วันพฤหัสบดี, เมษายน 30, 2558

คณะผู้แทน EU เยี่ยมศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน





ที่มาภาพ FB European Union in Thailand
ที่มาเรื่อง ประชาไท

Tue, 2015-04-28

ผู้แทนจากคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยและประเทศสมาชิกในกลุ่มอียู เข้าเยี่ยมศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชมประทับใจในการทำงาน-ชื่นชมในความพยายามปกป้องสิทธิฯ ทนายจากศูนย์ทนายฯ เผยคุยเรื่องการบังคับใช้มาตรา 44

28 เม.ย.2558 วานนี้ ผู้แทนจากคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยและประเทศสมาชิกในกลุ่มอียู เข้าเยี่ยมศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

โดยเพจทางการของคณะผู้แทนสหภาพยุโรปฯ ระบุว่า มีความประทับใจในการทำงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก และรู้สึกชื่นชมในความพยายามของศูนย์ฯ เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ประชาไทว่า วานนี้ ได้พูดคุยกับคณะผู้แทนสหภาพยุโรปฯ ถึงการทำงานของศูนย์ ปัญหาและอุปสรรคที่พบ โดยคณะผู้แทนสหภาพยุโรปฯ ได้สอบถามถึงผลจากการบังคับใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แทนกฎอัยการศึก ด้วย

เยาวลักษณ์ กล่าวถึงปัญหาสำคัญขณะนี้ว่า ระบบนิติรัฐไม่ได้เป็นไปตามปกติ โดยมีการใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 3, 4, 5 ให้อำนาจทหารเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเกือบทุกฉบับ ทั้งนี้ ตั้งคำถามกับการเข้ามามีบทบาทในกลไกต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ทหารอย่างกว้างขวางด้วย

เยาวลักษณ์ชี้ว่า บางกรณียังไม่เห็นคำสั่งแต่งตั้ง แต่ก็เห็นการอ้างใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น กรณีจับ อบต. คอร์รัปชันในจังหวัดทางภาคตะวันออก

เธอชี้ว่า อุปสรรคการทำงานของศูนย์ทนายฯ คือการเข้าถึงผู้ต้องหา โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร เวลาไปเรือนจำ เพื่อสอบข้อเท็จจริงหรือพูดคุยกับผู้ต้องหา พวกเขาก็ไม่กล้าให้ข้อมูล ขณะที่ศาลทหารเองก็ออกแนวปฏิบัติใหม่ ให้ทนายพบผู้ต้องหาได้สั้นลง

เยาวลักษณ์ กล่าวด้วยว่า แม้ คสช. จะยกเลิกกฎอัยการศึกและหันมาใช้มาตรา 44 แทน แต่สถานการณ์ของผู้ต้องหาในกระบวนการยุติธรรมก็ไม่เปลี่ยน และยิ่งเห็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารที่มากขึ้น

"ตอนกฎอัยการศึก 7 วัน ทนายไม่ได้พบผู้ต้องหา พอใช้คำสั่งที่ 3 ทนายก็ไม่ได้พบผู้ต้องหาเหมือนกัน เราเข้าถึงให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายได้ยากขึ้น ผู้ต้องหาก็เข้าถึงความยุติธรรมได้ยากขึ้น ทั้งไม่มีการเปิดเผยสถานที่คุมขัง ไม่มีสิทธิพบญาติ และเสี่ยงถูกซ้อมทรมาน"