ได้ตั้งงบประมาณเอาไว้ หรือตั้งงบประมาณไว้แล้ว แต่ไม่พอจ่าย ตามหลักการ สำนักงบประมาณจะให้ส่วนราชการ หรือ รัฐวิสาหกิจ กลับไปทบทวนแผนงานของส่วนราชการนั้นๆก่อน โดยให้พิจารณา “ยกเลิก” หรือ “ตัดทอน” โครงการลงทุนอื่นๆที่อยู่ในแผนงานของส่วนราชการนั้นๆ ทั้งนี้เพื่อที่จะโยกงบประมาณในส่วนนี้มาใช้จ่ายในโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน แต่ถ้าส่วนราชการกลับไปพิจารณาแล้ว ปรากฏว่าไม่สามารถตัดทอน หรือยกเลิก รายการอื่นใดได้เลย สำนักงบประมาณถึงจะพิจารณาคำขออนุมติใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น

สำหรับแนวทางปฏิบัติ กรณีส่วนราชการ หรือ รัฐวิสาหกิจมีความประสงค์ ขออนุมัติ ใช้งบกลาง ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 16 กันยายน 2557 ระบุว่า “การอนุมัติใช้เงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้ส่วนราชการ รัฐวิสากิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เสนอเรื่องต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัด เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว จึงเสนอนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติหลักการ หรือ ให้ความเห็นชอบเป็นรายกรณีไป กรณีที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้นำเสนอนกยกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติ หากวงเงินเกิน 100 ล้านบาท ให้เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติ”

อ่านเพิ่มเติมเปิดหมด ‘เอกสาร-มติ ครม.’ รบ.ประยุทธ์ เกี่ยวข้องอุทยานราชภักดิ์แค่ไหน?