วันศุกร์, กรกฎาคม 31, 2558

ที่เรียกว่า "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" + ว่าด้วยกรณี "สุเทพ รีเทิร์น"




ที่เรียกว่า "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง"
%%%%%%%%%

พูดให้ถึงที่สุด ในทางความคิดแล้ว คำขวัญ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" ที่ชูโดยกปปส.และคสช.มารับลูกต่อนี้ รวมศูนย์ที่ปัญหาใจกลางเดียว

คือประเทศนี้เป็นของใคร? ใครกันแน่ที่เป็นเจ้าของประเทศ?

และถ้าประเทศเป็นของประชาชนแล้ว มันเป็นของประชาชนทุกคนเท่าเทียมกันหรือไม่?

อย่างอื่นล้วนเป็นปัญหารอง

ส่วนในทางปฏิบัติ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" หมายถึง กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบไม่ประชาธิปไตย (Transition to Non-Democracy) โดย: -

-ปรับโครงสร้างระบอบการเมืองการปกครองเสียใหม่ให้เรียบร้อย

-ในลักษณะหักแขนหักขาตัดตีนสินมือสถาบันเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง (elected majoritarian institutions) ให้หมดฤทธิ์พิษสง

-และตกอยู่ใต้อำนาจครอบงำที่เป็นจริงของสถาบันที่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมากและการเลือกตั้ง (unelected, non-majoritarian institutions หรือที่เรียกกันว่า "อำมาตย์") เสียก่อน

-ค่อยให้จัดการเลือกตั้งอย่างแกน ๆ ขึ้นได้

-แล้วเรียกสิ่งที่ได้มาหลังจากนั้นว่า "ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ"

จะเรียกว่าทำประชาธิปไตยให้เชื่องต่อความเป็นไทย, หรือขูดไส้ประชาธิปไตยจนกลวงโบ๋ แทบไม่มีอำนาจจริง ๆ เหลือ ค่อยให้จัดเลือกตั้งก็ได้

Kasian Tejapira


ooo


ว่าด้วยกรณี "สุเทพ รีเทิร์น"

Somsak Jeamteerasakul



๑. ก่อนที่จะพูดถึงการกลับมาของสุเทพ โดยตรง ผมจำเป็นต้องกล่าวโดยทั่วไปถึงปรากฏการณ์และสถานะของ "กปปส" สักเล็กน้อย

ผมคิดว่า ในด้านที่สำคัญมากด้านหนึ่ง กล่าวได้ว่า "กปปส" ก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ หรือถ้าพูดให้ถูกต้องยิ่งขึ้น คือ ขบวนการเคลื่อนไหวมวลชนนอกสภา-บนถนน ของพรรค

ในแง่นี้ กปปส ก็เหมือนกับ นปช นั่นคือ ในขณะที่ นปช คือขบวนการเคลื่อนไหวมวลชนนอกสภา-บนถนน ของพรรคเพื่อไทย กปปส ก็คือองค์กรหรือการเคลื่อนไหวแบบเดียวกันของประชาธิปัตย์

พูดอีกอย่างคือ ในที่สุด พรรคประชาธิปัตย์ ก็หันมาจัดตั้งและใช้การเคลื่อนไหวมวลชนนอกสภา-บนถนน เป็นเครื่องมือการเมืองสำคัญ แบบเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยจัดตั้งและใช้ "นปช-เสื้อแดง" มาก่อนหน้านั้นแล้ว (ผมยังมองว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แม้จะ "แชร์" "ฐานมวลชน" กับประชาธิปัตย์ไม่น้อย แต่จริงๆแล้ว ยังไม่อาจนับว่าเป็น "แขนขาการเคลื่อนไหวมวลชน" ของพรรค แบบ กปปส - หรือ นปช ในกรณีพรรคเพื่อไทย)

๒. การเปรียบเทียบเช่นนี้ ทำให้เห็นประเด็นที่สำคัญมากประเด็นหนึ่งด้วย กล่าวคือ ถ้าพูดในแง่ "ความสำคัญ" หรือ อำนาจต่อรอง ภายในพรรคแล้ว

กปปส - คือ สุเทพกับพวกที่มาเป็น "แกนนำ" กปปส - มีความสำคัญต่อ ปชป มากกว่า นปช มีต่อ พรรคเพื่อไทย

อำนาจต่อรองของ "กปปส" (สุเทพกับแกนนำ) ในพรรค ปชป มีมากกว่า อำนาจต่อรองของแกนนำ นปช ในพรรคเพือไทย

อันที่จริง "นปช" นั้น ในแง่อำนาจต่อรองหรือความสำคัญภายในพรรคเพื่อไทย มีน้อยมาก และน้อยลงเรื่อยๆในหลายปีที่ผ่านมา

ถ้าดูโดยเปรียบเทียบง่ายๆ ไม่มีแกนนำ นปช คนไหน มี "ฐานเสียง" ของตัวเองจริงๆ (นี่เป็นปัจจัยสำคัญของการทำให้มีอำนาจต่อรองในพรรค) ไม่ว่า ณัฐวุฒิ จตุพร เหวง หรือ "แกนนำ เสื้อแดง" คนอื่นๆ ทุกคนอย่างมากก็เป็นเพียง "สส. บัญชีรายชื่อ" คือไม่ได้มี "ฐานเสียง" เหมือน สส. เขต

ในขณะที่ สุเทพ ทุกวันนี้ก็ยังรักษาความเป็น "เจ้าพ่อ" สุราษฎร์ไว้ (แสดงออกในวันแรกสุดของการสึก ด้วยการส่งจดหมายค้านการย้าย สภ) แกนนำ กปปส คนอื่นๆ หลายคนก็ยังมีลักษณะเป็น สส เขต มี "ฐานเสียง" โดยตรงมากกว่า แกนนำ นปช

ประเด็นนี้ นำไปสู่ประเด็นที่สำคัญมากคือ ในแง่การเมืองภายในพรรคนั้น ในที่สุด ทักษิณสามารถคุม นปช ได้ ในขณะที่ มาร์ค ไม่สามารถคุมสุเทพได้จริงๆ

แน่นอน เรื่องนี้โยงกับลักษณะความแตกต่างสำคัญระหว่าง ปชป กับ เพื่อไทย ที่ผมเคยพูดถึงมานานว่า ปชป แต่ไหนแต่ไร มาร์คก็ไมใช่ "ผู้นำสูงสุด" แบบเต็มที่หรือ เอาเข้าจริง ไม่ได้มีลักษณะเหมือนเป็น "เจ้าของพรรค" แบบในกรณีทักษิณต่อพรรคเพื่อไทย

๓. สุเทพ และ กปปส เป็นแขนขาหรือการเคลื่อนไหวจัดตั้งมวลชนนอกสภา-บนถนนของ ปชป แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นตัวแทน "ปีก" หรือ "กระแสความคิด" ที่เรียกว่ามีลักษณะ "ฮาร์ดไลน์" ("สายเหยี่ยว") ของ ปชป โดยรวมด้วย (ประเด็นว่า ทำไมสุเทพ ซึ่งในอดีตเป็นเวลานาน เป็นพวก "เม็คดีล" หรือ เจรจาต่อรอง - สมัยนึงเขาถึงกับเป็นคนที่พยายามติดต่อเจรจากับค่ายทักษิณ - กลับกลายมาเป็นตัวแทน "ฮาร์ดไลน์" เป็นประเด็นทีน่าสนใจในแง่ประวัติศาสตร์การเมือง ซึ่งคงต้องรอการศึกษาโดยละเอียดในอนาคต)

การกลับมาของสุเทพ จึงมีความสำคัญต่อ "ดุลย์อำนาจ" ภายใน ปชป คือทำให้เป็นการเพิ่มกำลังและอิทธิพลอำนาจของ "ปีก" หรือกระแสฮาร์ดไลน์ภายในพรรค

กล่าวอย่างเป็นรูปธรรมในปริบทขณะนี้ กระแสฮาร์ดไลน์ใน ปชป ที่มีสุเทพเป็นหัวหอกใหญ่นี้ จะผลักดันและนำพรรคไปสู่ทิศทางหรือแสดงออกมาใน ๒ ด้านสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกัน คือ ด้านหนึ่ง ต่อทหาร-คสช จะมีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์น้อยลง สนับสนุนมากขึ้น (คงจำได้ว่า ในระยะไม่กี่เดือนหลัง มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ คสช จาก ปชป มากขึ้นๆ) และอีกด้านหนึงซึ่งต่อเนื่องกันคือ จะมีความเป็นไปได้หรือโอกาสที่จะร่วมมือกับ เพื่อไทย ได้น้อยลงๆ

สาระสำคัญของการแถลงข่าวของสุเทพ ยืนยันสิ่งที่ผมเพิ่งเขียนนี้ ไอเดียทีสุเทพเสนอออกมาว่า ต้อง "ปฏิรูปก่อน ไม่ว่าจะนานเท่าใด" ก็คือ บอกว่า คสช จะอยู่ในอำนาจไปอีกเท่าไร ใช้เวลา "ปฏิรูป" อีกนานเท่าไร ไม่สำคัญ

การกลับมาของสุเทพจะเสริมความเข้มแข็งให้กับทิศทางแบบฮาร์ดไลน์นี้ในพรรคประชาธิปัตย์ และทำให้ปีกหรือกระแส (ทีอ่อนอยู่แล้ว - ดูข้างล่าง) ภายในพรรคที่ต้องการประนีประนอมในบางระดับกับฝั่งเพือไทยหรือนักการเมืองเลือกตั้งด้วยกัน เพื่อต่อรองกับทหาร จะยิ่งลำบากหรืออ่อนกำลังลง

๔. ผมเคยเสนอมาก่อนว่า อนาคตของการยกเลิกอำนาจทางการเมืองของทหารอย่างถาวร ขึ้นอยู่กับการ "ปฏิรูปคู่แฝด" คือ การที่ ปชป ต้อง "ขยับ" ออกจากการพึ่งพิงอำนาจทหาร และ เพื่อไทย ขยับออกจากการเป็น "บริษัทชินวัตรการเมืองจำกัด"

การกลับมาของสุเทพ ทำให้การเปลี่ยนแปลงในทิศทางนี้ภายใน ปชป ลำบากขึ้น

ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา มาร์คได้สูญเสีย "อำนาจนำ" ในประชาธิปัตย์ (ที่เดิมก็ไม่เคยมีอยู่ในระดับสูงมากอยู่แล้ว) หรือความสำคัญของตัวเองไปเรื่อยๆ เกือบๆจะกลายเป็นเพียง "หุ่นกระบอก" คอยพูด "ตามกระแส" หรือ "อะเจนด้า" (วาระ) ทีคนอื่นๆในพรรคจะพาไป

น่าเสียดายว่า ในหลายปีที่ผ่านมา กระแส "ปฏิรูป-ประนีประนอม" กับนักการเมืองด้วยกัน ภายใน ปชป อ่อนกำลังจนแทบไม่เหลือ ยกเว้นแต่ประเภท "คนแก่ๆ" ภายในพรรคไม่กี่คน (พิชัย พิเชษฐ์) ที่นานๆทีก็ออกมาส่งเสียงบ่นสักที

ไม่กี่ปีก่อน อลงกรณ์ ทำท่าเหมือนกับจะมาในทางนี้ แต่ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ว่าเขาแย่กว่าคนอื่นที่ยังอยู่ในพรรคเสียอีก กรณีแทนคุณ ที่เป็นคนเดียวที่ออกมาแสดงการคัดค้าน รปห ทันที - ซึ่งเป็นอะไรที่น่าชมเชย - ก็ยัง "อ่อนอาวุโส" หรือคงกระดูกไม่แข็งเกินไป กว่าที่จะมีผลสะเทือนในพรรคได้