วันพุธ, กรกฎาคม 05, 2560

ดร.ปวิน กราบบังคมทูลฯ พระองค์ภา แต่ดูเหมือนว่าเจาะจงถึง 'สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ' โดยตรง


จดหมายถึงพระองค์ภา

เมื่อ ๔ กรกฎาคม ศกนี้ วารสารกึ่งวิชาการออนไลน์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ตีพิมพ์บทความของ ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ รองศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเกียวโต เรื่องกราบบังคมทูลพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ราชธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ

ซึ่งล่าสุดทรงดำรงตำแหน่งอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดระยอง และสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เพิ่งถวายตำแหน่งทูตสันถวไมตรีด้านหลักนิติธรรมประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แด่พระองค์เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

ดร.ปวินเริ่มต้นจดหมายด้วยการแสดงความรู้สึกประทับใจ ต่อการที่พระองค์ภาทรงได้เป็นทูตสันถวไมตรีสหประชาชาติ

“สำนักงานป้องกันยาเสพติดฯ อ้างว่าการถวายตำแหน่งแด่พระองค์ครั้งนี้ จะช่วยยกระดับภาพลักษณ์และพัฒนาการของความพยายามจัดการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในสังคม กับทั้งสร้างเสริมการปฏิรูปในระบบยุติธรรม”

ยูรี่ เฟโดทอฟ ผู้อำนวยการบริหารของ UNODC กล่าวชื่นชมพระองค์ภาว่า “ทรงมีประสพการณ์ล้ำค่า ในอันที่จะมีพระราชดำริใดๆ ต่อสถาบันต่างๆ ให้เกิดผลอย่างพร้อมมูลและตรวจสอบได้”

ข้อนี้ ดร.ปวิน แย้งว่า ความเข้าใจเรื่อง นิติธรรมและ การปฏิรูประบบยุติธรรมของ UNODC มีข้อจำกัด อาจเพราะไม่ได้สังเกตุว่าการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทยได้เพิ่มทวีคูณ หลังการรัฐประหารในปี ๒๕๕๗

ดร.ปวินอ้าง ศูนย์ข้อมูลเสรีภาพในการแสดงออก’ (FEDC) ว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ อย่างน้อย ๗๓ คน นับแต่การรัฐประหาร ๕๗ ในจำนวนนั้น ๑๘ คนได้รับการให้ประกันปล่อยตัวชั่วคราว อีก ๒๘ คนถูกปฏิเสธ อย่างน้อย ๑๑ คน หมดโอกาสได้ยื่นประกันเพราะปราศจากทรัพย์สิน อีก ๑๖ คนไม่ทราบว่าได้มีการขอประกันหรือไม่

ดร.ปวินเอ่ยชื่อผู้ที่ต้องคดีเหล่านั้นบางคน อาทิ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นักศึกษากฎหมาย ม.ขอนแก่น ประเวส ประภานุกูล ทนายสิทธิมนุษยชน และ วิชัยซึ่งถูกตัดสินจำคุก ๓๕ ปี จากการที่เขานำภาพพระเจ้าอยู่หัววชิราลงกรณ์เสด็จพระราชดำเนินอยู่ที่มอลแห่งหนึ่งในเยอรมนี ไปกับนางสนองฯ นามว่า ก้อย

 
พระราชดำรัสของพระองค์ภาในการตอบรับตำแหน่งทูตสันถวไมตรียูเอ็นนี้ตอนหนึ่งระบุว่า “ข้าพเจ้ามุ่งหมายที่จะทำงานร่วมกับสำนักงาน UNODC ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการลดปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรง ปกป้องกลุ่มผู้เปราะบางในสังคม จัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่น รวมถึงการสนับสนุนความพยายามในการเสริมสร้างหลักนิติธรรมระดับโลก


เช่นนี้ ดร.ปวินกราบบังคมทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าฯ บังเกิดความสงสัยว่าพระองค์จะทรงช่วยอะไรได้บ้างในการแก้ไขปัญหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ ในประเทศไทย”

“ข้าพระพุทธเจ้าฯ ใคร่เสนอแนะด้วยว่า พระราชกรณียกิจแรกของพระองค์ในการทรงเป็นทูตสันถวไมตรีสหประชาชาติอันเกี่ยวกับเรื่องนิติธรรมนั้น จะเป็นไปได้ไหม ที่ทรงกระทำการสืบสอบกรณีการบิดเบือนระบบยุติธรรมไทย ไปถึงจุดที่ว่า

ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ นั้นสอดคล้องตามครรลองหลักนิติธรรมยุคใหม่สักเพียงใด อีกทั้งเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าพระบรมวงศานุวงศ์ล้วนทรงให้ความเคารพต่อกฎหมาย ในลักษณะเดียวกับประชาชนธรรมดาสามัญ”

ปิดท้าย ดร.ปวิน เจาะจงกล่าวถึงสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติโดยตรงว่า “ดูเหมือนจะไม่ได้ทำการเสาะค้นวิจัยเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

ผมขอแนะอะไรหน่อยว่า น่าจะคอยติดตามงานวิจัยของกลุ่มอย่างเช่น ศูนย์ข้อมูลเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อจะได้เน้นถึงความเสียหายที่การบังคับใช้กฎหมายหมิ่นฯ ก่อเกิดแผลร้ายต่อระบบนิติธรรมในประเทศไทย”


(ดูบทความเต็มภาษาอังกฤษได้ที่ http://www.newmandala.org/dear-princess-bajrakitiyabha/)