วันพุธ, สิงหาคม 23, 2560

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : พิธีกรรมของแผ่นดิน - มติชนสุดสัปดาห์





นิธิ เอียวศรีวงศ์ : พิธีกรรมของแผ่นดิน


มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 สิงหาคม 2560
22 สิงหาคม พ.ศ.2560


ผมออกจะงงๆ กับพิธีนำนิสิตใหม่ถวายบังคมพระบรมรูปพระเจ้าอยู่หัว ใน ร.5-6 ไม่ใช่เพราะเพิ่งเริ่มมีพิธีกรรมไม่นานมานี้เอง จนบางคนกล่าวว่านี่เป็นประเพณีประดิษฐ์

ผมไม่รังเกียจประเพณีประดิษฐ์ แม้แต่ประเพณีโบราณที่มีมาเก่าแก่จริง ก็ต้องคอยประดิษฐ์ให้ปรับเปลี่ยนไปตามสังคมเสมอ ถ้าเราต้องทำอะไรเหมือนคนแถบเทือกเขาอัลไตอยู่ ก็บ้าสองซ้อนเลย (ซ้อนแรกคือเราไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคนอัลไต ซ้อนสองคือถึงเกี่ยว จะไปทำเหมือนเขาทำไม ในเมื่ออยู่กันคนละยุคสมัยและคนละภูมิประเทศ-อากาศ)

ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ประเพณีประดิษฐ์ แต่อยู่ที่ว่าพวกเราหรือหลายคนในพวกเรา ต้องรู้เท่าทันว่า จุดมุ่งหมายที่ประเพณีหนึ่งๆ ถูกประดิษฐ์ขึ้นนั้นคืออะไร การที่ผู้คนยอมรับประเพณีนั้นไปปฏิบัติ ก็เพราะความหมายของมันหรือจุดมุ่งหมายของมันเป็นสิ่งที่ผู้คนยอมรับได้ และเห็นว่ามีความสำคัญในชีวิตของตน

รู้เท่าทันไปทำไมครับ? ก็เพื่อว่าเราต้องมีอำนาจในการปรับเปลี่ยนประเพณีประดิษฐ์ หรือปรับเปลี่ยนประเพณีที่ประดิษฐ์ไปแล้ว หรือจนถึงที่สุดประดิษฐ์ประเพณีใหม่ได้เอง ปัญหาของประเพณีประดิษฐ์ไม่ได้อยู่ที่ความไม่เก่าจริงของประเพณี แต่อยู่ที่ว่าอำนาจการผลิตเป็นของใครต่างหาก ผมเชื่อว่าอำนาจนั้นต้องแบ่งปันกัน จะเป็นของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้





ผมออกจะงงๆ กับพิธีนำนิสิตใหม่ถวายบังคมพระบรมรูปพระเจ้าอยู่หัว ใน ร.5-6 ไม่ใช่เพราะเพิ่งเริ่มมีพิธีกรรมไม่นานมานี้เอง จนบางคนกล่าวว่านี่เป็นประเพณีประดิษฐ์

ผมไม่รังเกียจประเพณีประดิษฐ์ แม้แต่ประเพณีโบราณที่มีมาเก่าแก่จริง ก็ต้องคอยประดิษฐ์ให้ปรับเปลี่ยนไปตามสังคมเสมอ ถ้าเราต้องทำอะไรเหมือนคนแถบเทือกเขาอัลไตอยู่ ก็บ้าสองซ้อนเลย (ซ้อนแรกคือเราไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคนอัลไต ซ้อนสองคือถึงเกี่ยว จะไปทำเหมือนเขาทำไม ในเมื่ออยู่กันคนละยุคสมัยและคนละภูมิประเทศ-อากาศ)

ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ประเพณีประดิษฐ์ แต่อยู่ที่ว่าพวกเราหรือหลายคนในพวกเรา ต้องรู้เท่าทันว่า จุดมุ่งหมายที่ประเพณีหนึ่งๆ ถูกประดิษฐ์ขึ้นนั้นคืออะไร การที่ผู้คนยอมรับประเพณีนั้นไปปฏิบัติ ก็เพราะความหมายของมันหรือจุดมุ่งหมายของมันเป็นสิ่งที่ผู้คนยอมรับได้ และเห็นว่ามีความสำคัญในชีวิตของตน

รู้เท่าทันไปทำไมครับ? ก็เพื่อว่าเราต้องมีอำนาจในการปรับเปลี่ยนประเพณีประดิษฐ์ หรือปรับเปลี่ยนประเพณีที่ประดิษฐ์ไปแล้ว หรือจนถึงที่สุดประดิษฐ์ประเพณีใหม่ได้เอง ปัญหาของประเพณีประดิษฐ์ไม่ได้อยู่ที่ความไม่เก่าจริงของประเพณี แต่อยู่ที่ว่าอำนาจการผลิตเป็นของใครต่างหาก ผมเชื่อว่าอำนาจนั้นต้องแบ่งปันกัน จะเป็นของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้

ผมจึงคิดว่าความรู้ที่ให้อำนาจเราในการมีส่วนร่วมกับการประดิษฐ์ประเพณีนั้น ต้องรวมการวิเคราะห์ความหมายของประเพณีประดิษฐ์ ที่มีต่อทุกคนที่ร่วมปฏิบัติประเพณี หากในกรณีนี้ก็นับตั้งแต่นายกสภามหาวิทยาลัยลงมาถึงภารโรง ที่ถูกสั่งให้ไปจัดสถานที่เลยทีเดียว

อย่าคิดนะครับว่า คนเหล่านี้ล้วนถูกอำนาจบังคับให้ทำตามหน้าที่เท่านั้น ไม่ว่าสิทธิหรือหน้าที่ล้วนเป็นสิ่งที่เรานึกเอาเองทั้งนั้น ไม่ได้ตราไว้ที่ไหนบนกำแพงจักรวาล เมื่อไรที่นึกว่าไม่ใช่หน้าที่แล้ว ถึงจะใช้กำลังบังคับอย่างไร ย่อมไม่ทำหรือไม่ทำโดยดี หนักๆ เข้าก็กบฏ กำลังบังคับอย่างเดียวไม่พอจะทำอะไรในโลกนี้ได้หรอกครับ แม้แต่การรัฐประหารซึ่งดำรงสืบมาถึงทุกวันนี้ได้ ก็ไม่ใช่เพราะกำลังของกองทัพเท่ากับการยอมรับหรือถึงขั้นสนับสนุนของคนไทยจำนวนไม่น้อยทีเดียว ลำพังกำลังของกองทัพอย่างเดียว ผมเชื่อว่าอยู่ได้ไม่เกิน 12 ชั่วโมงหรอก

ประเพณีกราบถวายบังคมพระบรมรูปของจุฬาฯ ก็เหมือนกัน เท่าที่ได้ยินมา นับตั้งแต่ประดิษฐ์และปฏิบัติประเพณีนี้มาในราวทศวรรษ 2540 ก็ดูจะทำกันได้อย่างราบรื่นตลอดมาไม่ใช่หรือครับ


ในที่นี้ ผมจะพยายามวิเคราะห์ความหมายของประเพณีประดิษฐ์ดังกล่าว ว่ามีความหมายต่อคนกลุ่มต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไร แต่ทั้งนี้ก็เป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้นนะครับ เป็นเรื่องที่คนอื่นต้องเข้ามาทักท้วงแก้ไขกันต่อไปข้างหน้า

ขอเริ่มจากที่มาของประเพณีนี้ก่อน

ตอนที่เราเริ่มการศึกษาขั้นสาม หรือขั้นหลังมัธยม (tertiary education) ในรัชกาลที่ 5 คือการฝึกหัดนักเรียนให้มีความรู้ความชำนาญบางอย่างที่จำเป็นในการปกครองสมัยใหม่ เพื่อรับเป็นขุนนางเมื่อจบการศึกษาแล้ว เกิดความวิตกกันในหมู่เจ้านายว่า ขุนนางรุ่นใหม่ไม่เคยได้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมาก่อน อาจขาดน้ำใจจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ จึงโปรดให้ตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ฝึกสอนงานราชการสามปี แต่เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมาตั้งแต่ปีแรก เพียงแต่ต้องออกมาฝึกงานกับกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ระดับเสมียน และเล่าเรียนวิชาที่จัดสอนด้วย

นักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงจึงต้องเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กมาตั้งแต่แรก พิธีที่ว่านั้นทำอย่างไรผมไม่ทราบ แต่อยากเดาว่าก็เหมือนพิธีถวายตัวแก่เจ้านาย คือมีกรวยดอกไม้ธูปเทียนไปกราบถวายบังคมเพื่อถวายตัว เมื่อทรงรับกรวยไว้ ก็ถือว่าทรงรับตัวมาแล้ว แม้มีพระบรมราชโองการให้ถวายคำนับแทนการกราบถวายบังคมมาแต่ต้นรัชกาล แต่นี่เป็นพิธีกรรมพิเศษคือถวายตัว จึงแตกต่างจากการเข้าเฝ้าฯ ทั่วไป

มาในภายหลังโรงเรียนมหาดเล็กหลวงก็ถูกเปลี่ยนเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน และเข้าไปสังกัดกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างที่ทราบกันอยู่แล้ว

นี่คือที่มาของอะไรหลายอย่างของจุฬาฯ เครื่องแบบนิสิตชายที่ต้องสวมชุดราชปะแตน ก็มาจากเครื่องแบบของมหาดเล็กหลวง เมื่อสมัยผมเป็นนิสิต ในพระราชพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พระเจ้าอยู่หัวประทับนั่งบนพระเก้าอี้ (เหมือนเสด็จประทับนั่งในวัง) บัณฑิตเดินเข้าใกล้แล้วนั่งคุกเข่าลงรับพระราชทานปริญญาบัตรอย่างใกล้ชิด เหมือนได้ถวายตัวเป็นข้าราชบริพารใกล้ชิดเป็นพิเศษกว่าคนไทยทั่วไป ซึ่งไม่มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ใกล้ชิดเช่นนั้น แล้วก็กลายเป็นมหาดเล็กหลวงไป

สมัยผมเป็นนิสิตเหมือนกัน ในงานพิธีถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า เฉพาะนิสิตจุฬาฯ เท่านั้น (ดูเหมือนกับสถาบันการศึกษาอื่นอีกแห่งหรือสองแห่ง เช่น นักเรียนโรงเรียนวชิราวุธ) ที่จะกราบถวายบังคมสามลาอย่างที่เป็นปัญหาเวลานี้ นักเรียนโรงเรียนอื่นและหน่วยราชการอื่น ถวายบังคมโดยการถวายคำนับตามพระปฐมบรมราชโองการใน ร.5





มีอะไรนอกเรื่องแต่ในเรื่อง (เพราะสำคัญ) ที่จะอธิบายตรงนี้ด้วยว่า ก่อนการยึดอำนาจของ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำไมรัฐบาลจึงปล่อยให้จุฬาฯ แสดงยี่เกอยู่กลางลานพระบรมรูปได้หน่วยงานเดียว ผมเดาว่าเพราะจุฬาฯ อ้างว่าตัวมีความสัมพันธ์พิเศษกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทั้งในฐานะที่ทรงสถาปนาหน่ออ่อนของสถาบันตนเองขึ้นมา และยังใช้พระนามของพระองค์เป็นชื่อของสถาบันอีกด้วย

เป็นความสัมพันธ์พิเศษที่แนบแน่นระหว่างจุฬาฯ กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์พระองค์ใด และนี่คือคำอธิบายที่ผมได้จากรุ่นพี่ แต่กลับกันนิดหน่อยว่า เมื่อได้เป็นนิสิตจุฬาฯ อย่าได้ขาดงานวันที่ ๒๓ ตุลาฯ เป็นอันขาด เพราะเราเท่านั้นที่สามารถกราบถวายบังคมสามลาได้ คนอื่นไม่ได้ทำหรือทำไม่ได้ กลายเป็นการตอกย้ำความสำคัญของตนเอง ไม่ใช่ของ ร.5

มาในภายหลัง มีสถาบันอื่นๆ อีกหลายแห่ง ที่กราบถวายบังคมสามลาที่ลานพระบรมรูปฯ เหมือนจุฬาฯ แต่โดยไม่ได้ตรวจสอบ ผมอยากจะเดาว่า ล้วนเกิดขึ้นหลังการยึดอำนาจของ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไปแล้วทั้งนั้น และด้วยเหตุดังนั้นยี่เกที่ลานพระบรมรูปฯ ของจุฬาฯ จึงไม่โดดเด่นอะไรอีก โดยเฉพาะเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ (และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ) ถูกใช้เป็นตัวแทนของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย จะขีดเส้นย้ำความเป็นพิเศษในความสัมพันธ์ระหว่างจุฬาฯ และสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไร

ผมคิดว่า นี่คือที่มาของการสร้างพระบรมรูปในพระเจ้าอยู่หัวในสองรัชกาลขึ้นด้านหน้าหอประชุม เป็นการขีดเส้นใต้ความสัมพันธ์พิเศษนั้น อันเป็นสิ่งที่แสดงออกมาได้ไม่ชัดในงานถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าที่ลานพระบรมรูปอีกแล้ว

ผมเคยคิดอยู่นานว่า ทำไมต้องสร้างสองพระองค์ แม้ว่าทั้งสองพระองค์ล้วนมีส่วนในการสร้างจุฬาฯ ก็ตาม แยกพระองค์หนึ่งไปไว้ที่อื่นก็ได้ (เช่น ด้านหน้าด้านหลังหอประชุม หรือด้านหน้าด้วยกันแต่ทำแยกคนละมุม) ในทัศนะของผม อนุสาวรีย์ที่ทำสองคนไว้ด้วยกัน ซ้ำยังแสดงอากัปกิริยาที่ต่างกัน มันไม่ “นิ่ง” เพราะทำให้เกิดความเคลื่อนไหวในความรู้สึก เราไม่รู้ว่าเมื่อไร ร.6 จะถวายคำนับแล้วเสด็จถอยออกไป หรืออาจก้มลงกราบพระบาทสมเด็จพระราชบิดาก็ได้ ผมคิดว่าอนุสาวรีย์ของผู้ยิ่งใหญ่นั้น ต้องนิ่ง เพื่อให้ความรู้สึกเหมือนบุญญาธิการอันไพศาลที่ปกแผ่ลงเหนือผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน (และนั่นคือเหตุผลที่ทำอนุสาวรีย์เป็นสัญลักษณ์ยังได้ ตราบเท่าที่ให้ความรู้สึกได้ตามที่ต้องการ)

ปกแผ่นั้น inactive นะครับ คือกระทำการโดยไม่ได้กระทำการใดๆ ก็ไม่ใช่ศาลผีนี่ครับ จะได้กระโดดโลดเต้นมาช่วยลูกช้างได้

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะจุฬาฯ ต้องการแสดงความสัมพันธ์เป็นพิเศษ ไม่เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ในสองรัชกาลนี้เท่านั้น แต่กับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยรวม อนุสาวรีย์คู่ในอนุสาวรีย์เดี่ยวที่ขัดตา (ผม) หมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่พระมหากษัตริย์สองพระองค์เฉยๆ นี่คือเหตุผลที่ทำให้จุฬาฯ กลายเป็น “เสาหลักของแผ่นดิน”

คิดจากทัศนะของรุ่นพี่ของผม พิธีถวายบังคมพระบรมรูปในจุฬาฯ ด้วยการกราบถวายบังคมสามลา คืออภิสิทธิ์ที่เฉพาะนิสิตจุฬาฯ เท่านั้นอาจมีได้ คนขายข้าวหมูแดงที่สามย่าน หรือเจ้าของร้านหนังสือศึกษิตสยาม ซึ่งถูกจุฬาฯ ไล่ออกไป จะเดินมาร่วมพิธีด้วยไม่ได้นะครับ อภิสิทธิ์อันนั้นไม่ใช่ได้กราบถวายบังคม แต่คือการแสดงความสัมพันธ์พิเศษกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย อันเป็นอภิสิทธิ์ของ “เสาหลักของแผ่นดิน” เท่านั้น อภิสิทธิ์นี้ทำให้คนขายข้าวหมูแดงระย่อ เจ้าของร้านศึกษิตก็ (น่าจะ) ระย่อเหมือนกัน

ผมคิดว่าสถานะความสัมพันธ์พิเศษอันนี้ นอกจากปลูกฝังให้ชาวจุฬาฯ ทุกรุ่นได้ซึมซับไปแล้ว แม้การกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีก (ซึ่งคือหัวใจของสิ่งที่เราเรียกว่าพิธีกรรม) ก็เป็นการแสดงที่ตอกย้ำสถานะพิเศษนี้แก่สังคมไทยโดยรวมด้วย

การประกาศความสัมพันธ์พิเศษในฐานะ “เสาหลักของแผ่นดิน” โดยผ่านพิธีกรรม ย่อมได้ผลกว่าการใช้ภาษาอย่างเทียบกันไม่ได้ (ดูรายการ “ศาสตร์พระราชา” ทุกเย็นวันศุกร์เป็นอุทาหรณ์ก็ได้) ในฐานะพสกนิกร ชาวจุฬาฯ ก็ถวายคำนับเหมือนคนอื่นๆ แหละครับ ผมยังไม่เคยได้ยินว่ามีชาวจุฬาฯ คนไหน หมอบลงกราบถวายบังคมสามลาในโรงหนังสักที แต่ในฐานะสมาชิกของ “เสาหลักของแผ่นดิน” ชาวจุฬาฯ ย่อมถวายบังคมด้วยวิธีที่ทำให้คนอื่นๆ ต้องระย่อครับ

พิธีกรรมนี้ไม่เกี่ยวกับปฐมบรมราชโองการใน ร.5 ที่ให้ลุกขึ้นยืนถวายคำนับ ยิ่งตอกย้ำเรื่องนี้ก็ยิ่งเข้าล็อกของจุฬาฯ ก็เขากำลังถวายตัวเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ไม่ใช่ถวายบังคมเหมือนพสกนิกรโดยทั่วไป

ถ้าเข้าใจความหมายที่แท้จริงของพิธีกรรมนี้ ก็จะเห็นคุณประโยชน์ของการประกอบพิธีกรรม ซึ่งมีแก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย, นายกฯ และกรรมการสภา, อาจารย์, นิสิต, ไปจนถึงภารโรง คุณประโยชน์ที่ต่างกันนะครับ แต่ก็ได้เหมือนกัน หรือเอาไปใช้ได้เหมือนกัน ทั้งในการดำเนินชีวิตและหน้าที่การงาน ทั้งไม่ใช่ความเชื่อลอยๆ ด้วย แต่เป็นของจริงในสังคมไทยทีเดียว

ในเมืองไทยปัจจุบัน คนที่ประกาศตนและเป็นที่ยอมรับว่าเป็นข้าทูลละอองฯ ผู้รับใช้ใกล้ชิด ไม่มีความได้เปรียบอย่างใดอย่างหนึ่งเหนือพสกนิกรทั่วไปละหรือ? อย่าไร้เดียงสาถึงขนาดจะตอบว่าไม่มี





ด้วยความเคารพคุณเนติวิทย์ เรื่องมันใหญ่กว่าการยืนหรือการหมอบคลาน คุณกำลังสู้กับความไม่เสมอภาคในสังคมไทย ซึ่งมีเหตุมาหลายทิศหลายทาง พิธีกรรมของจุฬาฯ เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งที่ช่วยจรรโลงความไม่เสมอภาคเอาไว้ แต่เป็นเศษเสี้ยวที่สำคัญพอสมควร ส่วนใหญ่ที่ใหญ่มากๆ ของชาวจุฬาฯ พอใจจะเป็นส่วนหนึ่งของ “เสาหลักของแผ่นดิน” เพราะในสังคมที่เขามีชีวิตอยู่ ย่อมทำให้ได้เปรียบกว่าไม่ได้เป็น ผมเชื่อว่า รวมถึงเพื่อนๆ ของคุณเนติวิทย์ซึ่งกำลังกล่อมเกลาตัวเองไปยืนในจุดที่ได้เปรียบนั้นด้วย

มหาวิทยาลัยที่ประกาศตัวเป็น “เสาหลักของแผ่นดิน” คือมหาวิทยาลัยที่ประกาศว่า จะอาศัยอุดมการณ์อนุรักษนิยมเป็นหลักในการดำเนินงาน อย่าลืมว่าคำ “แผ่นดิน” ในภาษาไทยปัจจุบันใช้ในความหมายที่เกี่ยวพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น หมายถึงรัชกาล, พระเจ้าอยู่หัวเท่านั้นที่ทรงครอง “แผ่นดิน” นายกรัฐมนตรีได้แต่ปกครองประเทศชาติ ฉะนั้น “เสาหลักของแผ่นดิน” จึงแตกต่างจากเสาหลักของ “ชาติ”

ผมไม่เห็นว่าจะผิดประหลาดอะไรที่มหาวิทยาลัยจะประกาศยึดมั่นอุดมการณ์อนุรักษนิยม ผมเชื่ออย่างที่ครูของผมคือท่านอาจารย์เจ้าคุณอนุมานราชธนพูดเสมอว่า สังคมควรมีทั้งฝ่ายที่ดันไปข้างหน้า และฝ่ายที่ดึงไปข้างหลัง เพื่อถ่วงดุลกันและกันไม่ให้ล้าหลังเกินไป และไม่ให้ก้าวหน้าเร็วไปจนตกเหว เพียงแต่ผมไม่เชื่อตรงไปตรงมาถึงเพียงนั้น แต่ผมคิดว่าความคิดก้าวหน้าในสังคมใดๆ ก็ตาม จะนำความสุขความเจริญแก่ผู้คนได้ จำเป็นต้องมีปรปักษ์ที่มีคุณภาพ พูดอีกอย่างหนึ่งคืออนุรักษนิยมนั้นมีประโยชน์แก่ความก้าวหน้าของสังคมอย่างมาก แต่ต้องเป็นอนุรักษนิยมที่มีคุณภาพ

อนุรักษนิยมที่มีคุณภาพไม่ได้หมายถึงคนที่ไม่ยอมลืมหูลืมตาเห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านกว้างและด้านลึกซึ่งเกิดขึ้นในปัจจุบัน เฝ้ารักษาแต่อะไรที่ตกทอดมาจากอดีต โดยปรับเปลี่ยนไม่เป็นหรือไม่ได้เอาเลย (ซ้ำร้ายสิ่งที่พวกนี้เชื่อว่าตกทอดมาจากอดีต ก็ยังเพิ่งประดิษฐ์และไม่จริงเสียอีก)

แต่ต้องเป็นอนุรักษนิยมที่ทำให้เราเกิดทั้งความรู้ความเข้าใจและความรู้สึกเกี่ยวกับคุณค่าเก่าๆ, แบบปฏิบัติเก่าๆ, สถาบันเก่าๆ ซึ่งคงเคยมีประโยชน์มาบ้างในเงื่อนไขของสังคมโบราณ แต่อนุรักษนิยมที่มีคุณภาพต้องทำให้เกิดความรู้และความเข้าใจด้วยว่า เมื่อเงื่อนไขเช่นนั้นเปลี่ยนไปแล้ว จะปรับเปลี่ยนสิ่งเก่าๆ เหล่านั้นให้มีคุณประโยชน์แก่สังคมต่อไปได้อย่างไร

“เสาหลักของแผ่นดิน” อย่างนี้แหละครับที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะทำให้ฝ่ายปรปักษ์ต้องใช้สติปัญญาและความรู้ให้เหนือกว่า ในการต่อสู้เพื่อนำสังคมก้าวหน้าต่อไปอย่างมั่นคง โดยไม่ต้องทำลายล้างผู้เห็นต่าง

ดังนั้น การปกป้องความเป็น “เสาหลักของแผ่นดิน” ด้วยลำแขนกำยำที่ล็อกคอฝ่ายตรงข้าม จึงไม่ใช่อนุรักษนิยมที่มีคุณภาพแน่ และทำให้การก้าวเดินไปข้างหน้าของสังคมไทยสุ่มเสี่ยงมากขึ้น เพราะจากการต่อสู้กันทางความคิด กลับกลายเป็นการใช้กำลังเข้าประหัตประหารกัน

ความสุ่มเสี่ยงที่ว่านั้น อาจหมายถึงการสูญเสียที่ไม่จำเป็นอีกมาก อย่างที่ฝ่ายก้าวหน้าได้กระทำมาแล้วในสังคมที่มีแต่อนุรักษนิยมไร้คุณภาพ อย่างที่มีตัวอย่างให้เราได้เห็นมาแล้วในฝรั่งเศส, รัสเซีย, ตุรกี, จีน, เวียดนาม, ลาว, กัมพูชา และ ฯลฯ