วันเสาร์, ตุลาคม 24, 2558

กฎหมายมาตรา 112 มีไว้เพื่อพิทักษ์สถาบันฯ หรือมีไว้ใช้เป็นยาแรงจัดการกับเป้าหมายหรือขั้วตรงข้าม???




ย้อนรอยผลงานกวาดล้างคดีแอบอ้างสถาบันฯ: จาก ‘พงษ์พัฒน์’ ถึง ‘หมอหยอง’


ที่มา เวป ILAW Freedom
โดย admin เมื่อ 23 ตุลาคม 2015

ช่วงเดือนตุลาคม 2558 มีข่าวลือเรื่องการออกหมายจับผู้ต้องหารายใหม่ที่แอบอ้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อเรียกรับผลประโยชน์ตอบแทน ในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 หรือที่เรียกว่า คดีแอบอ้างฯ และหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งหลายฉบับตีข่าวผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง พร้อมกับก็มีกระแสข่าวว่า "หมอหยอง" หรือ สุริยัน สุจริตพลวงศ์ หมอดูชื่อดัง คือ ผู้ต้องหาคดีแอบอ้างฯ รายใหม่ แม้ว่าเบื้องต้นทางตำรวจจะออกมาปฏิเสธ แต่แล้วข่าวลือก็กลายเป็นข่าวจริงเมื่อ "หมอหยอง" และพวกอีก 2 คน ถูกนำตัวมาฝากขังที่ศาลทหาร

มาตรา 112 บัญญัติขึ้นเพื่อเอาผิดการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ในลักษณะที่เป็นการแสดงออก ต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ในกรณีของหมอหยอง และคดีแอบอ้างฯ อื่นๆ นั้น ไม่ได้เกิดจากการแสดงออก หากนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมามีผู้ถูกจับกุมและดำเนินคดีฐานแอบอ้างฯ แล้วอย่างน้อย 36 คน โดยคดีที่อยู่ในความสนใจของสาธารณะชน อย่างคดีของหมอหยองและคดีเครือข่ายพล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ มีลักษณะคล้ายกัน คือมีข่าวลือ มีการโยกย้ายข้าราชการระดับสูง มีการออกมาปฏิเสธข่าวลือของเจ้าหน้าที่ระดับสูง มีข่าวลือเรื่องการฆ่าตัวตายของคนที่เกี่ยวข้อง และมีการควบคุมตัวด้วยวิธีการพิเศษ

"หมอหยอง" จากข่าวลือสู่ข่าวจริง

คืนวันที่ 16 ตุลาคม 2558 พล.ต.ต.อัคราเดช พิมลศรี ผู้บังคับการปราบปราม ออกมาปฏิเสธข่าวลือสะพัดในเว็บไซต์ต่างๆ ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามเข้าจับกุมตัว นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ หมอหยอง ที่บ้านพัก ในข้อหาแอบอ้างสถาบันเบื้องสูง ซึ่งเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าไม่เป็นความจริง โดยก่อนหน้าที่พล.ต.ต. อัคราเดช จะออกมาแถลงข่าว มีข่าวลือแพร่สะพัดบนเว็บไซต์ เช่น ใน แนวหน้าออนไลน์ ว่า หมอหยองถูกจับกุม

วันที่ 18 ตุลาคม 2558 เว็บไซต์ของสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีคำสั่งที่ 578/2558 เรื่องแต่งตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวน โดยแต่งตั้งให้พลตำรวจโทศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน และพลตำรวจโทฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นรองหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน จากกรณีที่มีกลุ่มบุคคลแอบอ้างสถาบันเบื้องสูงไปกระทำการที่มิบังควร ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และให้คณะทำงานดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีนี้ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว หากพบว่ามีผู้อื่นร่วมกระทำความผิดหรือกระทำผิดเกี่ยวเนื่องกัน ให้มีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีกับความผิดนั้นๆ และรายงานผลให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบ

ต่อมาในวันที่ 19 ตุลาคม 2558 กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน ชี้แจงว่า ได้รับการร้องเรียนจากทางกองทัพว่า มีกลุ่มบุคคลมีพฤติการณ์แอบอ้างสถาบันเบื้องสูงเพื่อเรียกรับผลประโยชน์ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสืบสวนสอบสวนและพบว่ามีกลุ่มบุคคลที่กระทำผิดจริง และขอให้ศาลทหารอนุมัติหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่ามีจำนวนกี่คนหรือเป็นผู้ใด โดยในวันที่ 21 ตุลาคม จะนำตัวผู้ต้องหาไปขออำนาจศาลทหารเพื่อฝากขังผลัดแรก

ขณะที่เดลินิวส์ออนไลน์ ก็รายงานว่า ระหว่างการประชุมจัดกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา 5 ธันวาคม 2558 “ปั่นเพื่อพ่อ Bike for Dad” พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ประธานการประชุม กล่าวว่า สุริยัน หรือ หมอหยอง ยังคงมีรายชื่อเป็นที่ปรึกษาอยู่ในคณะกรรมการฝ่ายจัดกิจกรรมถวายราชสดุดี แต่ในวันนี้ไม่ได้เดินทางมาเข้าร่วมการประชุม

ในวันที่ 21 ตุลาคม 2558 TNN24 ออนไลน์ รายงานว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติเลื่อนการแถลงข่าวประจำวันออกไปอย่างไม่มีกำหนด หลังก่อนหน้านี้ ผบ.ตร. เคยระบุไว้ว่า จะมีการแถลงข่าวตามปกติในเวลาประมาณ 10.00 น. ซึ่งอาจมีการชี้แจงเกี่ยวกับคดีหมิ่นสถาบันฯด้วย

ขณะเดียวกัน มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. พ.ต.อ.ชยุต มารยาทตร์ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 หนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง พร้อมด้วย พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ เดินทางมายังศาลทหาร เพื่อยื่นคำร้องขอฝากขังและเตรียมความพร้อม ก่อนนำตัวผู้ต้องหาในคดีหมิ่นสถาบันฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาขออำนาจศาลฝากขังในผัดแรก

ต่อมาในเวลาประมาณ 15.20 น. พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อมกำลังตำรวจคอมมานโดอาวุธครบมือ ควบคุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับ 3 คน ได้แก่ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา สารวัตรกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) สุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือหมอหยอง และ จิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ เลขาส่วนตัวของสุริยัน มาที่ศาลทหาร เพื่อขออำนาจศาลฝากขังผู้ต้องหา ซึ่งศาลอนุญาตให้ฝากขังเป็นเวลา 12 วัน โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะนำผู้ต้องหาทั้งหมดไปควบคุมตัวที่เรือนจำชั่วคราว ในมณฑลทหารบกที่ 11

หมอหยองไม่ใช่คนแรก: ย้อนรอย การกล่าวโทษและการจับกุม ผู้ต้องหาคดีแอบอ้างฯ หลังการรัฐประหาร 2557

ก่อนหน้าการจับกุมหมอหยองและพวก มีการจับกุมบุคคลด้วยมาตรา 112 จากการแอบอ้างสถาบันเพื่อเรียกรับผลประโยชน์ มาหลายกรณีแล้ว ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2557 มีการจับกุมและตั้งข้อหามาตรา 112 จากการแอบอ้างฯ รวมทั้งข้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงทุจริต เช่น ความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ กับ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พล.ต.ต.โกวิทย์ วงศ์รุ่งโรจน์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และยังมีผู้เกี่ยวข้องอีกอย่างน้อย 8 คนที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาอื่นๆ นอกจากมาตรา 112
หลังการจับกุม 2 นายตำรวจ ก็ยังมีการจับกุมผู้ต้องหาที่ถูกสงสัยว่าทำความผิดในลักษณะเดียวกันตามมาอีกหลายคน เช่น กลุ่มพี่น้องตระกูล "อัครพงษ์ปรีชา" ณัฐพล, สิทธิศักดิ์, ณรงค์, สุทธิศักดิ์ และ ชากานต์ ที่ถูกนำตัวมาฝากขังกับศาลจังหวัดพระโขนงในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน สุดาทิพย์ ม่วงนวล ที่ถูกจับกุมในวันที่ 10 ธันวาคม 2557 จากการแอบอ้างสถาบันเพื่อทำธุรกิจขายน้ำพริก หรือกรณีของ อภิรุจ สุวะดี และ วันทนีย์ สุวะดี ที่ถูกดำเนินคดีจากการแอบอ้างสถาบันเพื่อกลั่นแกล้งให้ผู้อื่นต้องรับโทษทางอาญา เป็นต้น นับจากการรัฐประหารในปี 2557 จนถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2558 มีผู้ถูกกล่าวโทษ ตั้งข้อหา ถูกจับกุม และถูกพิพากษาในคดี 112 จากการแอบอ้างสถาบันฯเพื่อเรียกรับผลประโยชน์แล้วอย่างน้อย 36 คน

สั่งย้าย - ปฎิเสธ - เปิดตัว ความเหมือนของคดีพล.ต.ต. พงศ์พัฒน์และคดี "หมอหยอง"

การนำตัวผู้ต้องหาทั้ง 3 คน ในคดีของ ‘หมอหยอง’ มาฝากขังที่ศาลทหารนั้น ทำให้หวนนึกถึงคดีแอบอ้างสถาบันฯ ของพล.ต.ต.พงศ์พัฒน์และพวก เพราะมีปรากฎการณ์ที่คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นหลายอย่าง ได้แก่

การโยกย้ายข้าราชการชั้นผู้ใหญ่: ในคดีของหมอหยอง ก่อนหน้าการนำตัวมาฝากขังมีการย้ายข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ 8 นาย ในวันที่ 18 ตุลาคม 2558 โดย พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เปิดเผยในวันที่ 19 ตุลาคม 2558 ว่า การโยกย้ายนายตำรวจทั้ง 8 เป็นการโยกย้ายเพื่อตรวจสอบความเกี่ยวข้องกับคดี 112 ขณะที่คดีของพล.ต.ต. พงศ์พัฒน์ มีคำสั่งย้ายพล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ และพล.ต.ต.โกวิทย์ ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557

การออกมาปฏิเสธข่าวลือ: ในกรณีของหมอหยอง ช่วงที่มีข่าวลือหนาหูว่าหมอหยองถูกจับกุม มีเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงอย่างน้อย 2 คน ที่ออกมาให้สัมภาษณ์สยบข่าวลือเรื่องการจับกุม ได้แก่ พล.ต.ต.อัคราเดช ผู้บังคับการปราบปราม ที่ออกมาปฏิเสธข่าวการจับกุมและการเรียกประชุมกลางดึก และพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ที่ยืนยันว่า "หมอหยอง" ยังอยู่ในคณะทำงานจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งทั้งสองกรณีคล้ายกับกรณีของ พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ ซึ่งพล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.ให้สัมภาษณ์ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ว่า พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ถูกโยกย้ายเพื่อรับมอบหมายภารกิจที่สำคัญ อาจเป็นเพราะคดีทั้งสองเป็นคดีใหญ่ เจ้าหน้าที่จึงเลือกที่จะปฏิเสธข่าวลือก่อน แล้วจึงเปิดเผยการจับกุมในภายหลัง เมื่อมั่นใจว่าจะไม่เสียรูปคดี

มีข่าวลือการเสียชีวิตของบุคคลที่เกี่ยวข้อง: ระหว่างการสอบสวนคดีพล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ก็มีรายงานที่ยืนยันแล้วว่า พ.ต.อ.อัครวุฒิ์ หลิมรัตน์ อดีตผกก.1 บก.ป. เสียชีวิตภายในค่ายทหารระหว่างการควบคุมตัวไว้ตามกฎอัยการศึก โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่า พ.ต.อ.อัครวุฒิ์กระโดดตึกฆ่าตัวตาย ด้วยความเครียดและเกรงกลัวถูกดำเนินคดี ซึ่งเมื่อทราบข่าวการเสียชีวิตญาติก็รีบจัดพิธีศพและเผาไปโดยไม่ได้ติดในเรื่องสาเหตุการเสียชีวิต

ขณะที่ในช่วงการควบคุมตัว ‘หมอหยอง’ ก็มีข่าวลือในโลกออนไลน์ถึงการเสียชีวิตของพลตรีพิสิฐศักดิ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ราชองครักษ์ จากการผูกคอตาย เพราะกลัวถูกดำเนินคดีร่วมด้วย ซึ่งข่าวนี้ยังเป็นเพียงแค่ข่าวลือเท่านั้นที่ยังไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริง หรือการปฏิเสธจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การดำเนินคดีแอบอ้างฯ ตามมาตรา 112 กับบุคคลที่มีฐานะทางสังคม หรือบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นประเด็นข่าวใหญ่โตที่ผู้คนในสังคมสนใจ ซึ่งคนในสังคมไทยเห็นตรงกันว่าการแอบอ้างสถาบันฯ เพื่อเรียกรับผลประโยชน์ให้ตนเองนั้นเป็นเรื่องไม่บังควร และมีแต่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย ดังนั้น หากเจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบการดำเนินคดีเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนได้ทราบ ถึงลักษณะการกระทำความผิด หรือการจับกุมและควบคุมตัว ก็จะช่วยให้สังคมปราศจากข้อสงสัย ไม่มีอาการอยากรู้อยากเห็นจนนำไปซุบซิบนินทาต่อๆ กันโดยไม่มีข้อเท็จจริงรองรับ และเมื่อกระบวนการดำเนินคดีมีความโปร่งใส สังคมได้ร่วมรับรู้ตรวจสอบ ก็จะยิ่งทำให้ความพยายามกวาดล้างขบวนการแอบอ้างฯ ดำเนินไปอย่างสง่างามขึ้น

แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพยายามปิดข่าว ไม่เปิดเผยข้อมูลให้สังคมได้รับรู้ รวมถึงออกมาโกหกเรื่องการจับกุมและควบคุมตัวอย่างเห็นได้ชัด ก็กลับส่งผลร้ายให้สังคมเกิดความระแวงสงสัย และซุบซิบนินทาต่อๆ กันไปโดยปราศจากข้อเท็จจริง ซึ่งไม่อาจส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และภาพลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย

มีการควบคุมตัวด้วยอำนาจพิเศษ: ผู้ต้องหาของทั้ง 2 คดี ต่างก็ถูกควบคุมตัวภายใต้กฎหมายพิเศษก่อนเข้าสู่กระบวนการควบคุมตัวตามปกติ คดีของพล.ต.ท. พงศ์พัฒน์ เจ้าหน้าที่ตำรวจรับตัวเข้าสู่กระบวนการหลังผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึกในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2557 หรือประมาณ 10 วันหลังการออกคำสั่งย้ายพล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ไปช่วยราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขณะที่คดีของหมอหยอง ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า เอกสารชี้แจงที่เจ้าหน้าที่นำมาแจกให้ผู้สื่อข่าวในวันที่ 21 ตุลาคม 2558 ระบุว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้ใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรียกตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องมาควบคุมตัวและสอบถาม เมื่อพบว่ามีมูลความผิด จึงได้มีการดำเนินคดี

คดีของหมอหยองยังมีข้อน่าสังเกตว่า ผู้ต้องหา 2 ใน 3 คนปรากฎตัวในสภาพที่ศีรษะถูกโกนซึ่งยังไม่อาจระบุว่าทั้งสองโกนศีรษะด้วยความประสงค์ของตัวเอง หรือโกนตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัว

กระบวนการยุติธรรม EMS: คดีแอบอ้างฯ ทั้งตำรวจและอัยการทำงานรวดเร็ว

ข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ ในการดำเนินคดีแอบอ้างฯ ส่วนมากจะเกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็ว ต่างจากคดี 112 ที่เกิดจากการแสดงความคิดเห็น ที่จำเลยส่วนใหญ่มักจะถูกฝากขังจนครบ 84 วัน กว่าที่อัยการจะส่งฟ้อง

คดีของ พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ จำเลยถูกฝากขังต่อศาลผลัดแรกในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2557 ก่อนจะถูกเบิกตัวมาสอบคำให้การในวันที่ 30 มกราคม 2558 ซึ่งศาลมีคำพิพากษาในวันเดียวกัน ใช้เวลาประมาณ 63 วัน สุดาทิพย์ถูกฝากขังผลัดแรกวันที่ 11 ธันวาคม 2557 ก่อนจะถูกสอบคำให้การและมีคำพิพากษาในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 ใช้เวลา 55 วัน ขณะที่ วันทนีย์ และ อภิรุจ ถูกฝากขังผลัดแรกในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558 ก่อนจะสอบคำให้การวันที่ 11 มีนาคม 2558 และมีคำพิพากษาในวันเดียวกัน ใช้เวลาประมาณ 13 วัน เท่ากับว่าคดีเหล่านี้ อัยการสรุปสำนวนและส่งฟ้องต่อศาลก่อน 84 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ศาลมีอำนาจรับฝากขังจำเลยก่อนอัยการส่งฟ้อง

ขณะที่คดีมาตรา 112 ที่เกิดจากการแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่ เช่น คดีคฑาวุธ คดีเธียรสุธรรม คดีพงษ์ศักดิ์ คดีสิรภพ ฯลฯ ต้องฝากขังจำเลยจนครบเต็มตามอำนาจที่มีก่อน คือ 84 วัน ซึ่งอัยการล้วนส่งฟ้องในวันที่ 84 วันสุดท้ายเหมือนกัน และกว่าที่ศาลจะเรียกจำเลยมาสอบคำให้การก็ล้วนใช้เวลาไปอีกเป็นหลักเดือน

เปิดคำพิพากษาเก่า ลุ้นคำพิพากษาใหม่

ก่อนหน้าคดีของหมอหยอง ศาลทหารและศาลยุติธรรมเคยมีคำพิพากษาคดี 112 ที่เกิดจากการแอบอ้างสถาบันไว้จำนวนหนึ่งแล้ว คดีของพล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ และพล.ต.ต.โกวิทย์ ศาลอาญาพิพากษาจำคุกจำเลยทั้ง 2 เป็นเวลา 5 ปี ก่อนลดโทษเหลือ 2 ปี 6 เดือนเพราะคำรับสารภาพ เช่นเดียวกับคดีของสุดาทิพย์ และคดีของอภิรุจกับวันทนีย์ ขณะที่คดีแอบอ้างสถาบันฯในศาลทหาร เสฏฐวุฒิ เพ็งดิษฐ์ น้องชายของอดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถูกพิพากษาจำคุก 5 ปี ก่อนลดเหลือ 2 ปี 6 เดือน, ทองขาว อินทมาต ผู้อ้างตนเป็นข้าราชการในพระองค์ สมเด็จพระบรมฯ ศาลทหารเชียงรายพิพากษาลงโทษจำคุก 10 ปี ก่อนลดโทษเหลือ 5 ปี เพราะจำเลยรับสารภาพ

แม้คดีแอบอ้างฯ จะโด่งดังและมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากในยุครัฐบาลคสช. แต่ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าแอบอ้างสถาบันฯเพื่อแสวงหาผลประโยชน์เกิดขึ้นแล้วอย่างน้อย 2 คดี คือ คดีของประจวบ อินทปัตย์ที่เกิดในปี 2547 และคดีของอัศวิน ที่เกิดในปี 2549 คดีของประจวบ ศาลฎีกามีคำพิพากษาในเดือน เมษายน 2552 ว่า ประจวบมีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ให้ลงโทษจำคุก 4 ปี สำหรับคดีของอัศวิน จำเลยถูกฟ้องฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จากการแอบอ้างฯ 2 กรรม และจากการดูหมิ่น 1 กรรม รวม 3 กรรม 1 กรรม เดือนธันวาคม 2556 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเพราะพยานหลักฐานโจทก์มีข้อพิรุธ แต่ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับบางส่วนว่าการแอบอ้างถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 1 ใน 2 กรรม มีมูล จึงให้ลงโทษจำคุก 5 ปี ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นฎีกา

ที่ผ่านมาศาลทหารกรุงเทพเคยพิพาก ษาคดี 112 ทั้งจากการแสดงความเห็น และจากการแอบอ้างในอัตราตั้งแต่ กรรมละ 3 ปี 5 ปี 9 ปี และสูงสุด 10 ปี ในส่วนของศาลทหารกรุงเทพ มีจำเลยถูกพิพากษาในคดีแอบบอ้างแล้วอย่างน้อย 3 คน ทุกคนรับโทษกรรมละ 5 ปี รับสารภาพลดเหลือ 2 ปี 6 เดือน เท่ากัน ซึ่งก็น่าจับตาต่อไปว่าในคดีของหมอหยอง ศาลจะวางอัตราโทษเดียวกันหรือไม่ หากสุดท้ายศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด

แอบอ้าง = หมิ่น หรือไม่

ท่ามกลางการเสนอข่าวคดี "หมอหยอง" อย่างละเอียดของสื่อมวลชนกระแสหลัก คำถามหนึ่งขาดหายไปจากหน้าสื่อ คือ ประเด็นปัญหาทางกฎหมายจากการนำมาตรา 112 มาใช้กับคดีแอบอ้างฯ เพราะตามหลัก กฎหมายอาญาจะต้องถูกบังคับใช้อย่างเคร่งครัด กฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งกำหนดโทษในความผิดลักษณะหมิ่นประมาท จึงควรถูกสงวนไว้ใช้กับผู้ที่มีเจตนาทำการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ตามที่กฎหมายบัญญัติเท่านั้น ไม่ควรถูกนำมาขยายความครอบคลุมการแอบอ้างซึ่งมีลักษณะเป็นการฉ้อโกงหลอกลวงบุคคลอื่น แต่ไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาท ผู้ที่กฎหมายอาญามาตรา 112 มุ่งคุ้มครอง เพราะความผิดลักษณะฉ้อโกงก็มีกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นความผิดและกำหนดโทษไว้อยู่แล้ว

การขยายขอบเขตการบังคับใช้กฎหมาย ในทางหนึ่งก็จะทำลายความชอบธรรมของตัวกฎหมายเอง เพราะอาจทำให้เกิดคำถามว่า กฎหมายมาตรา 112 มีไว้เพื่อพิทักษ์สถาบันฯ หรือมีไว้ใช้เป็นยาแรงจัดการกับเป้าหมายหรือขั้วตรงข้าม