วันศุกร์, ธันวาคม 08, 2560

ข่าวดี ไตแลนเดียหลุดพ้นจากวังวนความยากเร้นแล้ว แต่ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่า "ประชาธิปไตยที่ดีต้องกีดกันนักการเมืองตั้งรัฐบาล"

ข่าวดีนะข่าวดี ไตแลนเดียหลุดพ้นจากวังวนความยากเร้นแล้วละ ธนาคารโลกว่างั้น หลังจากมีการจัดกลุ่มประเทศไทยอยู่ในหมู่ชาติมั่งคั่งของเอเซียตะวันออก อันรวมทั้งมาเลย์เซียและมองโกเลียด้วย

ทั้งนี้ทั้งนั้นเนื่องจากประเทศไทยสามารถผลักดันกลุ่มชนที่ตกอยู่ในภาวะ อดหยากไปสู่ฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคงขึ้นได้ นั่นคือกลายเป็นชนชั้นกลาง (และบ้างก็มั่งมี) อันเป็นกลุ่มชนขนาดใหญ่ของประเทศขณะนี้

“ประเทศไทยสามารถให้ความสำคัญแก่จุดมุ่งหมายในชีวิตของชนชั้นกลางก่อนอย่างอื่นๆ ได้แล้ว” ธนาคารโลกกล่าวไว้ในรายงานเรื่อง “เกาะกระแส :ปาฏิหาริย์ของเอเซียตะวันออกในศตวรรษที่ ๒๑” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์วันนี้ (๘ ธันวา)


แต่ว่า “สิ่งแรกที่ต้องทำคือการสร้างความพึงพอใจให้แก่ชนชั้นกลาง ในจุดมุ่งหมายแห่งชีวิตที่ชนกลุ่มนี้ใฝ่หาและเรียกร้อง เกี่ยวกับบริการสาธารณะในด้านสุขภาพและการศึกษา อันจะเป็นปัจจัยส่งเสริมภาวะการดำรงชีวิตที่ดียิ่งขึ้นไป” รายงานระบุ

“ความจำเป็นอันดับสองอยู่ที่ต้องจัดทำการปฏิรูปในเรื่องที่จะลดช่องว่างระหว่างชนบทและเมืองให้แคบเข้า กับขจัดความไม่เท่าเทียมทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระหว่างภูมิภาคให้หมดไป”

รายงานธนาคารโลกเสริมว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์โดยตรงกับชนชั้นกลาง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้เกิดอาการกระตุกช็อคโดยระบบขึ้นได้

ข้อสรุปต่อการสลัดพ้นภาวะ ยากไร้ ของประชาชนไทยโดยธนาคารโลกครั้งนี้ เป็นการวัดผลต่อเนื่องมาเป็นเวลา ๒๐ ปี ซึ่งนายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คนปัจจุบัน อ้างว่าเป็นผลของการเติบโตทางเศรษฐกิจและการวางนโยบายกระตุ้นการเพิ่มรายได้ตลอดมา

อย่างไรก็ดีในสถานการณ์ปัจจุบัน รายงานของ สศช. เองเพิ่งเปิดเผยสถิติย้อนแย้งกับภาพลักษณ์เล็กน้อย ว่าในไตรมาสที่สามของปีนี้ อัตราการจ้างงานในประเทศลดลง ดันให้ยอดคนว่างงานเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเป็นอัตราร้อยละ ๑.๑๙ หรือเท่ากับจำนวนคนว่างงานเพิ่มอีกเกือบ ๕ แสนคน

สถิติการว่างงานดังกล่าวของสภาพัฒน์ฯ วัดจากการลดลงของกำลังแรงงาน ๓๘.๒ ล้านคนในไตรมาสเดียวกันเมื่อปี ๒๕๕๙ มาเป็น ๓๗.๖ ล้านคนในปีนี้ สภาพัฒน์ฯ อ้างว่าการจ้างงานลดครั้งนี้เนื่องจากปัญหาอุทกภัยในช่วงเดือนกรกฎา-สิงหาที่ผ่านมา
(แม้นว่าปัญหาน้ำท่วมยังคงหนักหน่วงอยู่ขณะนี้ในท้องที่หลายจังหวัดภาคใต้ ทั้งปัตตานี นราธิวาส พังงา สงขลา เป็นต้น มีผู้ที่เดินทางโดยเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดภาคใต้แจ้งว่า มองจากเครื่องบินยังเห็นแอ่งน้ำท่วมตกค้างอยู่อีกมากมายในพื้นที่ภาคกลางด้วย)

ประการสำคัญจำนวนคนว่างงานที่เพิ่มขึ้นครั้งนี้ “ส่วนใหญ่ร้อยละ ๖๕ มีการศึกษาต่ำกว่าระดับมัธยมปลาย ซึ่งกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะว่างงานก่อนกลุ่มอื่นและหางานยากขึ้น เพราะเทคโนโลยีมีความก้าวหน้า สามารถทำงานซ้ำๆ แทนคนได้”


ปัจจัยสำคัญอันหนึ่งในความเห็นของนักวิจัยธนาคารโลก ในอันที่ประเทศไทยจะพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อรักษาภาพลักษณ์สังคมชนชั้นกลางไว้ต่อไปข้างหน้า คือต้องผลิตแรงงานระดับทักษะสูงให้เพียงพอกับการลงทุนอุตสาหกรรมด้านไฮเท็ค ซึ่งไทยยังขาดแคลน

การผลิตทางอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนอีเล็คโทรนิคที่เคยมีอยู่พอประมาณ แต่ถอนไปนับแต่วิกฤตน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี ๒๕๕๔-๕๕ และหดหายหนักขึ้นในช่วงสามปีที่ผ่านมาภายใต้การครองเมืองของ คสช. ก็ยังไม่มีทีท่าจะกระเตื้องหรือวาดหวังได้ว่าจะกลับคืนมา หากสภาพทางการเมืองและสังคมยังคงจมปลักกับการปกครองเบ็ดเสร็จห้ามตรวจสอบและกดขี่ความเห็นต่างต่อไป
รายงานของสื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์ เดอะสแตนดาร์ดชิ้นล่าสุดเรื่องการ “เปิดสองโครงการขนาดใหญ่มูลค่ากว่า ๑.๕ พันล้านเหรียญ หรือราว ๕ หมื่นล้านบาทในเขตอุตสาหกรรมไฮฟอง ประเทศเวียดนาม” ของบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าระดับโลกแบรนด์ ‘LG’ ที่ “ตอกย้ำภาพการย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทย” เป็นแนวโน้มที่ไม่ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์การหลุดพ้นภาวะอดอยากของประเทศไทยแม้แต่นิด

บริษัทแอลจี ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคด้านอีเล็คโทรนิคและเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมข้ามชาติขนาดยักษ์ของเกาหลีใต้เจ้านี้มีโรงงานผลิตเครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กอยู่ที่จังหวัดระยอง ได้เริ่มย้ายฐานการผลิตโทรทัศน์ออกจากไทยไปยังเวียดนามตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ เป็นต้นมา การเปิดโรงงานใหม่ขนาดใหญ่ในเวียดนามย่อมตอกย้ำการไม่กลับมายิ่งขึ้น


นั่นคือประชากรส่วนหนึ่งซึ่งยังอยู่ในระดับ ยากจน จำนวน ๒๙ ล้านคน อันประกอบด้วยผู้ใช้แรงงานและเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่ ก็ยังมองไม่เห็นเวลา ลืมตาอ้าปากในยุค คสช.นี้ และต่อไปอีกไม่รู้กี่ปีในระหว่างการบังคับใช้ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีของ คสช.

ในส่วนของเกษตรกร นับแต่วิกฤตราคาข้าว ราคายางพารา ๓ กิโลร้อย ที่หัวหน้า คสช. บอกให้ชาวสวนยางปลูกปาล์มน้ำมันแทนสิ ปาล์มก็ (ไม่) บังเอิญราคาตกเหมือนกัน ไม่กี่วันมานี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ่นน้ำลายปนเสียงปรี๊ดให้ชาวสวนยางเปลี่ยนไปปลูกมะพร้าวบ้าง
 
มาวันนี้มีรายงานมะพร้าวน้ำหอมที่เคยเป็นสินค้าเกษตรกรรมสุดติ่ง ดันราคาตกลงไปสิบเท่าเสียอีก จนมีคนบ่นว่าขอทั่นนายกฯ อย่าพูดแนะอะไรได้ไหม แต่ละอย่างที่แนะมาพังทั้งนั้น

กรณีมะพร้าวน้ำหอมนี่เป็นที่นิยมปลูกกันมากเมื่อไม่นานมานี้เอง โดยเฉพาะในท้องที่จังหวัดสมุทรสงครามมีถึง ๘ พันกว่าไร่ เพราะมีความนิยมมากขึ้นและราคาดีไม่เคยต่ำกว่าลูกละ ๑๐ บาท เมื่อต้นปี ๖๐ นี้เองราคาขึ้นไปถึงลูกละ ๓๑ บาท

มาวันนี้ราคาเหลือเพียงลูกละ ๓-๔ บาท ชาวสวนบอกว่าน่าจะเป็นเพราะมะพร้าวน้ำหอมนิยมปลูกกันมากจนล้นตลาด ประกอบกับการส่งออกเกิดติดกึกขึ้นมาเนื่องจาก “อาจถูกตรวจพบสารตกค้างในลูกมะพร้าวจึงทำให้หลายประเทศที่เคยต้องการมะพร้าวน้ำหอมจากประเทศไทยแบบไม่อั้น ระงับการนำเข้าชั่วคราว”


และสาเหตุของการมีสารตกค้างในลูกมะพร้าวก็เนื่องจาก “การฉีดยาเข้าต้นมะพร้าวเพื่อป้องกันหนอนหัวดำที่ระบาดกัดกินยอดมะพร้าวจนทำให้ยืนต้นตายนับพันไร่ ซึ่งทางวิชาการนั้นให้ฉีดเฉพาะต้นมะพร้าวที่มีความสูงเกิน ๑๒ เมตรขึ้นไปเท่านั้น เพราะจะทำให้การดูดซึมขึ้นไปไม่ถึงลูกมะพร้าว

แต่ชาวสวนบางรายรู้เท่าไม่ถึงการณ์จ้างคนฉีดยาโดยไม่เว้น โดยเฉพาะมะพร้าวน้ำหอมที่ต้นจะสูงไม่ถึง ๑๒เมตร”

อ่า เรื่องรู้เท่าไม่ถึงการณ์นี่เป็นปัญหาโลกแตกของการด้อยพัฒนาในสังคมนะ และการด้อยพัฒนาในสังคมก็เป็นปัญหาโลกแตกของประเทศที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย

แล้วไอ้การไม่เป็นประชาธิปไตยมันคือปัญหาของสังคมที่มีมโนคติว่า ประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งก็ได้ ประชาธิปไตยมียี่ห้อจะให้ดีต้องตีตราราชลัญจกร และในช่วงสามปีกว่ามานี้มีคอนเซ็ปใหม่ ประชาธิปไตยที่ดีต้องกีดกันนักการเมืองตั้งรัฐบาล