วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 31, 2560

“คิดสิคิด” หรือ “ไออะกรี” ดี กับมองเตสกิเออ รอเรียนรู้เรื่องทวิตเตอร์จากมิสเตอร์ทรั้มพ์

จะ “ปล่อยเขาไป” เพราะ “คิดสิคิด” แล้วว่า “ทวิตเตอร์จะช่วยอะไรได้” อย่างที่ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีปฏิกิริยา

หรือ “ไออะกรี สู้สู้” แบบที่พระภคิณีในรัชกาลที่ ๑๐ ทรงลงข้อความสนทนาไว้บนหน้าอินสตาแกรมของอุ๊งอิ๊ง ชินวัตร ก็ตามที

ทวี้ตของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่โคว้ทวาทะของมองเตสกิเออ นักปรัชญารัฐศาสตร์ศตวรรษที่ ๑๗ ผู้เป็นต้นตำรับหลักการแบ่งแยกอำนาจการปกครองในทางประชาธิปไตย ว่า “ไม่มีความเลวร้ายใดที่จะยิ่งไปกว่า ความเลวร้ายที่ได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย หรือในนามของกระบวนการยุติธรรม”

นั้นมีความหมายสูงส่งยิ่งยงเหนือกว่าหลายเท่านัก ต่อคำวิพากษ์ถากถางของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม พลพรรค ปชป. ที่รีบฉกฉวยนาฑีทองตอบโต้ว่า “คำกล่าวของมองเตสกิเออ อาจจะตามไม่ทันโลกที่เปลี่ยนเร็วมาก

หมอวรงค์ยังยกตนเทียบเท่าเจ้าทฤษฎี บิดเบี้ยวเนื้อความในวาทะมองเตสกิเออให้คล้องจองกับความคิดลุ่มหลงของพวกตนว่า “ไม่มีเผด็จการไหนที่จะป่าเถื่อนไปกว่าเผด็จการทุนสามานย์ ที่อ้างการเลือกตั้ง...”



ทวี้ตของทักษิณก่อให้เกิดการรับรู้ผลงานในทฤษฎีการเมืองของมองเตสกิเออ อย่างแพร่หลายในสื่อสังคมไทยขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะเมื่อ ปิยบุตร แสงกนกกุล ด็อกเตอร์อังดรัวท์ทางกฎหมายมหาชนระบุว่า

การวิจารณ์มองเตสกิเออนั้นน่าจะเริ่มมาจากความฝังใจของ กูรู วิชาการกฎหมายไทยผู้ทรงอิทธิพลในคณะกรรมการกฤษฎีกา นาม อมร จันทรสมบูรณ์ ที่พร่ำสอนลูกศิษย์ลูกหาว่าทฤษฎี “มองเตสกิเออล้าสมัย เป็นการแบ่งแยกอำนาจแบบเชยๆ คล้าสสิก”

โดยมี เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เข้ามาเสริม “เท่าที่จับทางได้ แกฝันถึงเดอโกลส์ (นายพล -อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส) แบบไทยๆ นะครับ แกต้องการรัฐบุรุษ และยังด่า รธน. ๔๐ ​เรื่องบังคับ สส. สังกัดพรรคการเมืองอยู่”

อีกคนที่แจม ธนาพล อิ๋วสกุล บก.ฟ้าเดียวกันแถมว่า “รัฐบุรุษของอมรที่เสนอครั้งก่อน คือในหลวง ร. ๙ ไม่รู้ตอนนี้แกยังยืนยันเหมือนเดิมไหมครับ”

ไม่มีใครตอบคำถามนั้น หากแต่ ดร.ปิยบุตร เอ่ยถึงไว้ในอีกโพสต์คนละเรื่องเดียวกัน “ผมคิดว่าคนเหล่านี้ ไม่ได้อ่าน De l'esprit des Lois อย่างถ่องแท้ หรืออาจไม่ได้อ่านด้วยซ้ำ รู้จักแค่ การแบ่งแยกอำนาจ เท่านั้น

ในงานชิ้นนี้ Montesquieu เขียนหลายเรื่องมาก เขาวิจารณ์ระบบการปกครองของหลายๆรัฐในสมัยนั้น วิจารณ์กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างภูมิอากาศ ภูมิศาสตร์ กับการเมืองการปกครอง”

และจากงานเขียนของมองเตสกิเออในปี ค.ศ.๑๗๔๘ ดังกล่าว มีอีกโคว้ทหนึ่งที่ต้องกับบริบทในทางการเมืองการปกครองไทยยุคปัจจุบันอย่างยิ่ง ซึ่งแปลจากภาษาฝรั่งเศสได้ความว่า

“ความผิดอาญาฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่กำหนดไว้อย่างกว้างขวางไร้ขอบเขต เพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้รัฐบาลกลายเป็นเผด็จการผู้กดขี่”

นี่ละมังทำให้หมอวรงค์ข้ามหัวทักษิณไปวิพากษ์มองเตสกิเออ โดยมิได้รู้ลึกลงไปถึงความเป็นตัวตนของมองเตสกิเออที่ ดร.ปิยบุตรชี้ว่า “ลักษณะอภิชนของตัว Montesquieu มีอิทธิพลต่อการสร้างทฤษฎีของเขา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่เขามองว่ามีแต่พวกอภิชน (aristocrat) เท่านั้น ที่มีศักยภาพเพียงพอในการใช้เสรีภาพ เพื่อต่อต้านการใช้อำนาจโดยมิชอบของกษัตริย์”

เหล่านั้นเป็นภูมิหลังสร้างฉากให้แก่การโต้แย้งที่รายล้อมโคว้ทมองเตสกิเออของทักษิณ และคอมเม้นต์ “คิดสิคิด” ของประยุทธ์ กับ “ไออะกรี” ของ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ที่ซึ่งผู้แสดงความคิดเห็นเหล่านี้อาจไม่ได้คิดถึง

โดยเฉพาะจากนายกรัฐมนตรีผู้ที่เข้ามาสู่อำนาจด้วยวิธีรัฐประหาร พูดถึงความหลงระเริงจากการใช้อำนาจปกครองเบ็ดเสร็จของตนจนผิดพลาด ถูกต่างชาติเรียกร้องความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท หรือไม่เช่นนั้นจะถูกฟ้องร้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ให้เกิดความเสียหายมากขึ้นไปอีก

ว่า “ถ้าพูดเรื่องกฎหมายของตน ที่ใช้มาตรา ๔๔ ในประเทศนี้ ผมไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น ผมทำได้หมด...ผมไม่ต้องกลัวอะไรทั้งสิ้น เพราะคุ้มครองผม”



นี่เป็นการอ้างอำนาจจากการแย่งชิงยึดครอง ที่อาจล้นพ้นยิ่งกว่าอำนาจกษัตริย์ ในบริบทการเมืองแห่งยุคสมัยของมองเตสกิเออ ก็เป็นได้ ทั้งที่ในยุคนี้ -อันเกี่ยวเนื่องโยงใยกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๙ หลังสงครามโลก ประชาคมนานาชาติร่วมกันสร้างระเบียบสากลเป็นแบบบทการปฏิบัติอย่างศิวิลัยเอาไว้แล้ว

จึงเป็นเรื่องต้องจับตาอย่างเขม็งต่อไปอีกในระยะไม่ไกล ว่า “ทวิตเตอร์จะช่วยอะไรได้” แค่ไหน (ยิ่งเสียกว่าได้หรือไม่) เท่าที่ผ่านมาแค่นี้ ลิ่วล้อ คสช. รอส้มหล่นอย่างหมอวรงค์ก็มุดหัวลงโคลนโดยไม่รู้ตัว ไปแล้วกับการวิจารณ์มองเตสกิเออ

ส่วนอีกคนนั่นเสียดาย ป่านนี้ยังไม่ได้รับสัญญานไปเยือนทำเนียบขาวเสียที ไม่อย่างนั้นคงได้รู้อะไรดีๆ เรื่องการใช้ทวิตเตอร์ จาก เดอะดอนัลด์ มิสเตอรทรั้มพ์