วันอังคาร, ตุลาคม 28, 2557

7 จุดสลบทางนโยบายเศรษฐกิจที่อาจจะล้มรัฐบาลประยุทธ์

ภาพจาก Chaopraya News
โดย พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ
ที่มา Siam Intelligence
20/10/2014

มีคนกล่าวว่า “รัฐบาลจะก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วยความชอบธรรมทางการเมือง แต่จะอยู่ยาวแค่ไหนขึ้นอยู่กับนโยบายเศรษฐกิจ”ข้อนี้จริงเสียทีเดียว ตั้งแต่ คสช. ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 จวบจนตั้งรัฐบาลประยุทธ์ 1 มา 2 เดือน เรื่องที่หลายคนจับตาก็คือ รัฐบาลภายใต้การกำกับดูแลของ คสช. จะมีนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างไร ที่จะมาลดทอนการขาดความชอบธรรมในการขึ้นสู่อำนาจ เพื่อจะต่ออายุรัฐบาลให้นานที่สุด และนี่คือ 7 ข้อวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจที่อาจจะเป็นจุดสลบของรัฐบาลประยุทธ์

1. นี่ไม่ใช่โลกยุคสงครามเย็น!!

กลุ่มผู้สนับสนุน คสช. มีฝันสูงสุดถึงการย้อนกลับไปวันอันเรืองรอง ในยุคสมัยของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีช่วงทศวรรษ 2520 ที่ถึงแม้จะไม่เป็นประชาธิปไตย หรือที่ชอบอ้างกันว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” แต่นี่ไม่ใช่ยุคสงครามเย็นที่โลกแบ่งออกเป็นค่ายโลกสังคมนิยมโดยสหภาพโซเวียตและค่ายเสรีนิยมโดยสหรัฐอเมริกา โดยที่อเมริกาจะหลับหูหลับตาสนับสนุนรัฐบาลในทุกรูปแบบทั้งเผด็จการทหารแบบปิโนเชต์ในชิลี เฟอร์ดินัน มาร์กอส ในฟิลิปปินส์ ซูฮาร์โตที่ครองอินโดนีเซียมายาวนาน หรือ รัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบของพลเอกเปรมเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์โดยไม่สนความชอบธรรม เพราะปัจจุบันศัตรูของสหรัฐอเมริกาคือกลุ่มก่อการร้าย ISIS ไม่ได้มีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามายังประเทศไทยดังเดิม

2. เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้น

เมื่อ 8 ตุลาคม 2557 IMF ได้หั่น GDP ของโลกเป็นรอบที่ 3 (อ่านรายละเอียดที่นี่) โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญว่า ปัจจัยสำคัญคือยูโรโซนที่ยังมีความซบเซาอยู่ รวมไปถึงตลาดเกิดใหม่อย่างบราซิลก็มีแนวทางการเติบโตลดลง ญี่ปุ่นเองที่เป็นคู่ค้าสำคัญก็ลดลงด้วยเหลือเพียง 0.8% ในปี 2558 บวกกับประเทศไทยไม่เคยเปิดตลาดใหม่ๆ ที่ได้ประโยชน์ ทั้งกลุ่ม BRICs ที่ไทยถือว่าเจาะตลาดน้อยกว่าประเทศอื่นๆในอาเซียน เมื่อคู่ค้าเก่าไม่ฟื้น คู่ค้าใหม่ไม่มี ภาคการส่งออกปีหน้าไม่ง่ายเลย

หม่อมอุ๋ย ผู้กุมทิศทางเศรษฐกิจ – ภาพจาก wikipedia

3. อุดมไปด้วยเทคโนแครตตกรุ่น

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ กำลังขอ Second Chance ในการแก้ตัว หลังจากล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการเล่นบทบาทดังกล่าวในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยการดึงเทคโนแครตหลายคนเข้ามาร่วมทีม ทั้งณรงค์ชัย อัครเศรณี ผู้ที่มีส่วนวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมายาวนาน เอ็นนู ซื่อสุวรรณ อดีตผู้บริหารระดับสูงของ ธ.ก.ส. และสมหมาย ภาษี อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และยังไม่นับ “เกมส์ตัดขา”ระหว่างมือเศรษฐกิจกันเองที่ต้องไปถาม สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ที่ต้องอกหักไปนั่งเป็นกรรมการ คสช. แทนว่าเจออะไรเข้าไป? ดรีมทีมเศรษฐกิจของหม่อมอุ๋ยอาจล้าสมัยไปแล้ว เทียบได้กับการเอาช่างซ่อมพิมพ์ดีดมาซ่อม iPad

4. การรวมตัวแบบ Sub Regional และกระแส Regionalism

การรวมตัวแบบอนุภูมิภาค และ ภูมิภาคนิยมเป็นความท้าทายและโอกาสใหม่ของโลก การรัฐประหารในปีสุดท้ายก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก ในทางตรงกันข้ามสปอตไลท์ของอาเซียนจับไปที่อินโดนีเซียหลังจาก โจโก วิโดโด้ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีจากการเลือกตั้ง โดยเอาชนะนายพลซูเบียนโต้ที่เป็นตัวแทนของฝ่ายทหารและเป็นเครือญาติของซูฮาร์โต

ไทยสูญเสียโอกาสในการเล่นบทนำในอาเซียน รวมไปถึงความร่วมมือแบบอนุภูมิภาคที่ความสัมพันธ์กับไทยและเพื่อนบ้านไม่ราบรื่นเท่าที่ควร ทั้งจากกรณีหมางใจกับกัมพูชา (แรงงานกัมพูชาอพยพกลับหลังรัฐประหารจนเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานช่วงหนึ่ง) หรือคดีหมางใจกับเมียนมาร์ (ในกรณีฆาตกรรมเกาะเต่า) เราไม่สามารถอยู่ได้โดยไม่มีเพื่อนหรอกนะ

5. ตลาดภายในประเทศยังซบเซาต่อเนื่อง

ตั้งแต่เกิดการชุมนุมของ กปปส. ที่ครบ 1 ปีในเดือนตุลาคมนี้ เศรษฐกิจชลอตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งการชิงยุบสภาของพรรคเพื่อไทยและไม่มีรัฐบาลที่ไม่มีอำนาจเต็มเพราะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จได้เกือบครึ่งปี ปฏิบัติการชัทดาวน์กรุงเทพฯ ที่ทำให้ย่านเศรษฐกิจใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ สูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจจนทำให้ SMEs หลายเจ้าล้มหายตายจาก รวมไปถึงภาพลักษณ์การท่องเที่ยวที่หายไปหลังรัฐประหารและการประกาศกฏอัยการศึกทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงต่อเนื่อง เพราะหากเสียชีวิตในประเทศที่ประกาศกฏอัยการศึกจะไม่ได้รับเงินประกัน และการเดินทางแบบกรุ๊ปทัวร์ที่ไม่สามารถซื้อประกันแบบกลุ่มได้ก็ต้องยกเลิก

EU ก็ยังไม่ฟื้น ไทยอาจได้รับผลกระทบ
6.ไม่มีอะไรใหม่ Nothing is new!!

เมื่อทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลประกาศ “Super Package” ในช่วงต้นกันยายนที่ผ่านมา ทุกฝ่ายจับตามองกันมาก โดยส่วนตัวเราอาจคาดหวังนโยบายเศรษฐกิจแบบเคเนเซี่ยน (Keynesian) ที่รัฐลงทุนขนาดใหญ่เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน แต่หลังจากแถลงเราก็พบว่า “ไม่มีอะไรใหม่” เพราะมันแทบจะไม่ต่างจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เช่น โครงการสร้างบ้านพักครู และขุดลอกคูคลอง โดยมีของใหม่ให้ถกกันแค่ 2 อย่างคือ การแจกเงินชาวนาที่มีที่ดินไร่ละ 1 พันบาท และภาษีเงินโอนช่วยคนจน ที่เป็นโครงการเชิงภาพลักษณ์เสียมากกว่า เพราะคนได้ประโยชน์มีเพียงน้อยนิด แต่เป็นการปรับภาพลักษณ์ว่ารัฐบาลที่มาจากชนชั้นนำก็ใส่ใจคนจน ไม่มีอะไรใหม่จริงๆ “ไม่มี”

7. การพยายามหลีกเลี่ยง “ประชานิยม”จนเกินไป

ถือเป็นการประสบความสำเร็จของกลุ่มพันธมิตรฯ และนักวิชาการกลุ่มอีลิทที่สุดท้ายหลายๆ คนก็ได้ปูนบำเหน็จเป็น สนช. และ สปช. ที่ช่วยกันวาดภาพ “ประชานิยม” ดุจดั่งปีศาจร้าย และรัฐบาลนี้พยายามหลีกเลี่ยงการใช้คำดังกล่าว แต่ก็ดำเนินนโยบายที่คล้ายคลึงกันในหลายประเด็น แต่หลีกเลี่ยงโดยเรียกว่า “นโยบายไทยนิยม” เช่น การแจกเงินชาวนามีที่ดินไร่ละพันบาทที่ไม่ต่างจากการ “โปรยเงินลงจากเฮลิคอปเตอร์” (Helicopter money) แถมเป็นการโปรยแบบไม่ถูกกลุ่ม (เช่นเดียวกับที่พรรคประชาธิปัตย์เคยแจกเช็กช่วยชาติ โดยเลี่ยงไปใช้คำว่า “นโยบายประชาภิวัฒน์”) ประชานิยมไม่ใช่ปีศาจร้าย แต่การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบไม่โฟกัสต่างหากคือสิ่งที่แย่ เหมือนพยายามจะแต่งเพลงรักที่ไม่มีคำว่า “รัก” คำว่า”เธอ” คำว่า “ฉัน” อยู่ในเพลงนั่นล่ะ
ooo

'อุเทน'แนะ'รบ.-คสช.'แก้ปัญหาเศรษฐกิจ หวั่นภาวะ'จนทั้งแผ่นดิน'


24 ต.ค. 2557

"อุเทน" โพสต์เฟซบุ๊ก แนะ "รัฐบาล -คสช."รีบแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ห่วงประเทศไทย จะเกิดภาวะจนทั้งแผ่นดิน แบบ "รวยกระจุก จนกระจาย" พร้อมขอให้ "ประยุทธ์" ลดภาวะเงินเฟ้อ หลังสินค้ามีราคาสูงกว่าค่าแรง และรีบแก้ไขความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน และดูแล ปชช. ...

เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Utain Shartpinyo ถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่กำลังจะเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ ที่จะก่อผลกระทบต่อประชาชนจนอาจจะเกิดวิกฤติ "จนทั้งแผ่นดิน" โดยมีข้อความว่า ข่าวว่า ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนที่สูงมาก เฉียดล้านล้านบาท สิ่งที่จะตามมา คือการใช้จ่ายของประชาชนจะมีกำลังน้อยลง ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก มากๆ เพราะอะไร ในเมื่อรัฐบาลได้เพิ่มทั้งค่าแรงรายวันและเงินเดือนแล้ว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ สินค้ามีราคาสูงกว่าค่าแรงมากตามสัดส่วนที่ตามไม่ทัน

"นี่แหละผลจาก สองสูง ของใครบางคน ได้ทำร้ายประเทศไทยเข้าอย่างแรง จนประชาชนหาเงิน สร้างรายได้ไม่ทันรายจ่าย "ภาวะจนทั้งแผ่นดิน" กำลังจะเกิด "รวยจะกระจุก จนกระจายไปทั่วแผ่นดิน"

นายอุเทน ยังโพสต์ต่อว่า "ขอเตือน ขอแนะรัฐบาล และ คสช. หากไม่รีบแก้ไข ลดภาวะเงินเฟ้อ ประเทศชาติจะเกิดวิกฤติ ภัยจากคนสู่คน ด้วยกัน คือ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจะลด และไม่มีในที่สุด และเมื่อ AEC. ถึงกำหนด ( 31/12/2558 ) ขอย้ำ ช่วยระวัง ช่วยดูแล ประชาชนด้วย โดยด่วน"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย ยังได้เปิดเว็บไซต์ www.khonthaireset.com และแฟนเพจเฟซบุ๊ก khonthaireset เพื่อเชิญชวนบุคลากรจากภาคส่วนต่างๆ ให้เข้าร่วมทำงานคู่ขนานกับ สถาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งขึ้น ภายใต้หลักคิด "เลิกประชานิยม หยุดการคอร์รัปชัน เป็นธรรมต่อสังคม" เพื่อเป็นพื้นที่ให้บุคคลทั่วไปร่วมเสนอแนะแนวทางในการปฏิรูปประเทศในทุกมิติ โดยกรอบการทำงานของกลุ่ม khonthaireset ที่จะเกิดขึ้นนั้น จะเริ่มตั้งแต่การเกาะติดกรอบแนวคิด และวิธีปฏิบัติของ สปช.ต่อการปฏิรูปประเทศไทย โดยใช้ช่องทางต่างๆ กระตุ้น ติติง และเสนอแนะ ให้เดินไปสู่กระบวนการที่จะนำพาประเทศชาติ ให้อยู่รอด ยั่งยืน และมั่นคง.