วันศุกร์, สิงหาคม 28, 2558

จีนไม่ซื้อของแล้ว ! ผู้บริหาร SCB ถามไทยเตรียมตัวอย่างไร หรือขายสินค้าแบบเดิมๆ




"เราเลิกสนใจจีนไม่ได้ ยังไงๆ ตลาดจีนก็ยังเป็นคู่ค้าสำคัญ เราต้องปรับมาผลิตสินค้าที่จีนต้องการ เราเองต้องรู้ว่า เขาเปลี่ยนแล้ว หากไม่ปรับตามขายของเดิมๆ ตลาดจะเล็กลงเรื่อยๆ ขณะที่สหรัฐฯ ยุโรปก็มีวิกฤติ หนี้สินทั่วโลกโตอย่างไม่น่าโตเลย"

ที่มา สำนักข่าวอิศรา
วันพุธ ที่ 26 สิงหาคม 2558

วันที่ 26 สิงหาคม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จัดงานสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2558 "นวัตกรรมการคลังการเงินเพื่อการปฎิรูปประเทศ" ณ ห้องแอทธินี คริสตัล ฮอลล์ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน กรุงเทพ โดยช่วงบ่าย ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงบริบทใหม่ (New normal) ในภาคธนาคาร จะอยู่รอดได้อย่างไร ไว้อย่างน่าสนใจ

ตอนหนึ่ง ดร.วิชิตได้ยกตัวอย่าง แผนธุรกิจแบบเดิมๆ ก่อนปี 1997 จากอดีตเน้นลูกค้ารายใหญ่ๆ ส่วนลูกค้ารายกลาง รายเล็กไม่ใช่รายได้หลัก แต่หลังปี 1997 หากสถาบันการเงินยังดำเนินแผนธุรกิจแบบเดิม ก็จะเจ๊ง ซึ่งวิกฤติต้มยำกุ้งเป็นเหตุให้สถาบันการเงินมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแผนธุรกิจเพื่อความอยู่รอด

"โชคดีวิกฤติช่วงนั้นเราทำเอง กู้เงินต่างประเทศ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาไม่ได้เกิดวิกฤติด้วย ดังนั้นวิธีแก้ไขจึงไม่ยาก เพราะตลาดส่งออกไปสหรัฐฯ ยุโรป ก็ยังดีอยู่ ของยังขายได้ สถาบันการเงินหลายแห่งเปลี่ยน Business model ให้รับกับ New normal

แต่ปัจจุบันมี New normal ใหม่มาและซับซ้อน ในช่วงมีวิกฤติซับไพร์ม ในสหรัฐฯ คนแปลกใจทำไมกระทบภูมิภาคเอเชียน้อย คำตอบอยู่ที่ประเทศจีนที่ลงทุนเดินหน้าพัฒนาประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2009 พบว่า 40% ทองแดงของทั้งโลกจีนเป็นผู้ซื้อ 50% ของแร่เหล็กจีนเป็นผู้ซื้อ ดังนั้นจีนเป็นผู้ค้ำจุนประเทศในเอเชีย ช่วง 2009 - 2011 ที่สหรัฐฯ มีวิกฤติจนต้องออกมาตรการ QE พยุงเศรษฐกิจ" ประธานกรรมการบริหารแบงก์ไทยพาณิชย์ กล่าว และว่า ตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมา การเปลี่ยนแปลง New normal มาอยู่ที่จีน ผลจากพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างมหาศาลและขายไม่ออก เริ่มสะดุด เกิดฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะกำลังซื้อไม่พอ ตามมาด้วยการลดค่าเงินหยวน และตลาดหุ้นโดนถล่มอย่างที่เห็นช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ภาระหนี้และสถานการณ์ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์จีนแตกนั้น ดร.วิชิต เชื่อว่า จีนสามารถเอาตัวรอดได้ แต่คนที่เจ็บตัวคือ ประเทศที่ส่งออกของไปจีน โดยเฉพาะสินค้าที่เข้าข่าย อุตสาหกรรมหนัก (Heavy Industry) อันนี้เจ็บตัวแน่ ราคาเหล็กลงไป 45% ไม่ต่างกับราคายาง

"New normal ตลาดนี้จะซบเซานานพอสมควร และใครที่คิดว่า 3-4 เดือนฟื้น ก็คงยาก จีนมีปัญหาในภาคอุตสาหกรรมหนักที่ต้องใช้เวลาย่อย แต่กำลังซื้อภาคครัวเรือนของจีนยังดีอยู่ ฉะนั้นผมเชื่อว่า จีนยังแข็งแรงพอ"

สำหรับประเทศไทย ดร.วิชิต ตั้งคำถาม เราเตรียมพร้อมอย่างไรกับจีนที่เคยเป็นผู้นนำเข้าเหล็ก ยาง รายใหญ่ ตอนนี้ไม่ซื้อแล้ว เราจะขายของอย่างเดิมไปจีนอีกหรือไม่ ในเมื่อจีนอยู่ในช่วงเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ จากต่อเรือใหญ่ๆ ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เป็นบริโภคในครัวเรือน (Consumer) ภาคบริการ เทคโนโลยี

"เราเลิกสนใจจีนไม่ได้ ยังไงๆ ตลาดจีนก็ยังเป็นคู่ค้าสำคัญ เราต้องปรับมาผลิตสินค้าที่จีนต้องการ เราเองต้องรู้ว่า เขาเปลี่ยนแล้ว หากไม่ปรับตามขายของเดิมๆ ตลาดจะเล็กลงเรื่อยๆ ขณะที่สหรัฐฯ ยุโรปก็มีวิกฤติ หนี้สินทั่วโลกโตอย่างไม่น่าโตเลย"

สุดท้ายผู้บริหารแบงก์ไทยพาณิชย์ กล่าวด้วยว่า ในระยะสั้นเรื่องเร่งด่วนภาครัฐของไทยต้องช่วยคนระดับรากหญ้า

"แต่เลยจุดนั้นไปคู่ค้าสำคัญเปลี่ยนโครงสร้างแล้ว เราไม่เปลี่ยนตามได้หรือไม่ แล้วคนไทยพร้อมหรือไม่เปลี่ยนหน้าที่การงาน เปลี่ยนแนวคิดว่า เราอยู่ในโหมดที่เป็นวิกฤติหมดแล้ว"