วันอังคาร, ตุลาคม 21, 2557

บทวิเคราะห์มติชน : สอย 2 อดีตปธ. คสช.ใต้แรงกดดัน ′โรดแมป′ส่อวิบาก


ที่มา มติชนออนไลน์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้ฤกษ์เปิดตัวกับโลกตะวันตกครั้งแรกด้วยการประชุมอาเซมที่อิตาลี 16-18 ต.ค.ที่ผ่านมา

มีทั้งภาพจับไม้จับมือกับนายกฯ จีนและญี่ปุ่น ผลเจรจาที่ให้ความมั่นใจเรื่องการลงทุนในแผนบริหารจัดการน้ำ รถไฟไฮสปีด ไปจนถึงการแก้กฎระเบียบสร้างความคล่องตัวในการลงทุน

และก็มีภาพการชุมนุมประท้วงของคนไทยและต่างชาติ ชูป้ายต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ ชูป้ายต่อต้านการรัฐประหารในประเทศไทย รวมถึงมาทวงถามความคืบหน้าในการทำคดีสังหาร ฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพอิสระชาวอิตาเลียนในเหตุการณ์สลายม็อบปี 2553

แม้จะมีความพยายามปฏิเสธจากไก่อู พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด และนายสุวพันธุ์ ยุวรรธนะ รมต.สำนักนายกฯ ว่าเป็นการประท้วงเรื่องอื่นเป็นหลัก

แต่โลกยุคนี้เชื่อมต่อกันหมดแล้วด้วยไฮเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร ความจริงบางอย่างเกิดขึ้นแล้วก็เป็นที่รับรู้กัน ไม่ต้องรอใครมาปฏิเสธหรือยืนยัน

ภาพผลสำเร็จในการเจรจา และการประท้วงต่อต้านเป็นเรื่องเข้าใจได้ ผู้นำ คสช.ก็พูดย้ำแล้วย้ำอีกว่า มาด้วยสถานการณ์พิเศษ และสุดท้ายก็ต้องกลับสู่สภาพปกติ

อะไรพิเศษ อะไรปกติ เป็นเรื่องเข้าใจกันแล้ว

แรงหนุน-แรงต้านก็จะคู่ขนานกันไปแบบนี้ตลอดอายุของ คสช. อยู่ที่วิจารณญาณของ คสช.เองว่า จะเลือกฟังด้านไหน ถึงจะได้ความจริงและเกิดประโยชน์สูงสุด

แรงหนุน-แรงต้านไม่ได้มีเฉพาะภายนอกคสช.เท่านั้น ภายใน คสช.และเครือข่ายเอง ก็ยังเกิด "ศึกใน" ขึ้นมา

อาการนี้ กรุ่นๆ มาตั้งแต่การตั้ง สนช. การตั้ง สปช. ซึ่งหลายคนเห็นว่าตนเองลงทุนลงแรงไปไม่น้อยในช่วงชัตดาวน์ แต่ถึงเวลา กลับไม่มีตำแหน่งแห่งหน

เกิดกระแสโจมตี คสช.ด้วยเหตุผลต่างๆ ก่อจะเลยเถิดลามปามออกไป

เมื่อ คสช.ไม่ได้ตามล้างตามเช็ดอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้เด็ดขาดถอนรากถอนโคนอย่างที่กองเชียร์อยากจะเห็น

จึงเกิดการผลักดันให้องค์กรอิสระออกมาไล่เช็กบิล น.ส.ยิ่งลักษณ์ และบุคคลในรัฐบาลเดิม สภาชุดเดิม

ทำให้ คสช.เอง ไม่แฮปปี้กับบทบาทขององค์กรอิสระ เพราะเกรงจะลุกลามบานปลาย แล้วจะเป็นภาระของ คสช.ต้องเข้าไปแบกรับปัญหาอีก

ขนาดที่ คสช.เอง ออกคำสั่ง 63/2557 มาแตะเบรกเตือนบรรดาองค์กรอิสระว่า อย่ากระทำ 2 มาตรฐาน แต่คำสั่งนี้ ดูๆ ไป ก็ไม่ได้มีผลทางปฏิบัติ

เป็นที่รู้กันว่า องค์กรอิสระเองก็มี "แบ๊กอัพ" ที่บุคคลใน คสช.เอง เกรงอกเกรงใจ

กลายเป็นสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

ขณะที่ภายในประเทศเอง การถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ก็กลายเป็นประเด็นงัดข้อ ระหว่าง คสช.กับ กลุ่ม 40 อดีต ส.ว.และเครือข่ายอำนาจเดิม

ต้นเรื่อง มาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ในปี 2556 ให้ ส.ว.มาจากเลือกตั้ง ที่กลายเป็นข้อหาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ป.ป.ช.สรุปสำนวนส่งให้ สนช.ถอดถอน แต่ สนช.สายทหาร ที่นำโดย พล.อ.นพดล อินทปัญญา เห็นว่า ไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ยกเลิกไปแล้ว และตำแหน่ง ส.ส.-ส.ว.ที่จะถอดถอนก็ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2557 จึงไม่มีฐานให้อ้างอิง

เมื่อไม่มีฐานให้อ้างอิงก็ต้องลงมติว่า สนช.ไม่มีอำนาจถอดถอน ดีกว่าเดินหน้าโดยไม่มีอำนาจ จะกลายเป็นเงื่อนไขความรุนแรงในอนาคต

ขณะที่กลุ่มอดีต 40 ส.ว.และเครือข่ายที่ตามจองเวรกับพรรคเพื่อไทยมา ยืนยันว่า"ความผิด" ยังอยู่ ไม่ว่าจะมีกฎหมายหรือไม่

ในการประชุม สนช.เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา แม้ว่า สนช.ทหารเตรียมมาลงมติ เพื่อให้เรื่องจบๆ แต่สุดท้าย ต้องใช้วิธีประนีประนอม งดใช้ข้อบังคับที่กำหนดให้ สนช.วินิจฉัยว่าตนเองมีอำนาจหน้าที่หรือไม่ออกไปก่อน เพื่อเลี่ยงการลงมติ ที่จะทำให้เกิดบรรยากาศฝักฝ่ายใน สนช.

แต่ก็เป็นที่รับรู้กันแล้วว่า มีความเห็นต่างอย่างแน่นอน ภายในขั้ว คสช.เอง

และจะพัฒนาไปอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าจับตา

ระยะเวลาตามโรดแมปที่ยังเหลืออยู่ นอกจาก คสช.จะต้องขับเคี่ยวกับขั้วการเมืองตรงข้ามแล้ว "ศึกใน" เอง ก็คงจะหนักหน่วงและเพิ่มแรงกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ

จากเดิมกำหนดคร่าวๆ ว่าจะเลือกตั้งในปี 2558 ขณะนี้ เชื่อว่าจะยืดยาวไปจนถึงกลางปี 2559 เพื่อจัดทำกฎหมายลูก และเตรียมการเลือกตั้ง

ก็ไม่แปลกที่บิ๊กตู่จะกล่าวกับทูตไทยในยุโรป ที่พบปะระหว่างไปร่วมประชุมอาเซมว่า อยากลาออก และจะไม่อยู่ให้เกินเวลาตามที่ตั้งใจไว้ แม้แต่วันเดียว

เพราะเข้าใจได้ว่า ยิ่งนานก็ยิ่งวิบาก เพราะภาระทางการเมืองเริ่มซับซ้อนและยุ่งยากขึ้นเรื่อยๆ

และเห็นชัดว่า แรงกดดันจากทุกทิศทางเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

จากกลุ่มอำนาจเดิมและเครือข่าย อยากให้เช็กบิลระบอบทักษิณอย่างเด็ดขาด กลุ่มการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้วางตัวเป็นคนกลางอย่างสมดุล ขณะที่กระแสต่างประเทศจะเรียกร้องอย่างต่อเนื่องให้กลับสู่ประชาธิปไตยแบบสากล

การปฏิรูปที่ คสช.ถือเป็นธงสำคัญ ก็จะตีความต่างๆ กัน ตามจุดยืนของแต่ละฝ่าย

เรื่องท้าทายในห้วงต่อไปนี้ ก็คือ คสช.จะเลือกตัดสินใจอย่างไร ท่ามกลางแรงบีบ แรงกดดันจากแต่ละฝ่าย จึงจะบรรลุเป้าหมายที่ คสช.ต้องการอย่างไม่เสียฟอร์ม และไม่ทำให้ 22 พ.ค. "เสียของ" ไปพร้อมกัน

(มติชนรายวันฉบับวันที่ 19 ตุลาคม 2557)