วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 07, 2560

ยุคใหม่ของการเข้าชื่อเสนอกฏหมาย... ขั้นตอนเป็นแบบนี้...





ขั้นตอนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายประชาชน


21 พ.ย. 2560
โดย iLaw


เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ เท่ากับเป็นการเริ่มต้นอีกครั้งของ “สิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย” โดยประชาชน หลังจากสิทธินี้ถูกระงับไปกว่าสามปีที่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ รัฐธรรมนูญกำหนดรายละเอียดให้เปลี่ยนไปเล็กน้อย ส่วนสาระสำคัญยังเหมือนเดิม คือ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต่อรัฐสภาเพื่อให้พิจารณาออกเป็นกฎหมาย ร่างพ.ร.บ. ที่ประชาชนจะเสนอได้ ต้องเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญในหมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ

ส่วนขั้นตอนรายละเอียดอื่นๆ รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2556 กำหนดไว้ ดังนี้





1. การริเริ่มเสนอร่างพ.ร.บ.ใช้คนไม่น้อยกว่า 20 คน


ขั้นตอนแรก ให้มีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็น “ผู้ริเริ่ม” จำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน ยื่นความประสงค์ต่อประธานรัฐสภา โดยต้องจัดทำร่างพ.ร.บ. พร้อมหลักการและเหตุผลไปเสนอด้วย

2. ประธานฯ ตรวจสอบหลักการและเนื้อหาภายใน 15 วัน

ขั้นตอนที่สอง ประธานรัฐสภาจะตรวจสอบว่าร่างพ.ร.บ.ที่มีผู้ริเริ่มเสนอมานั้นมีหลักการและเนื้อหาเป็นไปตามหมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ หรือไม่ โดยประธานรัฐสภาจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 15 วัน

หากเห็นว่าร่างพ.ร.บ.ที่เสนอมานั้นหลักการและเนื้อหาไม่เป็นไปตามหมวด 3 และหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ ให้แจ้งผู้ริเริ่มทราบเป็นหนังสือพร้อมทั้งส่งเรื่องคืน เพื่อประชาชนจะได้ไม่ต้องไปเสียเวลาและเงินทุนในการระดมรายชื่อ

3. ชักชวนประชาชนเข้าชื่อไม่กำหนดระยะเวลา


ขั้นตอนที่สาม เมื่อประธานรัฐสภาพิจารณารตรวจสอบร่างพ.ร.บ.แล้ว ผู้ริเริ่มจึงจะนำร่างพ.ร.บ.นั้นไปชักชวนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงลายมือชื่อร่วมกันเสนอ โดยเอกสารการลงลายมือชื่อทุกแผ่นจะต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับ

1) ชื่อตัวและชื่อสกุล
2) หมายเลขประจำตัวประชาชน
3) ข้อความปรากฎเพื่อให้ทราบว่าเป็นการลงลายมือชื่อเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ใด
4) สามารถตรวจสอบร่างพ.ร.บ.ได้ที่ใด

โดยประชาชนที่ร่วมเข้าชื่อ ต้องแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้องด้วย แต่ไม่ต้องแนบสำเนาทะเบียนบ้าน สำหรับขั้นตอนการชักชวนประชาชนให้ลงลายมือชื่อสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ไม่ได้จำกัดระยะเวลาในการดำเนินการ

4. ครบหมื่นชื่อยื่นคำร้องต่อประธานรัฐสภา
ขั้นตอนที่สี่ เมื่อผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 คน แล้ว ให้ยื่นคำร้องขอเข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ต่อประธานรัฐสภา พร้อมเอกสารดังนี้

1. สำเนาร่างพ.ร.บ.ที่จะเสนอให้รัฐสภาพิจารณา พร้อมทั้งบันทึกหลักการและเหตุผลในการเสนอ
2. เอกสารการลงลายมือชื่อของประชาชนจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน พร้อมด้วยสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
3. บัญชีรายชื่อผู้แทนของผู้เข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.จำนวนไม่เกิน 60 คน ที่จะทำหน้าที่ชึ้แจงร่างพ.ร.บ. ต่อสภาและเข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.นั้น

5. ตรวจสอบไม่ถึงหมื่นชื่อ ต้องหาเพิ่มภายใน 90 วัน


ขั้นตอนที่ห้า เมื่อประธานรัฐสภาได้รับเรื่องแล้ว ต้องตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของเอกสารให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน ถ้าเห็นว่าถูกต้องแล้ว ประธานจะจัดให้มีการประกาศรายชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนั้นต่อไป

ในกรณีที่ตรวจสอบแล้วเห็นว่า มีรายชื่อประชาชนหรือมีเอกสารไม่ถูกต้องครบถ้วน ทำให้จำนวนผู้เข้าชื่อมีจำนวนไม่ถึง 10,000 คน ให้แจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้ริเริ่มเพื่อให้จัดให้เข้าชื่อเสนอเพิ่มเติมให้ครบ ภายใน 90 วัน

6. ประกาศรายชื่อให้ประชาชนตรวจสอบก่อนเข้าสภา
ขั้นตอนที่หก เมื่อเห็นว่ารายชื่อถูกต้องครบถ้วนแล้ว ถึง 10,000 คน ให้ประธานรัฐสภาประกาศรายชื่อของผู้ที่เข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ในช่องทางต่างๆ ดังนี้

1. สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หรือ เว็บไซต์ www.parliament.go.th
2. จัดทำบัญชีรายชื่อเพื่อให้ประชาชนได้ตรวจสอบ ณ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้สภาผู้แทนราษฎร
3. มีหนังสือแจ้งไปยังผู้มีรายชื่อเป็นผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายทุกคน

หากผู้ใดพบว่า มีรายชื่อของตนเป็นผู้เข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.นั้น โดยที่ไม่ได้ร่วมลงชื่อเสนอ ผู้นั้นสามารถยื่นคำร้องคัดค้านต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้ขีดฆ่ารายชื่อออกหากพ้นกำหนด 30 วัน ไม่มีผู้ใดคัดค้านให้ถือว่ารายชื่อนั้น เป็นชื่อที่ถูกต้อง

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการข้างต้นแล้วประธานรัฐสภาจะพิจารณานำร่างพ.ร.บ.นั้นเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของสภา เพื่อพิจารณาว่าจะออกเป็นกฎหมายหรือไม่ ทั้งนี้หากประธานเห็นว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเกี่ยวกับการเงินจะต้องส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนด้วย


เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
รัฐธรรมนูญ2560: ประชาชนหนึ่งหมื่นคนสามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้