วันพุธ, มิถุนายน 07, 2560

หากยังจำกันดีอยู่ พล.อ.ประยุทธ์นี่แหละที่ออกมาโจมตี ๓๐ บาทแต่แรกเริ่ม


กฎหมายหลักประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขยุค คสช. อาจไม่เป็นปัญหามากเท่านี้ ถ้าไม่ได้มีความพยายามปิดกั้นและกดเก็บคำวิจารณ์

iLaw with Suthee Rattanamongkolgul เล่าถึงการที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลและทหารเข้าไปพูดกับชาวบ้านจังหวันสุรินทร์และบุรีรัมย์หลายคน ซักไซร้ไล่เรียงว่าจะไปร่วมการชุมนุมค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ ถนนราชดำเนินนอก ในวันที่ ๖ มิถุนายน กันหรือ

บ้างก็สั่งห้ามชาวบ้านไม่ให้ไปร่วมชุมนุม แม้บางรายไม่ได้มีการห้าม แต่การใช้ตำรวจทหารไปพบชาวบ้านลักษณะนี้ ทำให้หลายคนเกิดความหวาดกลัว “ผลกระทบที่อาจตามมา” ถ้าไป จึงได้มีชาวบ้านบางคนล้มเลิกความตั้งใจในการไปร่วมชุมนุมเสีย

ขณะที่กลุ่ม รักหลักประกันสุขภาพ ผู้จัดการชุมนุมซึ่งได้ทำหนังสือแจ้งต่อสถานีตำรวจดุสิตล่วงหน้า แต่ได้รับคำตอบว่าทำไม่ได้ ถือว่าเป็นการขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ ๓/๒๕๕๘ (เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน ๕ คน)

สน.ดุสิต อ้างว่าสถานที่จัดชุมนุมอยู่ใกล้กับทำเนียบรัฐบาลไม่เกิน ๕๐ เมตร การชุมนุมจะทำให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่ไปใช้สถานที่ทำเนียบฯ และกระทรวงศึกษาฯ ถือว่าขัดกับ พรบ.ชุมนุมสาธารณะ ม.๗ และ ๘

สน.ดุสิตบอกให้ย้ายการชุมนุมไปที่สนามม้านางเลิ้งแทน โดยจะต้องยื่นขออนุญาตใหม่ต่อสำนักงานพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ห้ามใช้เครื่องขยายเสียง และเป็นไปตามระเบียบกฎหมาย ไม่ขัดต่อคำสั่ง คสช. ฉบับที่สามดังกล่าว

รวมความก็คือหากปฏิบัติตามที่ สน.ดุสิตกำหนดทั้งหมดก็เท่ากับนัดกันไปสังสรรเรื่องสัพเพเหระ ฝนตก (บ้านน้อง) ฟ้าร้อง (บ้านพี่) ไปตามเรื่องเท่านั้น

เพราะทางการไม่ต้องการฟังสิ่งที่กลุ่มดังกล่าวต้องการแสดงออก ว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ ๓๐ บาทรักษาทุกโรคตามที่รู้จักกันไปทั่วโลก แต่หัวหน้า คสช. และรัฐบาลทหาร ใช้เอกสิทธิ์วิพากษ์โจมตีไว้หลายครั้งแล้วว่า เป็นโครงการที่สิ้นเปลือง

จึงได้ให้กระทรวงสาธารณสุขทำการแก้ไขเสร็จเรียบร้อย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนประชาพิจารณ์ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ ๑๐ ถึง ๑๘ มิ.ย. โดยเปิดรับฟังความเห็นจากผู้ที่ลงทะเบียนออนไลน์ไว้แล้วล่วงหน้า ทั่วประเทศ ๔ จุดด้วยกัน ภาคละจุด

ซึ่งได้รับการแสดงความเห็นโต้แย้งในทางสาธารณะว่า เป็นประชาพิจารณ์ที่จำกัดจำเขี่ยมากเกินไป ประชาชนธรรมดาผู้ต้องการแสดงความเห็นต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเดินทางไปร่วมในระยะไกล ขณะที่ข้าราชการสามารถเบิกชดใช้จากต้นสังกัดได้

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพสัดส่วนภาคประชาชน กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า “เหมือนปาหี่ จัดแบบกีดกันไม่ได้เปิดกว้างให้ประชาชนจริงๆ...ประชาชนที่อยากเข้าร่วมก็ต้องกระเสือกกระสนไป”


ทางด้าน นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขแสดงความเห็นผ่านเฟชบุ๊คว่า ร่างกฎหมายใหม่นี้จะทำลายหลักการหัวใจของโครงการ ๓๐ บาท สุขภาพถ้วนหน้า

คือ “ทำลายหลักการแยกผู้ซื้อบริการออกจากผู้จัดบริการ เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน และใช้งบประมาณแผ่นดินที่ไม่เป็นธรรม”

นพ.มงคล วิจารณ์ถึงการที่ ร่างพรบ. ดึงเอาหน้าที่ในการจ่ายเงินงบประมาณจากคณะกรรมการตัวแทนประชาชน สปสช. ไปให้แก่กระทรวงสาธารณสุข แล้วยังมีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนจำนวนกรรมการผู้ให้บริการ เพิ่มข้าราชการ เช่น ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เข้าไป และลดจำนวนกรรมการจากภาคประชาชน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังปรากฏความเห็นของ ดร.ปกป้อง จันวิทย์ จากการขยายผลโดย นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ สปท. ด้วยว่า ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า “ไม่ใช่ประชานิยม...แต่เป็นสวัสดิการสังคม...

เป็น ‘สิทธิ’ ของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เป็น ‘สิทธิ’ ที่ไม่ต้องร้องขอ และไม่ต้องรอให้ใครอนุมัติก่อน...เป็นความสัมพันธ์เชิงพันธสัญญา ที่หมอหรือโรงพยาบาลต้องกลายมาเป็นผู้ให้บริการผู้ป่วย ไม่ว่าเขาจะยากดีมีจน มีการศึกษาสูงต่ำเพียงใด”


สำหรับ นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร กรรมการแพทยสภาที่กำลังตกที่นั่งลำบาก เนื่องจาก นสพ.คมชัดลึกนำไปอ้างอิงในรายงานข่าวว่า โครงการ ๓๐ บาท “เป็นระบบหนึ่งที่ ความฟรี ทำลายสุขภาพคนไทย

โดยการที่คนเข้า รพ.มากขึ้น จากที่เห็นว่าการรักษาพยาบาลเป็นของฟรี และ สปสช. คิดว่าเป็นผลงานที่ทำให้คนเข้าถึงบริการมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดที่ผิด”

อีกทั้งรายงานข่าวว้อยซ์ทีวีก็ใกล้เคียงกันว่าเขา “ดันแก้บัตรทองเต็มที่ ลั่นโครงการทำคนไทยตายเยอะ ย้ำผลักดันระบบร่วมจ่ายแน่ ชี้คนไทยหาหมอมากไปเพราะไม่ดูแลตัวเอง ระบุคนบางภาคกินของดิบจนป่วยซ้ำซากเป็นภาระสังคม” นั้น


ทำให้เจ้าตัวต้องเขียนแก้ข่าวว่า “ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด” เขาย้ำความเห็นอีกครั้งว่าที่วิจารณ์โครงการ ๓๐ บาทไปแล้วเพราะเห็นว่ามี “ปัญหาในโรงพยาบาลหมักหมม รุนแรงในทุกๆ ด้าน...

หากท่านรักษาด้วยสิทธิ ๓๐ บาท มีโอกาสตายสูงมากกว่าสิทธิอื่นถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ น่าเป็นห่วงมาก...ถึงแม้รัฐบาลได้เพิ่มงบประมาณมากเท่าใดก็ตาม ปัญหาต่างๆ กลับยิ่งสะสมและหนักหน่วงขึ้น”

ทั้งนี้ทั้งนั้น พวกหมอๆ โต้กันไปโต้กันมา ก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนที่เห็นผลดีของโครงการ ๓๐ บาท สุขภาพถ้วนหน้า จะสามารถทัดทานแรงดันของ คสช. ได้

หากยังจำกันดีอยู่ พล.อ.ประยุทธ์นี่แหละที่ออกมาโจมตี ๓๐ บาทแต่แรกเริ่ม เพื่อที่จะตัดงบประมาณส่วนนี้ออกไป  ๘ กรกฎา ๕๘ หนหนึ่ง กับ ๓ กรกฎา ๕๙ อีกหน


จนวันนี้มีร่างกฎหมายใหม่กำลังจะยื่นเข้าสภาลากตั้งเกือกบู้ธประทับตรารับรอง ให้ประชาชนช่วยแบ่งจ่ายค่าประกันสุขภาพในรูปแบบของการร่วมจ่าย หรือ ‘co-payment’