วันอาทิตย์, สิงหาคม 30, 2558

“แบบนี้จะให้รับได้อย่างไร” : หลักการล้วนๆ จากภาคส่วนนักวิชาการ-นักการเมือง ชี้ธาตุแท้ร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๘


อัษฎางค์ ปาณิกบุตร

อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

สำหรับประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ภาคการเมือง ราชการ รวมถึงการตรวจสอบและถ่วงดุลของร่างรัฐธรรมนูญนี้ ต้องบอกว่าไม่มี

ไม่มีการถ่วงดุลใดๆ คือร่างรัฐธรรมนูญอย่างที่เราเห็นแล้ว ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย

โดยสามารถแบ่งเป็นสองประเด็นคือ หนึ่ง การเข้าสู่อำนาจ การใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนจะต้องมาจากประชาชน ถ้าคุณมีการเลือกตั้ง ส.ส.แบบสัดส่วนและระบบบัญชีรายชื่อโดยตรง ก็กำหนดอัตราส่วนเลยว่าเท่าไรต่อเท่าไร ไม่ต้องมีการเกลี่ยหรือหักลบอย่างที่มีการระบุเอาไว้ในร่างฉบับนี้ หมายความว่า การเข้าสู่ตำแหน่งจะต้องได้มาจากอธิปไตยของประชาชน เราไม่มีสิทธิที่จะไปหักลบคะแนนของพวกเขา

อีกประเด็น เห็นได้อย่างชัดเจนคือ การสร้างอำนาจซ้อนอำนาจ ทำให้รัฐธรรมนูญนี้ขี้เหร่

การสร้างอำนาจซ้อนอำนาจโดยที่ ส.ว.มาจากวิธีแต่งตั้ง ๑๒๓ คน มีมากกว่าการเลือกตั้ง แนวคิดส่วนตัวของผมอยากจะให้มีสภาเดียวอยู่แล้ว แต่หากอยากจะให้มี ส.ว. มีสองสภามาทำหน้าที่ตรวจสอบ การตรวจสอบจะต้องให้อำนาจอธิปไตยของประชาชนเป็นตัวตั้ง และหากจะให้เป็นอำนาจของประชาชนจริงๆ ส.ว.ทั้งหมดก็ควรจะมาจากการเลือกตั้ง เช่น ให้เลือกตั้งจังหวัดละ คน มี ส.ว.ทั้งหมด ๑๕๔ คน ก็เพียงพอแล้ว และกำหนดอำนาจหน้าที่ที่เหมาะสม ถ้าเป็นแบบนี้ก็จะดูสวยงาม แต่สิ่งที่เห็นในร่างรัฐธรรมนูญกลับไม่ใช่

การให้อำนาจแก่กลุ่มคนที่ถูกแต่งตั้งเหนือกว่าอำนาจอธิปไตยของประชาชนเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้

ประชาชนเลือกรัฐบาลที่พวกเขาต้องการมา แต่กลับต้องมาถูกควบคุมโดยบุคคลที่มาจากการแต่งตั้ง แล้วหากดูที่มาของแต่ละองค์กร ต้องบอกว่าดูไม่จืด คือเห็นได้ชัดว่ามีเจตนาที่จะเอาอำนาจของ คสช. อำนาจของอำมาตย์ มาเป็นอำนาจที่จะควบคุมรัฐบาลที่มาจากประชาชน แบบนี้จะให้รับได้อย่างไร 

นอกจากนี้ยังมีกรณีขององค์กรอิสระต่างๆ รวมทั้งศาลที่ไม่สามารถที่จะตรวจสอบได้ ถามดูสิว่าใครมาเป็นคนตรวจสอบ ทั้งที่จริงแล้วควรจะต้องมีการตรวจสอบจากภาคประชาชน โดยเกิดมาจากพลังของภาคประชาชน

ดังนั้นองค์กรอิสระควรจะต้องมีการเลือกตั้งทางอ้อม เลือกผู้เลือกตั้งมาจังหวัดละ คน แล้วมาชี้ว่าใครควรจะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ว่าให้คนแค่ คนมาตัดสินใจ

เพราะอย่างที่เห็นบ้านเมืองเรามีระบบอุปถัมภ์เป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศล่มจม แต่ไม่มีใครแก้เพราะคนส่วนบนได้ประโยชน์ ใครมีพรรคพวก ใครมีบารมี ก็สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ แต่ประชาชนตาดำๆ ไม่ได้รับการแก้ปัญหา ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ไม่สร้างการกระจายอำนาจและไม่สร้างการถ่วงดุลเลยแม้แต่น้อย


ฉะนั้นจะให้บอกว่าดีไม่ได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่ขี้เหร่ ที่พยายามบอกว่าร่างรัฐธรมนูญนี้เป็นฉบับที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม เด่นในเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้น ต้องบอกได้ว่าไม่จริงเลย

เพราะการที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วม คุณจะต้องให้อำนาจของประชาชนนั้นอยู่เหนืออำนาจอื่นๆ สร้างองค์กรตรวจสอบจากภาคประชาชน ซึ่งเราไม่เห็นรายละเอียดที่เกี่ยวข้องเลย 

ถามว่าคุณกล้าที่จะเขียนหรือไม่ว่าให้มีองค์กรตรวจสอบภาคประชาชนประจำจังหวัดที่มาจากเลือกตั้งโดยตรง กล้าที่จะกระจายองค์กรตำรวจเป็นตำรวจท้องถิ่นกับตำรวจระดับชาติหรือไม่

เรื่องพวกนี้เคยเสนอวุฒิสภาตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ แต่ก็ไม่มีใครกล้า เพราะจะให้ผู้ที่อยู่ในอำนาจเสียผลประโยชน์ ดังนั้นจะอ้างว่ามาปฏิรูป ทำไม่ได้หรอก เพราะจะปฏิรูปอะไรหากผู้มีอำนาจเสียผลประโยชน์เขาก็จะบอกว่าไม่เอา 

อีกทั้งแทนที่จะมีการสนับสนุนเรื่ององค์กรชุมชนต่างๆ ที่มีอยู่ประจำจังหวัด องค์กรที่ประชาชนจัดตั้งกันขึ้นมากันเองจริงๆ รัฐธรรมนุญฉบับนี้กลับพยายามที่จะสร้างองค์กรที่ขึ้นกับภาคราชการ ความจริงคุณจะต้องให้องค์กรเหล่านี้เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์และความกระตือรือร้นของประชาชนแท้ๆ สิ่งเหล่านี้กลับไม่ได้มีการสนับสนุน มีแต่ความพยายามในการโฆษณาชวนเชื่อ แต่ผลงานที่ออกมากลับไม่ตรงกับคำพูดที่พูด

ความพยายามที่จะบอกว่าให้อำนาจประชาชน อยากถามว่าอยู่ตรงไหน อำนาจของประชาชนมีโดยกำเนิดของเขาอยู่แล้ว ไม่ต้องไปให้เขา

อำนาจอธิปไตยนั้นมาพร้อมกับการเกิดของพวกเขาในประเทศแห่งนี้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องบอกว่าจะไปให้เขา เพราะทุกคนต่างมีอยู่แล้ว มีแต่จะต้องสนับสนุนให้ทุกคนสามารถใช้อำนาจได้อย่างถูกต้อง เช่น การสร้างสภาพลเมืองตามจังหวัดต่างๆ เพื่อที่จะมีที่ให้ประชาชนได้ออกเสียง ได้แสดงความคิดเห็น โดยที่ไม่ต้องไปปิดถนนให้ผิดกฎหมาย แบบนี้กลับไม่มีการสนับสนุนส่งเสริมการสร้างประชาธิปไตยให้ชุมชน ต้องให้พวกเขามีส่วนร่วมและสามารถที่ะจะดูแลท้องถิ่นของตนเองได้ 

ส่วนกรณีบ้านเลขที่ ๑๐๙ และ ๑๑๑ นั้นคือ ตามกฎหมายเดิม หากต้องพัก ปี ก็ต้องเป็นไปตามนั้น จะมาออกกฎหมายเพื่อใช้ย้อนหลังแบบนี้ไม่ได้ เพราะพวกเขาถูกลงโทษด้วยกฎหมายเดิมไปแล้วต้องจบกันไป จะต้องมีการพูดอย่างชัดเจนว่าถูกลงโทษไปแล้วใช่หรือไม่ แล้วจะลงโทษซ้ำอย่างนี้ได้หรือ เพราะโดยหลักการของกฎหมายจะต้องใช้อย่างยุติธรรม 


สุดท้ายนี้ ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะมาอ้างว่าประชาชนมีส่วนร่วมไม่ได้ แต่เท่าที่เห็นมีแต่ดูถูกอำนาจอธิปไตยของประชาชนเสียมากกว่า ไม่ใช่รัฐธรรมนูญของประเทศเลยแม้แต่น้อย

เพราะในทางนิติศาสตร์ รัฐธรรมนูญหมายถึงกฎหมายสูงสุดของประเทศ ส่วนในทางรัฐศาสตร์หมายถึงโครงสร้างของประเทศ ดังนั้นรัฐธรรมนูญจะต้องให้คนทั้งประเทศมีส่วนร่วม ต้องมีความยุติธรรมแผ่ไปทุกสัดส่วน ไม่ใช่ร่างมาเพื่อใช้เฉพาะเจาะจงเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อสร้างอำนาจนำให้คนชั้นบน ซึ่งใช้ไม่ได้ 

ธนพร ศรียากูล

หัวหน้าพรรคคนธรรมดา

จำเพาะบทเฉพาะกาลที่ให้ ส.ว.มาจากการสรรหา ๑๒๓ คน โดยที่คนที่ประชาชนเลือกขึ้นมามีเพียง ๗๗ คน เท่านี้ก็เห็นได้ว่าไม่มีการถ่วงดุล

นอกจากนั้นแล้วกระบวนการที่พยายามบอกว่าประชาชนสามารถใช้สิทธิ มีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การป้องกันและปราบปรามการทุจริตต่างๆ ต้องเรียนว่า สาระที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญพิจารณาจากภาษาเขียนแล้วดูประหนึ่งว่าเหมือนจะดี แต่แท้จริงแล้วจะต้องดูสาระที่บัญญัติไว้ในกฎหมายลูก

เพราะกระบวนการจัดทำกฎหมายลูก คนที่จัดทำก็คือ สนช. แล้วถามว่า สนช.มาจากไหน สนช.ก็มีที่มาจาก คสช. โจทย์ที่ คสช. มอบให้กับกรรมาธิการยกร่างฯ ว่าประชาชนไม่จำเป็นต้องมีสิทธิมีเสียงก็จะตกทอดมาสู่ สนช.อีก หรือรัฐสภาที่มี ส.ว. ๑๒๓ คนที่มาจากการแต่งตั้งก็ไม่มีความแตกต่าง สรุปแล้วเนื้อหาในกฎหมายลูกก็จะไม่ต่างกันอย่างแน่นอน

ดังนั้นใครก็ตามที่ออกมาบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดพื้นที่สิทธิ เสรีภาพให้กับพลเมืองเพิ่มขึ้นมากมาย จริงๆ แล้วเป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้น

เพราะกระบวนการจัดทำกฎหมายลูกที่จะไปกำหนดลายละเอียดต่างๆ ล้วนแล้วแต่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ที่มาจากผลการรัฐประหารทั้งสิ้น มาจากผู้ที่ไม่คิดจะฟังเสียงประชาชนแต่แรกอยู่แล้ว ดังนั้นจะหวังว่าคนเหล่านี้จะมาเพิ่มสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน มาตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของตนเอง จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ฉะนั้นแล้วอุดมคติที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯเขียน เป็นเพียงกับดักและภาพลวงตาที่พยายามหลอกประชาชน

อีกทั้งกรณีที่มาของ ส.ส.นั้น ส่วนตัวมองว่าระบบที่ได้รับการยอมรับและใช้ในรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ คือระบบหนึ่งคนหนึ่งเสียง เป็นระบบที่สะท้อนความเท่าเทียมของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างมากที่สุด

แต่ส่วนระบบที่ออกแบบมาล่าสุดหรืออะไรต่างๆ นี้ ต้องพูดตรงๆ ว่า หากเราต้องการให้พรรคการเมืองมีความมั่นคงเข้มแข็ง เราต้องคงหลักการพรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรคเอาไว้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วระบบบัญชีรายชื่อแบบเปิดมีแต่จะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าเป็นการจงใจออกแบบมาเพื่อทำให้ลดทอนอำนาจของประชาชน จนไม่สามารถที่จะทำอะไรได้เลย

ส่วนกรณีบ้านเลขที่ ๑๐๙ และ ๑๑๑ นั้น ต้องย้อนกลับไปที่หลักการว่า การลงโทษใคร เจตนาก็เพื่อให้คนที่ถูกลงโทษกลับมามีพฤติกรรมใช้ชีวิตร่วมกันกับคนอื่นได้ การกระทำใดๆ ก็ตามที่เป็นการตีตราก็จะทำให้เกิดผลเสียแก่สังคม ไม่ใช่แต่เพียงกรณีนี้เท่านั้น 


ในฐานะที่เป็นหนึ่งในบ้านเลขที่ ๑๐๙ มองว่ากระบวนการจะเป็นปัญหาในเชิงปฏิบัติ คาดว่าจะต้องไปถึงศาลให้มีการตีความ และทำให้กระบวนการขั้นตอนมีความซับซ้อน

ทั้งที่ความจริงไม่ควรมองคนกลุ่มนี้อย่างมีอคติตั้งแต่ต้นแล้ว อย่างน้อยที่สุดคนกลุ่มนี้ก็ถูกลงโทษ ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ปีเป็นที่เรียบร้อย

การไปทำเหมือนประหนึ่งว่าคนกลุ่มนี้ไม่สามารถที่จะมีสิทธิพลเมืองเท่ากับคนอื่นๆ ก็เหมือนกับเป็นการตีตราคน 

ไม่ต่างจากการตีตรานักโทษที่พ้นโทษมาแล้ว ตีตราผู้ป่วยที่เป็นโรคต่างๆ ตีตราผู้ที่ประกอบอาชีพที่สังคมไทยดูเหมือนว่าจะไม่ยอมรับ แล้วไม่ให้โอกาสพวกเขาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสังคม ทั้งที่มีกติกากลไกอื่นๆ ที่ดูแลเขาได้อีกมาก

ส่วนอนาคตมองว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติอย่างแน่นอน เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่าสภานี้ไม่ได้มีความหมายอะไรมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว มีแต่หน้าที่ยกมือผ่าน ส่วนที่บอกว่าไม่ผ่านนั้นเป็นเพียงสีสันเท่านั้น

อีกทั้งกระบวนการในการลงประชามติ สิ่งที่น่ากังวลคือกระบวนการในการลงประชามติแบบไม่เปิดโอกาสให้มีการต่อสู้ด้วยเหตุผลอย่างเต็มที่ ระหว่างผู้สนับสนุนอยากให้ผ่านกับผู้ที่คัดค้านโดยอ้างว่าจะเป็นการยุยงปลุกปั่น จะยิ่งเป็นสร้างปัญหาในเรื่องการยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้มากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจจะผ่าน แต่ก็ต้องมีปัญหาในเรื่องความชอบธรรม ซ้ำรอยกับความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๕๐ 

สิ่งที่ คสช.ควรทำคือ ยกเลิกประกาศการห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง และให้มีการรณรงค์กันอย่างเต็มที่ 

หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน เชื่อว่าจะได้รับการยอมรับมากกว่าการห้ามไม่ให้มีการแสดงเสรีภาพทางความคิดเห็น

เพราะหากผ่านไปในสถานการณ์ที่ไม่ให้ประชาชนมีสิทธิเสียงในการแสดงความคิดเห็น เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นกว่าเก่า และเมื่อถึงวันนั้นไม่ทราบว่าแม่น้ำทั้งห้าสายจะรับผิดชอบอย่างไร