วันพุธ, พฤษภาคม 27, 2558

'พิชิต-วิโรจน์-อนุสรณ์-ธนาธร' ถก1ปี เศรษฐกิจไทย ความหวังและอนาคต (มีคลิป)



Tue, 2015-05-26 15:11 -- editor
ณัฐิสา ปัทมาภรณ์พงศ์

ที่มา เด็กหลังห้อง

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2558 Siam Intelligence Unit (SIU) ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย และกลุ่มเรียกร้องประชามติที่เป็นประชาธิปไตย จัดเสวนาในหัวข้อ1ปี เศรษฐกิจไทย ความหวังและอนาคต” โดยมีวิทยากร ได้แก่นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายวิโรจน์ อาลี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิบดีฝ่ายวิจัยและบริหารวิชาการมหาวิทยาลัยรังสิต และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครนายก ดำเนินรายการโดยกานต์ ยืนยง ผู้อำนวยการ Siam Intelligence Unit (SIU)

ระบอบประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้คนเข้าถึงทรัพยากรได้ง่ายกว่า แต่ไม่ว่านโยบายของรัฐบาลไหนก็ไม่ส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง



เริ่มด้วยสถานการณ์ระหว่างประเทศนายวิโรจน์ กล่าวว่าจากการที่ได้พูดคุยกับทูตประเทศต่าง ที่แสดงความไม่แน่ใจในสถานการณ์บ้านเรา อาจถูกโดดเดี่ยวทางการเมือง ซึ่งมีผลจากสองปัจจัยคือ การทำรัฐประหาร และปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจมีมายาวนาน รัฐยังหาทางออกเข้าไปจัดการไม่ได้ เหตุการณ์ที่ย่ำแย่ตอนนี้ได้แก่ เรื่องค้ามนุษย์ICAO มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองอยู่บ้าง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นสามารถร่วมกันแก้ปัญหาได้การอะลุ่มอล่วยมากกว่า

ต่างชาติหาช่องทางในการส่งออก แต่เหตุใดสถานการณ์จึงติดลบทุกมิติ แบ่งเป็นปัจจัยต่างๆดังนี้ ไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออก การลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งการลงทุนจากต่างประเทศเริ่มหดตัวตั้งแต่ปี 2010 แต่ปัญหาสำคัญอยู่ที่บริษัทไทยออกไปลงทุนต่างประเทศมากกว่าการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยของต่างชาติ เนื่องจากปัญหาการกระจายรายได้ไม่เป็นธรรม ผลกระทบทางการเมืองทำให้การบริโภคลดลง รวมทั้งการเตรียมเป็นประชาคมอาเซียน ทำให้ต่างชาติมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย

ย้อนกลับไปยังรัฐบาลประชาธิปไตยก็ไม่ได้จัดการกับปัญหาเศรษฐกิจเท่าที่ควร มุมมองของนักธุรกิจมองว่า ปัจจัยสำคัญไม่ได้เกี่ยวว่าจะเป็นรัฐบาลรัฐประหาร แต่อยู่ที่นโยบายที่รัฐบาลนั้นๆใช้ รัฐบาลประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องส่งเสริมระบบทุนนิยมเสมอไป สิ่งสำคัญ คือต้องแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง

ระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทำให้คนเข้าถึงทรัพยากรมากกว่า และเป็นการส่งเสริมการขยายตัวของระบบทุนนิยม คนต่างชาติอยากเข้ามาลงทุนมากขึ้น ย้อนกลับไปดู 10 ปีย้อนหลังเกี่ยวกับการกระจายรายได้ต่างๆ ภาคบริการมีกว่า 50-60% แต่ค่าตอบแทนต่อหัวยังไม่สูงมาก ภาคอุตสาหกรรมจ้างคนไม่มาก13-14% แต่ให้ผลตอบแทนเกิน 30% ของรายได้ ส่วนภาคเกษตรจะแย่ที่สุดมีแรงงานกว่า 40% ให้ผลตอบแทนประมาณ 12% ซึ่งเปลี่ยนแปลงยาก และเริ่มเข้าสู่ภาคบริการมากขึ้น แต่รายได้ต่อหัวยังต่ำ เป็นปัญหาสำคัญและไม่มียุทธศาสตร์ใดที่จะพัฒนาให้ดีขึ้น ยิ่งภาคเกษตรเป็นปัญหาที่สำคัญของสังคมไทยยังมีค่าเฉลี่ยต่อหัวต่ำ

ภาคเกษตรของเราไม่ได้ป้อนโลก ต่างประเทศไม่ได้นำเข้าสินค้าส่งออกเรามากขนาดนั้น 1 ปีที่ผ่านมาได้มีการแก้ปัญหาได้แก่ การจ่ายเงินจำนำข้าว และเงินช่วยปัจจัยการผลิต 1,500 บาท ภาพรวมไม่มีอะไรเลย และยังไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ควรมียุทธศาสตร์ที่จะจัดการกับประชากรที่มีอยู่ จะทำอย่างไรให้คุณภาพชีวิตคนแต่ละภาคดีขึ้น ภายใต้ระบอบเศรษฐกิจที่มีศักยภาพมากขึ้น ภาคเกษตรเรายังไม่สามารถแก้ปัญหา ภาคอุตสาหกรรมมีปัญหาการยกระดับขีดความสามารถการผลิต นโยบายของรัฐจำเป็น เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะเศรษฐกิจโตเองไม่ได้และมักผลักให้เป็นภาระของรัฐบาลที่แล้ว ภาคบริการยังมีการท่องเที่ยว แต่ตกไปอยู่อันดับ 3 อันดับ4 ของอาเซียน จำเป็นต้องการพัฒนาอย่างประเทศมาเลเซีย ที่เปิดโอกาสให้คนต่างชาติมาถือครองทรัพย์สิน ที่ดินในประเทศได้ 99 ปี เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เนื่องจากชาวต่างชาติที่มาอาศัยอยู่นั้นก็ใช้จ่ายภายในประเทศอย่างเดียว

ภาพรวมค่อนข้างถดถอยเพราะไทยไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าจะทำอะไร และด้วยความที่เราแกว่งไปแกว่งมาระหว่างความเป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของรัฐ เพราะไม่ดูแลเรื่องทุกข์สุข เงินในกระเป๋าของประชาชน ทั้งที่เป็นผลประโยชน์ของรัฐสมัยใหม่ ในแง่ของการเพิ่มขีดความสามารถของรายได้ ศักยภาพการแข่งขันที่มากขึ้น แต่ยังติดกับวาทกรรมเช่น ให้อยู่แบบพอมีพอกิน และไม่เน้นแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น

ช่วงต่อมาได้มีการพูดถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทย โดยอ.พิชิต สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วง 1-2 ปีหลังและแนวโน้มในอนาคต อ้างอิงข้อมูลจริงตัวเลขเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ ในปี 2557 การลงทุนภาครัฐติดลบมากที่สุด -6.1 เนื่องจากปัญหาการเมือง การส่งออก -0.3 ถือว่าไม่โต จีดีพี เดือน พ.ค.2558 โต 3-4 % ถือว่าดี ซึ่งปกติจีดีพีจะโตเฉลี่ย 4% ในสถานการณ์ปกติเช่นในปี พ.ศ.2540-2549

หากเทียบการเติบโตทางเศรษฐกิจในอาเซียน ปัญหาเศรษฐกิจของไทยเกิดจากปัจจัยภายในแน่นอน เพราะประเทศอื่นๆในอาเซียนนั้นมีอัตราการเจริญเติบโตดีขึ้น ทั้งที่บางประเทศมีโครงสร้างเศรษฐกิจไม่ต่างจากไทย เช่น พม่า อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สาเหตุที่ในประเทศไทยมีปัญหาเพราะ รายได้ภาคเกษตรหดตัว ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การใช้จ่าย การลงทุน การบริโภคภาคเกษตรจึงหายหมด ด้านการท่องเที่ยวหดตัว นักท่องเที่ยวหดหายตั้งแต่มีการชุมนุมทางการเมืองก่อนรัฐประหารและต่อเนื่องมาจนถึงสิ้นปี 2557

ต้นปี2558 ไตรมาสแรกนักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนถึง19% และมาเลเซีย 11% ที่เข้ามาทางหาดใหญ่ ด้านดัชนีชี้วัดการใช้จ่ายภายในประเทศมีการลดการใช้จ่ายสินค้าคงทน เช่น เครื่องซักผ้า เตาไมโครเวฟ ตู้เย็น จอโทรทัศน์สี ในขณะสินค้าไม่คงทน รวมทั้งด้านบริการจะมีรายจ่ายคงที่ เพราะเป็นสิ่งจำเป็น เช่น เสื้อผ้า น้ำ ไฟฟ้า เป็นปกติของประเทศที่เศรษฐกิจฟลุบมักจะลดการใช้สินค้าคงทน การท่องเที่ยวต้นปีเริ่มฟื้นส่วนมากเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มจีนและอาเซียนมากกว่า

การลงทุนวัตถุดิบ เช่น การก่อสร้างติดลบ การนำเข้าเครื่องจักรติดลบ ล่าสุดการซื้อขายรถยนต์ติดลบหนัก สาเหตุจากนักลงทุนไม่มีความมั่นใจ ส่วนการส่งออกไตรมาสแรกอาการหนัก การส่งออกของไทยไม่โตเลยมา 2-3 ปีแล้ว เกิดจากโครงสร้างอุตสาหกรรมไม่สามารถผลิตสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นได้ เงินเฟ้อติดลบ ราคาสินค้าลดลง สาเหตุหนึ่งของการติดลบคือราคาน้ำมัน ทำให้ราคาสินค้าอื่นลดลงไปด้วย

แบงค์ชาติหรือคณะกรรมการนโยบายการเงิน 11 มี.ค. 2558 ลดนโยบายการเงินจาก 2% เป็น 1.75% การบริโภคและลงทุนยังอ่อนแอ เพราะขาดความเชื่อมั่น 28 เม.ย. 2558 ลดนโยบายการเงินจาก 1.75% เป็น 1.50% เนื่องจากการบริโภคการลงทุนฟื้นตัวช้า การส่งออกมีความเสี่ยง การท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐจะทำให้เศรษฐกิจโต

ภาพรวมประเทศไทยติดกับดับเศรษฐกิจประเทศปานกลาง ซึ่งการพัฒนาไปเป็นประเทศที่ร่ำรวยค่อนข้างยาก เพราะต้องเปลี่ยนทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจ กฎหมาย การเมืองและการศึกษา แรงงานลดจำนวน มีการเติบโตภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ในขณะในไทยมีการเปลี่ยนรัฐบาลหลายครั้งทำให้โครงการต่างๆไม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งทำครั้งล่าสุดสิบปีที่แล้ว คือ การสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ

สำหรับแนวโน้มในครึ่งปีหลัง คาดว่าอัตราการส่งออกไทยไม่น่าฟื้นและเติบโตไม่ถึง3% เนื่องจากประเทศคู่ค้าสามารถหาสินค้ามาตรฐานเดียวกันในราคาที่ถูกกว่าได้

ด้านนายอนุสรณ์ ได้พูดถึงนโยบายภาครัฐเกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ เริ่มจากการเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทยก่อนและหลังรัฐประหาร ต้องแยกแยะให้ออกระหว่างผลระยะสั้นและผลระยะยาว ซึ่งมีปัจจัยต่างๆที่มีผลกระทบตลอดเวลา สำหรับเศรษฐกิจไทยหลังรัฐประหาร 1 ปี อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงขึ้น (ปี2557 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ0.7% ปี 2558 คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ3-4%) แต่จะบอกว่ารัฐประหารทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นอย่างเดียวไม่ได้ เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ รัฐประหารอาจลดความขัดแย้งไปบ้าง แต่ความขัดแย้งทางโครงสร้างและเศรษฐกิจยังคงอยู่ เมื่อนำรัฐประหารไปเทียบกับความวุ่นวายจากการชัดดาวน์กรุงเทพฯถือว่าดีกว่า

ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงติดอันดับโลก ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ประชาชนไปก่อหนี้ หรือไม่พอเพียง แต่ปัญหาเกิดจากการกระจายรายได้ เพราะทุกคนต้องการชีวิตที่ดี รัฐบาลคสช.สามารถทำบางอย่างเพื่อวางรากฐานปฏิรูปเศรษฐกิจได้ การผ่อนคลายทางการเงินจะไม่มีผลต่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยมาสองครั้งแล้ว ระดับราคาสินค้าเกษตรติดลบประมาณ 5% ยิ่งราคาข้าวลงเร็วมากในช่วงรัฐประหาร การจำนำข้าวเป็นการแทรกแซงสินค้าเกษตรเพื่อพยุงราคาให้สูง เกษตรกรได้ประโยชน์ ส่วนเรื่องคอรัปชันก็ควรจัดการแยกออกไป

การส่งออกที่ติดลบเยอะเพราะการตัด GSP ของ EU ในช่วงต้นปี ซึ่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสามารถเข้าไปเจรจาได้ เช่น เปิดเสรีการค้าได้ แต่ EU ตั้งกฎว่าจะไม่เจรจากับรัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหารทำให้ไม่สามารถชดเชยความเสียหายได้ ปัจจัยต่อมาคืออัตราการเจริญเติบโตของจีนชะลอตัวมาก ลดลง 0.3% เมื่อจีนส่งออกน้อยลง ไทยก็จะส่งออกน้อยลงเช่นกัน รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างภายในของไทยที่การส่งออกไม่เป็นที่ต้องการของตลาด หรือไม่มีส่วนแบ่งในตลาด แต่เป็นความโชคดีที่ราคาน้ำมันลดลงเยอะ ทำให้แรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อน้อยลง ปัญหาทางการเมืองที่ต่อเนื่องตั้งแต่จุดแตกหัก คือ รัฐประหาร 2549 ทำให้ไทยถือว่าเป็นประเทศเศรษฐกิจเติบโตช้า หากคสช.ไม่สามารถทำตามRoad map และไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด อย่างที่เคยบอกว่าจะมีการเลือกตั้งปีหน้า เป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะตกต่ำต่อไป

ความหวังของเศรษฐกิจไทย อนาคตของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ของระบอบประชาธิปไตยที่มีความมั่นคงและมีคุณภาพระบอบเศรษฐกิจไทยจึงจะสามารถขยายตัวได้อย่างยั่งยืนและเป็นธรรม ซึ่งเป็นข้อสรุปที่อยู่บนพื้นฐานของงานวิจัยที่ศึกษามาอย่างต่อเนื่องของเหล่านักเศรษฐศาสตร์ และถ้าใช้ระบบอื่นอาจไม่ดีเท่าระบอบประชาธิปไตย ในอนาคตระบอบประชาธิปไตยจะทำให้อัตราการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจดีกว่าระบอบอำนาจนิยมหลายเท่าตัว ดูจากประเทศที่พัฒนาแล้วไม่มีประเทศไหนเป็นเผด็จการ หลายคนอาจจะอ้างจีน ทั้งที่จีนเป็นประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์ที่พรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีกระบวนการเป็นประชาธิปไตย ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์ก็มีการเลือกตั้ง

เสรีภาพทางความคิด เสรีภาพทางการแสดงออกทำให้เกิดนวัตกรรม การสร้างมูลค่าของผลผลิตเพื่อแก้ปัญหากับดักของเศรษฐกิจไทยอย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้น ระบอบประชาธิปไตยมีกลไกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งและเสถียรภาพได้มากกว่า ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ

ความหลงผิดในระบอบอำนาจนิยม เห็นได้จากการเติบโตเศรษฐกิจในยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์เกิดจากการสนับสนุนของธนาคารโลกและอเมริกาในช่วงสงครามเย็นที่อเมริกายังเป็นเผด็จการอยู่ อนาคตของเศรษฐกิจไทย แรงกดดันจากชาติตะวันตก เช่น ปัญหาแรงงานทาส ค้ามนุษย์ ที่มีมานานแล้ว เสี่ยงต่อภาคส่งออกของไทย ซึ่งสหรัฐกำหนดให้ไทยอยู่ในระดับต่ำ ปัญหาประมงผิดกฎหมาย เป็นต้น

ต่อมานายธนาธร ได้พูดถึงการปรับตัวของภาคธุรกิจในสถานการณ์ปัจจุบัน สืบเนื่องจากวิทยากรคนก่อนหน้าได้กล่าวว่าไทยประสบปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะการส่งออก จำเป็นต้องมองย้อนหลังไปปัญหารัฐประหารปี 2549 ที่สถานะทางเศรษฐกิจถดถอย ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อติดลบ อัตราส่วนของหนี้ที่ไม่เกิดรายได้ 42.9% และหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่อันตราย อัตราหนี้ต่อทุนเพียงแค่ 1.3 เท่าของปี 2540 ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะไม่เหมือนในปี 2540 เพราะมีการเรียนรู้จากบทเรียนแต่จะยืดเยื้อและยาวนาน เนื่องจากเป็นวิกฤตที่เกิดจากความสามารถในการแข่งขันของรัฐไทยว่าจะแข่งขันในยุคโลกาภิวัตน์ได้แค่ไหน จะเห็นได้จากประเทศไทยขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง ส่วนแบ่งสินค้าไทยในตลาดโลกไม่ขยายตัวมากว่า 10 ปี และมีแนวโน้มจะลดลงด้วย มีการย้ายฐานการผลิต สินค้าส่งออกที่สำคัญคือ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เพชร เฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมยานยนต์ยากที่จะเติบโตเชิงคุณภาพ ตลาดใหญ่ของเอเชียอยู่ที่อินโดนีเซียไม่ใช่ไทย ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในประเทศที่ระดับรายได้กลางสูง และจะขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง

ความเป็นผู้นำไทยในเวทีอาเซียนก็ถดถอย การใช้จ่ายภาครัฐเป็นเพียง 17%ของการลงทุน ความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมือง คือ ไทยเปลี่ยนนายกฯช่วงหลังรัฐประหาร 2549 อยู่ในตำแหน่งเฉลี่ย 17 เดือนต่อคน ทำให้รัฐบาลไม่สามารถดำเนินนโยบายเป็นชิ้นเป็นอัน กลุ่มการเมืองไม่มีเวลาคิดนโยบายที่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ เกิดแต่นโยบายที่จะเอาชนะการเลือกตั้ง สำหรับแนวโน้มในอนาคตมีความเห็นตรงกับ อ.อนุสรณ์ กล่าวคือ หากไม่สามารถสถาปนาประชาธิปไตยและความเป็นนิติรัฐ ก็มองไม่เห็นทางที่ประเทศไทยจะหลุดจากกับดัก หรือสามารถแข่งขันกับเวทีโลกได้ ไม่เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงของโลก

คลื่นลูกต่อไปที่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจไทย คือการกระจายอำนาจที่เป็นธรรม เริ่มต้นจากรัฐธรรมนูญ 2540 จนปัจจุบันทิศทางยังไม่ชัดเจน ควรเริ่มจากการกระจายอำนาจและพัฒนาท้องถิ่นให้แข็งแกร่งสามารถบริหารตัวเองได้อย่างเต็มที่ อาจมีการเปิดให้มีธนาคารท้องถิ่นซึ่งเป็นไปได้ยาก

การแข่งขันของผู้คนในระบบโลกาภิวัตน์ต้องการคนที่มีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ ต้องการคนที่เชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง การปลูกฝังค่านิยม12 ประการ ความเป็นไทย เป็นอุดมการณ์ของรัฐที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาบุคลากรและระบบทุนนิยมไทย เราต้องยอมรับว่ามีเผด็จการเสียงข้างมาก ตราบที่เรายังมี freedom of speech ยังมีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม เผด็จการเสียงข้างมากไม่ใช่ศัตรู

ooo

1 ปีเศรษฐกิจไทย ความหวัง และอนาคต

https://www.youtube.com/watch?v=YntMoUi-Bvc

Streamed live on May 24, 2015
งานเสวนา “1ปีเศรษฐกิจไทย : ความหวังและอนาคต” วิทยากรโดย

1. พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
คณะเศรษฐศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์
2. วิโรจน์ อาลี
รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3. อนุสรณ์ ธรรมใจ
รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต
4. ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครนายก.
ดำเนินรายการโดย
กานต์ ยืนยง ผู้อำนวยการสยามอินเทลลิเจนท์ยูนิต (SIU)
จัดโดย
กลุ่มเรียกร้องประชามติที่เป็นประชาธิปไตย
สยามอินเทลลิเจนท์ยูนิต (SIU)