วันอาทิตย์, สิงหาคม 20, 2560

ฟ้องอาญา ๑๑๒ เด็กอายุ ๑๔ ปี จะกระทำย่ำยีเพียงใด เช่นที่ตระบัดสัตย์คดีไผ่

อีกแล้ว ไม่เหมือนใครในสากลโลก “ฟ้อง ๑๑๒ กับเด็กอายุ ๑๔ ปี” โพสต์ของ อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โวย “ประเทศนี้มึงบ้าไปแล้ว”

“เคสแรกในโลกที่มีการตั้งข้อหาหมิ่นฯ กับเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี” Bow Nuttaa Mahattana นักกิจกรรมใกล้ชิดกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ กล่าวถึงเรื่องเดียวกัน “#หยุดม112 #หยุดละเมิดสิทธิมนุษยชน

จากคดีควบคุมตัวผู้ต้องหาเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ ที่ขอนแก่น ๘ คน ที่ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นอายุ ๑๘-๒๐ ปี เสร็จแล้วต่างโดนคดีอาญา ม.๑๑๒ กันถ้วนหน้า ไม่สนกติกาแห่งมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล

นั่นก็ว่าทรามพอดูอยู่แล้ว ครั้นมาวันนี้ (๑๙ ส.ค.) ต่ำช้าหนักไปเสียยิ่งกว่า เมื่อมีผู้ต้องหารายที่ ๙ ถูกส่งฟ้องในข้อหา Lèse-majesté ที่โทษทางอาญาจำคุกกระทงละ ๑๕ ปี ด้วยอีกคน เป็นเยาวชนอายุเพียง ๑๔ ปี

ด.ช.อภิสิทธิ์ ชัยลี เด็กผู้ต้องหารายนี้ถูกทหารจับตัวไปควบคุมไว้ในข้อหาวางเพลิงเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พร้อมกับผู้ต้องหาอื่นๆ อีก ๖ คน ที่เป็นชาวบ้านอำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่นเหมือนกัน เกือบอาทิตย์ให้หลังทหารถึงนำตัวผู้ต้องหาทั้งหกไปมอบให้ตำรวจ ส่งตัวเข้าเรือนจำเมื่อ ๒๓ พ.ค.


เยาวชนอายุ ๑๔ ปีนั้นถูกควบคุมตัวที่ศาลเยาวชน อีก ๕ คนอยู่ที่ศาลจังหวัด จนกระทั่งมีการส่งฟ้องเมื่อสองวันก่อน แต่ในตอนที่เริ่มฝากขังเมื่อเดือนพฤษภานั้น ผู้ต้องหายังไม่มีการตั้งทนายแก้ต่างให้ องค์การฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน

การควบคุมตัวเด็กผู้ชายวัย ๑๔ ปีแบบลับในค่ายทหารของไทย ถือเป็นสัญญาณเตือนที่ร้ายแรงHRW แจ้ง “เยาวชนทั้งสี่คน (ในเบื้องต้น) ที่ถูกจับกุม ไม่ควรถูกปฏิเสธสิทธิที่จะได้รับการนำตัวไปขึ้นศาล

และไม่ควรถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร โดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก ไม่ว่าพวกเขาจะถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาใดก็ตาม” นายแบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว

“กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กำหนดความคุ้มครองเป็นพิเศษสำหรับบุคคลทุกคนที่อายุต่ำกว่า ๑๘ ปี” ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว

“อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child - CRC) ระบุว่า ไม่ว่าในพฤติการณ์ใด การจับกุม ควบคุมตัว หรือคุมขังเด็ก ให้กระทำเป็นมาตรการขั้นสุดท้าย และให้ทำในระยะเวลาที่สั้นสุดตามความเหมาะสม”


ระเบียบปฏิบัติในบรรดาอารยะประเทศเหล่านี้ไม่ค่อยได้รับการปฏิบัติตามจากรัฐบาลทหารไทยเท่าใดนัก จะมีก็แต่บางครั้งอ้างด้วยปากอย่างเดียวว่า ทำโน่นทำนี่ตามข้อผูกมัดสหประชาชาติที่ประเทศไทยลงนามบัญญัติไว้

การเอาผิด หลังจากบีบบังคับ ขู่เข็น จับกุม ควบคุมตัวแล้ว เป็นกระบวนการที่มาตรฐานระบบยุติธรรมสากลจะจัดให้เป็นการทำร้าย และนำบุคคลลงเป็นทาสเสียด้วยซ้ำ

ดั่งคดี ๑๑๒ ที่กระฉ่อนไปทั่วโลกจากการตัดสินไผ่ ดาวดิน (ฉายานาม) นักศึกษากฎหมาย ม.ขอนแก่น นักกิจกรรมเพื่อสิทธิและสิ่งแวดล้อมของชาวบ้าน ที่กลายเป็นผู้ต้องหาหมิ่นกษัตริย์เมื่อเขาแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ ๑๐ โดยบีบีซีไทย ที่เล่าข้อเท็จจริงละเอียดเกินไปกว่า สถาบัน ต้องการ

ไผ่พยายามต่อสู้ด้วยใจแน่วแน่ว่าตนไม่ผิดทางอาญาใดๆ เพียงต้องการพิสูจน์สิทธิมนุษยชนแห่งตนให้ประจักษ์ต่อสาธารณะ แต่ก็จำต้องสยบหลังถูกกักขังโดยไม่รู้เป้าหมายบั้นปลายว่าคดีจะสิ้นสุดเมื่อไร และไม่มีทางได้รับการประกันตัวปล่อยชั่วคราวออกไปสู้คดีนอกคุก

การบีบคั้นกดดันให้ผู้ต้องหายอมรับสารภาพ แม้วัดด้วยมาตรฐานกฎหมายสากลแล้วแน่นอนว่าไม่ผิดก็ตาม เช่นนี้ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล เรียกว่า the Winston Syndrome
 
“ที่รู้กันดีก็คือ การสารภาพจะช่วยย่นระยะเวลาในการพิจารณาและลดระยะเวลาติดคุก การสารภาพแลกกับความหวังว่าจะได้ลดโทษ...

ปรากฏการณ์นี้แสดงว่าทุก ๆ ฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้พิพากษา และประชาชนทั่วไป ถือว่าผู้ต้องหา ๑๑๒ มีความผิดแน่นอนโดยไม่ต้องพิสูจน์

และต่อให้ผู้ต้องหาสามารถพิสูจน์ได้ว่าเนื้อหาที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดมาตรา ๑๑๒ นั้นเป็นความจริง ก็ยังถือว่าผิดอยู่ดี ดังที่ผู้พิพากษาคนหนึ่งได้กล่าวกับทนายความในคดีหนึ่งว่า ยิ่งจริง ยิ่งหมิ่น ไม่จริง ก็ยิ่งโคตรหมิ่น

ดร.ธงชัยนำการตีความนี้มาจากนิยายการเมืองเลื่องชื่อของจ๊อร์จ ออร์เวล เรื่อง ‘1984’ ที่มีตัวละครสำคัญคนหนึ่งชื่อ Winston Smith โดยเปรียบเปรยว่า “สำหรับวินสตันและผู้ต้องหา ๑๑๒ การสารภาพในตัวมันเองคือการทรมานอย่างหนึ่ง

เพราะมาตรา ๑๑๒ เป็นอาชญากรรมทางความคิด การทำลายความคิดอิสระจึงเป็นการทรมานยิ่งกว่าทรมานกาย...แม้ว่าการสารภาพจะเป็นทางเลือกซึ่งชาญฉลาดถูกต้องในสถานการณ์ที่เป็นจริง เพื่อมีชีวิตอยู่รอดในโลกอัปลักษณ์ที่มีมาตรา ๑๑๒

และไม่ว่าพวกเขาจะเปลี่ยนความคิดจริงหรือไม่ก็ตาม การสารภาพเป็นการทำร้ายจิตใจลงย่อยยับ เป็นการกระทำที่สุดแสนจะทรมานสำหรับพวกเขา...

อิสระที่ได้รับหลังการสารภาพจึงเป็นเพียงอิสระทางกาย เพราะจิตใจ ศักดิ์ศรี ความภาคภูมิใจในตัวของตัวเอง ความเป็นมนุษย์ได้ถูกทำลายไปแล้ว...นี่คือความโหดร้ายของการสารภาพผิดต่อมาตรา ๑๑๒”


การสารภาพของไผ่ (หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) จึงเข้าข่ายดังกล่าวโดยไม่ต้องกังขา เมื่อข้อเท็จจริงภายหลังการสารภาพและตัดสินผ่านไปแล้วหมาดๆ ปรากฏออกมาว่า

ก่อนที่ศาลจะพิพากษาตัดสิน ศาลได้เรียกไผ่และครอบครัวไปคุยเกี่ยวกับคดีความ ก็ไม่ได้คุยแบบนี้แบบที่ตกลงกันในช่วงเช้า ที่คุยกันก็คือโทษจำคุกหากไผ่รับสารภาพไม่ใช่ ๕ ปี” นี่เป็นคำพูดของนายวิบูลย์ พ่อของไผ่ ซึ่งกฤดิกร วงศ์สว่างพานิช นำมาเขียนถึงใน ประชาไท

“ตอนนี้เราผิดหวังว่า ที่เราได้คุยกันกับศาลจนไผ่รับสารภาพนั้น มันตระบัดสัตย์ ทั้งที่ปกติไผ่จะไม่รับสารภาพง่ายๆ แบบนี้”


ฟังดูเหมือนศาลลวงให้ผู้ต้องหา ๑๑๒ รับสารภาพเพื่อจะได้ตัดสินสิ้นเรื่องสิ้นราวจบๆ ไป เนื่องจากคดีไผ่เป็นที่สนใจและจับตาอยู่ทั่วโลก ในแง่ที่ว่ากระบวนการศาลไทยไม่ยึดถือมาตรฐานความยุติธรรมตามครรลองสากล

ขนาดไผ่หนุ่มใหญ่วัยเบญจเพศอายุ ๒๖ ปี ยังถูกลวงและล่วงล้ำความเป็นมนุษย์ขนาดนี้ เพื่อความศักสิทธิ์ของกฎหมายหมิ่นฯ ม.๑๑๒ เด็กวัย ๑๔ ปีที่เพิ่งโดนข้อหามหรรณพ์เดียวกัน จะถูกกระทำย่ำยีเพียงใด