วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 26, 2558

ทูตสหรัฐฯกังวลกฎหมายหมิ่นเบื้องสูงไทย ชี้ไม่ควรถูกจำคุกฐานแสดงความเห็นอย่างสันติ




ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
26 พฤศจิกายน 2558

เอเอฟพี - ทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทยในวันพุธ(25พ.ย.) แสดงความกังวลต่อบทระวางโทษจำคุกหนักหน่วงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ที่พิพากษาภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันของประเทศ ระบุไม่มีใครควรถูกจำคุกฐานแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ

กลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ ณ เวทีเสวนาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในกรุงเทพฯ ขณะที่การดำนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพุ่งสูงขึ้น ภายใต้ปกครองของคณะรัฐประหาร

"เรายังกังวลต่อบทระวางโทษที่ยาวนานอย่างไม่เคยกรากฏมาก่อน ที่ศาลทหารไทยพิพากษาต่อพลเมืองฐานละเมิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" เดวีส์ บอกกับผู้ที่ร่วมเสวนา หลังจากแสดงความกังวลว่ากฎหมายหมิ่นประมาททางอาญานี้ถูกใช้สำหรับสกัดกั้นการโต้เถียงของสาธารณะกว้างขวางมากขึ้น

นายเดวีส์ ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ราวๆ 9 สัปดาห์ ย้ำว่ารัฐบาลสหรัฐฯมีความเคารพอย่างยิ่งและรู้สึกชื่นชมพระมหากษัตริย์ไทย แต่ก็อ้างถึงสิทธิการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระเสรี "เราเชื่อว่าไม่ควรมีใครควรถูกจำคุกต่อการแสดงมุมมองอย่างสันติ และเราสนับสนุนอย่างหนักแน่นต่อความสามารถของบุคคหรือองค์กรอิสระใดๆในการค้นคว้าวิจัยและรายงานประเด็นสำคัญๆโดยปราศจากความกลัวว่าจะถูกแก้แค้น"

ภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ใครก็ตามที่ถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานดูหมิ่น ดูถูก กล่าวหา ใส่ร้าย และทำให้พระมหากษัตริย์ พระราชินีและพระบรมวงศานุวงศ์เสื่อมเสีย มีสิทธิ์ต้องโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี

นับตั้งแต่ก่อรัฐประการเมื่อปีที่แล้ว กองทัพได้ยกระดับการตรวจตราคำกล่าวหาละเมิดสถาบันมากขึ้น โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์

ในเดือนสิงหาคม สหประชาชาติบอกว่ารู้สึกตกใจต่อโทษจำคุก 30 ปีและ 28 ปีต่อคนไทย 2 คน ในความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ฐานดูหมิ่นกล่าวหาสถาบันบนเฟซบู๊ก ซึ่งเป็นโทษสูงสุดเท่าที่เคยมีมา

ไทยเป็นพันธมิตรที่ยาวนานของสหรัฐฯ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติตกอยู่ในความตึงเครียดนับตั้งแต่เหตุรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว ที่สหรัฐฯออกมาประณามอย่างหนักหน่วง

อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์อันตึงเครียดเช่นนี้ก่อความเสี่ยงต่อดุลอำนาจของสหัฐฯ ทำให้อเมริกาลังเลที่จะโดดเดี่ยวไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าแก่ในภูมิภาค และในวันพุธ(25พ.ย.) นายเดวีส์ แม้ย้ำถึงเสียงเรียกร้องของวอชิงตันที่ขอให้ไทยคืนสู่ประชาธิปไตย แต่เน้นว่าเขาไม่อยากให้มันเป็นไปในลักษณะของการชี้นิ้วต่อว่า "ไทยจำเป็นต้องทำมันด้วยตนเอง" เขากล่าว