วันพุธ, ธันวาคม 28, 2559

ขอเชิญร่วมลงชื่อใน change.org ขอให้ศาลคืนสิทธิประกันตัวให้กับ "ไผ่ ดาวดิน"





Petitioning ศาล and 1 other

คืนสิทธิประกันตัวให้กับ "ไผ่ ดาวดิน"


การเพิกถอนสิทธิประกันตัว "ไผ่ ดาวดิน" เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 เป็นการดำเนินการที่มีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากเงื่อนไขและเหตุผลที่พนักงานสอบสวนอ้างหรือเหตุผลที่ศาลใช้พิจารณาไม่ได้เป็นไปตามหลักกฎหมาย จึงขอเรียกร้องให้มีการทบทวนและคืนสิทธิประกันตัวให้กับ "ไผ่ ดาวดิน"

รายละเอียด:

สิทธิการประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองจากกฎหมายหลายระดับ ตั้งแต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รัฐธรรมนูญ ไปจนถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยได้ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคี เพื่อยืนยันหลักการในทางกฎหมายว่า "บุคคลผู้ถูกกล่าวหาต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะได้พิจารณาตัดสิน"

แม้สิทธิประกันตัวสามารถยกเว้นได้ตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาคดีความอาญา มาตรา 108/1 คือ

(1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี

(2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

(3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น

(4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ และ

(5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

ส่วนการจะเพิกถอนสิทธิในการประกันตัวนั้น ไม่มีมาตราใดชี้ชัด แต่เป็นแนวทางปฏิบัติตามระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลากาลศาลยุติธรรมว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว พ.ศ. 2548 ข้อที่ 8 ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับระมวลกฎหมายวิธิพิจารณาคดีความอาญ มาตรา 108 วรรคท้าย ที่อนุญาตให้ศาลกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ของผู้ต้องหาหรือจำเลย หรือเงื่อนไขอื่นใดให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยปฏิบัติเพื่อป้องกันการหลบหนี หรือเพื่อป้องกันภัยอันตราย หรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราวก็ได้

เช่น ให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานหรือบุคคลตามที่ศาลเห็นสมควร วางข้อจำกัดเกี่ยวกับสถานที่อยู่อาศัยหรือการเดินทางออกไปนอกสถานที่อยู่อาศัย วางข้อจำกัดเกี่ยวกับการประกอบอาชีพหรือการงานบางอย่าง หรือวางข้อจำกัดเกี่ยวกับการเข้าไปในสถานที่บางแห่งที่อาจก่อให้เกิดการกระทำความผิดอีก เป็นต้น และหากผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นศาลพิจารณาเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้

แต่กรณีการเพิกถอนประกัน "ไผ่ จตุภัทร" เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ศาลได้อ้างเหตุผลของการเพิกถอนประกันตัวซึ่งมากกว่าที่กฎหมายกำหนด ดังนี้

1) การที่ศาลอ้างเหตุว่า ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้ในสื่อสังคมออนไลน์บนเฟซบุ๊กของผู้ต้องหา เป็นการอ้างเหตุผลที่ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขการประกันตัวแต่แรก

อีกทั้ง หากการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดคือโพสต์เฟสบุ๊ก การลบจะเท่ากับการยุ่งเหยิงต่อพยานหลักฐานเสียมากกว่าการคงไว้ ดังนั้น เหตุนี้จึงไม่สมควรนำมาใช้ในการเพิกถอนประกัน

รวมไปถึงการที่ศาลสั่งให้ลบก็เท่ากับศาลตัดสินล่วงหน้าว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด ทั้งที่การพิจารณาคดียังไม่สิ้นสุดอีกด้วย

2) การที่ศาลอ้างเหตุว่า ผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง และก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ก็เป็นการอ้างนอกเหนือไปจากกรอบกฎหมายหรือระเบียบ เพราะไม่มีข้อความใดที่สามารถกำหนดเรื่องการพูดถึงการเย้ยหยันอำนาจรัฐเป็นเงื่อนไข

อีกทั้ง ในการไต่สวนของศาลจังหวัดขอนแก่นก็ไม่ปรากฎว่ามีพยานหลักฐานยืนยันว่าการกระทำของนายจตุภัทร์ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ

นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวยังไม่ถูกกำหนดว่าเป็นความผิดตามกฎหมายใดเลยด้วยซ้ำ ซึ่งเท่ากับ ศาลได้วาง 'เส้นมาตรฐาน' ขึ้นมาใหม่ว่า ระหว่างการได้ประกันตัว ผู้ต้องหาต้องสงบเสงี่ยมเรียบร้อย และยอมจำนนต่ออำนาจรัฐ เสมือนหนึ่งเพิ่งได้กระทำความผิดมา อันเป็นการจำกัดสิทธิผู้ต้องหาที่ต้องถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนเกินจำเป็น และไม่ควรเป็นเหตุที่จะนำมาขอเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวแต่อย่างใด

ความเคลื่อนไหวคดี

3 ธันวามคม 2559 "ไผ่ ดาวดิน" หรือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ถูกจับในข้อหามาตรา 112 หลังแชร์รายงานจาก BBC Thai เกี่ยวกับพระราชประวัติของพระมหากษัตริย์องค์ใหม่

4 ธันวาคม 2559 ศาลจังหวัดขอนแก่น ให้ประกันตัว "ไผ่ ดาวดิน" พร้อมยื่นหลักทรัพย์ 400,000 บาท ยกเหตุไม่เคยมีพฤติกรรมหลบหนี อีกทั้งในวันที่ 8 ธันวาคม ผู้ต้องหามีสอบหนึ่งวืชา หากไม่ได้เข้าสอบวิชาดังกล่าวจะส่งผลให้เขาเรียนไม่จบตามหลักสูตร ศาลจึงพิจารณาให้ประกันตัว

22 ธันวาคม 2559 ศาลจังหวัดขอนแก่นสั่งถอนประกัน "ไผ่ ดาวดิน" หรือ จตุภัทร์ เหตุไม่ลบโพสต์ข่าว BBC ที่เป็นเหตุแห่งคดี ทั้งโพสต์เย้ยหยันอำนาจรัฐ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ

23 ธันวาคม 2559 "ไผ่ ดาวดิน" ยื่นอุทธรณ์คำสั่งถอนประกันถึงศาลอุทธรณ์ภาค 4 ชี้ไม่เคยผิดเงื่อนไขประกัน หรือก่อความเสียหายและไม่มีแนวโน้มจะก่อความเสียหาย ข้ออ้างของผู้ร้องขอถอนประกันเลื่อนลอย และข้อวินิจฉัยของศาลจังหวัดขอนแก่นคลาดเคลื่อน ขอศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งยกเลิก

27 ธันวาคม 2559 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จังหวัดขอนแก่น ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งถอนประกันนายจตุภัทร์ และยืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้น เนื่องจากผู้ต้องหามีพฤติกรรมไม่เกรงกลัวต่ออำนาจรัฐและกฎหมาย และหากมีการปล่อยตัว ผู้ต้องหาอาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้

16 มกราคม 2560 เป็นวันสอบวิชาสุดท้ายในชีวิตมหาลัยของ "ไผ่ ดาวดิน" ถ้าหากไม่ได้เข้าสอบในครั้งนี้ เข้าจะเรียนไม่จบภายในปีการศึกษานี้โดยปริยาย

This petition will be delivered to:
ศาล
กระทรวงยุติธรรม


กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ started this petition with a single signature, and now has 819 supporters. Start a petition today to change something you care about.


ooo


แถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง เรื่องเรียกร้องให้ทบทวนการพิจารณาเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว “ไผ่ ดาวดิน”



ภาพจากเว็บไซต์ประชาไท


ตามที่ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้มีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งถอนประกันนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) ผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ กรณีแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ข่าว BBC ไทย นั้น เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) มีความห่วงใยต่อการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานดังกล่าว จึงขอแสดงความคิดเห็นและมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

1.สิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี และนับแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 สิทธิดังกล่าวก็ได้ถูกรับรองในรัฐธรรมนูญตลอดมา การรับรองสิทธิดังกล่าวมีผลให้ในการดำเนินคดีอาญานั้น ต้องถือเป็นหลักว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ส่วนการควบคุมตัวในระหว่างการดำเนินคดีเป็นเพียงเหตุยกเว้นเท่านั้น(ข้อ 2 ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว พ.ศ.2548)ซึ่งเป็นการยืนยันหลักการพื้นฐานสำคัญในทางกฎหมายที่บุคคลผู้ถูกกล่าวหาต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะได้พิจารณาตัดสิน

2. ข้อ 8ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมฯ กำหนดว่าในการปล่อยชั่วคราวนั้นศาลอาจกำหนดเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติเพื่อป้องกันการหลบหนี หรือเพื่อป้องกันภยันอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราวก็ได้ และหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นก็ให้ศาลพิจารณาเพิกถอนคําสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้

คนส. ได้พิจารณาและมีความเห็นในทางวิชาการว่า นายจตุภัทร์ยังไม่ได้แสดงหรือกระทำการฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ศาลได้กำหนดในคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ที่กำหนดให้นายประกันและผู้ต้องหามาศาลตามนัด ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ พยานหลักฐานในคดี หรือก่อความเสียหายใดๆ ทั้งนี้ ความปรากฏว่าศาลไม่ได้กำหนดให้การลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นเงื่อนไขของการให้ประกันตัวแต่อย่างใด อีกทั้งหากกำหนดให้ต้องลบข้อความดังกล่าว ก็อาจทำให้เข้าใจไปในทิศทางที่ว่าศาลได้วินิจฉัยไปแล้วว่าการกระทำที่กล่าวหาเป็นความผิดโดยที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ยิ่งกว่านั้นนายจตุภัทร์ยังได้แจ้งต่อศาลอย่างชัดเจนว่าเหตุผลที่ไม่ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาก็เพราะต้องการจะเก็บไว้เป็นพยานหลักฐานต่อสู้คดีในชั้นพิจารณา การไม่ลบข้อความที่ถูกกล่าวหานั้นจึงเป็นการปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้ประกันตัวของศาลที่ห้ามเกี่ยวข้องกับพยานหลักฐานในคดีและเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผู้ต้องหาจะไม่ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ประกอบกับนายจตุภัทร์จะต้องสอบรายวิชาสุดท้ายเพื่อสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีในเดือนมกราคม 2560 นี้ พฤติการณ์จึงไม่อาจกล่าวได้ว่านายจตุภัทร์จะหลบหนีหากมีการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว หรือการปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดําเนินคดีในศาลแต่อย่างใด

ส่วนการที่นายจตุภัทร์แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์โดยการโพสต์รูปภาพหรือส่งข้อความบนเฟซบุ๊คภายหลังการปล่อยชั่วคราวตามที่กล่าวอ้างว่าเป็นการแสดงออกถึงพฤติกรรมในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมืองนั้น คนส. มีความเห็นทางวิชาการว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพที่สามารถทำได้ตามกฎหมายเนื่องจากมิได้มีกฎหมายกำหนดให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด และการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นต้องมีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติเท่านั้น ซึ่งมาตรา 108/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่ได้กำหนดให้การเย้ยหยันอำนาจรัฐหรือการไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมืองเป็นเหตุในการสั่งไม่อนุญาตประกันตัวอีกทั้งศาลก็ไม่ได้กำหนดให้เป็นเงื่อนไขในการประกันด้วย การไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นเป็นข้อยกเว้นในทางกฎหมาย ซึ่งในทางนิติวิธีนั้นการบังคับใช้กฎหมายในกรณีข้อยกเว้นจะต้องกระทำอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นบทบัญญัติซึ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพด้วยแล้ว ศาลไม่อาจที่จะวินิจฉัยนอกเหนือจากที่บทบัญญัติกฎหมายกำหนดเอาไว้ได้

นอกจากนี้ ไม่ปรากฎว่านายจตุภัทร์ได้กระทำการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติดังที่มีการกล่าวอ้าง และในการไต่สวนของศาลจังหวัดขอนแก่นก็ไม่ปรากฎว่ามีพยานหลักฐานยืนยันว่าการกระทำของนายจตุภัทร์ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ หากจะมีการกระทำที่เป็นความผิดก็เป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหากออกไป มิใช่เหตุที่จะนำมาขอเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวแต่อย่างใด

การที่ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งถอนประกัน จึงสร้างความเคลือบแคลงสงสัยแก่สังคม และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มนักกฎหมายว่าการพิจารณาดังกล่าวอาจไม่มีฐานทางกฎหมายรองรับ

3. ในภาวะที่เป็นอยู่นี้ คนส. มีความห่วงใยต่อทิศทางการบังคับใช้กฎหมายในทางที่จะเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการปิดกั้นความคิดเห็นที่แตกต่าง จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม องค์กรตุลาการซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในนิติรัฐพึงปฏิบัติหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในฐานะคุณค่าที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญและได้รับการรับรองโดยกติการะหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทย ควรจะต้องตระหนักและแสดงบทบาทของตนในการตรวจสอบว่าการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปโดยคำนึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งรวมถึงการตรวจสอบการใช้อำนาจของศาลล่างด้วย มิใช่ทำตัวเสมือนเป็นผู้พิทักษ์อำนาจรัฐอันไม่ชอบธรรมนั้นเสียเอง

เมื่อนายจตุภัทร์ไม่ได้มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าจะมีการหลบหนี ยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ หรือการปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดําเนินคดีในศาล คนส.จึงไม่เห็นด้วยกับคำสั่งเพิกถอนประกันของศาลจังหวัดขอนแก่นและคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งถอนประกันของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ดังที่ได้แสดงเหตุผลไว้แล้วข้างต้น

คนส.จึงขอเรียกร้องให้ศาลในฐานะองค์กรตุลาการซึ่งเป็นที่พึ่งในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ทบทวนการพิจารณาเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวนายจุตภัทร์ เมื่อมีการยื่นคำร้องตามกระบวนการของกฎหมายเพื่อคืนความปกติให้กระบวนการยุติธรรมและยืนยันหลักการพื้นฐานของนิติรัฐ

ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)
28 ธันวาคม 2559


เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง - คนส.