วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 21, 2558

ทัศนะของ "ศ.ธงชัย วินิจจะกูล" ปมโรฮิงยา ผลประโยชน์ชาติ หรือ มนุษยธรรม



ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

20 พ.ค.- ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยแพร่ข้อความ ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงทัศนะของ ศ.ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา โดยเขียนถึงกรณีของชาวโรฮิงยา โดยระบุว่า


การถกเถียงที่แบ่งจุดยืนเป็นสองขั้ว “อารมณ์ vs เหตุผล” หรือ “ศีลธรรม vs ปัญหาที่เป็นจริง” เป็นกับดักที่ทำให้เราหลงทาง

ช่วงที่ผ่านมามัวแต่ยุ่งกับงานส่วนตัว แต่ก็ติดตามการถกเถียงเรื่องโรฮิงยามาตลอด และรู้สึกเครียดกับความเป็นไทยและการรักชาติของคนไทยมาก มีเรื่องอยากเขียน แต่ไม่มีเวลา ก็เลยขออ้างอิงทัศนะของ อ.ธงชัย แทนแล้วกัน

- การผลักเรือผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาออกสู่น่านน้ำสากล ในนามของผลประโยชน์แห่งชาติ แม้ว่าจะมอบน้ำและอาหารให้ด้วยก็ตาม คือ อาชญากรรม

- เหตุผลหลักของผู้ที่เห็นด้วยกับการผลักชาวโรฮิงยาออกไป คือ ผลประโยชน์แห่งชาติ พวกเขาเห็นผลประโยชน์แห่งชาติสำคัญกว่ามนุษย์

- ปัญหาโรฮิงยาเริ่มจากประเทศเมียนมา แต่โรฮิงยาไม่ได้เป็นปัญหา “ของ” เมียนมา แต่โดยลำพังอีกต่อไป ประชาคมโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกอาเซียนไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบร่วมกันนี้ได้

- สมาชิกอาเซียนต้องยุติพฤติกรรมเอาตัวรอดและไร้มนุษยธรรม ด้วยการผลักชาวโรฮิงยาออกไปให้พ้นจากน่านน้ำของตน

- อาเซียนต้องร่วมกับนานาชาติตั้งศูนย์ชั่วคราวรับผู้ลี้ภัยโรฮิงยา พร้อมๆ กับร่วมมือกันหาทางกดดันและ หรือช่วยเหลือให้รัฐบาลเมียนมาร์แก้ไขปัญหาชาวโรฮิงยาด้วยหลักมนุษยธรรม

- นี่คือหลักการที่เราจะต้องร่วมกันยืนยัน ผลประโยชน์ของชาติต้องไม่อยู่เหนือหลักมนุษยธรรม และทำลายความเป็นมนุษย์ของเรา

- การถกเถียงที่แบ่งจุดยืนเป็นสองขั้ว “อารมณ์ vs เหตุผล” หรือ “ศีลธรรม vs ปัญหาที่เป็นจริง” เป็นกับดักที่ทำให้เราหลงทาง

- การให้ความสำคัญกับมนุษย์ก่อนชาติ ไม่ใช่เรื่องของอารมณ์ การวางชาติไว้เหนือมนุษย์ก็ไม่ได้มีความสมเหตุสมผลมากกว่าเลย แต่นี่คือสองหลักการที่แตกต่างกันต่างหาก

- การให้ความสำคัญกับมนุษย์มากกว่าชาติ คือหลักการที่มีจริยธรรม ขณะที่การวางชาติไว้เหนือมนุษย์คือหลักการชาตินิยม ที่มักอ้างว่ามนุษย์เป็นเรื่องของอารมณ์ (รวมทั้งสิทธิมนุษยชนด้วย)

- หลักการทั้งสองไม่สามารถแก้ปัญหาได้พอๆ กัน หลักการทั้งสองเป็นมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้นพอๆ กัน แต่จะก่อให้เกิดผลและเรื่องน่าปวดหัวที่แตกต่างกันไป