วันศุกร์, ธันวาคม 30, 2559

ไอลอว์นิยามปี 2559 เป็นปีของความเงียบ ปัญหาและความขัดแย้งทางการเมืองยังปรากฏอยู่ในทุกส่วนของสังคม แต่ถูกกดไว้ไม่ให้มีโอกาสได้แสดงออก


รายงานสิทธิเสรีภาพทางการเมือง ปี 2559: เสียงแห่งความเงียบ


ที่มา ILaw
29 ธันวาคม 2016


ปี 2559 เข้าสู่ปีที่สามภายใต้รัฐบาล คสช. ไอลอว์ขอนิยามว่าเป็นปีของ ความเงียบปัญหาและความขัดแย้งทางการเมืองยังปรากฏอยู่ในทุกส่วนของสังคม แต่เมื่อเป็นประเด็นที่ขัดแย้งกับรัฐบาล คสช.
ปัญหาดังกล่าวก็มักจะถูกกดไว้ไม่ให้มีโอกาสได้แสดงออกมา ไม่ว่าจะด้วยกฎหมาย หรือมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาล คสช. สร้างขึ้นเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับการแสดงความคิดเห็น

คำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ,พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116,การเรียกปรับทัศนคติ ฯลฯ ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง

เพื่อปิดกั้นทั้งการชุมนุมและการแสดงออกทางออนไลน์ นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในประเด็นทางการเมืองจำกัดการทำกิจกรรมลง เพราะหลายคนต่างก็มีข้อหาติดตัวจำนวนมาก และล้วนถูกบีบด้วยมาตรการต่างๆ จนกระทั่งความพยายามเคลื่อนไหวจากภาคประชาชนในประเด็นสำคัญๆ ลดน้อยลงมาก แทบไม่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ ท่ามกลางบรรยากาศที่เงียบงันนี้เอง ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ คสช. ก็ผ่านการทำประชามติ, สภานิติบัญญติแห่งชาติ (สนช.)ผ่านกฎหมายหลายร้อย,หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจมาตรา 44 ไปแล้วกว่า 122 ครั้ง,กฎหมายหลายเรื่องเป็นไปในทางจำกัดสิทธิของประชาชนและเพิ่มอำนาจรัฐแบบรวมศูนย์ รัฐบาลคสช.กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยไปในทิศทางใหม่ โดยประชาชนแทบไม่รู้ และคนเห็นต่างแทบไม่มีโอกาสบอก
เหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยน 2 ครั้งในปีนี้ คือการทำประชามติที่รัฐบาลปิดกั้นการรณรงค์จนร่างรัฐธรรมนูญได้รับเสียงข้างมากสนับสนุน และการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9ยิ่งตอกย้ำให้การเคลื่อนไหวในประเด็นสังคมการเมืองที่แตกต่างจากรัฐบาลถูกกดให้เงียบอย่างที่สุด

1/5 ความเงียบเพราะชินชา หลังตกอยู่ในอำนาจนานกว่าสองปีโดยไม่มีที่สิ้นสุด

2/5 ความเงียบเมื่อเผชิญความพ่ายแพ้

3/5 ความเงียบที่ถูกบังคับโดยสถานการณ์

4/5 ความเงียบงันภายใต้อำนาจเด็ดขาด

5/5 ความเงียบแบบผูกขาด ออกกฎหมายจำนวนมากประชาชนไม่รู้เรื่อง


ooo


ภาพจากการเมืองไทย ในกะลา

1/5 ความเงียบเพราะชินชา หลังตกอยู่ในอำนาจนานกว่าสองปีโดยไม่มีที่สิ้นสุด

หมดจิตหมดใจจะใฝ่ฝัน

การสร้างสรรค์ย่อมสิ้นแผ่นดินหมอง

กลัวน้ำตาไหลหลั่งดั่งน้ำนอง

ก็จะต้องเห็นแก่ตัวชั่วนิรันดร์

ท่อนเปิดหัวกวีบทเก่าจาก ยังดี วจีจันทร์ ดูจะบ่งชี้สถานการณ์ความเงียบของกิจกรรมเคลื่อนไหวด้านการเมืองและสิทธิมนุษยชนไทยในรอบปี 2559 ได้เป็นอย่างดี 34 ครั้ง คือตัวเลขกิจกรรมที่ถูกปิดกั้นในปี 2559 ขณะเดียวกันย้อนไปในปี 2558 มีจำนวน 68 ครั้ง และในปี 2557 จำนวน 42 ครั้ง จำนวนตัวเลขที่ลดลงกว่าเท่าตัว ของปี 2559 เมื่อเทียบกับปีก่อน สะท้อนว่าปีนี้มีความพยายามจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองน้อยลง ก่อนรายงานนี้จะเผยแพร่ เราได้พูดคุยกับวรวุฒิ บุตรมาตร นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ เพื่อสะท้อนภาพใหญ่ของปีที่เงียบงันของกิจกรรมทางการเมืองและสังคมความชาชินของผู้คน กลไกและท่าทีภาครัฐ และการถูกดำเนินคดีพ่วงชนักติดหลัง ดูจะเป็นสิ่งแรกๆ ที่ถูกยกขึ้นมาสนับสนุน ถึงความเงียบที่เกิดขึ้น

กลไกรัฐและท่าทีเจ้าหน้าที่

วรวุฒิ เล่าว่า บรรยากาศรายรอบและความรู้สึกมันเริ่มล้า พอรู้สึกได้ว่าสังคมไม่แยแส ต่อปรากฎการณ์การใช้อำนาจของคสช.ที่ตรวจสอบยาก ประกอบกับช่วงหลังจากกลางปี เกิดเหตุการณ์สวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 คนในแวดวงนักกิจกรรมเลยต้องระมัดระวังมากขึ้น ทุกคนต่างลดบทบาท และคิดกันว่า ถ้าทำอะไรพลาดไป อาจจะส่งผลเสียต่อพวกเขา เปรียบเทียบท่าทีของเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจในช่วงสามปีหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ช่วงต้นของการรัฐประหารเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจอย่างเข้มข้น เพราะต้องการควบคุมสถานการณ์ให้เรียบร้อยที่สุด พอเข้าปี 2558 คสช.เริ่มจัดโครงสร้างและระเบียบทางการเมืองได้แล้ว จึงเริ่มปล่อยให้มีการจัดกิจกรรมมากขึ้น และเข้าปี 2559 ก็ค่อนข้างผ่อนคลายมากขึ้น ถ้าไม่ใช่ประเด็นที่ท้าทายคสช.หรือประเด็นที่แหลมคม อย่างแคมเปญคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ มีข้อสังเกตว่า กิจกรรมอย่าง Walk for Rights เดินเพื่อสิทธิชีวิตฅนอีสาน ถ้าจัดในปี 2557- 2558
ก็มีความเชื่อกันว่าแม้แต่ก้าวแรกก็อาจไม่ได้เดิน แต่การจัดในปีนี้เจ้าหน้าที่ใช้วิธีกดดันและบีบโดยสั่งเร่งให้รีบเดิน และห้ามอยู่ในพื้นที่นาน ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐจะกลัวว่าเป็นการจุดประเด็นทางการเมือง นักกิจกรรมจากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่มองว่า จากบรรยากาศตอนนี้ ถึงจุดประเด็นแล้วก็จะอย่างไรต่อได้? เหมือนว่าแต่ละภาคส่วนตอนนี้เตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งแล้ว และยังหาช่องทางของตัวเองอยู่ ยิ่งกับกลุ่มกิจกรรมการเมือง ซึ่งพวกเขาเองก็ยังไม่มีทิศทางชัดเจนว่าจะทำอะไร หลังประชามติผ่าน จึงเหลือกิจกรรมไม่กี่อย่าง เช่น เรื่องผลพวงรัฐธรรมนูญ ตามแก้ไขปัญหาอำนาจจากคสช.
และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจดังกล่าว

การมีชนักติดหลังเพราะถูกดำเนินคดี

หลังถูกดำเนินคดี นักกิจกรรมต่างได้พิสูจน์แล้วว่า พวกเขาจะจัดการและประเมินเรื่องภัยอันตราย และต้นทุนค่าเสียโอกาสต่อตัวเองอย่างไร แต่ก็มีบางส่วนที่เลิกออกมาเคลื่อนไหวจริงๆจังๆ นักกิจกรรมอีกคนหนึ่งยกตัวอย่างอย่างกรณีที่ขอนแก่น กลุ่มดาวดินหลายคนที่โดนจับกุมจากการชุมนุมครบรอบ 1 ปีรัฐประหารเมื่อปี 2558 มาถึงปีนี้หลายคนบทบาทหายไปเลย กลับไปเรียน กลับไปทำงาน คิดว่าเขาคงชั่งน้ำหนักในเรื่องนี้ไว้แล้ว ว่าอันไหนมันส่งผลดีต่อตัวเขา ยิ่งกับโดนคดีที่มีโทษหนักๆ พวกเขาจะออกไปใช้ชีวิต อย่างคนปกติธรรมดาได้ยากลำบากมาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เป็นหลักใหญ่ใจความมีผลต่อการทำกิจกรรมปีนี้แน่นอน โดยเฉพาะการรณรงค์ของฝ่ายไม่เห็นด้วย มันรู้สึกหมดจิตหมดใจจะใฝ่ฝัน อนันต์ นักกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงกล่าว บางรายขอกลับไปเรียนต่อ พวกเขายอมรับว่า สิ่งที่ทำคืองานที่จะเปลี่ยนความคิดคน ซึ่งในความเป็นจริงก็เปลี่ยนได้ แต่เปลี่ยนได้ไม่มากพอ ขนาดหวังจะทำให้ชนะได้ ยิ่งโดยแคมเปญโหวตโนประชามติในปีนี้ ที่ต่างทุ่มหมดหน้าตัก ทำให้หลายคนที่ทำกิจกรรมหายไปเหมือนกัน ด้วยความท้อแท้ เหนื่อยหน่าย

หรือกระทั่งเขาเห็นว่าให้เวลากับงานเหล่านี้มากเกินพอแล้ว จึงอยากกลับไปสู่หนทางชีวิต ที่สังเกตเห็นในปีนี้รัฐไทยเรียนรู้การจัดการการชุมนุมและกิจกรรมทางการเมืองได้ดีขึ้น
มีทั้งมาตรการทางกฎหมายและจิตวิทยา เรากำลังเดินทางเข้าสู่ปีที่สี่ของ คสช. อย่างมาดมั่น คนไทยด้านชาต่อความเจ็บปวดทางการเมืองเศรษฐกิจ และสังคมทุกอย่าง วรวุฒิตัวแทนนักกิจกรรมทิ้งท้าย


2/5 ความเงียบเมื่อเผชิญความพ่ายแพ้


“อย่างน้อยได้แสดงให้โลกรู้ว่าคนไทยคิดอย่างไรกับรัฐบาล”

การอ้างความชอบธรรมจากผลประชามติ

ค่ำคืนของวันออกเสียงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ขณะที่มีการประกาศผลการนับคะแนนประชามติอย่างไม่เป็นทางการ โดยประชาชนส่วนใหญ่รับร่างรัฐธรรมนูญ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่หนึ่งในกลุ่มนักกิจกรรมต่อต้านการรัฐประหารของ คสช. ออกแถลงการณ์ยอมรับผลการออกเสียงประชามติว่า แม้ได้ทุ่มเทความพยายามไปกับการรณรงค์ให้ประชาชนเห็นผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการรับร่างรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม ภายใต้ข้อจำกัดและการคุกคามหลายรูปแบบ ขบวนการฯ ยังคงยืนยันว่า รัฐบาลของ คสช. ไม่มีความชอบธรรมจากผลของการลงประชามติครั้งนี้

และยืนยันจะทำกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยต่อไป ไม่กี่วันหลังประกาศผลคะแนนประชามติอย่างเป็นทางการ นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันว่า ผลการลงประชามติเป็นความชอบธรรมที่ประชาคมระหว่างประเทศควรรับฟัง “ผมซาบซึ้งและขอบคุณที่ยังไว้วางใจ คสช. และรัฐบาล พลังของการลงประชามติครั้งนี้มีความสำคัญมาก อย่างน้อยได้แสดงให้โลกรู้ว่าคนไทยคิดอย่างไรกับรัฐบาล ดังนั้น
เราจะทุ่มเททำงานในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ให้หนักขึ้น เพื่อให้สมกับความเชื่อมั่น” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงความขอบคุณต่อประชาชนหลังทราบผลการลงประชามติ

ซึ่งผู้ไปใช้สิทธิออกเสียงร้อยละ 61.35 รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ตรงข้ามกับการให้สัมภาษณ์ของพลเอกประยุทธ์ข้างต้น ผลสำรวจของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับเหตุผลในการตัดสินใจออกเสียงประชามติของประชาชนครั้งนี้ พบว่า ความต้องการให้ประเทศสงบสุขเป็นเหตุผลที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 72 ตัดสินใจออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งความต้องการเช่นนี้มิได้สะท้อนโดนตรงถึงการสนับสนุนรัฐบาลชุดนี้ ขณะที่ผลสำรวจก่อนการลงประชามติของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า พบว่า ประชาชนเพียงร้อยละ 8.66 ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในการออกเสียงประชามติครั้งนี้เพราะไม่ชอบนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 50.79 ของผู้ที่ตัดสินใจไม่รับร่างฯ เห็นว่าบางมาตราไม่สมเหตุสมผล คลุมเครือ ส่วนอีกร้อยละ 18.50 เห็นว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญขาดการมีส่วนร่วมและไม่เป็นประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม เหตุผลของประชาชนที่รับร่างรัฐธรรมนูญจนกลายเป็นชัยชนะที่นำมาสู่การอ้างความชอบธรรมของรัฐบาลกลับน่าสนใจมากกว่า จากผลสำรวจพบว่าประชาชนที่ตัดสินใจรับร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ร้อยละ 21.12 ระบุว่า ต้องการเห็นการปฏิรูปประเทศ การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อยากให้ประเทศเดินหน้า และเศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่งในส่วนนี้เองที่ไม่มีความชัดเจนว่าหมายถึงความชอบธรรมของ คสช. หรือไม่ ขณะที่ร้อยละ 8.02 ระบุว่า ต้องการให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเผยให้เห็นว่าในบรรดาผู้ที่รับร่างรัฐธรรมนูญจำนวนไม่น้อยไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร เป็นที่ชัดเจนตามผลการสำรวจว่าประชาชนร้อยละ 8.51 ตัดสินใจรับร่างฯ เพราะชื่นชอบการทำงานของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีและความเข้มงวดจริงจังของทหาร แต่ประชาชนอีกร้อยละ 1.77 กลับตัดสินใจไม่รับร่าง แม้ว่าจะชื่นชอบการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ เพราะเข้าใจว่าหากรัฐธรรมนูญผ่านการออกเสียงประชามติจะทำให้มีการเลือกตั้ง และได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ

จะเห็นได้ว่าผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนถึงความสับสนในการตัดสินใจรับหรือไม่รับร่างฯ กล่าวคือ ด้วยเหตุผลเดียวกันแต่ประชาชนอาจตัดสินใจรับหรือไม่รับแตกต่างกัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะความคลุมเครือเกี่ยวกับผลที่จะเกิดขึ้นจากการผ่านหรือไม่ผ่าน การออกเสียงประชามติของร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เพราะการปิดกั้นการรณรงค์โดยเฉพาะกับฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ

จนในที่สุดประชาชนไม่แน่ใจว่าหากประสงค์ให้ คสช. อยู่ในอำนาจต่อหรือหลีกทางให้กับการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตยนั้นจะต้องออกเสียงรับหรือไม่รับกันแน่

ต่อการอ้างความชอบธรรมในลักษณะดังกล่าว นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการประวัติศาสตร์ชาวไทยเห็นว่า “อย่างไรก็ตาม คสช.คงเอาไปอ้างความชอบธรรมได้แค่ครึ่งเดียว ในเมืองไทยคงพอฟังได้
แต่จะอ้างกับโลกคงยาก คนเห็น(ว่า)ไม่ยุติธรรมมาแต่ต้น” ซึ่งสอดรับกับที่ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแสดงความกังวล เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559
ว่าการมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างมีเสรีภาพและเปิดกว้างจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญมีความชอบธรรมและได้รับการยอมรับ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการทำประชามติดังกล่าว
ก็ได้สถาปนาระบบการเข้าสู่อำนาจแบบใหม่ที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน เช่นการกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกจำนวน 250 คน มาจากการคัดเลือกโดยคสช., การเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง,การออกแบบระบบนับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบจัดสรรปันส่วนผสมเพื่อให้พรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกมากที่สุดไม่ได้ที่นั่งมากที่สุด,การให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญจัดประชุมแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดวิกฤติทางการเมือง,การให้ คสช. ยังคงมีอำนาจมาตรา 44 และให้ประกาศ, คำสั่งทุกฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไปไม่มีกำหนด เป็นต้น
ดังนั้น จึงคาดหมายได้ว่า

โฉมหน้าการเมืองของประเทศไทยหลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ก็จะยังอยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมของ คสช. เช่นเดิม การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้จะเป็นการเลือกตั้งที่ดำเนินไปภายใต้ข้อจำกัดพรรคการเมืองมีบทบาทน้อยลง และผู้ที่จะกุมอำนาจอย่างแท้จริงภายหลังการเลือกตั้งอาจจะยังเป็น คสช. ส่วนประชาชนที่เห็นต่างกับ คสช. จะถูกบีบให้ส่งเสียงได้น้อยลงไปอีก โดยการอ้างความชอบธรรมว่า อำนาจใหม่นั้นไม่ได้มาจากรัฐประหาร แต่มาจากรัฐธรรมนูญที่มีผลประชามติรับรองแล้ว


3/5 ความเงียบที่ถูกบังคับโดยสถานการณ์


หลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เกิดความโศกเศร้าไปทั่วทุกหนแห่ง และเกิดกระแสไล่ล่าผู้ที่โพสต์ความเห็นในโลกออนไลน์ในลักษณะที่ผู้อ่านตีความด้วยตนเองว่า ไม่จงรักภักดีและอาจเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ การไล่ล่าด้วยข้อกล่าวหา “ไม่จงรักภักดี” ต่างจากที่ส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการสืบสวนจับกุมเองหรือมีประชาชนไปร้องทุกข์กล่าวโทษเท่านั้น แต่เกิดปรากฏการณ์ใหม่ขึ้น คือการรวมตัวของประชาชนจำนวนมากไปล้อมบ้านของผู้ถูกกล่าวหาในยามวิกาล เพื่อเรียกร้องให้ผู้ถูกกล่าวหาออกมามอบตัวและเพื่อกดดันให้เจ้าหน้าที่นำบุคคลดังกล่าวไปดำเนินคดี บางกรณีมีการทำร้ายร่างกายผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งการคุกคามครอบครัวและผู้ที่เกี่ยวข้อง ข้อกล่าวหาไม่จงรักภักดีกลายเป็นกำแพงบดบังข้อเท็จจริงที่ว่า บุคคลเหล่านั้นยังไม่ถูกพิสูจน์ความผิดตามกระบวนการยุติธรรม และแม้ที่สุดเขาอาจจะถูกตัดสินว่าผิด แต่ก็ยังมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องโทษคดีอาญา ซึ่งรวมถึงการได้รับการคุ้มครองจากการทำร้ายร่างกาย กระแสการไล่ล่าผู้แสดงความเห็น หรือที่เรียกว่า “ล่าแม่มด” ที่มีการติดตามหรือทำร้ายร่างกายผู้ที่สังคมเห็นว่าทำความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ดำเนินอยู่ราวสองสัปดาห์ก่อนค่อยๆ เงียบลง แม้จะเป็นกระแสที่คงอยู่ไม่นานนักแต่สร้างความหวาดกลัวให้คนในสังคมอย่างปฏิเสธไม่ได้ หลายคนอาจจะต้องการแสดงความคิดเห็นที่แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่จำเป็นต้องเลือกสร้างระยะปลอดภัยของตัวเองโดยไม่พูดความในใจ จนอาจจะกล่าวได้ว่าความเกรี้ยวกราดและกระแสการล่าแม่มดทำให้เกิดความเงียบในสังคมไทย

การรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ในสภาวะไม่ปกติ

เมื่อพิจารณาภูมิทัศน์ของสื่อในการรายงานข่าวปรากฏการณ์การล่าแม่มด จากหนังสือพิมพ์เจ็ดประกอบด้วย แนวหน้า บ้านเมือง ไทยรัฐ มติชน ข่าวสด คมชัดลึก และเดลินิวส์ ระหว่างวันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม 2559 – วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม 2559 พบว่าพื้นที่ข่าวมีน้อยมาก เหตุที่เลือกหนังสือพิมพ์เนื่องจากเป็นสื่อที่มีลักษณะของการประมวลภาพเหตุการณ์ต่างๆ ในแต่ละวันและสามารถประเมินปริมาณของข่าวในแต่ละวันได้อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าสื่อชนิดอื่น คืนวันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม 2559 เป็นครั้งแรกที่มีข่าวการไล่ล่าผู้โพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์ ที่จังหวัดภูเก็ต มีการปิดล้อมบ้านผู้ถูกกล่าวหาโดยมีการถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ รวมทั้งการส่งต่อข้อมูลบนโลกออนไลน์ แต่วันต่อมากลับไม่พบว่ามีหนังสือพิมพ์ฉบับใดรายงานข่าวดังกล่าว โดยอาจเป็นเพราะการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้าเป็นประเด็นที่ประชาชนสนใจมากกว่าประเด็นอื่นๆ ในวันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม 2559 หนังสือพิมพ์มติชนเป็นฉบับเดียวที่รายงานข่าวการล่าแม่มด โดยรายงานจากข้อเท็จจริงของฝ่ายผู้กล่าวหาและเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งข้อมูลจากผู้สื่อข่าวสนามที่สังเกตการณ์บริเวณบ้านของผู้ถูกกล่าวหา แต่ยังไม่ปรากฏในหนังสือฉบับอื่น บางฉบับพื้นที่ข่าวทั้งหมดเป็นข่าวการสวรรคตและข่าวของพระบรมวงศานุวงศ์ ขณะที่บางฉบับให้น้ำหนักไปที่ข่าวการสวรรคต แต่ยังมีข่าวอื่นๆ ด้วย เช่นข่าวต่างประเทศ ข่าวเศรษฐกิจ และข่าวกีฬา วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม 2559 หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นเริ่มรายงานข่าวประเด็นนี้ เนื้อหาของข่าว ส่วนใหญ่เป็นมุมมองผู้มีอำนาจรัฐเช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่า การกระทรวงยุติธรรม รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จากการทบทวนเนื้อหาหนังสือพิมพ์ยังพบว่า มีผู้ถูกไล่ล่าอีกอย่างน้อยสามกรณีที่หนังสือพิมพ์ไม่ได้รายงาน เช่น กรณีการไล่ล่าผู้โพสต์ในทำนองหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯที่จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งครอบครัวบอกว่า ผู้ถูกกล่าวหามีอาการทางจิต, การพยายามไล่ล่าผู้หญิงพิการทางสายตาที่โพสต์บทความเข้าข่ายการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่ จังหวัดยะลา และการแจ้งความดำเนินคดีต่อทหารรายหนึ่งที่พูดคุยกันภายในกรุ๊ปไลน์ ที่จังหวัดยะลา

การกำกับเสรีภาพการแสดงออก ด้วยมาตรการทางสังคม

ท่าทีหนึ่งที่บุคคลสำคัญในรัฐบาลออกมาตอบสนองต่อข่าวล่าแม่มดในหน้าหนังสือพิมพ์ คือ ร้องขอให้ประชาชนเงียบแทนการปรามผู้ใช้กำลังหรือท่าทีคุกคาม เช่น สุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในทำนองว่า การโพสต์ข้อความดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่ควรทำ ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า แม้จะรู้สึกอย่างไรขอให้เก็บไว้ในใจ อย่าแสดงออกโดยไปขัดต่อความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในประเทศ และร้องขอให้เจ้าหน้าที่กวดขันเรื่องข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ยิ่งทำให้บรรยากาศการแสดงความคิดเห็นในสังคมไทยอยู่ในสภาวะเงียบโดยสมบูรณ์แบบ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลเคยให้สัมภาษณ์ขอร้องสื่อมวลชนในทำนองว่า ช่วงเวลานี้ควรจะให้สติแก่สังคมไทยโดยการผลิตรายการที่สร้างสรรค์สังคม อะไรที่เป็นองค์ความรู้ที่อยากให้คนรุ่นหลังรับทราบ ทั้งเรื่องประเพณีไทย เรื่องการสักการะพระบรมฉายาลักษณ์ที่ถูกต้อง ขอให้ช่วยกันให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย

โดยมีการขอความร่วมมือประชาชนไม่ให้โพสต์ข้อความหรือกระทำในลักษณะที่เป็นการหมิ่นสถาบัน พร้อมระบุว่าหากการกระทำของผู้ใดเข้าข่ายความผิดจะถูกดำเนินคดี ด้าน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมระบุหลังถูกถามถึงกรณีเหตุการณ์ประชาชนล้อม บ้านผู้ถูกกล่าวหาที่ จังหวัดภูเก็ต ว่า พูดไปหลายครั้งแล้วว่า ไม่มีอะไรดีไปกว่ามาตรการทางสังคม
ทำให้มีการตั้งคำถามว่าการให้ความเห็นลักษณะนี้เป็นการออกใบอนุญาตให้ใช้ความรุนแรงหรือไม่ จนพล.อ.ไพบูลย์ต้องออกมาแก้ต่างภายหลังว่าไม่ได้หมายความเช่นนั้น โดยชี้แจงว่า คำว่า มาตรการทางสังคม คือมาตรการที่ประชาชนมาสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย เพราะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวไม่สามารถที่จะปรับทัศนคติของผู้เห็นต่างได้

สำหรับท่าทีของหน่วยราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ประสานงานผ่านกับตำรวจสากล (Interpol) ในการดำเนินคดีกับผู้ที่เข้าข่ายความผิดมาตรา 112 ที่อยู่ต่างประเทศ
ส่วนกระทรวงต่างประเทศก็ใช้กลไกการทูตในการติดตามผู้ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ที่อยู่ในต่างประเทศหรือขอความร่วมมือให้ต่างประเทศช่วยกำชับหรือกำราบผู้ถูก

กล่าวหาซึ่งการให้ข่าวหรือท่าทีของรัฐในลักษณะนี้ย่อมเป็นการปรามให้ผู้ที่เลือกจะไม่เงียบ รู้ว่าพวกเขาอาจมีราคาที่ต้องจ่ายหากเลือกที่ส่งเสียง แม้เจ้าหน้าที่รัฐจะยอมรับการใช้ความรุนแรงผ่านโครงสร้างกฎหมายด้วยการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาอย่างถึงที่สุด แต่ก็พบว่าเจ้าหน้าที่บางส่วนพยายามให้สัมภาษณ์ทำนองยับยั้งการใช้ความรุนแรงทางกายภาพ เช่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ออกความเห็นว่ามวลชนไม่มีหน้าที่ในการดำเนินการกับผู้ถูกกล่าวหาและจะไปทำร้ายผู้อื่นไม่ได้ ขณะที่พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคสช.ก็เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดการทำร้ายร่างกาย เข่นเดียวกับ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ขอความร่วมมือไม่ให้วิวาทหรือใช้ความรุนแรง อย่างไรก็ตามจากการทบทวนการนำเสนอข่าวหนังสือพิมพ์ พบว่าการรายงานข่าวหรือการให้ข่าวของเจ้าหน้าที่รัฐในลักษณะนี้มีน้อยกว่าประเด็นอื่นๆ อีกสามประเด็นที่เหลือ

บล็อกเว็บที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ

มีการรายงานว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงดำเนินการป้องปรามเว็บไซต์ที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตองรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงการพูดคุยกับกูเกิ้ลว่าหากทางกูเกิ้ลได้รับการร้องเรียนเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมจะพยายามดำเนินการจัดการ ในเรื่องการขอข้อมูลผู้โพสต์ กูเกิ้ล แนะนำว่าจะต้องปรับกระบวนการระหว่างประเทศเพื่อขอข้อมูล ในส่วนของไลน์ เมื่อมีการขอรายชื่อผู้โพสต์ หรืออีเมลล์ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยหรือการทำความผิดตามกฎหมายไทย ไลน์ก็จะดำเนินการให้ก่อนโดยผ่านทางสถานทูตไทยที่ญี่ปุ่น อย่างไรก็ดีหลังมีการเผยแพร่ข่าวลักษณะนี้ ไลน์ออกมาปฏิเสธในภายหลังว่า ไลน์ไม่ได้มอนิเตอร์หรือบล็อกเนื้อหาของผู้ใช้บริการไลน์ เนื้อหาถูกเข้ารหัสไว้และทางไลน์ไม่สามารถเข้าตรวจสอบได้ (We do not monitor or block user content. User content is also encrypted, and cannot be viewed by LINE,)

ขณะที่กูเกิ้ลก็ยืนยันว่าเราวางใจรัฐบาลทั่วโลกให้แจ้งเตือนเราถึงเนื้อหาที่พวกเขาเชื่อว่าผิดกฎหมายโดยผ่านกระบวนการที่เป็นทางการและจะจำกัดมันอย่างเหมาะสมหลังการตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วและจากการติดตามข้อมูลการปิดกั้นเนื้อหาของไอลอว์พบว่าหลังการสวรรคตมีการปิดกั้นเนื้อหาบนโลกออนไลน์จำนวนมากโดยพบว่าเนื้อหาบางส่วนที่ถูกปิดกั้นเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ และการสืบสันตติวงศ์ ความมั่นคง รวมทั้งข่าวการล่าแม่มดก็ถูกปิดกั้นการเข้าถึงส่วนใหญ่เว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นเป็นเว็บไซต์ของสำนักข่าวต่างประเทศ


4/5 ความเงียบงันภายใต้อำนาจเด็ดขาด


ตลอดเวลากว่าสองปีเจ็ดเดือนที่ผ่านมา การบังคับใช้กฎหมาย ทั้งกฎหมายอาญา ประกาศ/คำสั่งคสช. รวมทั้งกฎหมายที่ออกใหม่ในปี 2559 อย่างพ.ร.บ.ประชามติฯ เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้การแสดงออกของประชาชน โดยเฉพาะในประเด็นการเมือง และประเด็นทางสังคมค่อยๆ เงียบลง

ประชามติในความเงียบงัน

บรรยากาศก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เป็นไปอย่างเงียบงัน ฝ่ายรัฐใช้ช่องทางหลากหลายให้ข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ฝ่ายที่เห็นต่างกลับถูกทำให้เงียบด้วยกฎหมายหลายๆ ฉบับคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ถูกนำมาใช้อย่างหนักในช่วงก่อนลงประชามติ มีคนอย่างน้อย 114 คนถูกดำเนินคดี ส่วนใหญ่ถูกดำเนินคดีจากการร่วมกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติในหลายจังหวัด มีอย่างน้อย 11 คนที่ถูกตั้งข้อหาเพราะจัดเสวนาเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ มีอย่างน้อย 20 คนถูกตั้งข้อหาเพราะแจกใบปลิวรณรงค์โหวตโน

มาตรา 61 วรรค 2 ของพ.ร.บ.ประชามติฯ ซึ่งกำหนดว่า ผู้ใดเผยแพร่ภาพหรือเนื้อหาในช่องทางต่างๆ ในลักษณะผิดจากข้อเท็จจริง รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ เพื่อหวังให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไปทางใดทางหนึ่งหรือไม่ไปออกเสียงมีโทษจำคุกสูงสุดสิบปี
เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ถูกใช้ดำเนินคดีกับผู้แสดงออกเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ อย่างน้อย 38 คน โดยพฤติการณ์ที่ทำให้ถูกดำเนินคดีมีทั้งการแจกใบปลิวโหวตโน การประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญบนเฟซบุ๊ก เป็นต้น นอกจากนี้กิจกรรมรณรงค์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ยังถูกปิดกั้น-แทรกแซงอย่างน้อย 19 ครั้ง

ปิดกั้น แทรกแซง ดำเนินคดี กระชับพื้นที่ทำกิจกรรมของประชาชน
การจัดกิจกรรมสาธารณะต่างๆ ก็ยังถูกปิดกั้น-แทรกแซงต่อเนื่องมาจากปีก่อนๆในปี2559 มีการปิดกั้นกิจกรรมทั้งกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์และกิจกรรมเสวนาอย่างน้อย 34 ครั้ง หลากหลายประเด็น เช่น

กิจกรรมสันติสุขชายแดนใต้ที่มัสยิดกรือเซะถูกห้ามจัดเพราะไม่ได้ประสานงานกับกอ.รมน. กิจกรรมร้องเพลงรำลึกสิบปีรัฐประหาร 2549ถูกเจ้าหน้าที่สั่งให้เลิกโดยอ้างคำสั่งหัวหน้าคสช. 3/2558 และพ.ร.บ.ชุมนุมฯสน.ลุมพินีสั่งยกเลิกงานแถลงข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาโรฮิงญาต่ออองซานซูจีที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อำนาจหรือวิธีการที่ใช้ปิดกั้น พัฒนาตัวขึ้นอีกหลายรูปแบบ
ทหารพยายามจะออกหน้าให้น้อยลง และอ้างอิงอำนาจตามกฎหมายอื่นๆ เช่นงานแถลงข่าวสถานการณ์การซ้อมทรมานในประเทศไทย ของแอมเนสตี อินเทอร์เนชันแนล ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานว่า หากผู้เชี่ยวชาญขึ้นพูดจะถูกจับเพราะไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือการห้าม โจชัว หว่อง นักกิจกรรมชาวฮ่องกงเข้าประเทศเพื่อมาร่วมงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็นต้น

การดำเนินคดีและการปิดกั้นแทรกแซงที่ต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่สาม

ทำให้คนไม่กล้าคิดริเริ่ม หรือลงมือจัดกิจกรรม ยิ่งหลักเกณฑ์และวิธีการในการปิดกั้นไม่ชัดเจน ยิ่งสร้างความกลัวในการพูดถึงปัญหาสังคมการเมืองทำได้ยากและมีต้นทุนสูงขึ้น คดีมาตรา 112 กับความเงียบช่วงปลายปีในปี 2559 ก่อนถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เท่าที่ยืนยันได้มีผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา112 เพิ่มอีกอย่างน้อย 7 คน อาจกล่าวได้ว่า ลดลงกว่าปี 2557-2558 ซึ่งนับรวมได้อย่างน้อย 64 คน ในปีนี้สถิติที่ศาลให้ประกันตัวยังเพิ่มสูงขึ้น โดย ก่อนวันที่ 13 ตุลาคม 2559 บุคคลเจ็ดคนที่ถูกตั้งข้อหาได้รับการประกันตัวระหว่างสู้คดีรวมหกคน และยังมีนักโทษอย่างน้อยเก้าคนได้รับการปล่อยตัว เพราะได้รับการลดโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษที่ออกในเดือน สิงหาคม 2559 สถานการณ์มาตรา 112 ดูจะผ่อนคลายลงบ้าง จนกระทั่งสำนักพระราชวังประกาศการสวรรคตพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 บรรยากาศแห่งความโศกเศร้ากลับเร่งเร้าให้การดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การแสดงความเห็นของคนบางส่วนกลับเปลี่ยนความเศร้าให้เป็นความโกรธและนำไปสู่ความรุนแรง เช่น กรณีร้านน้ำเต้าหู้ถูกล้อม ที่จังหวัดภูเก็ต กรณีหนุ่มโรงงานถูกรุมทำร้ายร่างกาย ที่จังหวัดชลบุรี เป็นต้นจากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ หลังวันที่ 13 ตุลาคม 2559

มีการตรวจพบผู้กระทำความผิดคดี 112 ใหม่ 25 คนและจับกุมได้แล้วสิบคน แต่ไม่มีการเปิดเผยรายชื่อ สถานการณ์ช่วงท้ายปีแถมด้วยปรากฏการณ์ที่เจ้าหน้าที่เรียกตัวบุคคลจำนวนมาก
ไปปรับทัศนคติ เพราะกดไลค์เฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาอ่อนไหว ทำให้ทุกอย่างกลับไป “เงียบสนิท” และแนวโน้มสถานการณ์ในปีหน้าอาจจะรุนแรงขึ้นกว่าเดิมได้อีก

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เครื่องดูดเสียงนักปกป้องสิทธิ

ในปี 2559 มีคดีใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เช่นนักสิทธิมนุษยชนสามคนถูกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในแจ้งความดำเนินคดีจากการเผยแพร่รายงานการซ้อมทรมานในประเทศไทย,
ญาติของทหารเกณฑ์ซึ่งเสียชีวิต ก็ถูกทหารแจ้งความดำเนินคดี จากการแชร์ข่าวบนเฟซบุ๊กและแสดงความเห็นพาดพิงนายทหารบางนายว่าอาจมีส่วนรับผิดชอบ,บริษัทเจ้าของเหมืองทองคำในจังหวัดพิจิตรยื่นฟ้องสมลักษณ์ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจากการโพสต์เฟซบุ๊ก แยกเป็น 3คดี โดยศาลยกฟ้องไปแล้ว 2 คดี เหลืออีก1คดีที่ศาลจังหวัดพิจิตรสั่งรับฟ้อง ขณะที่บริษัท
เจ้าของเหมืองทองคำในจังหวัดเลย ยื่นฟ้องสำนักข่าวไทยพีบีเอส จากการรายงานข่าวเรื่องสิ่งแวดล้อม ต่อมาศาลพิพากษายกฟ้อง กรณีที่ฮือฮาในปี 2559 คือ คำพิพากษาในคดีของ อานดี้ ฮอลล์

ที่ถูกโรงงานสับปะรดฟ้องจากการเผยแพร่งานวิจัยว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติชาวพม่าในโรงงาน ศาลสั่งให้จำคุกจำเลยเป็นเวลาสามปีและปรับเป็นเงิน 150,000 บาท รอลงอาญา
และยังมีคดีความที่นักกิจกรรมทางสังคมถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อ ปิดปาก การเคลื่อนไหวแทบจะเกิดขึ้นทั่วๆ ไปในทุกพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง


5/5 ความเงียบแบบผูกขาด ออกกฎหมายจำนวนมากประชาชนไม่รู้เรื่อง


การออกกฎหมายเป็นหนึ่งในผลงานที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภาคภูมิใจ ภายในเวลาเพียงสองปีห้าเดือน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ที่คสช.แต่งตั้งสามารถออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ไปแล้วอย่างน้อย 207 ฉบับ นอกจากนี้ยังมีการออกกฎหมายโดยใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) 2557 อีก 122 ฉบับ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย แถลงเปรียบเทียบว่าในระยะเวลาเจ็ดปีสี่รัฐบาลตั้งแต่ปี 2551-2557 สภาสามารถออกพ.ร.บ.เพียง 120 ฉบับ หรือเฉลี่ยปีละ 17 ฉบับเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าการทำงานเพียงสองปีกว่าของคสช.

ตลอดระยะเวลา 29 เดือนของการทำงาน สนช. ใช้เวลาเฉลี่ยในการออกกฎหมายประมาณเดือนละเจ็ดฉบับ โดยร่างกฎหมายที่พิจารณาเร็วที่สุดใช้เวลาเพียงหนึ่งวัน มีอยู่เจ็ดฉบับ เช่น
พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 และ พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2559 ในส่วนของการใช้อำนาจพิเศษของหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44 ออกกฎหมายตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 จนถึงเดือนธันวาคม 2559 มีการออกกฎหมายด้วยวิธีนี้เฉลี่ยเดือนละห้าฉบับ

สนช.ออกกฎหมายเน้นปริมาณแต่เนื้อหาบกพร่องและขาดการมีส่วนร่วม 

ในปี 2559 สนช.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.อย่างน้อย 66 ฉบับ เฉลี่ยเดือนละหกฉบับขณะที่ปี 2558 เห็นชอบอย่างน้อย 94 ฉบับ โดยเหตุปีที่นี้สนช.ผ่านกฎหมายได้น้อยลงอาจเป็นเพราะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนการออกเสียงประชามติรวมทั้งการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และการขึ้นทรงราชย์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววชิราลงกรณ์ (รัชกาลที่ 10) ทำให้สภาต้องงดการประชุมพิจารณากฎหมายไปหลายช่วง จากการติดตามกระบวนการออกกฎหมายของสนช. พบว่าร่างพ.ร.บ.ส่วนใหญ่ที่เข้าสู่การพิจารณาถูกเสนอจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันผู้พิจารณาออกกฎหมาย คือสมาชิกสนช.ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวแทนของภาครัฐทั้งในฐานะอดีตข้าราชการหรือข้าราชการที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับต่างๆจึงมีแนวโน้มจะรับฟังความเห็นจากเจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติงานมากกว่าประชาชนผู้ได้รับผลได้ผลเสีย เช่น ร่างพ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งมีเนื้อหาให้ผู้กู้ต้องยินยอมให้ กยศ. เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ต้องแจ้งให้นายจ้างทราบว่าเป็นหนี้กยศ.เพื่อให้หักเงินเดือนส่งชำระหนี้ รวมทั้งปรับเพดานอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่กยศ.อาจเรียกเก็บจากลูกหนี้ จากไม่เกินร้อยละหนึ่งเป็นไม่เกินร้อยละเจ็ดจุดห้าต่อปี ซึ่งเท่าที่ทราบในรายงานของกมธ. มีเพียงหน่วยงานรัฐเท่านั้นที่เข้าไปให้ความคิดเห็นต่อกมธ. ไม่มีข้อมูลว่ากรธ.เคยรับฟังความคิดเห็นจากลุูกหนี้ผู้มีส่วนได้เสีย หรือจัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ แม้จะมีร่างพ.ร.บ.บางฉบับที่จัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเป็นส่วนน้อยมาก แต่ในทางปฏิบัติการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของสนช.กลับมีข้อจำกัด เช่น ร่างพ.ร.บ.ว่าการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่แม้ผู้ร่างจะอ้างว่ามีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนถึงสองครั้ง แต่ในทางปฏิบัติพบว่าการรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 มีข้อจำกัด เช่น การจัดงานในอาคารรัฐสภาที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงยาก การเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานผ่านแฟกซ์เท่านั้น และการจัดเวลาแสดงความคิดจากประชาชนที่น้อยเพียงประมาณหนึ่งชั่วโมง ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ถูกจับตามองจากสังคมอย่างมาก นอกจากเวทีรับฟังความคิดเห็นของสนช. ภาคประชาชนเองยังได้จัดเวทีสาธารณะ หรือใช้พื้นที่ออนไลน์เรียกร้องส่งเสียงไปยังสนช. ถึงเนื้อหาที่ยังคงบกพร่องจำนวนหลายครั้ง จนกระทั่งล่าสุดวันที่ 15 ธันวาคม 2559 เครือข่ายพลเมืองเน็ตนำรายชื่อประชาชนมากกว่าสามแสนที่ลงชื่อคัดค้านร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในเว็บไซต์ Change.org ไปยื่นคัดค้านต่อสนช. อย่างไรก็ตามหนึ่งวันให้หลังสนช.ก็ผ่านร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วยคะแนนเห็นชอบ 168 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 5 เสียงแสดงให้เห็นว่าแม้จะมีกระแสท้วงติงจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เสียงสะท้อนเหล่านั้นก็มีความสำคัญไม่มากนักต่อการตัดสินใจของสมาชิกสนช.

หัวหน้าคสช.ใช้มาตรา 44 มากขึ้น เน้นเพิ่มอำนาจรัฐโดยไม่รับฟังเสียงประชาชน 

ในปี 2559 หัวหน้าคสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งอย่างน้อย 73 ฉบับ หรือเฉลี่ยหกฉบับต่อเดือน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ใช้ออกคำสั่งเพียง 48 ฉบับ โดยเป็นการออกกฎหมายที่ไม่มีขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ไม่มีขั้นตอนการตรวจสอบถ่วงดุล ทั้งที่กฎหมายหลายฉบับที่ออกด้วยวิธีนี้มีผู้ได้รับผลกระทบอยู่ไม่น้อย เช่น คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 30/2559 ที่กำหนดให้ผู้ปกครองต้องรับโทษแทนหากลูกหลานก่อเหตุทะเลาะวิวาท ซึ่งเดือนกรกฎาคม 2559 มีผู้ปกครองรายแรกต้องรับโทษ จำคุกหกเดือน ปรับ 60,000 บาท แต่ให้การรับสารภาพจึงลดโทษลงกึ่งหนึ่ง และโทษจำคุกให้รอลงอาญาสองปีคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 41/2559 กำหนดให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง

กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีอำนาจควบคุมไม่ให้มีการเสนอข้อมูลข่าวสารที่มีเนื้อหาที่มีผลกระทบต่อความมั่น คงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนโดยการกระทำของกสทช.ได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาและทางวินัย คำสั่งนี้ถูกมองว่าเป็นความตั้งใจของคสช. ที่จะสร้างความมั่นใจให้กสทช.ในการปิดกั้นสื่อมวลชนที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคสช.นอกจากนี้การออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ยังถูกใช้เพื่อ ความผิดพลาดจากการออกกฎหมาย เช่น คำสั่งที่ 28/2559 กำหนดให้มีการเรียนฟรี
15 ปีซึ่งออกมาหลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีลดการเรียนฟรีเหลือ 12 ปี หรือคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 49/2559 ที่กำหนดการอุปถัมภ์และคุ้มครองทุกศาสนาเป็นหน้าที่ของทุกหน่วยงานของรัฐที่ออกมาหลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติกำหนดให้รัฐสนับสนุนพุทธศาสนานิกายเถรวาท ที่ผ่านมาการออกกฎหมายทั้งโดยสนช.และโดยคำสั่งหัวหน้าคสช. คือ ‘ความเงียบ

อีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยระหว่างขั้นตอนการพิจารณากฎหมายแทบจะไม่มีเสียงจากประชาชนสะท้อนอยู่ในนั้นเลย และด้วยบรรยากาศที่ปิดกั้นการพยายามส่งเสียงค้านของภาคประชาชนก็มีต้นทุนสูง และดูแทบจะไม่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้ถืออำนาจ ขณะที่การออกคำสั่งหัวหน้าคสช.เป็นกฎหมายก็เป็นวิธีการใช้อำนาจแบบบนลงล่างที่ไม่มีพื้นที่สำหรับเสียงของประชาชนเลย