วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 03, 2560

กฎหมายเอาผิดสี่ชั่วโคตร 'ยาแรง' หรือว่า 'ป่าเถื่อน'

เห็นผลงานความดักดานของสภาจับยัดลิ่วล้อรัฐประหารไหมนี่ ออกกฎหมายเอาผิดทั้งตระกูลสี่ชั่วคน นัยว่าเป็น ยาแรง แก้คอรัปชั่น

หลังจากที่ สปท. ร่างตามใบสั่ง คสช. เมื่อปีกลาย และนายวิษณุ เครืองาม มอบให้คณะกรรมการกฤษฎีการับไปจัดทำ บัดนี้กฎหมายฉบับดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาแล้ว

กฎหมาย “ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม” ที่ ครม.อนุมัตินี้ ยังคงมีการอ้างชื่อให้เก๋ไก๋ย้อนอดีตกลับไปสมัยกรุงศรีอยุธยาว่า กฎหมาย ๗ ชั่วโคตร

แม้ว่าจะมีการปรับแก้จากเดิมที่ให้ครอบคลุมเอาผิดกับผู้ทุจริตและครอบครัวทั้งยวง ย้อนไปถึงพ่อแม่ ลุงป้าน้าอา พ่อตาแม่ยาย ลูกเขยลูกสะใภ้ ลูกหลานเหลนและคู่สมรสของเขาเหล่านั้น ช่วงกันยา ๕๙ เปลี่ยนมาเรียกว่ากฎหมาย ๓ ชั่วโคตร ลดลงเหลือแค่พ่อแม่ ลูก และคู่สมรสของลูก

ฉบับล่าสุดนี่ “ ครอบคลุมถึงญาติใน ลำดับ คือ ผู้สืบสันดาน, บุพการี, คู่สมรส, พี่น้อง รวมไปจนถึงบุตรบุญธรรม” โฆษกรัฐบาล สรรเสริญ แก้วกำเนิด อ้าง (PPTV-36)


ขอบข่ายของกฎหมายฉบับนี้โดยหลักระบุเอาผิดแก่เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่ง “ใช้ข้อมูลภายในของรัฐที่ยังเป็นความลับอยู่” และ/หรือ “รับของขวัญ ของที่ระลึก เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้...

ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ยังไม่ถึง ปี เป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงาน ลูกจ้าง ผู้รับจ้าง หรือดำรงตำแหน่งอื่นในธุรกิจของเอกชนซึ่งเคยอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของตน

ที่สำคัญเจาะจงกรณีเจ้าหน้าที่รัฐทำสัญญากับบุคคลภายนอก หากอัยการสูงสุดตรวจพบว่าเป็นการกระทำโดยทุจริต ให้แจ้งความหน่วยงานเกี่ยวข้อง หรือคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ดำเนินการ

นอกเหนือจากนั้นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการ เห็นความไม่ชอบมาพากล ก็สามารถยื่นคำร้องถึงคณะกรรมการ ปปช. โดยตรงได้

จุดเด่นที่ คสช. คิดว่าเป็นจุดขายน่านิยมของกฎหมายฉบับนี้นอกจาก เอาผิดทั้งโคตรแล้ว ยังกำหนดความผิดต่างๆ ละเอียดยิบกว่ากฎหมาย ปปช. ที่จะเฟดหายและยกเลิกไปในที่สุด เช่น

การเข้าค้ำประกันไม่คิดค่าธรรมเนียม การให้ค่านายหน้า การขายหรือการให้เช่าซื้อทรัพย์สินแก่เจ้าหน้าที่ในราคาต่ำกว่า” หรือสูงกว่าปกติ

“การให้ส่วนลดในสินค้าหรือทรัพย์สินที่จำหน่าย การให้รางวัล การจ่ายเงินล่วงหน้าและคืนให้ภายหลัง การให้ค่าเดินทางหรือบริการขนส่ง...

ให้บริการวิชาชีพอิสระ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล สถาปนิก วิศวกร กฎหมาย หรือบัญชี โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือคิดค่าใช้จ่ายน้อยกว่าปกติ เหล่านี้ก็ถือว่าเป็นการกระทำผิด”


หากแต่ว่าความผิดที่กฎหมายฉบับนี้ระบุไว้ยุบยิบถึง ๘ ประเด็น ซึ่งอ้างว่าสอดคล้องกับหลักการ Conflict of interest ที่สหประชาชาติถือว่าเป็นการคอรัปชั่น บัญญัติอยู่ในอนุสัญญาต่อต้านการทุจริต หรือ UNCAC 2003

มิใช่ความผิดเหมารวม ที่จะกำหนดบทลงโทษตามสายเลือดเหมือนในยุคสมบูรณายาสิทธิราชได้

หลักการลงทัณฑ์ทั้งโคตรเช่นนั้น ประชาคมโลกถือกันว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ชาติไหนเคยมีต่างก็ยกเลิก ชาติไหนไม่เคยเจอก็จะกำหนดเป็นข้อห้ามไว้มิให้มีโอกาสได้พบพานในกาลข้างหน้า ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ ๑๙ มาแล้ว

มีแต่ประเทศไทยยุค คสช. นี่แหละที่พยายามจะย้อนกลับไปหาสภาพสังคมแบบเห็นคนเกิดมาไม่เท่าเทียมกัน อันป่าเถื่อน ยึดถือกำลังการข่มเหงเป็นอำนาจ และตัดขาดจากภูมิปัญญา