วันอาทิตย์, ธันวาคม 03, 2560

ILAW ย้อนดูผลงาน 'ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง' ของคสช. ควรไปต่อหรือพอแค่นี้?





ย้อนดูผลงาน 'ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง' ของคสช. ควรไปต่อหรือพอแค่นี้?

.
ประชาชนตอบ 4 คำถาม พล.อ.ประยุทธ์ สนับสนุนปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง แต่ทว่า ผลงานจากสภาปฏิรูปถึงสองชุดที่คสช. เป็นคนแต่งตั้ง กลับขาดรูปธรรม เนื้อหาซ้ำ ยืดเยื้อ รวมถึงบางอย่างไม่มีงานวิชาการรองรับ แถมใช้งบประมาณไปไม่ต่ำกว่าพันล้านบาท จนสมควรตั้งคำถามว่า ควรไปต่อหรือพอแค่นี้?
.
ตามที่กระทรวงมหาดไทยเผยแพร่ข้อมูลจากการรวบรวมความเห็นประชาชนต่อคำถาม 4 ข้อ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน - 27 ตุลาคม 2560 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่(ที่ตอบคำถาม) สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งนายกฯ ต่อไปจนกว่าจะปฏิรูปประเทศเสร็จ แล้วถึงมีการเลือกตั้ง
.
แต่ทว่า เมื่อย้อนดูผลงานตั้งแต่ช่วงแรกของการรัฐประหาร ที่ คสช. ได้มีการแต่งตั้ง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พบว่า แนวทางการปฏิรูปประเทศของ สปช. มีปัญหาตั้งแต่ 'หลักคิด' ผุดข้อเสนอชนิด "ครอบจักรวาล" 505 ข้อ เป็น “เบี้ยหัวแตก” ปฏิบัติไม่ได้ ไม่มีอะไรใหม่ ขาดรายละเอียดที่ชัดเจน เน้นขยายระบบราชการ เสนอตั้งหน่วยงานใหม่มากกว่า 100 หน่วยงาน และเสนอร่างกฎหมายใหม่นับร้อยฉบับ และใช้งบประมาณกว่า 700 ล้านบาท (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://ilaw.or.th/node/3839)
.
หลังจาก สปช. ต้องสิ้นสุดไปตาม 'ร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์' คสช. ก็ยังแต่งตั้งสภาใหม่ขึ้นมาสานต่อการปฏิรูปของสปช. ภายใต้แบรนด์ใหม่ว่า สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แต่ทว่า ผลงานของ สปท. ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากสภาก่อนหน้า เพราะนอกจากจะแต่งตั้งคนหน้าซ้ำจากสปช. มาทำงาน ข้อเสนอที่ออกมากว่า 75 เปอร์เซ็นก็เป็นนามธรรม ไม่มีรายละเอียดให้นำไปปฏิบัติได้จริง หรือยังไม่มีข้อสรุป รวมไปถึงไม่มีงานวิชาการรองรับ
.
นอกจากนี้ รายงานบางฉบับยังตัดแปะ-ลอกเลียน จากหน่วยงานอื่นที่เคยเสนอหรือดำเนินการไปแล้ว รวมไปถึงมีข้อเสนอที่ถูกคัดค้านอย่างหนัก ยกตัวอย่างเช่น ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... หรือที่เรียกกันสั้นๆ ในชื่อ ร่างพ.ร.บ.ตีทะเบียนสื่อ เป็นต้น (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://ilaw.or.th/node/4577)
.
แม้ สปท. จะตั้งงบปฏิรูปไว้สูงถึง 1 พันล้านบาท แต่ผลการปฏิรูปก็ยังไม่สำเร็จ จนสุดท้าย คสช. ก็ขอพื้นที่ทำแผนปฏิรูปต่ออีกครั้ง ภายใต้ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ที่กำหนดให้รัฐบาลคสช. แต่งตั้งกรรมการปฏิรูปอีก 140 คน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าผลลัพธ์สุดท้ายจะออกมาเป็นอย่างไร (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://www.ilaw.or.th/node/4602)
.
//////////////
.
ดูอัลบั้มภาพอินโฟกราฟิกสรุปผลงาน สปท. ได้ที่ https://goo.gl/QisDYi

ที่มา

iLaw


ooo





ผลงานตั้งแต่ช่วงแรกของการรัฐประหาร ที่ คสช. ได้มีการแต่งตั้ง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พบว่า แนวทางการปฏิรูปประเทศของ สปช. มีปัญหาตั้งแต่ 'หลักคิด' ผุดข้อเสนอชนิด "ครอบจักรวาล" 505 ข้อ เป็น “เบี้ยหัวแตก” ปฏิบัติไม่ได้ ไม่มีอะไรใหม่ ขาดรายละเอียดที่ชัดเจน เน้นขยายระบบราชการ เสนอตั้งหน่วยงานใหม่มากกว่า 100 หน่วยงาน และเสนอร่างกฎหมายใหม่นับร้อยฉบับ และใช้งบประมาณกว่า 700 ล้านบาท

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://ilaw.or.th/node/3839






ตรวจคุณภาพข้อเสนอ สปท.: ข้อเสนอกว่า 75 เปอร์เซ็นเป็นนามธรรม
.
จากการตรวจดูข้อเสนอในรายงานตามแผนการปฏิรูปของคณะกรรมาธิการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 ปรากฎว่า มีรายงานที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีทั้งสิ้น 131 เล่ม และจากการศึกษาข้อเสนอที่อยู่ในรายงานทั้ง 131 ฉบับ ทำให้พบอีกว่า มีข้อเสนอและวิธีการปฏิรูปนับได้อย่างน้อย 1,342 ข้อ แต่มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม ชัดเจนสำหรับการนำไปปฏิบัติได้ทันทีเพียง 329 ข้อ หรือคิดเป็นร้อยละ 24.5 หรือหมายความว่ามีข้อเสนอที่เป็นนามธรรมถึงร้อยละ 75.5
.
โดยตัวอย่างของข้อเสนอที่เป็นนามธรรม เช่น ข้อเสนอการให้การศึกษาเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองที่ยั่งยืน ซึ่งอยู่ในรายงานการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ในหน้าที่ 18 เสนอให้จัดทำหลักสูตรการศึกษาสร้างประชาชนวัฒนธรรมประชาธิปไตย (Civic Education) ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายประเทศใช้เป็นกลไกในการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย แต่ทว่า ในข้อเสนอดังกล่าวของ สปท. กลับมีรายละเอียดเพียงว่า จะจัดทำหลักสูตรในช่วงใด มีใครเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ไม่ปรากฎสาระสำคัญของเนื้อหาหลักสูตรอย่างชัดเจนว่า วัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ต้องการสร้าง เป็นอย่างไร
.
ดูข้อมูลต่อได้ที่ https://www.ilaw.or.th/node/4577






ตรวจคุณภาพข้อเสนอ สปท.: บางข้อเสนอไม่มีข้อสรุปและบางข้อเสนอไม่มีงานวิชาการรองรับ

.
ในรายงาน สปท. นอกจากจะมีข้อเสนอซึ่งเป็นนามธรรมแล้ว ข้อเสนอบางข้อยัง 'ไม่มีข้อสรุป' หรือ 'ไม่มีงานวิชาการรองรับ' อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น
.
หนึ่ง รายงานแผนปฏิรูประบบการประกันคุณภาพการศึกษา หน้า 14-15 ที่ไม่มีข้อสรุปว่า จะยึดแนวทางใดในการกำหนดองค์ประกอบมาตรฐานหรือเกณฑ์การประเมินตัวบ่งชี้ เพราะในรายงานกำหนดให้หน่วยงานต้นสังกัดเป็นคนจัดทำ ขณะเดียวกันก็ให้สถานศึกษาสามารเลือกเอาเกณฑ์คุณภาพการศึกษาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลมาใช้ ซึ่ง สปท. ไม่ได้สรุปว่าแนวทางใดดีที่สุด พร้อมทั้งไม่ได้ให้เหตุผลประกอบว่า แต่ละวิธีการจะเกิดผลลัพธ์ต่างกันอย่างไร
.
และ สอง รายงานการพัฒนาและบรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรมและจริยธรรม เพื่อมุ่งเน้นให้เด็กเป็นคนดี โดยเสนอให้เพิ่มชั่วโมงเรียนในวิชาศาสนา คุณธรรม จริยธรรม หน้าที่พลเมือง และอื่นๆ พร้อมให้กลับมาสอบโอเน็ต (O-net) ในรายวิชาดังกล่าวข้างต้น แต่ทว่าในรายงานไม่มีงานวิชาการรองรับว่า สาเหตุของปัญหาคืออะไร และข้อเสนอของสปท. จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้จริงหรือไม่
.
ดูข้อมูลต่อได้ที่ https://www.ilaw.or.th/node/4577






ตรวจคุณภาพข้อเสนอ สปท. : หลายข้อเสนอซ้ำ "ลอกข้อสอบ" มาจากคนอื่น
.
สิ่งสำคัญของการปฏิรูปที่คาดหวังอีกประการก็คือ ข้อเสนอดังกล่าวต้องเป็นข้อเสนอที่ใหม่ หรือไม่ก็ต้องเป็นข้อเสนอที่ลึกซึ้งหรือสร้างสรรค์กว่าข้อเสนอที่มีอยู่ แต่ทว่า ข้อเสนอของ สปท. บางส่วน กลับเป็นเรื่องที่มีหน่วยงานราชการ หรือองค์กรต่างๆ จัดทำอยู่ก่อนแล้ว สปท. แค่หยิบยกเนื้อหาบางส่วนมาจากรายงานการปฏิรูปของสปช. ในลักษณะ ‘ลอกข้อสอบ’ เลยเสียด้วยซ้ำ โดยสามาแบ่งประเภทของการลอกออกเป็น 3 ประเภทได้แก่
.
หนึ่ง "ลอกข้อสอบ" จากสภาปฏิรูปอื่นๆ
.
รายงานของสปท. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เรื่อง "ความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลของตำรวจจากการแทรกแซงทางการเมือง" มีข้อเสนอ ปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เสียใหม่ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวมีข้อความเหมือนรายงานของ สปช. วาระที่ 6: การปฏิรูปตำรวจ แทบจะทุกประการ
.
สอง "ลอกข้อสอบ" จากฎหมายที่ผ่านไปก่อนแล้ว
.
รายงานของ สปท. เรื่อง "ระบบงานบริการประชาชนในการรับแจ้งความและสอบสวน" เสนอให้นำระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราว (Electronic Monitoring : EM) มาใช้ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวออกมาภายหลัง สนช. ได้ผ่านกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) ซึ่งเปิดช่องให้สามารถใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราวได้เช่นเดียวกัน

สาม "ลอกข้อสอบ" จากผลงานที่หน่วยงานอื่นทำอยู่ก่อนแล้ว
.
รายงานของ สปท. เรื่อง ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูปหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลสื่อออนไลน์ เสนอให้กำหนดแนวทางหรือสร้างช่องทางการรับการแจ้งความ แจ้งเบาะแส และให้คำปรึกษาคดีความผิดทางเทคโนโลยีทางออนไลนเพื่อเอื้อประโยชน์และปกป้องผู้เสียหาย แต่ทว่า ข้อเสนอดังกล่าวเคยมีการดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปี 2556 โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)
.
ดูข้อมูลต่อได้ที่ https://www.ilaw.or.th/node/4577






ตรวจคุณภาพข้อเสนอ สปท. : ตัวอย่างข้อเสนอที่สังคมออกมาคัดค้าน
.
นอกจากข้อมูลจะเป็นนามธรรม ซ้ำกับคนอื่น และไม่มีข้อสรุปหรืองานวิชาการรองรับ บางข้อเสนอของสปท. กลับรุนแรงถึงขนาดที่สังคมต้องออกมาคัดค้าน ยกตัวอย่างเช่น
.
หนึ่ง การเสนอ ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... หรือที่เรียกกันสั้นๆ ในชื่อ ร่างพ.ร.บ.ตีทะเบียนสื่อ เพื่อปฏิรูปสื่อ โดยข้อเสนอนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กร ว่ากำลังเปิดทางให้อำนาจรัฐแทรกแซงการรายงานข่าวของสื่อ และมีเจตนาในการปิดปากไม่ให้นำเสนอข้อมูลเพื่อตรวจสอบโครงการต่างๆ ของรัฐที่ไม่ชอบมาพากล ผ่านการขึ้นทะเบียนกับองค์กรที่รัฐจัดตั้ง คือ สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจพิจารณาออกหรือเพิกถอนใบอนุญาตนักข่าวได้
.
สอง การเสนอให้ใช้มาตรา 44 ออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ 36 ฉบับ เพราะ สปท. เกรงว่า หากดำเนินไปตามขั้นตอนปกติ กฎหมายจะออกมาบังคับใช้ไม่ทันภายในปี 2560 เนื่องจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีภาระงานล้นมือ แต่ทว่า ก็ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝั่งนักการเมืองที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ว่า การใช้มาตรา 44 ออกกฎหมายปฏิรูปนั้น ไม่เป็นที่ยอมรับจากประชาชนและอาจขัดต่อเจตนาของรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงเป็นการออกกฎหมายโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน
.
ดูข้อมูลต่อได้ที่ https://www.ilaw.or.th/node/4577






ส่อง 'งบพันล้าน' เพื่อการปฏิรูปของสปท.
.
ตามข้อมูลจาก พ.ร.ฏ.เงินประจําตําแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ดํารงตําแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตําแหน่ง พ.ศ. 2557 และระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการแต่งตั้งผู้ช่วยในการปฏิบัติงานของสมาชิก สปท. พ.ศ. 2558 มีรายละเอียดที่แจกแจงค่าใช้จ่ายสำหรับค่าตอบแทนของ ประธาน สปท. รองประธาน สปท. และสมาชิก สปท. พร้อมผู้ช่วยไว้
.
หากนับจากก่อตั้งเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 จนถึง 31 กรกฎาคม 2560 ที่เป็นวันสิ้นสุดการทำงานของ สปท. จะเท่ากับว่า เงินงบประมาณที่ใช้เป็นค่าตอบแทนการทำงานของสปท. จะอยู่ราวๆ 770,413,600 บาท
.
และหากนำวงเงินดังกล่าวไปร่วมกับเงินงบประมาณที่ตั้งไว้เพื่อการสนับสนุนการทำงาน เช่น ค่ารับรองตำแหน่ง ค่าเบี้ยประชุม และค่าใช้จ่ายในการจัดสัมมนาตามแผนการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 และ 2560 ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่มีวงเงินอยู่ 260,860,300 และ 41,565,100 ตามลำดับ
.
และเมื่อนำวงเงินในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศทั้งสองมารวมกัน จะทำให้เห็นว่า ตลอด 1 ปี 10 เดือน สปท. มีงบไว้ใช้ปฏิรูประเทศอยู่ราวๆ 1,072,845,000 บาท
.
ดูข้อมูลต่อได้ที่ https://www.ilaw.or.th/node/4577