วันอังคาร, สิงหาคม 29, 2560

“ศ.ดร.สุรชาติ” ชี้ “ยิ่งลักษณ์” หนี แค่เริ่มบทใหม่การเมืองไทย พท.เดินไปข้างหน้าได้มากขึ้น





“ศ.ดร.สุรชาติ” ชี้ “ยิ่งลักษณ์” หนี แค่เริ่มบทใหม่การเมืองไทย พท.เดินไปข้างหน้าได้มากขึ้น


ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
28 สิงหาคม 2560


ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ทิศทางการเมืองหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่มาศาล โดยคาดว่าหลบหนีไปต่างประเทศแล้วนั้น โดยระบุว่า การหาผู้นำของพรรคเพื่อไทยคนใหม่ที่จำเป็นจะต้องเป็นคนตระกูลชินวัตรหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่พูดกันไป แต่ผลพวงจากกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกตัดสินมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้มีข้อจำกัดสำหรับบทบาททางการเมืองของคนตระกูลชินวัตรมากขึ้น เพราะสัญญาณที่ตนเห็นคือผู้มีอำนาจพยายามจัดการกับคนในตระกูลชินวัตรพอสมควร ส่วนบทบาทของพรรคเพื่อไทยหลังจากเหตุการณ์ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถอยออกไปครั้งนี้ก็มีคนประเมินว่าพรรคอาจจะระส่ำระสาย แต่ตนกลับคิดตรงกันข้ามคือจะทำให้พรรคเพื่อไทยไม่มีสภาพเหมือนมีตัวประกันอีกต่อไป เพราะตนคิดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์คือตัวประกันทางการเมืองของเพื่อไทย แต่เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตัดสินใจแบบนี้ทำให้พรรคไม่ต้องอยู่ในอาการพะว้าพะวัง และสามารถเดินไปข้างหน้าได้มากขึ้น รวมถึงคนในพรรคที่ต้องช่วยกันคิดและมีความสามัคคีกันมากขึ้น ถ้ายังตัดสินใจจะอยู่กับพรรคต่อไป

“การประเมินผลดีผลเสียจำเป็นจะต้องรอความชัดเจน แต่สำหรับรัฐบาลชุดปัจจุบันเหมือนกับการปลดชนวนของระเบิดเวลา เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าก่อนหน้าวันที่ 25 สิงหาคมทุกฝ่ายต่างกังวลกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น แต่สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ผมคิดว่าเป็นการเปิดบทใหม่ให้กับการเมืองไทยอีกครั้ง เหมือนครั้งหนึ่งที่เราเคยเรียกการเมืองไทยหลังรัฐประหาร 2549 ว่ายุคหลังทักษิณ แต่ผมคิดว่ายุคหลังยิ่งลักษณ์ไม่ได้หมดไปในการรัฐประหาร 2557 แต่มาหมดไปหลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศต่างหาก” ศ.ดร.สุรชาติกล่าว

และว่า “ในวันนี้เรากำลังจะเห็นการเมืองยุคหลังยิ่งลักษณ์เริ่มขึ้นและจะต้องดูกันต่อในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร แต่ผมคิดว่าสิ่งที่จะเห็นชัดคือการเมืองในช่วงต้นปี 2561 เป็นต้นไปสถานการณ์ทางการเมืองจะเริ่มเข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์เริ่มรุมเร้าทั้งเสียงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงเสียงเรียกร้องเรื่องประชาธิปไตยด้วย”

ศ.ดร.สุรชาติกล่าวต่อว่า “เหตุการณ์ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตัดสินใจแบบนี้ อย่างน้อยก็ทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สบายใจในสถานการณ์วันตัดสิน เพราะหน่วยงานด้านความมั่นคงคงมีความกังวลว่าจะคุมสถานการณ์ลำบาก แต่ในเมื่อเหตุการณ์หักมุมในลักษณะนี้ และผมคิดว่าจะเห็นในทางการเมืองมากในอนาคตคือเมื่อก่อนเรามี 3 สถาบันทางการเมือง คือนิติบัญญัติคือสภา ตุลาการคือศาล และฝ่ายบริหารคือรัฐบาล แต่อนาคตจะเห็นชัดอีก 2 สถาบันคือกองทัพและองค์กรอิสระ โดยองค์กรอิสระจะมีความเชื่อมโยงกับตุลาการเพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเห็นในอนาคตไม่ใช่ตุลาการภิวัฒน์แต่เป็นตุลาการธิปไตย และสิ่งที่เราจะเห็นในวันหน้าคือจะเห็นการผสมผสานระหว่างเสนาธิปไตยกับตุลาการธิปไตยเข้ามาควบคุมการเมืองไทย”

“ส่วนกรณีการลี้ภัยทางการเมืองเราถูกตอบโจทย์ตั้งแต่กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีแล้ว ส่วนการเคลื่อนไหวของรัฐบาลและกลุ่มคนที่เรียกร้องให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนก็ไม่มีเสียงตอบรับกลับมาจากรัฐบาลประเทศที่นายทักษิณอยู่ ผมเชื่อว่ารัฐบาลในต่างประเทศติดตามการเมืองไทยอยู่พอสมควรเพราะฉะนั้นในบริบทแบบนี้จึงเป็นเรื่องเข้าใจกันได้ หากเรามองว่ารัฐบาลต่างประเทศควรจะไม่รับนั้นผมคิดว่าอาจจะไม่ใช่ เพราะในสายตาที่เขามองการเมืองไทยอาจจะมองด้วยสายตาของกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่กำลังเรียกร้องการเมืองไทย ด้วยความที่นายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความสัมพันธ์กันในฐานะพี่กับน้อง ต่อจากนี้จะกลายเป็นกระแส “ทักษิณยิ่งลักษณ์” ที่ตอกย้ำด้วยเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 และ 2557 และผลพวงของคดีโครงการรับจำนำข้าวโดยจะทำให้กระแสทักษิณยิ่งลักษณ์อยู่นานขึ้น” ศ.ดร.สุรชาติระบุ

ศ.ดร.สุรชาติกล่าวทิ้งท้ายว่า “ส่วนคนที่เห็นแย้งกับการรัฐประหารและความผิดพลาดและนโยบายสาธารณะไม่ใช่คดีอาญาจะยิ่งยอมรับในกระแสทักษิณยิ่งลักษณ์มากขึ้น รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่เคยดี แล้วเมื่อเศรษฐกิจยิ่งตกก็จะมีกระแส “ทักษิณยิ่งหลอก” และกลายเป็นเสียงเรียกร้องที่คนฝันถึงเพราะเป็นยุคที่เศรษฐกิจไทยเคยเฟื่องฟู และวันนี้ถ้าเปรียบการเมืองไทยเป็นหนังก็คงเพิ่งเริ่มบทใหม่ของภาพยนตร์เรื่อง “วิกฤตการเมืองไทยที่ยังไม่จบ”

ที่มา : มติชนออนไลน์