วันพุธ, กรกฎาคม 22, 2558

กลุ่มแม่แห่งจัตุรัสมาโย: การใช้สื่อ..สู่การต่อสู้บนท้องถนน




โดย พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ
เวป Media Inside Out
Tue, 07/21/2015

“ฉันมักจะเริ่มต้นเรื่องราวตรงนี้เสมอ ครอบครัวของฉันย้ายมาจากอิตาลี ตอนนั้นฉันยังเป็นเด็ก ฉันกับแม่เป็นคนโน้มน้าวให้พ่อย้ายมาตั้งรกรากที่อาร์เจนตินาระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง พวกเราโชคดีที่พ่อยอมฟังฉันกับแม่ แต่ตาของฉันไม่เคยเชื่อว่าจะมีอะไรร้ายแรงเกิดขึ้น และชะตากรรมของตาก็จบลงในค่ายกักกันเอาท์ชวิตซ์

ฉันมีชีวิตที่ดีและความทรงจำที่สวยงามมากมายในอาร์เจนตินา จนกระทั่งลูกสาวอายุ 17 ปีของฉันหายตัวไปในช่วงสงครามปราบปรามฝ่ายต่อต้านของรัฐบาลทหาร (Dirty War) ทำให้ฉันและแม่คนอื่นๆ ต้องออกมาบนท้องถนนเพื่อทวงถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกๆ ของเรา” วีรา จารัค เริ่มต้นเล่าประสบการณ์การค้นหาความจริง การต่อสู้บนท้องถนนของพวกเธอ -กลุ่มแม่แห่งจัตุรัสมาโย

2.

ท่ามกลางบรรยากาศความหวาดกลัวที่แผ่ปกคลุมไปทั่วอาร์เจนตินาภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารในช่วงปี 1976 ถึงปี 1983 ซึ่งประมาณกันว่ามีนักเรียน นักศึกษา นักข่าว นักกิจกรรมฝ่ายซ้าย ผู้นำสหภาพแรงงาน รวมถึงกองกำลังมาร์กซิสต์ถูกสังหารด้วยวิธีการต่างๆ ราว 30,000 คน คนกลุ่มแรกๆ ที่ออกมาทำลายความเงียบงันในสังคมคือกลุ่มแม่ของคนหนุ่มสาวที่ ‘ถูกทำให้หายไป’

กลุ่มแม่เหล่านี้มีภูมิหลังและที่มาแตกต่างกัน แต่สิ่งที่ทำให้พวกเธอออกมารวมตัวเรียกหาความยุติธรรมคือการหายตัวไปอย่างไม่รู้ชะตากรรมของลูกสาวและลูกชายด้วยน้ำมือของรัฐทหารที่ปราบปรามฝ่ายต่อต้านอย่างเฉียบขาด โดยมีสหรัฐอเมริกาหนุนหลังเพื่อกำจัดฝ่ายซ้ายในละตินอเมริกาช่วงสงครามเย็น [1]

ในวันที่ 30 เมษายน 1977 กลุ่มแม่ 14 คนซึ่งรู้จักกันจากการเฝ้าตามหาลูกๆ ของพวกเธอที่หายตัวไปตัดสินใจออกมารวมตัวกันบนท้องถนน ณ จัตุรัสมาโย ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับทำเนียบประธานาธิบดี ในเวลานั้นอาร์เจนตินามีกฎหมายห้ามการชุมนุมเกินสามคน พวกเธอทั้งสิบสี่เดินเป็นคู่วนรอบปิรามิดใจกลางจัตุรัสอย่างเงียบเชียบเป็นเวลา 30 นาที, กับรูปภาพของลูกสาวและลูกชายที่หายตัวไปในมือของพวกเธอ แม้จะไม่ได้รับความสนใจจากผู้คนที่ผ่านไปมาในช่วงแรก แต่กลุ่มแม่ยังคงกลับมาพบกันทุกวันพฤหัสบดี เดินวนรอบปิรามิดใจกลางจัตุรัสกับรูปภาพของบุคคลที่หายสาบสูญ คลุมผมด้วยผ้าผืนเล็กสีขาวอันเป็นสัญลักษณ์ของผ้าอ้อมที่พวกเธอเคยเปลี่ยนให้กับลูกสาวลูกชายของเธอเมื่อครั้งยังเป็นทารก

จากกลุ่มแม่จำนวน 14 คนในเดือนเมษายนกลายเป็นกลุ่มแม่จำนวน 834 คนที่ลงประกาศในหนังสือพิมพ์พร้อมด้วยชื่อจริงและเลขบัตรประจำตัวประชาชนว่าต้องการรับทราบ “ความจริง” เกี่ยวกับชะตากรรมของลูกๆ ที่ถูกบังคับให้สูญหายของพวกเธอ, ในวันที่ 10 ธันวาคม 1977




ในช่วงแรก รัฐบาลเผด็จการลังเลที่จะใช้วิธีการขั้นเด็ดขาดกับการปรากฏตัวของกลุ่มแม่แห่งจัตุรัสมาโยเนื่องจากเกรงกลัวว่าจะทำให้เกิดการต่อต้านในวงกว้าง เผด็จการทหารพยายามตอบโต้การเกิดขึ้นของขบวนการเรียกร้องความยุติธรรมด้วยการเรียกพวกเธอว่าเป็น Las Locas หรือกลุ่มผู้หญิงบ้า แต่เมื่อจำนวนของผู้ถูกบังคับให้สูญหายมีมากขึ้น การเคลื่อนไหวของกลุ่มแม่แห่งจัตุรัสมาโยเติบโตขึ้น ความสนใจจากประชาคมนานาชาติและแรงกดดันจากภายนอกต่อความโหดร้ายทารุณของรัฐบาลทหารเพิ่มขึ้น ผู้ก่อตั้ง 3 คนของกลุ่มแม่แห่งจัตุรัสมาโยและแม่ชีชาวฝรั่งเศส 2 คนที่ให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มถูกทำให้สูญหายด้วยการจับโยนลงจากเครื่องบินลงในมหาสมุทรทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่[2] ด้วยความเชื่อของเผด็จการว่าความกลัวอาจจะทำให้คนที่เหลือหยุดเคลื่อนไหว แต่กลุ่มแม่ยังคงดำเนินกิจกรรมของพวกเธอต่อไปภายใต้แรงกดดันและการคุกคามจากรัฐบาลทหาร จนถึงวันที่ระบอบเผด็จการในอาร์เจนตินาสิ้นสุดลงในปี 1983 เนื่องจากสาเหตุหลายประการ ทั้งความพ่ายแพ้ในสงครามเกาะฟอล์คแลนด์, สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ และปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ทำให้รัฐบาลทหารหมดความชอบธรรมในการปกครองประเทศ

3.

ภายใต้บรรยากาศการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามและผู้ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงของระบอบเผด็จการทหารอาร์เจนตินา กลุ่มปัญญาชนและคนรุ่นใหม่ต้องหลบซ่อนหรือลี้ภัยเพื่อหลบหนีการกวาดล้าง ความหวาดกลัวคือเครื่องมืออันทรงพลังที่รัฐบาลเผด็จการใช้ควบคุมความคิด และการแสดงออกของประชาชน ความรู้สึกไร้พลังอำนาจของปัจเจกทำให้รัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรมสามารถปกครองประเทศได้ การปรากฏตัวบนท้องถนนของกลุ่มแม่แห่งจัตุรัสมาโยคือการทำลายความเงียบงันในสังคม เรื่องเล่าและความเจ็บปวดส่วนบุคคลได้กลายมาเป็นภาพซ้อนทับระหว่างประวัติศาสตร์ส่วนตัวของกลุ่มแม่ที่สูญเสียลูกและประวัติศาสตร์การเมืองของอาร์เจนตินาที่อาบไปด้วยเลือดและน้ำตาของสามัญชน

หลังการเปลี่ยนผ่านมาสู่ประชาธิปไตย แม้ว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อตรวจสอบการสูญหายของบุคคลขึ้น รวมทั้งมีการไต่สวนและลงโทษจำคุกนายทหารระดับสูงที่มีส่วนร่วมในการบังคับให้ผู้คนจำนวนมากหายสาบสูญ แต่กองทัพได้พยายามเข้ามาแทรกแซงกระบวนยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อหลีกหนีความผิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามสกปรก ในปี 1986 มีการผ่านกฎหมายฟูลสต็อป (Ley De Punto Final) ซึ่งยกเลิกการสอบสวนและลงโทษผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นก่อนปี 1983 รวมทั้งการผ่านกฎหมายเสริม Law of Due Obedience ที่ระบุว่านายทหารชั้นผู้น้อยไม่จำเป็นต้องรับโทษจากการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหากเป็นการทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ในขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวของกลุ่มแม่แห่งจัตุรัสมาโยได้ยกระดับจากการชุมนุมและการตามหาบุคคลสูญหายมาเป็นการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงขยายขอบเขตของการทำงานรณรงค์ไปสู่ระดับสากล

การเคลื่อนไหวของกลุ่มแม่แห่งจัตุรัสมาโยคือส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางการเมืองของอาร์เจนตินา โดยเฉพาะการต่อสู้กับวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิด (Impunity) กลุ่มแม่แห่งจัตุรัสมาโยประกาศไม่ยอมรับค่าชดเชยและไม่หยุดการชุมนุมในตอนบ่ายของวันพฤหัสบดีภายใต้สโลแกน “Ni olvido, Ni perdón” หรือ “เราไม่ลืม, เราไม่ยกโทษ” จนกว่ารัฐบาลอาร์เจนตินาจะยอมรับว่าการหายตัวไปของคนหนุ่มสาวนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับสงครามสกปรกของรัฐ ในที่สุด กฎหมายทั้งสองถูกโหวตยกเลิกในปี 2003 โดยสภาคองเกรสภายใต้การนำของประธานาธิบดีเนสเตอร์ เคียชเนอร์ ทำให้มีการไต่สวนคดีที่เกี่ยวข้องกับการบังคับบุคคลให้หายสาบสูญ การค้นพบสถานที่คุมขังและซ้อมทรมานกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงการค้นหาร่างหรือหลักฐานของผู้สูญหายด้วยวิธีการทางนิติวิทยาศาสตร์

4.

วันสุดท้ายของการสัมมนาสิทธิมนุษยชนนานาชาติครั้งที่ 14* ในเมืองเซา เปาโล ประเทศบราซิล วีรา จารัค (Vera Jarach), หนึ่งในกลุ่มแม่แห่งจัตุรัสมาโยสายก่อตั้ง [3] ผู้สูญเสียฟรานกา ลูกสาวอายุ 17 ปีซึ่งเข้าร่วมประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารกับกลุ่มนักศึกษาในบัวโนส ไอเรสถ่ายทอดประสบการณ์ของเธอสู่นักกิจกรรมและนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจากเอเชีย, แอฟริกา และละตินอเมริกาในหัวข้อ “การเคลื่อนไหวและการต่อต้าน”





ในวัยกว่า 80 ปี วีรา จารัค ยังพูดจาชัดถ้อยชัดคำ เฉียบคม และเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน นอกจากการปกป้องความทรงจำในฐานะการต่อสู้รูปแบบหนึ่ง วีรา จารัค บอกนักกิจกรรมรุ่นใหม่ว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมยังต้องดำเนินต่อไป เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์เลวร้ายเช่นการฆ่าล้างเผ่าพันธ์หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้ระบอบเผด็จการกลับมาซ้ำรอย

และต่อคำถามว่าด้วยแนวทางการต่อสู้ที่ทำให้นักกิจกรรมจากซีกโลกใต้หลายสิบชีวิตลุกขึ้นปรบมือให้เธอยาวนานกว่าห้านาที วีรา จารัคตอบด้วยรอยยิ้มว่า “มันอาจจะฟังดูน่าเบื่อเพราะประเทศหนึ่งยึดสโสแกนนี้ไปใช้เหมือนเป็นของตัวเอง แต่ฉันก็ยังจะบอกว่าความเชื่อว่าเราทำได้ เราสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เป็นสิ่งสำคัญ ตอนที่เราเริ่มเดินขบวนที่จัตุรัสมาโยในปี 1977 ไม่มีใครเชื่อว่าเราจะมาถึงในจุดที่เราอยู่ในวันนี้ แต่เพราะเราเชื่อว่าเราทำได้ ความเชื่อทำให้เรามีความหวัง ถ้าฉันจะพูดอะไรบางอย่างจากประสบการณ์ของฉันได้ ฉันก็จะบอกว่า ‘Podemos’ (เราทำได้) และอย่าลืมออกไปยึดท้องถนน”


เกี่ยวกับผู้เขียน: พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ อดีตนักศึกษาภาควิชาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง/ วารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท ด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศจาก University for Peace Costa Rica สนใจและติดตามประเด็นเสรีภาพสื่อ เสรีภาพในการแสดงออก ภาพยนตร์ศึกษา และกระแสวัฒนธรรมร่วมสมัยเป็นพิเศษ


[1] อ่านเพิ่มเติมได้ในบบทความ Say No to Pinochet: แคมเปญพลิกโลก http://www.mediainsideout.net/commentary/2013/07/138

[2] ศพของทั้งห้าคนถูกซัดเข้าหาฝั่งแม่น้ำริโอ เด ลา ปลาตา แต่ไม่ได้รับการชันสูตรและยืนยันอัตลักษณ์จนกระทั่งปี 2005 เถ้ากระดูกของพวกเธอถูกฝังเพื่อเป็นเกียรติแก่การต่อสู้ที่แลกมาด้วยชีวิต ณ จัตุรัสมาโย

[3] กลุ่มแม่แห่งจัตุรัสมาโยแตกออกเป็นสองกลุ่มในปี 1986 เนื่องจากความเห็นที่แตกต่างในแนวทางการต่อสู้ กลุ่มแม่ฯ สายก่อตั้งยืนยันวัตถุประสงค์เดิมของการตั้งกลุ่มคือค้นหาความจริงเกี่ยวกับผู้สูญหายและนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในขณะที่กลุ่มสมาคมแม่แห่งจัตุรัสมาโยต้องการสานต่ออุดมการณ์ทางการเมืองของผู้สูญหายในประเด็นต่างๆ

*การสัมมนาสิทธิมนุษยชนนานาชาติ ครั้งที่ 14 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-29 พฤษภาคม 2558