วันจันทร์, กันยายน 22, 2557

60 นักวิชาการ จาก 16 สถาบัน ประณาม คสช. คุกคามอาจารย์-นักศึกษา + ฮิวแมนไรท์วอทช์ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและกองทัพ เคารพสิทธิในการแสดงออก


ภาพ UDD Thailand
เรื่อง ประชาไท

Sun, 2014-09-21 15:52

นักวิชาการ 60 คนจากมหาวิทยาลัย 16 แห่งทั่วประเทศ ออกจดหมายเปิดผนึกประณามทหาร-ตำรวจ ที่ใช้กำลังเข้ายุติงานเสวนาวิชาการ พร้อมคุมตัวนักวิชาการและนักศึกษา ถึงภายในเขตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

21 กันยายน 2557 นักวิชาการ 60 ท่านจากมหาวิทยาลัย 16 แห่งทั่วประเทศ ได้ออกจดหมายเปิดผนึกประณามการที่ทหารและตำรวจบังคับให้นักวิชาการและนักศึกษายุติงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ "ห้องเรียนประชาธิปไตย: บทที่ 2 การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ" ซึ่งจัดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พร้อมทั้งควบคุมตัวนักศึกษาและวิทยากรไปสถานีตำรวจ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา นักวิชาการกล่าวในจดหมายว่า การกระทำของทหารและตำรวจครั้งนี้เป็นการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการอย่างชัดเจน และยอมรับไม่ได้อย่างยิ่ง ผู้ลงนามในจดหมายยังเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หยุดคุกคามนักวิชาการและนักศึกษาโดยทันทีด้วย นักวิชาการที่ร่วมลงชื่อประกอบด้วยอาจารย์ประจำจาก 31 คณะ 16 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

อันธิฌา แสงชัย อาจารย์ประจำคณะคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ลงชื่อ ให้ความเห็นว่า "ข้ออ้างของเจ้าหน้าที่รัฐที่ว่าเขามีอำนาจเข้าควบคุมได้เพราะกฎอัยการศึกยังประกาศใช้อยู่นั้น เป็นเพียงการประกาศว่ามีอำนาจคุกคาม แต่ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าการใช้อำนาจคุกคามนั้นชอบธรรม" ส่วน ดร.กนกรัตน์ สถิตนิรามัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกหนึ่งผู้ร่วมลงชื่อ กล่าวด้วยว่า "การที่ตำรวจบังคับให้นักวิชาการต้องเซ็นเอกสารว่าจะยินยอมส่งหัวข้อการเสวนาทุกๆ ครั้งให้ทหารอนุมัติก่อนนั้น เป็นการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการอย่างชัดเจน งานวิชาการที่เนื้อหาถูกควบคุมนั้นไม่เรียกว่าเป็นงานวิชาการที่แท้จริง"

๐๐๐๐

จดหมายเปิดผนึกประณามการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ

21 กันยายน 2557
เรื่อง ประณามการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการและการควบคุมตัวอาจารย์และนักศึกษา

เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 ได้มีทหารและตำรวจเข้าบังคับนักวิชาการและนักศึกษา ให้ยุติงานเสวนาวิชาการ "ห้องเรียนประชาธิปไตย: บทที่ 2 การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ" ซึ่งจัดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต นอกจากนี้ทหารและตำรวจยังได้ควบคุมตัวนักศึกษาที่จัดงาน รวมทั้งวิทยากรและผู้ดำเนินรายการ ได้แก่ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ดร.เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ และ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ไปที่สถานีตำรวจนครบาลคลองหลวง

เราในฐานะนักวิชาการ ขอประณามการกระทำของทหารและตำรวจ ที่ใช้อำนาจคุกคามนักศึกษาและนักวิชาการถึงในพื้นที่มหาวิทยาลัย การกระทำดังกล่าวคุกคามสิทธิเสรีภาพทางวิชาการอย่างชัดเจน และเป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้อย่างยิ่ง

ข้ออ้างที่ว่ากฎอัยการศึกยังประกาศใช้อยู่นั้นเป็นเพียงการประกาศว่าทหารและตำรวจมี "อำนาจ" จะคุกคามได้ แต่ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าการใช้อำนาจคุกคามนั้นชอบธรรม ส่วนข้ออ้างที่ว่างานเสวนาวิชาการนี้อาจกระทบต่อความมั่นคงนั้นก็เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น การจัดเสวนาวิชาการเกี่ยวกับการเมือง ไม่ว่าจะการเมืองในประเทศหรือการเมืองต่างประเทศ เป็นเรื่องปกติอย่างยิ่ง และที่ผ่านๆ มาก็ไม่เคยปรากฏเลยว่างานเสวนาวิชาการลักษณะนี้กระทบต่อความมั่นคง ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ

เราขอเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หยุดใช้อำนาจคุกคามนักวิชาการและนักศึกษา และหยุดคุกคามเสรีภาพในทางวิชาการ หากสิทธิพื้นฐานอย่างสิทธิในการแลกเปลี่ยนทางปัญญาในสถานศึกษายังไม่ได้รับการเคารพ เราก็ย่อมไม่มีทางหวังได้เลยว่าประเทศไทยภายหลังการปฏิรูปของ คสช. จะเป็นประเทศที่เคารพสิทธิพื้นฐานของประชาชน

รายนามนักวิชาการที่ลงชื่อ (ตามตัวอักษร):

1. ดร.กนกรัตน์ สถิตนิรามัย, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. ดร.กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง, คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
4. ผศ.ดร.คำแหง วิสุทธางกูร, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
5. ดร.จักรกริช สังขมณี, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
6. จันทรา ธนะวัฒนาวงศ์, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
7. ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล, คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
8. ดร.ชนิสร เหง้าจำปา, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
9. ดร.ชลัท ศานติวรางคณา, สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
10. ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์, คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
11. ดร.ณรงค์ อาจสมิติ, สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
12. ณภัค เสรีรักษ์, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
13. ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี, คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
14. ดร.ธร ปีติดล, คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
15. ธาริตา อินทนาม, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
16. ธานินทร์ สาลาม, คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
17. ธีรวัฒน์ ขวัญใจ, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
18. รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
19. นพพร ขุนค้า, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์
20. บัณฑิต ไกรวิจิตร, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
21. บัณฑูร ราชมณี, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
22. ผศ.บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์, คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
23. ปฐม ตาคะนานันท์, คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
24. ประไพพิศ มุทิตาเจริญ, คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
25. ปราชญ์ ปัญจคุณาธร, คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
26. ปรีดี หงษ์สตัน, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
27. รศ.พงศ์จิตติมา หินเธาว์, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
28. พชรวรรณ บุญพร้อมกุล, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
29. พิพัฒน์ สุยะ, คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
30. พุทธพล มงคลวรวรรณ, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
31. ภัทธิพงษ์ ศิริปัญญา, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
32. มนวัธน์ พรหมรัตน์, สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
33. ดร.มิเชลล์ แทน, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
34. ดร.มูฮัมหมัด อิลยาส หญ้าปรัง, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
35. รชฏ ศาสตราวุธ, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
36. ดร.ลลิตา หาญวงษ์, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
37. ผศ.ดร.วรยุทธ ศรีวรกุล, คณะปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
38. ดร.วิโรจน์ อาลี, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
39. ดร.ศิริจิต สุนันต๊ะ, สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
40. ศุภวิทย์ ถาวรบุตร, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
41. ดร.วิศรุต พึ่งสุนทร, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
42. สมัคร์ กอเซ็ม, ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
43. ดร.สายัณห์ แดงกลม, คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
44. ผศ.ดร.สิริเพ็ญ พิริยจิตรกรกิจ, คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
45. ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี, สถาบันศาสนาและวัฒนธรรมเพื่อสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ
46. สุธิดา วิมุตติโกศล, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
47. สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
48. สุรัยยา สุไลมาน, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
49. รศ.ดร.โสรัจจ์ หงส์ลดารมภ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
50. อนุสรณ์ ติปยานนท์, คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
51. ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ, คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
52. ผศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย, คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
53. อรอนงค์ ทิพย์พิมล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
54. อสมา มังกรชัย, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
55. อันธิฌา แสงชัย, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
56. อัมพร หมาดเด็น, สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
57. อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์
58. ผศ.อาชัญ นักสอน, คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
59. เอกรินทร์ ต่วนศิริ, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
60. ดร.ฮารา ชินทาโร่, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ooo

เรื่องเกี่ยวข้อง...

ฮิวแมนไรท์วอทช์ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและกองทัพยุติการสั่งปราบปรามการจัดสนทนาทางการเมืองและให้เคารพสิทธิในการแสดงออก


ที่มา บีบีซีไทย

ฮิวแมนไรท์วอทช์ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและกองทัพยุติการสั่งปราบปรามการจัดสนทนาทางการเมืองและให้เคารพสิทธิในการแสดงออก ด้านนายกรัฐมนตรีระบุห้ามเพื่อไม่ให้สถานการณ์แย่ลง
ทั้งนี้ เมื่อ วันที่ 18 กันยายน กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) ได้จัดกิจกรรม "ห้องเรียนประชาธิปไตย : บทที่ 2 การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แต่กิจกรรมต้องถูกยกเลิกไปและเจ้าหน้าที่ได้เชิญผู้เข้าร่วมกิจกรรมไปทำความเข้าใจที่สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง และไม่ได้มีการตั้งข้อหา

นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำภูมิภาคเอเชีย บอกว่า ในขณะที่ไทยบอกกับชาวโลกว่าไม่ใช่เผด็จการ แต่กองทัพได้ขยายขอบเขตการควบคุมไปถึงมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ห้ามการสนทนาเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน นายอดัมส์ เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยุติการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกทางวิชาการ

ด้านเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ รายงานอ้างคำพูด พล.อ.ประยุทธ์ ว่า นักวิชาการที่ถูกนำตัวไปยังสถานีตำรวจ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกจับกุมแต่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเชิญตัวไปเพื่อรับคำปรึกษา และได้รับการปล่อยตัวทั้งหมดหลังพูดคุยกับเจ้าหน้าที่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าเคยมีการขอร้องไม่ให้พูดคุย เรื่องสถานการณ์การเมืองในขณะนี้เพราะประเทศกำลังก้าวไปสู่การปฏิรูปและสมานฉันท์

บางกอกโพสต์รายงานด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สถานการณ์แย่ลง หากปล่อยให้มีการสัมมนาทางการเมืองรายการใดรายการหนึ่ง ก็จะมีผู้ทำตาม ซึ่งหากตนต้องเสียเวลากับประเด็นเหล่านี้ก็จะทำให้ทำงานได้ไม่เต็มที่ และต้องเข้าใจว่าตนไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ด้านนายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถูกเชิญตัวไปที่สถานีตำรวจด้วย บอกว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้ตั้งข้อหา แต่ทำความเข้าใจและทำข้อตกลงร่วมว่าหากจะมีการจัดงานเสวนาวิชาการจะต้องส่งหัวข้อให้ฝ่ายทหารอนุมัติก่อน
ooo

ประวัติศาสตร์จะบันทึกว่า "ท่านคือความอับอายของธรรมศาสตร์" และคนรุ่นหลังจะสาปแช่ง และคอยสอนกันว่า "อย่าเอาเยี่ยงอย่างสมคิด เพราะมันทุเรศ"

"กฎอัยการศึกครอบคลุมทุกพื้นที่ เขตมหาวิทาลัยก็ไม่ได้รับการยกเว้น เพียงแต่นักศึกษาต้องรู้ตัวว่าจัดเสวนาวิชาการหัวข้อใด เพราะขณะนี้มีหลายกลุ่มจัดกิจกรรมอยู่ และไม่ได้มีปัญหาอะไร" สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

http://news.voicetv.co.th/thailand/118306.html