วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 23, 2559

อาการจนตรอก





คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
On February 22, 2016
ที่มา โลกวันนี้

การเดินหน้า “ปฏิรูปประเทศ” ตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้มข้นและเข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ ตามห้วงเวลาที่ “เรือแป๊ะ” ใกล้ต้องขึ้นฝั่ง และ “ท่านผู้นำ” ต้องลงจากหลังเสือ !

ข้อเสนอของคณะรัฐมนตรีที่ลงนาม “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ให้บัญญัติเนื้อหาและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงเฉพาะกิจขณะเปลี่ยนผ่าน กับ ช่วงใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร

ยิ่งสะท้อนให้เห็นภาวะความ “ไม่แน่นอน” ทางการเมืองขณะนี้ได้อย่างดีว่า หนทางสู่ “ประชาธิปไตย” ยังดูสับสนและเลือนลาง แม้ “ท่านผู้นำ” จะตอกย้ำไม่ว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเริ่มกระบวนการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2560

แต่การเลือกตั้งไม่ได้หมายถึงการกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างที่ประชาคมโลกให้การยอมรับ ซึ่งนายมีชัยกพูดชัดเจนถึงเหตุผลที่ต้องให้รัฐบาลและ คสช. มีอำนาจมาตรา 44 จนกว่าจะจัดตั้งรัฐบาล เพราะไม่รู้ว่าในอนาคตก่อนการเลือกตั้งจะเกิดอะไรขึ้นก่อนมีรัฐบาลใหม่ แล้วไปตัดมือตัดเท้าไม่ให้รัฐบาลทำงานได้อย่างไร

เป็นความหมายที่ย้อนแย้งชัดเจนกับการเลือกตั้ง เหมือนข้อเสนอของคณะรัฐมนตรีที่ให้ขยักรัฐธรรมนูญเป็น 2 ช่วง เท่ากับบ่งบอกถึงอาการสั่นไหวทางอำนาจของรัฐบาลและ คสช. ทั้งที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดสยบ “ฝ่ายเห็นต่าง” มากว่า 2 ปี

ยิ่งสั่นไหวก็ยิ่งสะท้อนถึง “อาการจนตรอก” คือ ยิ่งเดินยิ่งตันและยิ่งกลัว !

กลัวทั้งตัวเอง กลัวทั้งคนรอบข้าง กลัวทั้งคนอยู่ใกล้และอยู่ไกล

คำพูดของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ยอมรับว่ามาอยู่ตรงนี้เปลืองตัวและตอน “พวกกันเอง” คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เสียใจแค่วันเดียวคือวันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน 2558 พอกลับมาคิดได้ก็รู้ว่า “เขาอยากอยู่ยาว” !

จึงไม่แปลกที่จะมีเสียงสนับสนุนให้ “ท่านผู้นำ” เดินให้ “สุดทาง” หรือ “สุดซอย” เพื่อปฏิรูประเทศให้ได้ ลงทุน “เปลืองตัว” ทำ “รัฐประหาร” แล้วต้องไม่เสียเปล่าหรือเสียของ

ร่างรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นฉบับ “พลเมืองเป็นใหญ่” หรือ “ปราบโกง” เนื้อแท้จึงไม่มีความแตกต่างกันเลย เพราะต้องอยู่ภายใต้กรอบของ “องค์รัฏฐาธิปัตย์”

จึงต้องมี “องค์กรพิเศษ” เพื่อคุมฝ่ายการเมืองให้ได้นานที่สุด ไม่ใช่เพื่อการถ่วงดุลและตรวจสอบอำนาจ แต่เป็น “อำนาจพิเศษ” ที่ส่งต่อผ่าน “องค์กรพิเศษ”

ความแน่นอนจึงเป็นความไม่แน่นอน ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน

แม้แต่การทำ “ประชามติ” อะไรก็เกิดขึ้นได้ ?

การเลือกตั้งปี 2560 จึงยังอีกยาวไกล !

ประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาธิปไตยที่มาจากประชาชน เป็นของประชาชน และเพื่อประชาชน จึงยิ่งไกลแสนไกล !