วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 08, 2560

“มีธรรมาภิบาลหรือไม่” ถามไม่ตรงคำตอบถึงรัฐบาลปัจจุบัน

ก่อนตอบนายกฯ : ธรรมาภิบาลคืออะไร
ชำนาญ จันทร์เรือง

พลันที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. โยนคำถาม 4 ข้อที่เน้นในเรื่องของ   ธรรมาภิบาลให้ประชาชนไปขบคิด และให้แสดงความเห็นผ่านทางศูนย์ดำรงธรรม โดยถามว่า 1) ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ 2) หากไม่ได้จะทำอย่างไร ฯลฯ

ซึ่งก็ได้มีการแสดงความคิดเห็นทั้งโต้แย้งและสนับสนุน แต่มีประเด็นสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจทั้งผู้ถามคือ พล.อ.ประยุทธ์และประชาชนที่จะเป็นผู้ตอบก็คือ ประเด็นที่ว่าธรรมาภิบาลนั้นคืออะไรเสียก่อน

ธรรมาภิบาล หรือในชื่ออื่น การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี” “หลักธรรมรัฐฯลฯ ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Good Governance นั้น ไม่ใช่แนวความคิดใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคม แต่เป็นการสั่งสมความรู้ที่เป็นวัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมของมวลมนุษย์มาเป็นพันๆปี ซึ่งเป็นหลักการเพื่อการอยู่ร่วมกันในบ้านเมืองและสังคมอย่างมีความสงบสุข สามารถประสานประโยชน์และคลี่คลายปัญหาข้อขัดแย้งโดย    สันติวิธีและพัฒนาสังคมให้มีความยั่งยืน

ความหมาย
ธรรมาภิบาล คือ การปกครอง การบริหาร การจัดการ การควบคุมดูแล กิจการต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ฯลฯ ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ในภาคต่างๆ อาทิ ภาครัฐ ธุรกิจ (corporate governance หรือ บรรษัทภิบาล) ประชาสังคม ปัจเจกชน และองค์กรระหว่างประเทศ ฯลฯ

ธรรมาภิบาลเป็นหลักการที่นำมาใช้บริหารงานอย่างแพร่หลาย เพราะธรรมาภิบาลช่วยสร้างสรรค์และส่งเสริมองค์กรให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพ อาทิ พนักงานต่างทำงานอย่างซื่อสัตย์สุจริตและขยันหมั่นเพียร ทำให้ผลประกอบการขององค์กรธุรกิจนั้นขยายตัว

นอกจากนี้แล้วยังทำให้บุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องศรัทธาและเชื่อมั่นในองค์กรนั้น ๆ เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น องค์กรที่โปร่งใส ย่อมได้รับความไว้วางใจในการร่วมทำธุรกิจ, รัฐบาลที่โปร่งใสตรวจสอบได้ย่อมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและประชาชน, ตลอดจนส่งผลดีต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและความเจริญก้าวหน้าของประเทศ เป็นต้น

ธรรมาภิบาลเป็นทั้งหลักการ กระบวนการและเป็นเป้าหมายไปในตัว การมีธรรมาภิบาลจะนำมาสู่การมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ในที่สุด และการมีประชาธิปไตยก็นำมาสู่การมีผลทางสังคม มีการพัฒนาประเทศไปในทางที่สร้างความสงบสุขอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ตลอดจนนำมาสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆที่จะเกิดขึ้นได้โดยสันติวิธี

องค์ประกอบ

1)UNESCAP ได้กำหนดว่าหลักธรรมาภิบาล ประกอบด้วย 8 หลักการ คือ การมีส่วนร่วม (participatory), นิติธรรม (rule of law), ความโปร่งใส (transparency), ความรับผิดชอบ (responsiveness), ความสอดคล้อง (consensus oriented), ความเสมอภาค (equity and inclusiveness), การมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล (effectiveness and efficiency) และการมีเหตุผลอธิบายได้ (accountability)
         
2) สำนักงาน ก.พ. ได้กำหนดไว้โดยได้เสนอเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่า หลักธรรมาภิบาลนั้นประกอบด้วย 6 หลักการ คือ หลักคุณธรรม (ethics), หลักนิติธรรม (rule of law), หลักความโปร่งใส(transparency), หลักความมีส่วนร่วม (participation), หลักความสำนึกรับผิดชอบ (accountability),        หลักความคุ้มค่า (value for money) ซึ่งต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ออกมา

3) สำนักงาน ก.พ.ร. ได้กำหนดหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี  (GG Framework) ซึ่ง ครม.เห็นชอบเมื่อ 24 เม.ย.55 ประกอบด้วย 4 หลักการสำคัญ และ 10 หลักการย่อย ดังนี้

          3.1 การบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) ประกอบด้วยหลักประสิทธิภาพ (Efficiency), หลักประสิทธิผล (Effective) และหลักการตอบสนอง (Responsive)
          3.2 ค่านิยมประชาธิปไตย (Democratic Value) ประกอบด้วยหลักภาระรับผิดชอบ/สามารถตรวจสอบได้ (Accountability), หลักความเปิดเผย/โปร่งใส (Transparency), หลักนิติธรรม (Rule of Law) และหลักความเสมอภาค (Equity)
           3.3 ประชารัฐ (Participatory State) ประกอบด้วยหลักการกระจายอำนาจ (Decentralization) และหลักการมีส่วนร่วม/การมุ่งเน้นฉันทามติ (Participation/Consensus Oriented)
           3.4 ความรับผิดชอบทางการบริหาร (Administrative Responsibility) ประกอบด้วยหลักคุณธรรม/จริยธรรม (Morality/Ethics)

จะเห็นได้ว่าหลักของ UNESCAP กำหนดนั้นไม่ได้มีเรื่องของหลักคุณธรรมหรือศีลธรรมจรรยาไว้เป็นการเฉพาะตามที่ไทยเราโดยสำนักงาน ก.พ.และสำนักงาน ก.พ.ร.กำหนดแต่อย่างใด เพราะหลักที่ใช้ในการบริหารงานตามหลักที่เป็นสากลนั้น มีความหมายที่กว้างขวางกว่าคุณธรรมหรือศีลธรรมจรรยา โดยหมายถึงความถูกต้องชอบธรรมทั้งปวงที่วิญญูชนพึงมีและพึงประพฤติปฏิบัติ

แต่จะเป็นหลักการใดก็ตาม หลักการทั้งหลายล้วนมีจุดมุ่งหมายที่จะรักษา ความสมดุลในมิติต่างๆไว้ เช่น การรักษาสมดุลระหว่างตนเองกับผู้อื่น คือไม่เบียดเบียนผู้อื่นหรือตัวเองจนเดือดร้อน การที่มีความโปร่งใส เปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมตรวจสอบ ก็เพื่อมุ่งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เห็นถึงความสมดุลดังกล่าวว่าอยู่ในวิสัยที่ยอมรับได้

ส่วนหลักความรับผิดชอบก็ต้องสมดุลกับเสรีภาพที่เป็นสิ่งที่สำคัญของทุกคน และหลักความคุ้มค่าก็ต้องสมดุลกับหลักอื่นๆ เช่น บางครั้งองค์การอาจมุ่งความคุ้มค่าจนละเลยเรื่องความเป็นธรรมหรือโปร่งใส หรือบางครั้งที่หน่วยงานโปร่งใสมากจนคู่แข่งขันล่วงรู้ความลับที่สำคัญในการประกอบกิจการ

ฉะนั้น ความสมดุลหรือความเป็นธรรมจึงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของธรรมาภิบาล

จากที่กล่าวมาทั้งหมดก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า หากทั้งผู้ถามหรือผู้ตอบไม่เข้าใจในความหมายและหลักการของ  ธรรมาภิบาลที่แท้จริงแล้ว ก็ย่อมเป็นไปได้ที่จะเกิดการ “ตอบไม่ตรงคำถาม”หรือ “ถามไม่ตรงคำตอบ” ขึ้น

และในทำนองกลับกันหากเข้าใจความหมายและหลักการของธรรมาภิบาลที่แท้จริง แล้วก็ย่อมเกิดคำถามหรือคำตอบที่ถูกต้อง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

แน่นอนว่านอกจากจะเป็นคำถามหรือคำตอบถึงรัฐบาลในอนาคตที่จะมาจากการเลือกตั้งแล้ว ก็ย่อมเป็นคำถามหรือคำตอบถึงรัฐบาลในปัจจุบัน ด้วยความเป็นธรรมหรือสมดุลว่า

1) ท่านคิดว่าการรัฐประหารครั้งนี้ เราได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ 2) หากไม่ได้จะทำอย่างไร ฯลฯ 

ได้เช่นกัน

-----------------
หมายเหตุ  เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับวันพุธที่ 7 มิ.ย.60